อ้วนลงพุง

วิธีรักษาภาวะอ้วนและดื้อต่ออินสุลิน สาเหตุ “อ้วนลงพุง” พบหญิงเป็นมากกว่าชาย

Alternative Textaccount_circle
อ้วนลงพุง
อ้วนลงพุง

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์จนทำให้เกิดการปลูกฝังพฤติกรรมรักความสะดวกสบาย เกิดพฤติกรรมการนั่ง กิน นอน  มีการบริโภคที่มากจนเกินความต้องการ ไม่มีการออกกำลังกาย ส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการ อ้วนลงพุง ตามมา

กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) คือ กลุ่มความผิดปกติที่พบร่วมกัน ได้แก่ ความผิดปกติของไขมันในเลือด ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ตลอดจนปัจจัยที่เป็นสารตั้งต้นของการอักเสบที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด และโรคเรื้อรังต่าง ๆ

ในสหรัฐอเมริกา พบกลุ่มคนในช่วงอายุ 20 – มากกว่า 70 ปี มีกลุ่มอาการอ้วนลงพุงโดยรวมประมาณร้อยละ 22 โดยพบว่าหากอายุมากขึ้นจะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

ส่วนข้อมูลกลุ่มอาการอ้วนลงพุงในประเทศไทย ในประชากรอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี จำนวน 5,091 ราย พบประมาณร้อยละ 21.9 พบว่าเพศหญิงมีกลุ่มอาการอ้วนลงพุงมากกว่าเพศชายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และความผิดปกติที่พบบ่อยสุด คือ ไขมันดีต่ำ

วิธีรักษาภาวะอ้วนและดื้อต่ออินสุลิน สาเหตุ “อ้วนลงพุง” พบหญิงเป็นมากกว่าชาย

เราจะมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุงได้เมื่อไหร่

เมื่อมีลักษณะที่เข้าได้กับเกณฑ์ NCEP ATP III 2005 มากกว่าหรือเท่ากับ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. เมื่อมีเส้นรอบเอว : >/= 90 ในชาย และ >/= 80 ซม.ในหญิง (เกณฑ์คนเอเชีย)
  2. ความดันโลหิต : >/= 130/85 มม.ปรอทหรือได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต
  3. ระดับน้ำตาลในเลือด : >/= 100 มก./ดล. หรือได้รับการรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  4. ระดับไขมันดี (HDL) : < 40 มก./ดล.ในชาย หรือ < 50 มก./ดล.ในหญิง หรือได้รับการรักษาภาวะไขมันดีต่ำด้วยการทานยา
  5. ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ : >/= 150 มก./ดล.หรือได้รับการรักษาภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงด้วยยา

สาเหตุของกลุ่มอาการอ้วนลงพุง

สาเหตุหลัก คือ ภาวะอ้วน และภาวะดื้อต่ออินสุลิน (คือภาวะที่ฮอร์โมนอินสุลินมีความผิดปกติ ไม่สามารถจับกับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น) จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดตามมาได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการอ้วนลงพุง

  1. น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น จัดเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มกลุ่มอาการอ้วนลงพุง
  2. เชื้อชาติ : ในสหรัฐอเมริกา พบประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่มอาการอ้วนลงพุงมากกว่าคนยุโรปเนื่องจากคนอเมริกามีคนอ้วนมากกว่า
  3. วัยหลังหมดประจำเดือน
  4. สูบบุหรี่
  5. การทานอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก
  6. การไม่ออกกำลังกาย เช่น การนั่งทำงานตลอดทั้งวัน
  7. การใช้ยาจิตเวชบางชนิด โดยเฉพาะ ยา Clozapine

ความผิดปกติที่เกิดจากภาวะอ้วนลงพุง

  1. เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน จากการรวบรวมศึกษาของกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ พบอัตราความเสี่ยงเบาหวานในกลุ่มอาการอ้วนลงพุงประมาณ 3.53 – 5.17
  2. เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  3. ภาวะไขมันสะสมคั่งในตับ ภาวะตับแข็ง
  4. โรคไตเรื้อรัง
  5. การนอนหลับผิดปกติ รวมถึงการหยุดหายใจขณะหลับ
  6. เก๊าท์และภาวะกรดยูริกสูง
  7. ภาวะสมองเสื่อม

การรักษากลุ่มอาการอ้วนลงพุง ที่เป็นสาเหตุโรคอ้วนและภาวะดื้อต่ออินสุลิน คือ

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • ลดน้ำหนัก ควบคุมอาหารที่ทาน ด้วยการควบคุมอาหารหรือจำกัดปริมาณพลังงานที่ได้จากอาหารให้เหมาะสม ลดขนาดของอาหารที่ทานในแต่ละมื้อ ควรทานอาหารที่มีกากใยอาหารให้มากกว่า 30 กรัมต่อวัน
  • ออกกำลังกาย ด้วยความแรงระดับปานกลางอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวันและอย่างน้อย 3 – 5 วันต่อสัปดาห์

2. เมื่อตรวจพบความผิดปกติควรได้รับการรักษาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของโรคหัวใจและหลอดเลือด

ได้แก่ การรักษาไขมันในเลือดสูงผิดปกติ การรักษาความดันโลหิตสูง และรักษาระดับน้ำตาลในเลือดสูง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอาจจะต้องพิจารณารักษาด้วยยาตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

กลุ่มอาการอ้วนลงพุง เป็นโรคไม่ติดต่อที่สามารถป้องกันได้ เพียงแค่มีความรู้ เข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ ของความเสี่ยง ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคต เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก่อนที่ภัยเงียบจะเข้าใกล้ตัวคุณ


ข้อมูล : พญ. พรรณราย เลอวัฒนกิจถาวร แพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ภาพ : Pixabay

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Ketogenic Diet เข้าใจง่ายๆ ใน 4 นาที แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกับทุกคน!!

ลดน้ำหนักแบบ Intermittent Fasting อิ่มบ้าง..อดบ้าง จะผอมไหม?

ลดหุ่นผิดวิธีหรือเปล่า? เพราะออกกำลังกายแล้ว “น้ำหนักลด แต่ไขมันไม่ลด”

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up