สารกรองรังสี

ผลวิจัยสารกรองรังสี UV ในเครื่องสำอางไม่ทำลายการสังเคราะห์แสงของปะการัง

Alternative Textaccount_circle
สารกรองรังสี
สารกรองรังสี

วันนี้ แพรวดอทคอม มีบทความดีๆ สำหรับคุณสาวๆ เกี่ยวกับเรื่อง สารกรองรังสี UV ในเครื่องสำอางมาฝากค่ะซิส โดยศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมของลอรีอัลร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งโมนาโก (The Scientific Centre of Monaco) ได้ร่วมกันพัฒนาวิธีการประเมินผลกระทบของผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดต่อปะการัง โดยการทดสอบได้วัดค่าด้วยตัวแปรหลักต่อการฟอกสีของแนวปะการังในการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับปะการัง ผลการวิจัยเรื่อง “การเกิดปฏิกิริยาเคมีแสงของปะการังแข็งในกลุ่มปะการังเกล็ดคว่ำต่อส่วนผสมในครีมกันแดด” ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำ สาขาปะการัง “Coral Reefs” โดยผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าปะการังสามารถสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มที่แม้สัมผัสกับสารกรองรังสี UV โดยมีการทำการทดสอบสาร 5 ชนิดในเวลา 5 สัปดาห์ ถึงแม้ว่าจะใช้สารกรองรังสี UV ในการทดลองที่มีความเข้มข้นสูงกว่าที่พบจริงจากท้องทะเลก็ตาม

การป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังเป็นประเด็นสำคัญในด้านสาธารณสุข เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมของลอรีอัลจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันการพัฒนาผลิตภัณฑ์มุ่งเน้นในด้านความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมทั้งในทางทะเลและน้ำจืด ปัญหาแนวปะการังเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากแหล่งปะการังในหลายภูมิภาคทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาปะการังฟอกขาวจากการสูญเสียสาหร่ายขนาดเล็ก (micro-algae) ที่อาศัยอยู่ร่วมกันไป ทางด้านกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านแนวปะการังต่างให้ความสำคัญกับเกี่ยวการฟอกสีของปะการังเพราะเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน และเมื่อไม่นานมานี้สารกรองรังสี UV ได้ถูกกล่าวว่ามีผลกระทบทางลบต่อปะการังอันเป็นสาเหตุให้ปะการังถูกฟอกขาว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อวัดผลกระทบในประเด็นนี้อย่างละเอียด

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมของลอรีอัลทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งโมนาโกเพื่อประเมินระดับความเข้มข้นของสารกรองรังสี UV ต่อการฟอกสีของปะการัง โดยนักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งโมนาโกได้ทำการทดสอบปะการังเพาะเลี้ยงที่พัฒนาสายพันธุ์จากปะการังสายพันธุ์กลุ่มเกล็ดคว่ำ (Stylophora pistillata) ภายในห้องปฏิบัติการ มีการจำลองควบคุมสภาวะแสงและอุณหภูมิของน้ำตามสภาพแวดล้อมธรรมชาติอย่างเข้มงวดเพื่อประเมินผลกระทบจากโมเลกุลที่อาจปนเปื้อนและทำร้ายแนวปะการัง

ในระหว่างทำการทดลอง นักวิจัยที่ศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งโมนาโก ได้เพิ่มความเข้มข้นของสารกรองรังสี UV ในปะการัง โดยใช้ระดับความเข้มข้นสูงสุดที่พบในทะเลบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยว และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นถึง 10,000 เท่าในการทดลอง สารกรองรังสี UV ที่ใช้ในการทดสอบเป็นสารหลักที่ใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดของลอรีอัล โดยทดสอบด้วยวิธีวัดการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ท่ามกลางปะการัง ซึ่งพบว่าสารกรองรังสี UV ออแกนิกหลักของลอรีอัลทั้ง 5 ชนิด ไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อปะการัง หลังจากทดสอบเป็นระยะเวลาถึง 5 สัปดาห์เพื่อศึกษาปฏิกริยาที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นในการทดลองที่ใช้ระดับความเข้มข้นที่สูงกว่าขีดจำกัดในการสลายไปของสารก็ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสาหร่ายและปะการังแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากสารกำจัดวัชพืชบางตัวที่มีผลกระทบต่อการอยู่รอดของสาหร่ายขนาดเล็กอย่างรวดเร็วและรุนแรงเป็นอย่างมาก

นายเดนิส อัลเลมองด์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งโมนาโก กล่าวว่า “งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยแรกที่ได้ทำการพัฒนาแบบจำลองในการทดสอบด้วยการใช้ตัวแปรตามหลักสรีรศาสตร์ของปะการัง ที่มีความอ่อนไหวจากการรบกวนทางสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายที่อาศัยอยู่ร่วมกับปะการังมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของปะการังมาก โดยหลักการทดลองที่เราได้ใช้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนี้ สามารถนำไปใช้ในการประเมินระดับความอันตรายของโมเลกุลชนิดอื่นๆ ได้”

“การพัฒนาการทดลองใหม่ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมของลอรีอัลได้เดินหน้ามากกว่า 15 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สร้างความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่วางขายในตลาดของเรานั้นปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ”  และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมของลอรีอัลยังคงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยทำงานร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งโมนาโก และมูลนิธิ TARA


ข้อมูลงานวิจัย : https://rd.springer.com/article/10.1007/s00338-018-01759-4
ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ความลับของ “ไฟโตนิวเทรียนท์” ในผักและผลไม้ ช่วยลดแก่และป้องกัน NCDs

หน้าพัง สงกรานต์จบ แต่ “สิว” ไม่จบ! ลอง 5 วิธีสยบสิวเห่อจากอาการแพ้น้ำแพ้แดด

เดือดเหมือนลงกระทะ! วิธีสังเกต ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดที่ทำให้เสี่ยงตายได้

แชร์ภัยร้ายของ MPS อาการคล้าย ออฟฟิศซินโดรม แต่ร้ายและรุนแรงกว่ามาก!!

“ป้า” เรียกเบาๆ ก็เจ็บ! แชร์ 5 เคล็ดลับทำอย่างไรให้อ่อนกว่าวัยจนลืมแก่ไปเลย

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up