พฤติกรรมเสี่ยง 'มะเร็งโคนลิ้น' โรคร้ายที่พบไม่บ่อยในคนไทย
มะเร็งโคนลิ้น

พฤติกรรมเสี่ยง ‘มะเร็งโคนลิ้น’ โรคร้ายที่พบไม่บ่อยในคนไทย

Alternative Textaccount_circle
มะเร็งโคนลิ้น
มะเร็งโคนลิ้น

“มะเร็งโคนลิ้น” พบได้น้อยในไทยแต่มีแนวโน้มที่มากขึ้น แนะอย่าปล่อยลุกลาม สังเกตอาการกลืนลำบากเจ็บคอเวลากลืนอาหาร เลือดออกทางช่องปาก ปวดหู พูดเสียงเปลี่ยน มีก้อนที่คอ ควรรีบพบแพทย์

รู้จัก “มะเร็งโคนลิ้น” โรคร้ายที่พบได้ไม่บ่อยในคนไทย

มะเร็งโคนลิ้น เป็นส่วนหนึ่งของมะเร็ง คอหอยส่วนปากหรือที่เรียกว่ามะเร็งคอหอยหลังช่องปาก มีแนวโน้มที่พบมากขึ้นในคนไทย ผู้ป่วยส่วนมากที่เป็นโรคนี้มักจะได้รับการวินิจฉัยในระยะลุกลามแล้ว

จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่า “มะเร็งโคนลิ้น” แม้ปัจจุบันจะพบได้น้อยในคนไทย แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนปากรายใหม่ประมาณ 800 ราย ซึ่งถือว่าน้อยถ้าเทียบกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด ประมาณ 140,000 ราย แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มจะพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ

มะเร็งโคนลิ้น 2

พฤติกรรมความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งโคนลิ้น ได้แก่ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ เคี้ยวหมากร่วมกับใบยาสูบ และการติดเชื้อไวรัส Human papilloma virus (HPV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การมีคู่นอนหลายคนและการมีเพศสัมพันธ์ทางปากจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคนี้ด้วย ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งโคนลิ้นส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ผู้หญิงเองก็สามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นกันหากมีพฤติกรรมเสี่ยงข้างต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งโคนลิ้น หากผู้ป่วยพบว่าตนเองมีอาการกลืนลำบาก เจ็บคอเวลากลืนอาหาร มีเลือดออกทางช่องปาก ปวดหู พูดเสียงเปลี่ยนหรือมีก้อนที่คอ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายส่องกล้องทาง หู คอ จมูก เพื่อตรวจในลำคอ หากจำเป็นแพทย์จะสั่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กเพิ่มเติม

มะเร็งโคนลิ้น 1

การรักษา “มะเร็งโคนลิ้น” หรือมะเร็งคอหอยส่วนปาก อาจสามารถหายได้หากรีบเข้ารับการรักษาตั้งแต่ตอนที่รู้ตัวว่าป่วยในระยะเริ่มต้น เพราะยิ่งรู้ตัวเร็วก็จะรักษาได้อย่างทันท่วงทีและมีโอกาสหายสูง

วิธีการรักษามะเร็งโคนลิ้น สามารถทำได้ด้วยการให้รังสีรักษาและการผ่าตัด แต่ในกรณีที่เป็นมะเร็งโคนลิ้นในระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้ จะเป็นการรักษาโดยให้รังสีรักษาควบคู่กับเคมีบำบัด ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องคำนึงหลายประการ

สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งโคนลิ้นทำได้โดยการงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ที่สำคัญหากมีอาการหรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งคอหอยส่วนปาก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากได้


ข้อมูลความรู้เรื่องโรคมะเร็งเพิ่มเติมได้ที่ http://allaboutcancer.nci.go.th/
ภาพ : Pexels

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up