วิธีเอาชนะ ภาวะ Post Vacation Blues หรืออาการเฉาหลังหยุดยาว
วิธีเอาชนะ ภาวะ Post Vacation Blues

วิธีเอาชนะ ภาวะ Post Vacation Blues หรืออาการเฉาหลังหยุดยาว

Alternative Textaccount_circle
วิธีเอาชนะ ภาวะ Post Vacation Blues
วิธีเอาชนะ ภาวะ Post Vacation Blues

เป็นอย่างไรกับวันหยุดยาวที่ผ่านมากันบ้างคะทุกคน? มีคนจำนวนไม่น้อยที่เพลิดเพลินกับวันหยุดยาว กินอาหารที่อยากกิน ดื่มเยอะจนลืมตัว ไม่กลัวน้ำหนักขึ้น สนุกสนานกับเพื่อนหรือครอบครัวจนไม่อยากกลับไปทำงานเพราะอารมณ์ยังค้างอยู่ การกลับไปทำงานต่อหลังจากวันหยุดยาวนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนแค่คิดเรื่องงาน ก็รู้สึกเหนื่อยหรือหดหู่แล้ว เพราะยิ่งเรามีความสุขกับวันหยุดพักผ่อนมากเท่าไร โอกาสเผชิญหน้ากับ ภาวะ Post Vacation Blues หรืออาการเฉาหลังหยุดยาว ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น คล้ายๆ สุขมากจนขาดสติก็จะกลับมาทุกข์มาก ถ้าไม่ได้รับความสุขนั้นอีกครั้ง

วิธีเอาชนะ ภาวะ Post Vacation Blues หรืออาการเฉาหลังหยุดยาว

ภาวะ Post Vacation Blues 4

ตามหลักจิตวิทยา ภาวะ Post-Vacation Blues นั้นไม่ใช่โรคทางจิตเวช ส่วนมากอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว จะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นอาการซึมเศร้าเหล่านี้ก็จะหายไปเอง เพราะคนปกติจะปรับตัวได้หลังจากเริ่มต้นใช้ชีวิตตามปกติ แต่ถ้าคิดว่าตัวเราเองมีอาการแบบนี้บ่อย ลองใช้วิธีเหล่านี้เผื่อจะช่วยให้การปรับตัวครั้งหน้าดีขึ้น

  • มองหากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบเพื่อเบี่ยงเบนความเฉาในใจ

ในช่วง 2-3 วันแรก หลังจากกลับมา จะเป็นช่วงที่หนักหนาเอาการอยู่ ในการปรับสภาพจิตใจ หากคุณมีงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร วาดภาพ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมใดๆ ที่เรามีความสุขและทำได้ไม่เบื่อ หากไม่มีสิ่งใดชอบเลย การจัดบ้าน ทำความสะอาดบ้าน อาจช่วยให้เราคุ้นเคยและอยู่กับบ้านมากขึ้น ผลพลอยได้คือ บ้านก็สะอาดขึ้นด้วย

  • นับถอยหลังวันหยุดครั้งหน้า ในทริปต่อไป

เมื่อเรามีความสุขกับการเดินทางท่องเที่ยว เราอาจตั้งเป้าไว้สำหรับทริปหน้า ว่าเราจะไปที่ไหน พักที่ไหน ไปกี่วัน เพื่อที่จะได้รู้สึกว่ามีความสนุกตื่นเต้นรออยู่ และทำให้มีแรงในการใช้ชีวิตมากขึ้น บวกกับเตรียมเก็บเงินโดยการตั้งใจทำงานให้ดีนั่นเอง

ภาวะ Post Vacation Blues 1

  • ออกกำลังกายกันเถอะ

ขณะออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอนโดรฟิน ให้เรามีความสุข ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ นอกจากนั้นยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย ดังคำกล่าวของชาวโรมันที่ว่า “mens sana in corpore sano” หรือสุขภาพกายดีทำให้สุขภาพจิตดี การเพิ่มความกระฉับกระเฉงเพียงเล็กน้อย สามารถกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและเผาผลาญแคลอรีด้วยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งเราอาจทำแค่วิดพื้น แพลงก์ สควอช ฯลฯ ซึ่งทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยให้กลับมามีรูปร่างดีอีกครั้ง แต่คุณควรตั้งเป้าในการออกกำลังกายทั้งตัวโดยไม่เน้นเพียงแค่จุดเดียว

  • ฟื้นฟูร่างกายแต่เนิ่นๆ

สำหรับผู้ที่ยังรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย ควรมองหาอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ผลไม้และผักสดที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ในปริมาณสูง รวมทั้งไขมันที่ดีต่อสุขภาพจากแหล่งต่างๆ เช่น น้ำมันมะกอกและถั่วในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนอาหารเสริมที่จะช่วยให้คุณปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ได้แก่ วิตามินบีรวม วิตามินซี วิตามินอี  สารแคโรทีน สารไลโคพีน  โคเอนไซม์ Q10 และ N-acetylcysteine (NAC) เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างพลังงานภายในเซลล์ร่างกายและกล้ามเนื้อ

ภาวะ Post Vacation Blues 2

  • สมดุลการนอนหลับ

ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับหลายคน ก็คือการเที่ยวในช่วงวันหยุดทำให้เหนื่อยมากขึ้น เพราะกิจกรรมหลากหลายที่ได้วางแผนไว้ และการนอนหลับที่ไม่เป็นเวลาสำหรับประเทศที่เวลาต่างจากประเทศเรามากๆ อาจทำให้นอนหลับไม่สนิท หรือหลับไม่เต็มที่ การนอนหลับให้เพียงพอในช่วง 2-3 วันแรกหลังเที่ยว เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ต่อสุขภาพ เพราะขณะหลับร่างกายจะมีการซ่อมแซมและปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เพื่อกลับมาสู่โหมดภาวะปกติ ดังนั้น เราจึงควรนอนในเวลาที่เหมาะสมประมาณ 22.00 น. ทุกคืน และควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูกลับสู่สภาวะเดิมได้รวดเร็ว

ภาวะ Post Vacation Blues 3

หาก “หมดไฟ” ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ถูกองค์การอนามัยโลก (WHO)จัดว่า ‘เป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน และควรได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต สาเหตุจาก การเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ ที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน วิธีสังเกตง่ายๆ คือ เหนื่อยล้า หมดพลัง ชอบคิดลบต่อความสามารถของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานประเมินว่าเรามีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานได้ไม่เหมือนเดิม และที่พบบ่อยคือ ความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานและคนรอบข้างแย่ลง

ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ หยุดพักเพื่อจัดการความเครียด แต่ถ้าไม่สามารถลาหยุด ควรตั้งสติ ปรึกษาคนที่ไว้ใจได้ เพื่อวางแผนจัดระบบการทำงานใหม่ และถ้าหากสัมพันธภาพของหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานคือต้นเหตุหนึ่ง เราควรโอนอ่อนผ่อนตามบ้าง เลี่ยงเผชิญกับบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย เพื่อไม่ให้เราแบกความทุกข์มากจนเกินไป หากยังไม่เป็นผลเท่าไหร่ ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เรารู้สึกอยากพักตลอดเวลา ไม่อยากกลับมาทำงาน หรืออยากลาออกจากงาน


ข้อมูล : นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาจิตเวชศาสตร์ ร.พ. สมิติเวช สุขุมวิท
ภาพ : Pexels

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ทำความเข้าใจ ความเศร้าเสียใจ-ภาวะซึมเศร้า- โรคซึมเศร้า แตกต่างกันยังไง

“อะเฟเซีย” ภาวะอาการทางสมองส่งผลต่อการสื่อสาร เช่น พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ

การป้องกันและรักษาภาวะ “พังผืดกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ” พร้อมวิธีสังเกตอาการ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up