กอล์ฟ ณัฐพล เกษมวิลาศ

รู้จัก “โรคเส้นเลือดขอดในสมอง” ผ่านการเฉียดตายของ “คุณกอล์ฟ-ณัฐพล เกษมวิลาศ”

Alternative Textaccount_circle
กอล์ฟ ณัฐพล เกษมวิลาศ
กอล์ฟ ณัฐพล เกษมวิลาศ

“ความเจ็บป่วย…ทำให้รู้ว่าชีวิตมีค่า” เป็นคำพูดของนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ คุณกอล์ฟ – ณัฐพล เกษมวิลาศ ผู้ที่ผ่านเส้นแบ่งระหว่างความเป็นและความตายของชีวิตมาแล้ว เขาเล่าให้ แพรว ฟังถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต

“ครอบครัวผมทำธุรกิจโรงแรมที่ประเทศมอนเตเนโกร แถบยุโรปตะวันออก ชายแดนติดประเทศโครเอเชียและเซอร์เบีย มีธรรมชาติงดงาม หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากสวิตเซอร์แลนด์ กลับมาพักผ่อนที่ไทยได้ครึ่งปี ผมจึงรับอาสาไปดูแลกิจการของที่บ้าน ทำหน้าที่เป็นไดเร็กเตอร์ ดูแลภาพรวมและโอเปอเรชั่นของโรงแรมทั้งหมด โดยเดินทางไปทำงานคนเดียว ไม่ได้มีเพื่อนหรือครอบครัวไปด้วย เพราะฉะนั้นในการทำงานเราก็จะพบเพื่อนร่วมงานเป็นหลัก”

รู้จัก “โรคเส้นเลือดขอดในสมอง” ผ่านการเฉียดตายของ “คุณกอล์ฟ-ณัฐพล เกษมวิลาศ”

เผชิญ “โรคซึมเศร้า”

“ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตผมค่อนข้าง Work Hard, Play Hard เวลา เที่ยวก็เต็มที่ ทำงานก็ทำเต็มที่ เพราะอยากให้ผลการดำเนินงานออกมาดี ทั้งๆ ที่ ครอบครัวไม่ได้กดดันในการทำงานเลยแม้แต่น้อย มีแต่เรากดดันตัวเอง ผมทำงาน ผ่านไปเกือบหกเดือนโดยไม่ได้เดินทางกลับไทยเลย กระทั่งวันหนึ่งรู้สึกเหมือนตัวเอง เป็นโรคซึมเศร้า เช่น ผมมักจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าเกิดมาทำไม ทำไมเราถึง ไม่แฮ็ปปี้กับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เล่าให้แฟนฟัง เขาก็ไม่เข้าใจว่าเราเป็นอะไร จึงแนะนำว่าน่าจะไปหาหมอ เพื่อจะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง

“ผมตัดสินใจกลับไทยและไปพบจิตแพทย์ หลังจากพูดคุยกันทำให้รู้ว่า การป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโรคนี้เกิดจากสารเคมีในสมองไม่ เท่ากัน คือไม่มีสารเคมีของความสุข มีแต่สารเคมีของความเศร้าหลั่งออกมามาก ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า ผมไม่ได้บอกที่บ้าน ไม่อยากให้พ่อแม่เป็นห่วง หลังจาก พบหมอและรับยาเสร็จก็เดินทางกลับไปทำงานที่โรงแรมต่อ ผมเดินทางไป – กลับ เพื่อทำงานและรักษาตัวเกือบสองปีถึงพาแม่ไปพบหมอด้วยกัน จะได้อธิบายให้แม่ เข้าใจถึงอาการที่เป็น ผมทำงานโรงแรมที่มอนเตเนโกรได้สามปี จึงเดินทางกลับมา รับผิดชอบงานอีกบริษัทหนึ่งของครอบครัวซึ่งอยู่ที่ไทย

“อาการหนึ่งที่ผมเป็นมาตลอดตั้งแต่อายุ 18 ปีคือปวดหัวข้างเดียว เคยไป หาหมอเนื่องจากมีอาการปวดหัวซีกซ้ายและตาซ้ายมัว หมอวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรน ซึ่งผมกินยาแก้อาการไมเกรนมาตลอด จึงไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นอะไรร้ายแรง ทุกครั้ง ที่เครียดหรือมีปัญหาเรื่องงานแล้วเกิดอาการปวดหัว ก็จะกินยาพาราเซตามอลแก้ ไมเกรน พอกินยาแล้วนอนพัก อาการปวดหัวก็หาย”

กอล์ฟ ณัฐพล เกษมวิลาศ

ปวดหัว อาเจียนต่อเนื่อง… “เส้นเลือดขอดในสมอง”

“กระทั่งปลายปี 2019 – 2020 ทุกครั้งที่ปวดหัวเริ่มมีอาการอาเจียนร่วม ด้วย และอาการค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่ผมลืมตาพูดโต้ตอบอยู่นี่แหละ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรลงไป จนประมาณเดือนมีนาคม 2020 ผมเตรียมจะขับรถ จากบ้านพ่อแม่กลับไปนอนคอนโดเพื่อเตรียมตัวไปทำงานวันรุ่งขึ้น แต่พ่อเห็น ว่าปวดหัวมาก จึงบอกให้ผมนอนค้างที่บ้าน

“ตื่นเช้ามาผมเดินไปหาแม่ที่ห้องนั่งเล่นเพื่อจะบอกว่าปวดหัวมาก ไม่ทัน ได้เห็นสภาพตัวเอง แม่บอกว่าตาขวาของผมเป็นปกติ แต่เปลือกตาซ้ายปิด ครึ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันเริ่มมีอาการอาเจียนอีกแล้ว จนแม่บอกว่าให้ไปหาหมอ ผม ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตอนห้าโมงเย็นด้วยอาการสะลึมสะลือ ไม่รู้ว่าตัวเองถูกพา ไปไหน อาการปวดหัวทวีความรุนแรงมากขึ้นร่วมกับอาเจียน และไม่รู้สึกตัวอีกเลย

“แม่เล่าให้ฟังทีหลังว่า หลังจากทำเอ็มอาร์ไอ หมอบอกแม่ว่าเหมือนผม เคยเลือดออกที่สมองมาก่อน ขอส่งต่อให้ผมรักษากับอาจารย์หมอ (รศ. นพ. ทวีศักดิ์ เอื้อบุญญาวัฒน์) ซึ่งเก่งมาก พอแม่ได้พบอาจารย์หมอถึงรู้ว่าผมเป็น ‘เส้นเลือดขอดในสมอง’ เป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุ อาจเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่หรือ ตั้งแต่แรกเกิด ปัจจุบันพบมากในคนวัยทำงาน หมอเปรียบเทียบให้ฟังว่าเส้นเลือด ก็เหมือนท่อน้ำ ถ้ามีสิ่งอุดตัน ทำให้น้ำไหลช้า เส้นเลือดขอดที่พันกันขดไปมา เหมือนรากไม้จึงค่อยๆ แตกซึมออกมา

“จุดที่มีอาการเส้นเลือดขอดในสมองอาจส่งผลกระทบกับอวัยวะส่วนต่างๆ แต่กรณีของผมส่งผลกระทบต่อลานสายตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นข้างละ 25 เปอร์เซ็นต์ อธิบายง่ายๆ คือแบ่งพื้นที่ดวงตา 1 ข้างเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ผมได้รับผลกระทบคือมุมบนของตาซ้ายและมุมบนของตาขวา ซึ่งสายตาคนปกติ เวลาที่กลอกตาไปมาจะสามารถมองเห็นคนหรือสิ่งของข้างๆ แต่ผมมองไม่เห็น เพราะลานสายตาแคบกว่าปกติ”

2 สัปดาห์แห่งความทรมาน

“วิธีรักษามี 2 ขั้นตอน อย่างแรกคือต้องฉีดสีเข้าไปในกะโหลก เพื่อดูว่ามีเส้นเลือดสมองจุดไหนที่เลือดออกหรือรั่วซึม เพื่อจะได้ใช้กาวทางการแพทย์ (ของเหลวที่ฉีดทางสายสวนหลอดเลือดสมอง พอเจอเลือดจะแข็งตัวทันที) อุดเส้นเลือดที่รั่วซึม

“จากนั้นพ่อแม่ต้องตัดสินใจว่าจะรักษาผมด้วยวิธีไหน วิธีแรกคือผ่าตัดสมอง ซึ่งอาจกระทบลานสายตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นเพิ่มอีกข้างละ 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรวมกับการสูญเสียเดิมจะกลายเป็นข้างละ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง เท่ากับว่าแทบจะมองไม่เห็นอะไรเลยก็ว่าได้

“อีกวิธีคือการฉายแสง ซึ่งมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ กว่าจะรู้ผลการรักษา ต้องผ่านไปแล้วสองปี แต่ระหว่างสองปีนี้ต้องลุ้นว่าจะมีเส้นเลือดตรงไหนแตกอีกไหม หรือจะมีอาการปวดหัวอีกหรือไม่

“คุณแม่จึงถามหมอว่าถ้าเป็นลูกคุณหมอจะเลือกวิธีไหน คุณหมอบอกว่าเลือกการผ่าตัด ท่านจึงตัดสินใจให้ผมเข้ารับการผ่าตัด แต่ไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากเส้นเลือดขอดในสมองอัดแน่นรวมกันที่ก้านสมองซีกซ้าย ส่งผลให้สมอง บวม จำเป็นต้องลดปริมาณเลือดที่คั่งในสมองออกก่อน ทำให้ต้องนอนห้อง ไอซียูสองสัปดาห์ ซึ่งตลอดเวลาที่อยู่ห้องไอซียูผมแทบไม่รู้สึกตัวเลย และการที่ สมองบวมส่งผลกระทบกับความจำระยะสั้น ช่วงที่รู้สึกตัวผมก็จะคอยถามทุกคน ว่าวันนี้วันที่เท่าไร ที่นี่ที่ไหน ใครมาเยี่ยมบ้าง พอถามแล้วก็จำไม่ได้ และหลับไป ในช่วงสั้นๆ ด้วยฤทธิ์ยา สภาพผมตอนนั้นจะตาลอยๆ เพราะรับยามอร์ฟีนทุกวัน เนื่องจากอาการปวดหัว ไม่อยากกินอาหาร จนน้ำหนักตัวลดไป 6 กิโลกรัม

“เมื่อเลือดในสมองค่อยๆ ไหลลงมาตามกระดูกไขสันหลัง คราวนี้อาการ ปวดหัวค่อยๆ ลดลง แต่กลับมีอาการปวดหลังและก้นกบมาแทน ผ่านไปสักพัก เริ่มปวดที่สะโพกและขา เพราะเลือดค่อยๆ ไหลลงมา ทำให้ต้องพึ่งมอร์ฟีนตลอด สุดท้ายจึงมีการฉีดสีเพื่อทำเอ็มอาร์ไออีกรอบ ก่อนย้ายมาพักห้องคนไข้ปกติ

“ตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาลไม่มีใครบอกผมเลยว่าเกิดอะไรขึ้นหรือผมเป็นอะไร จนหมอรู้ว่าผมพอจะเริ่มมีสติ พูดจารู้เรื่องแล้ว จึงพาผมไปที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ อธิบายเหตุการณ์ทุกอย่างว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งตอนที่หมออธิบาย ว่าการมองเห็นของผมอาจหายไป 25 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผมไม่สามารถขับรถที่ผมรักได้อีก ฟังแล้วรู้สึกเสียใจ ได้แต่คิดกับตัวเองว่าต่อไปนี้เราไม่สามารถทำสิ่งที่ชอบได้อีกต่อไป ซึ่งทุกคนในบ้านรู้ดีว่าผมชอบขับรถและชอบรถซูเปอร์คาร์มาก จึงไม่มีใครกล้าบอกเรื่องนี้ ต้องให้คุณหมอช่วยบอกแทน”

กอล์ฟ ณัฐพล เกษมวิลาศ

ผ่าตัดเปิดกะโหลก

“ผมนอนอยู่โรงพยาบาลได้สองเดือน จึงกลับมาพักที่บ้านสองสัปดาห์ เพื่อรอเวลาผ่าตัด เพราะคุณหมออยากให้เปลี่ยนบรรยากาศ อาการปวดหัวยังมีเป็นพักๆ ต้องอาศัยกินยาที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีนและคอยเฝ้าระวัง เพราะหมอบอกว่าโรคที่ผมเป็นอาจเกิดอาการชักได้ตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่การชักที่เกิดจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง แต่เป็นอาการเหม่อลอยไม่รู้ตัวประมาณ 10 – 15 วินาที เนื่องจากกระแสไฟฟ้าใน สมองไม่แล่น โดยที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าอาการชักจะเกิดขึ้นเวลาไหน จึงต้องกินยา ป้องกันการชักไว้ก่อน ถึงแม้ว่าการกินยาไม่ได้ช่วยเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่ได้ กินยาอาจมีอาการชักถี่ขึ้นโดยที่ตัวเราและคนรอบตัวไม่รู้ ที่บ้านจึงค่อนข้างเป็นห่วง เรื่องนี้มาก ถึงกับสั่งว่าเวลานอนห้ามล็อกห้อง เวลาอาบน้ำต้องให้น้องชายเฝ้า ซึ่ง โชคดีว่าตลอดเวลาที่พักอยู่บ้านเพื่อรอผ่าตัด ผมไม่มีอาการชักเลย

“เมื่อถึงวันผ่าตัด คุณหมอใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง โดยผ่าเปิดกะโหลกเป็นรูปเกือกม้า เหนือท้ายทอยข้างซ้าย เพื่อนำก้อนเลือดที่พันกันออกมาทั้งก้อน จากนั้นเย็บแม็กที่หนังศีรษะ เพื่อไม่ให้มีแผลเป็น ผ่านไปกว่าหนึ่งสัปดาห์ต้องฉีดสีอีกครั้ง เพื่อดูว่าเส้นเลือดสมองมีรอยรั่วตรงไหนอีกหรือเปล่า”

ชีวิตใหม่ มุมมองใหม่

“ช่วงหกเดือนแรกหลังผ่าตัดต้องกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า ซึ่งหมอบอกแม่ว่าก่อนหน้านี้ผม เคยชักมาแล้ว แต่ไม่มีใครรู้ว่านั่นคืออาการชัก ส่งผลให้ผมมีอาการนอนไม่หลับและรู้สึกเครียด เมื่อ มีการทดสอบสายตา ข่าวดีคือไม่ได้สูญเสียการมองเห็นเพิ่มอีกข้างละ 25 เปอร์เซ็นต์อย่างที่กังวล แต่ จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังมองด้านข้างไม่เห็นเหมือนเดิม

“ทุกวันนี้ผมสามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ มีแค่อาจหลงๆ ลืมๆ บ้าง สามารถออกกำลังกาย ได้ ยกเว้นกีฬาบางอย่างที่อาจสร้างแรงดันในร่างกาย เช่น การดำน้ำลึก ทั้งที่เป็นกิจกรรมสุดโปรด ถ้านอนน้อย นอนไม่หลับ หรือเครียด อาจทำให้เกิดอาการชักได้ จึงต้องกินยากันชักเป็นเวลา 2 – 5 ปี ทำให้ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไปจากเดิมที่ผมค่อนข้างมีโลกส่วนตัวสูง ชอบเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว แต่หลังจากนี้ไม่สามารถใช้ชีวิต แบบนั้นได้แล้ว ชอบขับรถก็ขับไม่ได้ ต้องมีคนขับรถ

“ส่วนโรคซึมเศร้ายังคงรักษาต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันอาการค่อยๆ ดีขึ้นแล้ว จากที่ต้องพบแพทย์เดือนละครั้ง เริ่มนัดห่าง ออกไปเป็นสามเดือนครั้งและหกเดือนครั้ง แสดงว่าอาการเราค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งผมมั่นใจว่าตัวเองจะหายจากโรคนี้

“ความเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้ผมรู้ว่าครอบครัวและคนรอบข้าง ให้ใจและทุ่มเทในการดูแลอย่างดี โดยที่ไม่คิดว่าเขาจะทำเพื่อเรา ขนาดนี้ คุณยายผมอายุมากแล้ว ท่านก็ยังมาอยู่เป็นเพื่อน คุณแม่ มาคอยดูแลที่โรงพยาบาลตลอด แฟนช่วยสั่งซื้ออาหารที่ผม อยากกิน แม้ว่าพออาหารมาส่งจริงๆ ผมกลับกินได้แค่ 3 คำ มีเพื่อนฝูงและคนรู้จักมาเยี่ยมผมตลอดเวลาที่นอนอยู่โรงพยาบาล ทำให้ผมได้ข้อคิดเรื่องคุณค่าของชีวิต จากที่เมื่อก่อนเป็นโรค ซึมเศร้า เคยคิดว่าถ้าถูกรถชนตายไปก็ไม่เสียดายชีวิต แต่พอ มาถึงวันนี้ผมรู้สึกว่าชีวิตมีค่า จากที่คิดแค่อยากทำให้ชีวิตตัวเอง ดีขึ้น สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือผมเชื่อว่าต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่างที่ทำให้ ผมได้กลับมาใช้ชีวิต ได้มีโอกาสทำความดี ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง ครอบครัว คนรอบข้าง แต่ต้องทำให้สังคมดีขึ้นด้วย

“อย่างช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ผมร่วมกับเพื่อนๆ ที่ บริษัท (KAS International) ร่วมกันบริจาคเงินซื้อเครื่องช่วย หายใจและชุดพีพีอีให้โรงพยาบาลสมุทรสาครที่ขาดแคลนเตียง ผู้ป่วยและอุปกรณ์ทางการแพทย์

“นอกจากนี้บริษัทของเรายังวางแผนว่าต่อไปถ้าสามารถ เดินทางไปจังหวัดต่างๆ ได้ เราอาจตั้งเป็นกองทุนหรือมูลนิธิ เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาให้เด็กๆ ตามต่างจังหวัด นำอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น พร้อมกับมอบทุนการศึกษาโดยที่เขาไม่ จำเป็นต้องกลับมาคืนทุน เพราะผมเชื่อว่าการศึกษาเป็นต้นทุนชีวิต ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้เติบโตและใช้ชีวิตอย่างที่พวกเขาอยากจะเป็น และอาจมีโอกาส ‘ส่งต่อการให้’ อย่างที่เขาเคยได้รับ”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 975

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

คุณหมอโจ้ กับทิปส์ “ผู้นำ” แห่งวงการความงามที่ยืนหนึ่งได้อย่างยั่งยืน

ส่องโลกอินไซต์ คริปโตเคอร์เรนซี่ 2021 โดย ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล

เปิดชีวิตคุณแม่ฟูลไทม์ของ “เจนี่ อัลภาชน์ ณ ป้อมเพชร” ที่มีความสุขแบบเกินต้าน

Praew Recommend

keyboard_arrow_up