โควิด-19

แพทย์ศิริราช เตือน! ใส่ถุงมือไม่ช่วยป้องกันโควิด-19 แต่กลับแพร่เชื้อ

Alternative Textaccount_circle
โควิด-19
โควิด-19

แพทย์ศิริราช เตือน! ใส่ถุงมือไม่ช่วยป้องกันโควิด-19 แต่กลับแพร่เชื้อ

ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังต่อสู้กับไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 อย่างไม่หยุดพัก และแทบจะทุกคนก็เฝ้าระวังตัวขั้นสุด ป้องกันด้วยวิธีต่างๆ เป็นอย่างดี ทั้งล้างมือด้วยสบู่ และเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย ทำงานอยู่บ้าน งดออกไปในที่สาธารณะ ฯลฯ แต่พวกเราทุกคนก็ยังต้องใช้ชีวิตประจำวัน ไปจับจ่ายซื้อของกินของใช้กันอยู่ดี บางคนป้องกันถึงขั้นใส่ถุงมือเพราะคิดว่าจะช่วยป้องกันเชื้อได้

แต่ล่าสุด รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune” เกี่ยวกับเรื่องการใส่ถุงมือเพื่อป้องกันเชื้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้

#ยุคcovid19ใส่ถุง​มือไม่ป้องกัน แต่กลับแพร่เชื้อ

  • บางทีเราจะเห็นคนใส่ถุงมือเก็บบัตรจอดรถ บางคนใส่ถุงมือข้างหนึ่งไว้กดลิฟท์ ไม่รวมกับยุคแรกๆ ที่ดาราใส่ถุงมือให้แฟนคลับจับ ผมว่ายังมีคนอีกหลายคนที่เข้าใจว่า การใส่ถุงมือช่วยป้องกันโรค ซึ่งที่เล่ามา เป็นความเข้าใจที่ผิดครับ
  • ในทางการแพทย์ เวลาเขาใส่ถุงมือ มีวัตถุประสงค์ 2 ทาง ทางที่ 1 : ป้องกันเชื้อโรคจากเราไปโดนผู้ป่วย กรณีนี้ เราจะเห็นในการใส่ถุงมือเพื่อผ่าตัด เพราะในระหว่างการผ่าตัดแพทย์จะทำความสะอาดมือตัวเองก่อน และใส่ถุงมืออีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากมือไปถูกตัวคนไข้ และคนไข้ ก่อนที่เราจะผ่าตัด ก็จะทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อที่ระหว่างนั้น เชื้อโรคจะได้ไม่หลุดไปสะสมในร่างกาย หรือในแผลผ่าตัด ทางที่ 2 : คือป้องกันเชื้อโรคจากคนไข้มาติดเรา กรณีนี้ เวลาหมอไปทำแผลติดเชื้อ หรือไปดูดเสมหะผู้ป่วยปอดอักเสบติดเชื้อ หรือในยุค covid19 หมอจะใส่ถุงมือเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อจากคนไข้มาโดนตัวหมอ
  • ทั้ง 2 กรณี เมื่อหมดหน้าที่หรือหมดภาระการใส่ถุงมือ หมอจะถอดถุงมือทิ้งทันที เพื่อนำไปกำจัดเชื้อโรค ไม่นำถุงมือนี้ ติดตัวออกไปยังบริเวณอื่น ซึ่งพฤติกรรมที่เราเห็น เวลาพนักงานเก็บบัตรจอดรถ ใส่ถุงมือ ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น คือ ถ้าจะได้ตามมาตรฐาน คือ เมื่อรับบัตรเสร็จ 1 คนต้องถอดถุงมือทิ้ง และใส่คู่ใหม่ครับ ไม่เช่นนั้น เชื้อโรค(ถ้ามี) จะติดที่ถุงมือ และ เมื่อนำถุงมือไปจับอย่างอื่น เชื้อโรคก็จะไปติดที่สิ่งของอย่างอื่น เช่น จับบัตรจอดรถ เชื้อโรคจากมือคนแรก ติดที่บัตร และจากบัตรมาติดที่ถุงมือ เมื่อใช้ถุงมือ จับบัตรใบที่2 ที่ยังไม่มีเชื้อโรค ก็จะเอาเชื้อโรคไปติดที่บัตรใบที่ 2 และ ยื่นให้กับคนที่ 2 เท่ากับส่งต่อเชื้อโรคไปให้คนอื่น (จริงอยู่ครับ คนใส่ถุงมือไม่ได้รับเชื้อโรค แต่ส่งเชื้อไปให้คนอื่นครับ)​
  • คนใส่ถุงมือก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะถ้าใส่ถุงมือไว้ตลอดเวลา เช่น ใส่ไว้กดลิฟท์ จังหวะที่ กดลิฟท์(หากมีเชื้อโรคอยู่ที่ปุ่มกด) เจ้าตัวไม่ได้รับเชื้อครับ เพราะเชื้อติดอยู่ที่ถุงมือ แต่ถ้าไม่ได้ถอดถุงมือทิ้ง เก็บไว้กดลิฟท์ครั้งต่อไป นอกจากจะนำเชื้อจาก ลิฟท์ตัวที่ 1 ไปใส่ไว้ในลิฟท์ตัวที่ 2 แล้ว ในระหว่างนั้น เป็นไปได้มากที่มือที่ใส่ถุงมือ จะไปจับสิ่งของอย่างอื่น ทำให้เชื้อติดไปกับสิ่งของอย่างอื่น จับกระเป๋าตัวเอง ก็ติดเอง จับผมตัวเอง ก็ติดเอง หยิบจานให้ลูก ก็ติดลูก
  • ดังนั้น การใส่ถุงมือ เดินไปเดินมา จึงเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องครับ เก็บถุงมือ ไว้ใช้ในกรณีที่ต้องใช้จริง เพื่อป้องกัน เวลารู้ว่ามีเชื้อโรค และเมื่อใส่แล้ว ต้องไม่หยิบจับสิ่งอื่น และถอดทิ้งเมื่อเสร็จงานครับ ไม่แนะนำให้คนทั่วไป ใส่ถุงมือเพื่อหวังป้องกัน Covid-19 นะครับ

 

 


ข้อมูล : บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune
ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

10 คำถามควรรู้ เกี่ยวกับวายร้ายไวรัส COVID-19 อ่านไว้รับรองมีประโยชน์

จักษุแพทย์แนะ ช่วงนี้ควรใส่แว่นแทน คอนแทคเลนส์ ลดเสี่ยงติด Covid-19

เปิดบริการแล้ว Virtual COVID-19 Clinic ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีค่าใช้จ่าย!

Work From Home ปั่นงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน เสี่ยงจอประสาทตาเสื่อม

ล้างมือบ่อยจน ผิวแห้งกร้าน ลอง 4 สูตรบำรุงมือให้นุ่มนิ่มด้วยวิธีธรรมชาติ

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up