รู้จัก Binge Eating Disorder หรือ โรคกินไม่หยุด ที่ "ไอซ์ ศรัณยู" กำลังเผชิญ

ไม่ได้ตะกละ! รู้จัก Binge Eating Disorder หรือ โรคกินไม่หยุด ที่ “ไอซ์ ศรัณยู” กำลังเผชิญ

Alternative Textaccount_circle
รู้จัก Binge Eating Disorder หรือ โรคกินไม่หยุด ที่ "ไอซ์ ศรัณยู" กำลังเผชิญ
รู้จัก Binge Eating Disorder หรือ โรคกินไม่หยุด ที่ "ไอซ์ ศรัณยู" กำลังเผชิญ

ถูกทักว่าอ้วน แก้มเยอะ มาตลอด 10 ปี ล่าสุด “ไอซ์ ศรัณยู วินัยพานิช” จึงออกมาเปิดใจชี้แจงถึงเหตุที่น้ำหนักขึ้นทั้งๆ ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ สาเหตุเพราะไม่สามารถควบคุมการกินของตัวเองได้ กินแม้กระทั่งเวลาที่ไม่หิว แค่อยากกินตลอดเวลา กินเท่าไหร่ก็ไม่พอ ต่อให้อิ่มแล้วหรือไม่ใช่อาหารที่อยากกิน แต่วางอยู่ใกล้ๆ ก็พร้อมจะกิน แต่หลังกินเสร็จจะรู้สึกผิดทันที ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่ความตะกละ แต่ ไอซ์ ศรัณยู กำลังเผชิญกับโรค Binge Eating Disorder หรือ “โรคกินไม่หยุด” จนเกิดภาวะซึมเศร้า หากใครที่กลัวจะเข้าข่ายโรคนี้ ลองไปทำความรู้จักโรคนี้แบบลงดีเทลกันค่ะ

รู้จักโรคกินไม่หยุด โรคนี้ที่ไม่ควรมองข้าม

โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder: BED) เป็นโรคในกลุ่ม Eating disorder หรือพฤติกรรมการกินผิดปกติ จัดเป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ตามมาได้ ผู้ป่วยโรคนี้จะกินแบบเป็นช่วงๆ เช่น ต้องกินทุก 2 ชั่วโมง โดยปริมาณอาหารที่กินจะเยอะกว่าคนทั่วไป หากเปรียบเทียบด้วยการกินเป็นช่วงระยะเวลาแบบเดียวกัน และจะควบคุมตัวเองไม่ได้จนกินอาหารมากเกินควร

โรคนี้ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่นักวิจัยคาดว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วม เช่น ยีนบางตัว ภาพลักษณ์ ความพึงพอใจในตนเอง ประสบการณ์ทางสังคม ประวัติสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ มีผลการศึกษาที่พบว่า ผู้ที่เป็นโรคกินไม่หยุดอาจใช้การกินจนเกินพอดีเป็นวิธีรับมือกับความโกรธ ความเศร้า ความเบื่อหน่าย ความวิตกกังวล หรือความเครียด จนเกิดเป็นความเคยชินและเป็นโรคในที่สุด

รู้จัก Binge Eating Disorder หรือ โรคกินไม่หยุด ที่ "ไอซ์ ศรัณยู" กำลังเผชิญ

อาการและสัญญาณของ โรคกินไม่หยุด

หากคุณกินเป็นช่วงๆ ในปริมาณที่เยอะกว่าปกติ และควบคุมตัวเองให้หยุดกินไม่ได้ ร่วมกับมีอาการหรือพฤติกรรมดังต่อไปตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งภายในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นั่นหมายถึง คุณอาจเป็นโรคกินไม่หยุด

  • กินเร็วกว่าปกติ
  • กินจนรู้สึกจุก
  • กินอาหารในปริมาณมากแม้จะไม่รู้สึกหิว
  • กินอาหารคนเดียวเพราะอายที่ตัวเองกินเยอะ
  • รู้สึกรังเกียจตัวเอง ซึมเศร้า หรือรู้สึกผิดหลังจากแสดงพฤติกรรมข้างต้น

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคกินไม่หยุด

โรคกินไม่หยุดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัน แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคนี้จะเป็นเพศหญิง โดยผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ คือผู้ที่มีพฤติกรรมดังนี้

  • ไม่สะดวกใจที่ต้องกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • กินอาหารปริมาณมากหมดอย่างรวดเร็ว
  • ชอบซ่อนหรือเก็บของกินไว้ในที่แปลกๆ
  • ปลีกตัวจากเพื่อนฝูง และเลือกการกินแทนการทำกิจกรรมที่เคยชอบ
  • ชอบส่งกระจกดูรูปร่างหน้าตาของตัวเองและหาจุดบกพร่อง
  • เป็นกังวลเรื่องรูปร่างและน้ำหนักตัวอย่างมาก
  • ลดน้ำหนักเป็นประจำ
  • น้ำหนักขึ้นลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้นๆ
  • มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ หรือไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง

หากคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้ ควรรีบทางวิธีเลิกซะ ก่อนที่จะเข้าขั้นป่วยเป็นโรคกินไม่หยุด

กินไม่หยุด ระวัง! โรคเหล่านี้อาจถามหา

หากคุณมีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ อย่างโรคกินไม่หยุด อาจส่งผลให้คุณเป็นมีปัญหาสุขภาพหรือเป็นโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนี้

  • ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน

การที่คุณกินไม่หยุดย่อมส่งผลให้คุณน้ำหนักขึ้นได้ไม่ยาก ผู้ป่วยโรคกินไม่หยุดส่วนใหญ่มักมีปัญหาน้ำหนักเกิน เพราะกินอาหารปริมาณมากติดต่อกันบ่อยๆ ในระยะเวลาอันสั้นและมักไม่ค่อยออกกำลังกาย จนสุดท้ายกลายเป็นโรคอ้วน

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคกินไม่หยุดทำให้คุณกินเยอะจนน้ำหนักเกิน หัวใจจึงสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงปอดและอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ยากขึ้น เมื่อคุณอ้วน มีไขมันเยอะ โดยเฉพาะไขมันในช่องท้องหรือที่เรียกกันว่า “พุง” จะทำให้คุณเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง และภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งล้วนแต่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2

ผู้ที่เป็นโรคกินไม่หยุดมีความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่หายขาด ต้องรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต ยิ่งคุณกินไม่หยุดก็จะยิ่งทำให้ควบคุมปริมาณอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดได้ยาก จึงอาจส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และควบคุมอาการของโรคหรือรักษาได้ยากกว่าคนอื่น

  • โรคทางอารมณ์

ผู้ป่วยโรคกินไม่หยุดมักรู้สึกผิด หรือรู้สึกแย่กับกับพฤติกรรมการกินของตัวเอง จนส่งผลให้เป็นโรคทางอารมณ์ หรือโรคทางจิตเวชร้ายแรง เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือบางรายอาจมีพฤติกรรมใช้สารในทางที่ผิด (Substance abuse) คือ ใช้ยาหรือสารบางอย่างจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย

  • ปัญหาสุขภาพอื่นๆ

นอกจากปัญหาสุขภาพข้างต้น โรคนี้ยังสามารถทำให้ผู้ป่วยมีภาวะคอเลสเตอรอลสูง เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อไทรอยด์ รวมไปถึงทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไข่ไม่ตก จึงทำให้ตั้งครรภ์ได้ยากขึ้นด้วย

หากเป็นโรคนี้ ต้องรักษาอย่างไร

การรักษาโรคกินไม่หยุด อาจต้องใช้วิธีการรักษาหลายแบบพร้อมกัน ดังนี้

  • การบำบัด เช่น จิตบำบัด การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy / CBT) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนความคิด ช่วยให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เลิกคิดลบ จะได้ไม่นำไปสู่การกินไม่หยุด
  • การให้คำปรึกษาเรื่องโภชนาการ โดยนักกำหนดอาหาร หรือนักโภชนาการ เพื่อให้ผู้ป่วยกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น
  • การใช้ยา เช่น ยาลดความอยากอาหาร (appetite suppressants) ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) ที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ซึ่งอาจช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นและช่วยยับยั้งการกินไม่หยุดได้

หากถึงขั้นนี้ อย่าปล่อยไว้! ควรรีบไปหาคุณหมอ

โรคกินไม่หยุดนี้ถือเป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้มากมาย หากคุณมีพฤติกรรมหรืออาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

  • น้ำหนักขึ้นลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้นๆ
  • คิดอยากทำร้ายตัวเอง
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินไม่ได้ แม้จะมีครอบครัว เพื่อน หรือคุณหมอช่วยเหลือ
  • รู้สึกซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
  • ต้องจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการใช้ยาหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ไม่ได้ตะกละ! รู้จัก Binge Eating Disorder หรือ โรคกินไม่หยุด ที่ “ไอซ์ ศรัณยู” กำลังเผชิญ

 


ข้อมูล : ICE SARUNYU OFFICIAL  ,  hellokhunmor.com
ภาพ : icesarunyu

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วิธีรักษาภาวะอ้วนและดื้อต่ออินสุลิน สาเหตุ “อ้วนลงพุง” พบหญิงเป็นมากกว่าชาย

สัญญาณเตือนแบบไหนที่บอกว่ากำลังเป็น โรคติดสมาร์ทโฟน และส่งผลเสียยังไง

ไดเอตสไตล์ Paleo Diet กินอาหารแบบมนุษย์ยุคหิน ดีจริงหรือไม่? กินอะไรได้บ้าง

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up