ไมเกรน

ปวดหัว “ไมเกรน” สามารถกินยาแก้ปวดธรรมดาได้หรือเปล่า ควรเช็คตามลิสต์นี้

Alternative Textaccount_circle
ไมเกรน
ไมเกรน

ก่อนหน้านี้เคยเฉลยเรื่องที่หลายคนสงสัยว่าสรุปกินยา ไมเกรน ก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ เส้นเลือดจะหดตัวหรือเปล่า? รอบนี้จะมาพูดถึงเรื่องหากเวลาปวดหัวไมเกรน สามารถกินยาแก้ปวดธรรมดาที่มีติดบ้านได้หรือเปล่า จะช่วยบรรเทาได้หรือไม่

เพราะอาการปวดศีรษะไมเกรน คืออาการปวดศรีษะอย่างรุนแรง ที่บริเวณด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งมักปวดข้างเดิมอยู่ซ้ำๆ และมักมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน รวมถึงความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง อาการไมเกรนสามารถอยู่ได้นานหลายชั่วโมงต่อวัน อาการปวดอาจรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

หากละเลยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น ความถี่เพิ่มขึ้น ตอบสนองต่อยาที่รักษาได้ไม่ดีนัก แม้ว่าจะได้รับยาลดอาการปวดหลายชนิดก็ตาม

ไมเกรน 1

ซึ่งคำถามที่ว่าปวดหัว “ไมเกรน” สามารถกินยาแก้ปวดธรรมดาได้ไหม ควรเช็คตามนี้

  • หากปวดไม่ถี่มาก (เช่น น้อยกว่า 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์) สามารถรับประทานยาแก้ปวดเองได้
  • ควรกินยาแก้ปวดตั้งแต่เริ่มมีอาการเนิ่นๆ ในแต่ละครั้งหากทิ้งไว้นาน มักได้ผลไม่ดี
  • ยาแก้ปวดที่สามารถรับประทานเองได้ เช่น พาราเซตามอล, ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โดยระมัดระวังการแพ้ยา
  • ส่วนยาแก้ปวดกลุ่มที่ออกฤทธิ์แรง (เช่นยากลุ่มเออร์โกตามีน ยากลุ่มทริปแทน ยาทรามาดอล เป็นต้น) ไม่ควรซื้อมาใช้เอง เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ไมเกรน 2

สังเกตอาการ

  • เมื่อปวดถี่เกินสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อเนื่อง ไม่ควรกินยาแก้ปวดเอง เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงจากยา และอาจทำให้อาการปวดหัวเป็นถี่มากขึ้นอีก
  • เมื่อกังวลว่าอาจจะเป็นโรคปวดศีรษะอื่นที่ไม่ใช่ไมเกรน ควรปรึกษาแพทย์

ปวดแบบไหนที่ควรพบแพทย์

อาการไมเกรนมักเกิดขึ้นนานตั้งแต่ 4- 72 ชั่วโมง  และเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่หากพบว่าอาการรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน หรือมีอาการต่อไปนี้ควรพบแพทย์โดยทันที

  • ปวดศีรษะอย่างฉับพลันและรุนแรงเหมือนสายฟ้าฟาด
  • ปวดศีรษะ มีไข้ และสับสน ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลแล้วไม่ดีขึ้น
  • อาการปวดเรื้อรัง หรือแย่ลงหลังจากการไอ การออกแรง หรือมีการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชาตามร่างกาย
  • การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน ตามัว ภาพดับ

ข้อมูล : พญ. ธนินจิตรา พูลเพชรพันธุ์ , ผศ.นพ.เสกข์ แทนประเสริฐสุข
ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สรุปกินยา ไมเกรน ก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ เส้นเลือดจะหดตัวหรือเปล่า?

10 สัญญาณฟ้องลำไส้ไม่แข็งแรง แล้วไมเกรน สิว อ้วน ไซนัส ซึมเศร้า เกี่ยวข้องยังไง

9 โรคติดต่อและอันตรายที่มาจาก “น้ำท่วม” และวิธีป้องกันเบื้องต้น

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up