ดูแล "สิววัยรุ่น" กับ "สิววัยทำงาน" ต่างและเหมือนกันอย่างไร
สิววัยทำงาน

ดูแล “สิววัยรุ่น” กับ “สิววัยทำงาน” ต่างและเหมือนกันอย่างไร

Alternative Textaccount_circle
สิววัยทำงาน
สิววัยทำงาน

สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยโดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว โดยทั่วไปแล้ว สิวจะค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็จะมีบางรายที่ยังมีสิวเป็นๆ หายๆ ถึงแม้อายุจะเพิ่มขึ้นจนพ้นวัยรุ่นไปแล้วก็ตาม

ดูแล “สิววัยรุ่น” กับ “สิววัยทำงาน” ต่างและเหมือนกันอย่างไร

สิวในช่วงวัยรุ่น ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยระดับฮอร์โมน androgen จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวัยรุ่น ทำให้ต่อมไขมันขยายใหญ่ขึ้น สร้างไขมันออกมาเพิ่มขึ้น และทำให้มีการอุดตันของรูขุมขนตามมา เกิดเป็นสิวอุดตัน ในผู้หญิงบางรายพบว่าช่วงก่อนมีประจำเดือนอาจมีสิวเห่อมากขึ้น เนื่องจากระดับฮอร์โมน progesterone เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย และมีการบวมของรูขุมขน ในบางรายนอกจากจะมีสิวอุดตันแล้ว ยังมีการอักเสบจนกลายเป็นสิวอักเสบเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนองได้

ส่วนในวัยทำงาน สิวที่เกิดขึ้นมักจะมีสาเหตุจากการแต่งหน้า การใช้เครื่องสำอางหรือครีมบำรุงผิวต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวอุดตันและสิวอักเสบตามมา ดังนั้น ควรจะทำความสะอาดใบหน้าอย่างถูกต้องทุกวัน นอกจากนี้ คนที่มีแนวโน้มที่จะเป็นสิวง่าย การเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ปราศจากน้ำมัน (water-based, oil-free) หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดสิวอุดตัน (noncomedogenic) ก็จะช่วยลดการอุดตันของรูขุมขนได้

เมื่อเป็นสิวแล้ว การรักษาสิวโดยรวมคือการลดการอักเสบของสิวเดิม และป้องกันไม่ให้เกิดสิวใหม่ขึ้น ซึ่งยาในการรักษามีทั้งยาทาเฉพาะที่และยารับประทาน โดยแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาตามระดับความรุนแรงของสิวที่เกิดขึ้น

สำหรับยาทาเฉพาะที่มีหลายชนิด เช่น Benzoyl peroxide มีฤทธิ์ลดการอักเสบและลดการอุดตันของสิว ยากลุ่มนี้อาจพบผลข้างเคียง เกิดการระคายเคือง มีรอยแดง ลอก หรือผิวหนังแห้งบริเวณที่ทายาได้ ดังนั้นจึงควรทาปริมาณน้อยก่อน ถ้ามีอาการระคายเคืองควรหยุดยาดังกล่าวและไปพบแพทย์

ในรายที่มีสิวอักเสบ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะชนิดทาร่วมด้วย นอกจากนี้ยาทาในกลุ่มวิตามินเอ จะช่วยทำให้ผิวหนังหลุดลอกได้ดีขึ้น ลดสิวอุดตันซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวอักเสบตามมา ถ้ามีสิวอักเสบรุนแรง การใช้ยาทาแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถควบคุมอาการอักเสบได้ ดังนั้น อาจใช้ยารับประทานร่วมด้วย เช่น ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน หรือยาในกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ซึ่งการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอนี้ มีประสิทธิภาพดีในการรักษาสิว แต่มีผลข้างเคียงหลายอย่างเช่น ทำให้ตาแห้ง ริมฝีปากหรือผิวหนังแห้ง อาจทำให้ระดับไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้น หรือการทำงานของตับผิดปกติไป ในสตรีที่ตั้งครรภ์ ยาอาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดการพิการแต่กำเนิดได้ ดังนั้นการใช้ยาชนิดนี้ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

การดูแลผิวหน้าอย่างถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสิวอุดตันและสิวอักเสบ แต่ถ้าเกิดเป็นสิวแล้ว การรักษาสิวอย่างถูกวิธี ควรหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสผิวหน้า ไม่แกะสิวซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จะช่วยลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดตามมาภายหลังได้

สิววัยทำงาน 2 สิววัยทำงาน 1


ข้อมูล : รศ.พญ.ปภาพิต ตู้จินดา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ผิวแดงแห้งลอก! ลอง 10 วิธีปราบอาการ “ผิวแพ้ง่าย” ไวต่อการระคายเคือง

ของมันต้องมีติดบ้าน! แนะ 5 มาสก์หน้า ไอเท็มฟื้นฟูผิวอิ่มฟู นุ่มชุ่มชื้น ราวเสกได้

เทคนิคทาลิปสติกสีเข้ม แบบพลัมหรือแดงเบอร์กันดีให้ดูสวยหวานสไตล์ PONY MAKEUP

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up