ธีระชาติ จารุสมบัติ

อุบัติเหตุอุทาหรณ์ “ธีระชาติ จารุสมบัติ” ผ่าตัด 21 ครั้ง รักษา (ขา) มาราธอน

Alternative Textaccount_circle
ธีระชาติ จารุสมบัติ
ธีระชาติ จารุสมบัติ

ภายในเวลา 4 ปี “ธีระชาติ จารุสมบัติ” ผ่านการผ่าตัด 21 ครั้ง เพื่อแลกกับการรักษาขาไว้ให้ได้

“หลับใน” ฝันร้ายที่เป็นจริง

“แม้จะผ่านอุบัติเหตุนั้นมาสี่ปีแล้ว แต่ผมยังจำภาพเหตุการณ์ได้ดี” คุณก้อยรื้อฟื้นความทรงจำ

“วันนั้น 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลาประมาณบ่ายสอง ผมและภรรยา (คุณเมย์ – สุกฤตา) ขับรถจากที่พักอำเภอชะอำ เดินทางไปอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด ยามบ่ายของการขับรถเพิ่งกินอาหารมาเต็มที่ บวกกับคืนก่อนหน้านั้นพักผ่อนน้อย ทำให้เกิดอาการวูบหลับ โดยที่ไม่มีอาการง่วงเตือนมาก่อน

“มารู้ตัวอีกทีคือรถลงไปอยู่ข้างทาง กระโปรงหน้าฝั่งคนขับชนเข้ากับตอม่อ ตอนนั้นรู้สึกเหมือนมีเหล็กกดทับขาขวา ทำให้ขยับไม่ได้ โชคดีภรรยาซึ่งนั่งข้างๆ ไม่ได้รับบาดเจ็บ จึงรีบโทรศัพท์เรียกหน่วยกู้ภัย ให้นำเครื่องตัดถ่างมาตัดเหล็กกระโปรงรถฝั่งผมที่กระแทกเข้ามาในห้องโดยสาร เพื่องัดตัวผมออกมาในสภาพเกือบหมดสติ นำส่งโรงพยาบาลชะอำ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุราว 10 กิโลเมตร

“จากการตรวจเบื้องต้น ต้นขาขวาถึงปลายเท้าเสียหายหนักมาก เกินกำลังที่โรงพยาบาลจะรักษาได้ จึงช่วยประสานติดต่อโรงพยาบาลอีกแห่ง แต่หลังจากดูฟิล์มเอกซเรย์และเอกสารต่างๆ อยู่กว่าสามชั่วโมง ในที่สุดที่นั่นก็แจ้งว่าไม่พร้อมรับคนไข้เหมือนกัน ต้องส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ

“ในที่สุดรถพยาบาลพาส่งถึงโรงพยาบาลกรุงเทพตอนห้าทุ่ม คุณหมอพูดประโยคแรกว่า ‘ถ้าปล่อยให้เลือดไหลอย่างนี้อีกชั่วโมง แม้แต่ชีวิตก็คงรักษาไว้ไม่ได้’ จากนั้นคุณหมอตรวจสภาพขาขวาเบื้องต้น บอกว่ากล้ามเนื้อถูกทำลายไปมาก มีกระดูกหักหลายจุด ซึ่งเกิดจากแรงอัดตัวถังรถที่ชนกับตอม่ออัดใส่ขาเราอย่างแรง สิ่งที่ทำได้คือต้องผ่าตัด เพื่อดูว่าจะรักษาขาไว้ได้หรือไม่”

ธีระชาติ จารุสมบัติ

เริ่มต้นยกแรก

“ผมถูกนำตัวเข้าห้องผ่าตัดครั้งแรกตอนเที่ยงคืน ออกมาอีกทีตอนตีสี่ โดยหมอใช้เหล็กดามภายนอกตั้งแต่ต้นขาถึงนิ้วเท้า ข่าวดีคือน่าจะรักษาขาไว้ได้ แต่ข่าวร้ายคือต้องใช้เวลารักษาอีกนาน ขอให้ผมทำใจเรื่องเวลาในการรักษาและค่าใช้จ่าย

“วันต่อมาเข้าห้องผ่าตัดครั้งที่ 2 เพื่อนำเหล็กอีกชิ้นไปดามในต้นขา ส่วนขาท่อนล่างตั้งแต่น่องถึงข้อเท้าได้รับความเสียหายมาก ผิวหนังและกล้ามเนื้อเสียหายทั้งหมด มองเห็นกระดูก ส่วนนี้ต้องรอก่อน โดยทางโรงพยาบาลสร้างระบบดูดน้ำเลือดน้ำหนองออกจากร่างกาย เพราะไม่มีเส้นเลือดใหญ่บริเวณน่องแล้ว เมื่อเลือดไหลเวียนมาถึงจุดที่เสียหาย จึงกลายเป็นเลือดเสียจนเกิดหนอง โดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศ ‘แวคคัมเดรสซิ่ง’ (Vacuum Dressing) ซึ่งเราต้องนอนนิ่งๆ เพื่อให้เครื่องดูดเลือดและหนองทิ้งเป็นเวลา 20 วัน ระหว่างนั้นผมต้องเข้าห้องผ่าตัดทุกสี่วัน เพื่อวางยาสลบ ผ่าตัดเนื้อที่ตายออก และล้างแผลรวม 5 ครั้ง

“นอกจากนี้ยังต้องผ่าตัดส่วนของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทต่างๆ ที่เสียหายหลายจุด ซึ่งการเข้าห้องผ่าตัดครั้งที่ 8 ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ คือการต่อเส้นเลือดใหญ่ที่ถูกทำลาย โดยเราทราบว่ามีคุณหมอที่เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมเส้นเลือดประจำอยู่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จึงพยายามติดต่อขอให้ท่านช่วยต่อเส้นเลือดให้ ซึ่งท่านยินดีมาช่วยผ่าตัดให้ผมที่โรงพยาบาลกรุงเทพ คุณหมออธิบายว่าคนเรามีเส้นเลือดใหญ่ที่แขนสองเส้น สามารถนำมาใช้บริเวณอื่นได้หนึ่งเส้น จึงผ่าตัดเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นแขนซ้ายแล้วนำมาต่อที่น่องขวา

“ต่อมาคุณหมอศัลยกรรมกระดูกต้องการนำเหล็กเข้าไปพันที่ต้นขาเพิ่ม ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ครั้งที่ 9 ผมเข้าห้องผ่าตัดสี่ทุ่ม ออกมาประมาณตีห้า จากนั้นนอนพักรักษาตัวจนครบหนึ่งเดือน เฉพาะค่ารักษาพยาบาลต้นขาขวาอย่างเดียว เสียค่าใช้จ่ายไปแล้วประมาณสามล้านบาท เราจึงคุยกันในครอบครัวว่าน่าจะย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งน้องสาวภรรยารู้จักคุณหมอต่อพล วัฒนา ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ซึ่งให้ความกรุณาเรามาก ที่สุดผมจึงได้มารักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลศิริราช”

บททดสอบกำลังใจ

“สภาพผมตอนมาถึงโรงพยาบาลศิริราชคือมีเหล็กดามขาด้านนอกติดมาพร้อมเครื่องแวคคัมเดรสซิ่ง ซึ่งพอคุณหมอตรวจ เห็นว่ากระดูกขาของผมโอเคแล้ว จึงผ่าตัดครั้งที่ 10 นำเหล็กที่ดามขาไปคืนโรงพยาบาลกรุงเทพ ทำให้ได้เงินมัดจำค่าเหล็กคืน 70,000 บาท

“จากนั้นต้องดูแลแผล การไหลเวียนเลือด และดูดเลือดกับหนองออก โดยที่ผมต้องเวียนเข้าออกห้องผ่าตัดทุกสี่วันเป็นเวลาหนึ่งเดือน คิดคร่าวๆ ก็ประมาณ 7 ครั้ง เพื่อล้างแผล ตัดเนื้อตาย พอครบหนึ่งเดือน คุณหมอบอกว่าการใช้เครื่องแวคคัมเดรสซิ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะนอกจากค่าเช่าเครื่องแล้ว ยังต้องจ่ายค่าเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์เครื่องไปเรื่อยๆ คุณหมอจึงแนะนำให้ใช้วิธีของโรงพยาบาลศิริราช คือประยุกต์เครื่องดูดเสมหะ (Suction) ทำเป็นแผ่นพลาสติกปิดที่ขา เพื่อใช้ดูดเลือดและหนองออกได้เหมือนกัน

“วันหนึ่งคุณหมอแจ้งว่าอัตราการไหลของเลือดเสียน่าพอใจแล้ว จึงเริ่มการผ่าตัดครั้งที่ 18 เพื่อนำเหล็กใหม่ลักษณะเหมือนไม้บรรทัดเหล็กไปยึดติดในขา แล้วรอให้กระดูกเชื่อมประสานไปเรื่อยๆ ส่วนอีกจุดหนึ่งบริเวณหน้าแข้ง ซึ่งกระดูกแหลกละเอียด ทำให้หน้าแข้งดูแหว่งเข้าไป ต้องใช้วิธีผ่าตัดกระดูกสะโพกเชิงกรานข้างขวาประมาณ 1 ลูกบาศก์นิ้ว นำมาบดเป็นผงก่อน จากนั้นนำไปเติมที่หน้าแข้ง เพื่อให้กระดูกประสานเป็นแท่งเดียวกัน แต่ถ้าไม่อยากเจ็บตัว จะนอนเฉยๆ รอจนกระดูกยืดออกมาผสานติดกันเองก็ได้ เพียงแต่บอกไม่ได้ว่าต้องรอนานเท่าไร

“ผมจึงตัดสินใจผ่าตัดครั้งที่ 19 ซึ่งใช้เวลา 20 วัน เพื่อรอดูว่ากระดูกประสานกันไหม โดยต้องขยับตัวให้น้อยที่สุด ซึ่งทำให้ใช้ชีวิตลำบาก เพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อย่างตอนเช็ดตัวแต่ละวันถือเป็นการออกกำลังกายครั้งใหญ่ของผมเลย เพราะต้องให้พยาบาลสองคนช่วยกันพลิกตัว การออกกำลังกายอีกอย่างคือเป่าลูกบอลในหลอดแก้วเพื่อบริหารปอด เพราะคนไข้ที่นอนนานๆ อาจเกิดอาการปอดแฟบ เมื่อบวกกับการที่ขาขวาซึ่งผ่าตัดมา แต่ห้ามขยับ ทำให้เกิดพังผืดยึดเกาะ คุณหมออยากให้ทำกายภาพ ทั้งที่ขยับได้ยากและรู้สึกเจ็บมาก

“ช่วงรอให้กระดูกประสาน ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าเราตัดขาไปแต่แรก ชีวิตอาจจะง่ายกว่าการที่ต้องพยายามเก็บรักษาขาไว้ เพราะผมรู้ว่าที่ทำมาทั้งหมดยังไม่ถึงครึ่งทางของการรักษาเลย คือเริ่มไม่อยากรักษาแล้ว บวกกับเคยเห็นว่างานขาเทียมของโรงพยาบาลมีการพัฒนาไปมาก ขนาดที่คนใส่ขาเทียมลงวิ่งแข่งได้ พอปรึกษาคุณหมอจึงได้รับคำอธิบายว่าการใส่ขาเทียมเป็นแค่เบื้องต้น แต่หลังจากนั้นคนใส่ขาเทียมต้องผ่าตัดเข่าทุกปี เพราะเกิดการเสียดสีของเข่าและขาเทียม คุณหมอขอให้ผมอดทนไปก่อน การมีขาของเราเองย่อมดีกว่าใส่ขาเทียมแน่นอน ผมฟังแล้วรู้สึกมีกำลังใจ ขนาดคุณหมอเองยังปรารถนาที่จะรักษาขาให้ แล้วทำไมเราจะถอดใจเสียล่ะ

“จากนั้นมีการเอกซเรย์ดูกระดูกที่เติมหน้าแข้งอีกครั้ง ปรากฏว่ากระดูกที่เติมไปไม่พอ หมอขอผ่าตัดกระดูกเชิงกรานข้างซ้ายมาเติมเพิ่มอีก ซึ่งเป็นการผ่าตัดครั้งที่ 20 ของผม คราวนี้หมอคงผ่าเอาไปเยอะพอสมควร ทำให้กระทบเส้นประสาทและความรู้สึกซีกซ้าย เพราะฉะนั้นซีกซ้ายของผมจึงไม่ค่อยรู้สึกเท่าไร คงต้องอาศัยเวลาค่อยๆ ประสานรักษาไป

“ผ่านไปอีก 20 วัน ทำให้พอรู้แล้วว่าทุกอย่างโอเค ไม่ต้องหากระดูกมาเติมเพิ่มแล้ว ก็เหลือขั้นตอนสุดท้ายคือปิดแผล ซึ่งคุณหมออธิบายว่าต้องนำเนื้อและผิวหนังต้นขาด้านซ้ายมาปิดเพิ่มที่น่องด้านขวา ถือเป็นการจบขั้นตอนการรักษา จากนั้นรอดูว่าแผลที่ปิดไปนั้นไม่มีรูรั่ว จึงให้กลับมาดูแลตัวเองต่อที่บ้านได้ โดยมีนัดตรวจเพื่อติดตามอาการทุก 3-6 เดือน”

อุบัติเหตุอุทาหรณ์ “ธีระชาติ จารุสมบัติ” ผ่าตัด 21 ครั้ง รักษา (ขา) มาราธอน

ผ่าตัดอีกครั้งเพื่อให้เดินได้

“การที่ขาขวาของเราไม่ค่อยขยับหรือขยับได้ยากเพราะรู้สึกเจ็บ ทำให้มีพังผืดเกาะ สุดท้ายคุณหมอแนะนำวิธีลัดคือการผ่าตัดเลาะพังผืดออก ตั้งแต่ด้านข้างของขาบริเวณเข่าขึ้นมาถึงกลางต้นขา และบริเวณเอ็นร้อยหวายขึ้นมาถึงน่อง รวมทั้งด้านหน้าของหัวเข่า ง

“หลังจากพักฟื้นที่บ้านได้พักใหญ่ ผมตัดสินใจยอมเจ็บอีกครั้ง เป็นครั้ง ที่ 21 ให้คุณหมอช่วยผ่าตัดให้ ซึ่งเมื่อมีแผลจากการเลาะพังผืด เราต้องขยับขาด้วยการทำท่าถีบจักรยาน โดยมีเครื่องมือให้เอาขาขึ้นไปวางบนแป้นเหยียบเพื่อหมุน ซึ่งเจ็บมาก ตั้งเวลาในการถีบจักรยานแค่ 5 นาที แต่เป็น 5 นาทีที่รู้สึกทรมานจากการเจ็บแผลสุดๆ

“จากนั้นผมเริ่มกลับมาขยับขาได้ แต่ยังลงน้ำหนักมากไม่ได้ ต้องใช้วอล์คเกอร์ฝึกเดินนานสามเดือน จนเกิดความสงสัยว่าเราคงต้องมีชีวิตอยู่โดยใช้วอล์คเกอร์หรือไม้ค้ำไปตลอดชีวิตหรือเปล่า กระทั่งมีวันหนึ่งเพื่อนรุ่นน้องภรรยาเล่าว่าเขาฝันเห็นผมเดินได้ ซึ่งสิ่งที่เขาเล่าอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่กลายเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับผม จึงพยายามกัดฟันสู้ ฝึกเดินมาเรื่อยๆ จนเปลี่ยนจากวอล์คเกอร์มาใช้ไม้ค้ำยันซ้ายขวา ฝึกเดินอีกสามเดือนก่อนปรับมาเป็นเดินด้วยไม้ค้ำเดี่ยวหนึ่งเดือน กระทั่งกลับมาเดินได้เกือบปกติอย่างปัจจุบัน”

ธีระชาติ จารุสมบัติ

ชีวิตที่มีขา

“ถ้าให้ประเมินอาการตอนนี้เทียบกับตอนที่ปกติ ผมให้ 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะตอนนี้ต้นขาขวารับความรู้สึกได้ดีพอๆ กับขาซ้ายแล้ว แต่น่องกับหน้าแข้งขวายังไม่รู้สึก ส่วนปลายเท้ากลับมารู้สึกประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ผมไม่สามารถกระดกปลายเท้าได้ เพราะที่น่องไม่มีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่จะช่วยกระดกปลายเท้าได้แล้ว คุณหมอบอกว่าถ้าอยากให้กระดกเท้าหรือเดินโดยไม่ต้องลากเท้า ผมต้องผ่าตัดอีกครั้ง โดยผ่าเอาเส้นเอ็นด้านหลังของขากลับมาใส่ด้านหน้าเพื่อให้กระดกเท้าได้ แต่คุณหมอบอกว่าพิจารณาโดยรวมในการเดินแล้วยังไม่จำเป็นต้องทำ ผมจึงยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะผ่าตัดอีกไหม

“เมื่อต้นปีที่ผ่านมาผมสามารถขับรถไปไหนมาไหนได้เป็นปกติ เพราะถึงจะกระดกเท้าไม่ได้ แต่สามารถเลื่อนเท้าไปมา มีแรงบังคับคันเร่งและเบรกได้แล้ว ทุกวันนี้มีนัดตรวจปีละครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดผมถามคุณหมอว่ามีข้อจำกัดอะไรในการเดินออกกำลังกายไหม เพราะทุกเช้าผมปลุกตัวเองให้ตื่นตีห้าเพื่อฝึกเดินในพื้นที่ว่างรอบบ้าน วันละ 50 นาที เป็นการบังคับตัวเองให้ฝึกกล้ามเนื้อ ไม่ให้ร่างกายขาดการออกกำลังกาย อยากให้ปอดแข็งแรง คุณหมอดูฟิล์มเอกซเรย์ หัวเข่าแล้วบอกว่าถ้าอยากเดินก็เดินเลย ไม่มีข้อจำกัดอะไรทั้งนั้น ตอนนี้ขาผมอาจจะยังพาไปไหนมาไหนได้ไม่มาก โดยเฉพาะการขึ้นบันไดหลายๆ ขั้น แต่ผมพยายามคิดเสมอว่าในเมื่อผมชอบเดินดูสถานที่โบราณ เดินชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ผมจึงใช้สิ่งนี้เป็นเหมือนแรงจูงใจให้ฝึกเดินตลอดเวลา”

บทเรียนที่แลกมาด้วยชีวิต

“ความเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าอย่าประมาท ถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอควรเลี่ยงการขับรถ อีกทั้งทำให้เราเห็นสัจธรรมเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งพระอาจารย์ชยสาโร ที่ผมไปปฏิบัติธรรมกับท่านสอนว่า เหตุการณ์เจ็บป่วยถือเป็นสิ่งเล็กน้อยเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง แต่ความทรมานตอนที่เราใกล้ตายจะเป็นระดับคลื่นสึนามิเลย ถ้าเราไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้อาจรับไม่ไหว ความที่ชอบศึกษาและสนใจธรรมะอยู่แล้ว ทำให้ผมตระหนักว่าการพัฒนาภายนอกหรือการออกไปเรียนรู้โลกกว้างเทียบไม่ได้เลยกับการกลับมาศึกษาภายในตัวเอง ซึ่งเป็นเหมือนการเตรียมตัวครั้งใหญ่ของชีวิตจริงๆ ที่ต้องฝึกจิตสุดท้ายก่อนถึงวันเวลาที่จะต้องจากโลกนี้ไป ผมจึงถือว่าสิ่งที่เราเจอเป็นเหมือนการฝึกซ้อมใจตนเอง ถ้าเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมาให้นึกเสมอว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะผ่านไป เพียงแต่ต้องใช้เวลา ระหว่างที่เราต้องอยู่กับความเจ็บป่วยนั้น แม้กายจะเป็นทุกข์ แต่เราพอจะมีทางเลือกว่าจะทุกข์ใจไปด้วยหรือไม่

“ขอบคุณคุณหมอทุกท่านที่รักษาผม โดยเฉพาะคุณหมอต่อพลที่คอยให้กำลังใจ แม้ท่านจะไม่ได้พูดอะไรมาก แต่การกระทำของท่านชัดเจนยิ่งกว่า คุณหมอรักษาคนไข้ทุกคนที่มาหาด้วยใจที่กรุณา เมื่อมาถึงมือแล้ว ท่านยินดีดูแลทุกคน ทำให้เห็นถึงความเสียสละและคุณค่าชีวิตการเป็นแพทย์ที่ทุ่มเท ทำทุกอย่างเพื่อคนไข้ ที่สำคัญคือการมีกัลยาณมิตรที่ดี ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูกชาย (คุณธีร์)

“ทุกครั้งที่ลืมตาตื่นมา แค่เห็นพวกเขาก็เป็นเหมือนกำลังใจสำคัญที่ไม่ต้องพูดอะไรมาก พวกเขาคอยใส่ใจดูแลธุระของผมทุกเรื่อง รวมถึงช่วยเหลืออย่างเต็มที่และต่อเนื่องมาตลอดสี่ปี”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 977

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

“น้ำหวาน – รวินันท์ อัศวกาญจนกิจ” แดนเซอร์สาวไทยวัย 25 ปี ที่เฉิดฉายในเวทีโลก

รู้จัก “โรคเส้นเลือดขอดในสมอง” ผ่านการเฉียดตายของ “คุณกอล์ฟ-ณัฐพล เกษมวิลาศ”

ชีวิตไร้ขา! แบบโนลิมิตของ “กันยา เซสเซอร์” เธอเป็นทั้งนักกีฬา นางแบบ นักแสดง

Praew Recommend

keyboard_arrow_up