สารปรอท

แพทย์เตือน “สารปรอท” ที่พบบ่อยในสกินแคร์ อันตรายมีผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบ

Alternative Textaccount_circle
สารปรอท
สารปรอท

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนอันตรายจาก สารปรอท พบได้มากมักถูกผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า สารปรอทไม่ใช่สารอันตรายตัวใหม่ที่เพิ่งใช้ในสังคมไทย โดยช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา สารปรอทเคยเป็นสารอันตรายอันดับหนึ่งของเครื่องสำอางที่ใช้ในไทยมาก่อน ซึ่งจะนิยมผสมในครีมบำรุง เมื่อมีกระแสความนิยมของการมีผิวขาวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการลักลอบใช้ปรอทในเครื่องสำอางและสกินแคร์ เพื่อรักษาฝ้า จุดด่างดำ หรือทำให้ผิวขาว สารปรอทเป็นสารอันตรายที่พบบ่อยสุด รองลงมาคือ สารไฮโดรควิโนน และกรดวิตามินเอ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งเพราะพิษของของสารปรอทนั้นมีผลกระทบต่อหลายระบบของร่างกาย

สารปรอท 1

พิษที่สำคัญของ สารปรอท ต่อร่างกาย

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม พิษที่สำคัญของสารปรอทต่อร่างกาย คือ

  • พิษต่อผิวหนัง แม้ว่าสารปรอทจะมีผลทำให้เม็ดสีลดลง แต่พบว่าอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ หากใช้ในระยะยาว จะทำให้ผิวบางลง เกิดจุดดำที่ผิวเพิ่มขึ้น เกิดฝ้าถาวร หรือในบางจุดจะทำให้เกิดผิวด่างถาวร
  • พิษต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการสั่น ปลายประสาทอักเสบ การทรงตัวผิดปกติ ชักกระตุก ซึมเศร้าหรือเกิดประสาทหลอนได้
  • พิษต่อตับและไต ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และไตอักเสบได้ในระยะยาว
  • พิษต่อระบบเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
  • หากใช้ระหว่างตั้งครรภ์ สารปรอทจะดูดซึมสู่ทารก และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกสมองพิการและปัญญาอ่อนได้

สารปรอท 2

ฉะนั้น ควรเลือกใช้เครื่องสำอางจากแหล่งที่เชื่อถือได้มากที่สุด กรณีที่ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้วเกิดผลข้างเคียงแนะนำให้หยุดการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นทันทีและรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือหากสงสัยว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้อยู่มีสารอันตรายผสมอยู่หรือไม่ สามารถส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาขอรับการตรวจสอบสารอันตรายเบื้องต้นได้ที่ สถาบันโรคผิวหนัง (โครงการตรวจสารอันตรายในเครื่องสำอาง) 420/7 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด


ข้อมูล : กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง
ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แพทย์ผิวหนัง เผย “โรคหูด” ติดต่อทางการสัมผัส แต่ไม่อันตราย รักษาได้หลายวิธี

แพทย์ผิวหนังชี้การ ‘ฉีดสารแปลกปลอม’ เข้าสู่ผิวหนัง อาจเกิดอันตรายได้

แพทย์ผิวหนังเตือนคนที่นิยม ทาเล็บสีแดง มีโอกาสแพ้มากกว่าสีอื่น และแนะวิธีป้องกัน

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up