"โรคหูด" ติดต่อทางการสัมผัสได้

แพทย์ผิวหนัง เผย “โรคหูด” ติดต่อทางการสัมผัส แต่ไม่อันตราย รักษาได้หลายวิธี

Alternative Textaccount_circle
"โรคหูด" ติดต่อทางการสัมผัสได้
"โรคหูด" ติดต่อทางการสัมผัสได้

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เผย โรคหูด เป็นโรคผิวหนังที่ติดต่อทางการสัมผัสได้ แต่ไม่อันตราย การรักษาหูดมีหลายวิธี หากสงสัยว่าเป็นโรคหูด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและการกลับมาเป็นซ้ำอีก

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหูด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิด Human Papillomavirus ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของผิวหนัง มีหลายชนิดและหลายขนาด รูปร่างจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น

หูดอาจจะมีรอยโรคเดียวหรือขึ้นหลายรอยโรคก็ได้ สามารถเกิดตามเยื่อบุและตามผิวหนังของร่างกาย โดยมักจะขึ้นที่มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมทั้งที่อวัยวะเพศได้ พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน

โรคหูด 1

หายแล้วก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้

หูดสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสได้ โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผล ส่วนใหญ่รอยโรคมักจะไม่มีอาการ นอกจากทำให้ดูไม่สวยงาม น่ารำคาญ ผู้ป่วยน้อยราย มักจะมีอาการเจ็บบริเวณตำแหน่งที่มีการกดทับ เช่น หูดที่ฝ่าเท้า ถ้าเสียดสีมากๆ อาจจะมีเลือดออกที่รอยโรคได้ และถ้ารอยโรคมีขนาดใหญ่จะเจ็บทำให้ไม่สามารถใส่รองเท้าได้ ประมาณสองในสามของหูดจะหายไปเองได้ในเวลา 12-24 เดือน โดยไม่ทิ้งรอยแผลไว้ และเมื่อหายแล้วก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก หากเป็นหูดที่อวัยวะเพศควรปรึกษาแพทย์

การรักษา โรคหูด มีหลากหลายวิธี

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การรักษาหูดมีหลากหลายวิธี ได้แก่

  1. การรักษาด้วยการทายา ที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก กรดแลคติก ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะง่ายและราคาไม่แพง ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังตามคำแนะนำวิธีการใช้ในแต่ละแบบ เพราะกรดมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง เนื่องจากใช้ความเข้มข้นค่อนข้างสูง และการทายาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มาทำลายหูด เช่น ยา Imiquimod, Diphencyprone or squaric acid topical immunotherapy
  2. การจี้ทำลายรอยโรคด้วยเลเซอร์หรือการจี้ไฟฟ้า หลังทำเสร็จมักมีอาการปวด และอาจมีแผลเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีการดูแลรักษาแผลอย่างต่อเนื่อง
  3. การจี้ไอเย็น โดยใช้ไนโตรเจนเหลว ข้อดี คือ ดูแลหลังการรักษาง่าย แต่อาจจะต้องจี้ซ้ำหลายครั้งแล้วแต่ขนาดและความหนาของรอยโรคจนกว่าจะหายขาด
  4. การผ่าตัดรอยโรคออกไป คือ การผ่าตัดเอาก้อนหูดออกไป ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาหูด มักจะใช้เวลานาน อาจต้องใช้หลายวิธีการรักษาร่วมกัน และบางครั้งหลังการรักษาหูดอาจจะเกิดรอยแผลบริเวณที่ทำการรักษาได้

ดังนั้นหากสงสัยว่าเป็น โรคหูด ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกวิธี


ข้อมูล : กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง 
ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แพทย์ผิวหนังเตือนคนที่นิยม ทาเล็บสีแดง มีโอกาสแพ้มากกว่าสีอื่น และแนะวิธีป้องกัน

แพทย์ผิวหนังไขข้อข้องใจเรื่อง “กลิ่นตัว” พร้อมแนะวิธีป้องกัน และแนวทางรักษา

เตือน! ผู้หญิงออกกำลังกายมากไป เสี่ยงกระดูกพรุน ขาดสารอาหาร และประจำเดือนขาด

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up