เขื่อน ภัทรดนัย

ผู้ชายแต่งหญิง! อิสรภาพผ่านแฟชั่น การสะท้อนตัวตนของ “เขื่อน ภัทรดนัย”

Alternative Textaccount_circle
เขื่อน ภัทรดนัย
เขื่อน ภัทรดนัย

ย้อนกลับไปเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ชื่อของ “เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ” เป็นที่รู้จักในนามของวง K-OTIC บอยแบนด์ดังแห่งยุค กระทั่งวันหนึ่งชื่อของเขาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อเขาออกมา Come out และที่เป็นกระแสอย่างมากก็คือ ภาพของเขากับลุคแปลกตาในชุดเดรส ซึ่งถือเป็นการสะท้อนตัวตนของเขาผ่านเสื้อผ้า

ผู้ชายแต่งหญิง! อิสรภาพผ่านแฟชั่น การสะท้อนตัวตนของ “เขื่อน ภัทรดนัย”

อิสรภาพผ่าน “แฟชั่น”

“เมื่อก่อนเรามักจะได้ยินกรอบของสังคมคอยบอกว่าเราต้องเป็นแบบนี้ หรือต้องแต่งตัวแบบไหน แต่ตอนนั้นเขื่อนก็มีแอบเปรี้ยวนิดๆ ด้วยการทำผมสีทอง ทาเล็บ ทาตา ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป เขื่อนคิดว่านั่นเป็นการพยายามหาอิสรภาพ จากคำนิยามที่สังคมตั้งไว้ด้วยการแสดงออกผ่านทางเสื้อผ้า การใส่กระโปรง ทาลิปสติก ปัดบลัชออน เพราะเป็นวิธีที่แสดงออกถึงตัวตนได้เร็วที่สุด เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อออกมาได้ง่ายที่สุดด้วย แต่พอโตขึ้นถึงได้รู้ว่าจริงๆ มีการสื่อสารความเป็นตัวเองในอีกหลายรูปแบบ เช่น ความคิด อาชีพการงาน หน้าที่ มุมมอง อุดมคติ

“เขื่อนเริ่มใส่กระโปรงตั้งแต่ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษแล้วครับ เริ่มจากวันหนึ่งเปิดตู้เสื้อผ้าแล้วรู้สึกว่ามีแต่แบบรัดๆ ใส่ไม่สบายตัว ไม่มีแบบที่อยากใส่เลย ซึ่งเขื่อนก็ไม่รู้หรอกนะว่าจริงๆ แล้วตัวเองอยากใส่อะไร ที่สุดหยิบเดรสของคุณแม่มาลอง สิ่งที่สัมผัสได้ทันทีคือสบายดีจัง จากนั้นก็ค่อยๆ ลองเสื้อผ้าแบบอื่นไปเรื่อยๆ ทั้งของคุณแม่ ของเพื่อน เริ่มจากใส่อยู่บ้านก่อน แล้วค่อยขยับใส่ออกไปข้างนอก

“ซึ่งคุณแม่ไม่ได้ว่าอะไร แต่คนที่งงคือเพื่อนๆ มากกว่า เขาคิดว่าเขื่อนใส่กระโปรงเพราะอยากเอนเตอร์เทน อยากทำให้เพื่อนหัวเราะกัน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเริ่มมาจากการที่ใส่แล้วรู้สึกสบายทั้งร่างกายและจิตใจ จากนั้นเริ่มชัดเจนขึ้นตอนไปเรียนต่อที่อังกฤษ เขื่อนใส่กระโปรงออกนอกบ้านเป็นปกติเลย ไปเดินสวนสาธารณะ ไปหาเพื่อน

เขื่อน ภัทรดนัย

“บางคนไม่รู้ อาจคิดว่าพอเปิดตัวแล้วเขื่อนเลยใส่กระโปรง ความจริงการเลือกเสื้อผ้าใส่ในแต่ละวัน หลักๆ มาจากความรู้สึกในวันนั้น เช่น ถ้ารู้สึกไม่ค่อยร่าเริง ก็อยากใส่เสื้อผ้าที่สบายหน่อย หรือบางวันรู้สึกคึกคัก พลังเยอะ ก็จะเลือกที่ทะมัดทะแมง สีสันสดใส หรือถ้าต้องไปคุยงานทั้งวัน แถมตอนเย็นมีงานจิตบำบัดอาสาอีก เขื่อนก็จะเลือกเสื้อผ้าที่คล่องตัว อย่างเสื้อคลุมเบลเซอร์ เซตผมให้ดูเรียบร้อยหน่อย การแต่งตัวสำหรับเขื่อนจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นกระโปรงหรือกางเกง แต่มาจากความรู้สึกและสถานการณ์ในวันนั้นมากกว่า

“ถ้าถามว่ามีอะไรที่อยากใส่ แต่ยังไม่กล้าใส่ สำหรับตอนนี้ไม่มีนะคะ จะมีก็แค่กำลังฝึกเดินบนรองเท้าส้นสูงให้คล่อง ยิ่งรองเท้าส้นเข็ม ใส่แล้วยังวิ่งไม่ค่อยถนัด ยังเดินสับขาไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะเขื่อนชอบความรู้สึกที่ได้ใส่ส้นสูง รู้สึกว่ามีพลัง ให้ความรู้สึกเป็น Boss Lady (ยิ้ม)

“โดยรวมเขื่อนรู้สึกโอเคและปลอดภัยกับการที่ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ไม่ได้กลัวหรือปิดกั้นตัวเอง เพียงแต่ต้องไม่ลืมข้อที่ว่าคนเรามีอิสระที่จะเลือกใส่เสื้อผ้าในแบบที่ต้องการก็จริง แต่บนคำว่าอิสระก็ต้องมีคำว่ากาลเทศะทั้งกับสถานการณ์และสถานที่ เช่น ถ้าต้องไปเจอผู้ใหญ่ งานทางการ ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่โอเคกับเรื่องแบบนี้ ก็ต้องดึงตัวเองกลับมาก่อน หรืออย่างไปวัด หรือบางสถานที่มีกฎว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ส่วนผู้ชายต้องใส่กางเกงเท่านั้น เราก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะถ้าเราเลือกที่จะไปสถานที่นั้นแล้ว ก็ต้องเคารพกฎของเขาด้วย”

เขื่อน ภัทรดนัย

มองเลนส์…ต่างมุม

“แม้โลกจะมาไกล แต่เราก็ยังอยู่ในยุคที่ค่อนข้างจำกัดว่าผู้ชายต้องใส่อะไรที่เป็นผู้ชาย และคนส่วนใหญ่ก็ไปให้ค่ากับความเป็นเพศในสิ่งของเยอะด้วย เช่น กระโปรง กิ๊บ หรือเครื่องสำอางมีไว้สำหรับผู้หญิง แต่เขื่อนขอเลือกมองทุกอย่างแบบ Phenomenology คือเห็นสิ่งนั้นในแบบที่เป็นจริงๆ อย่างเวลามองเสื้อตัวหนึ่ง เขื่อนจะมองว่ามันคือผ้าที่นำมาตัดเป็นชุด คัตติ้งเป็นแบบนี้ ดีไซน์แบบนี้ หรือโต๊ะ ก็คือไม้ที่นำมาประกอบเป็นรูปทรง สามารถวางแก้วน้ำ วางของได้ เพราะฉะนั้นเรื่องเพศจะหายไปเลย

“ซึ่งวิธีการมองแบบนี้ใช้สำหรับจิตบำบัดได้ด้วยนะครับ เพราะเราจะไม่ตัดสินคนไข้จากมุมมองของตัวเรา เช่น ไม่มองว่าคนไข้เป็นโรคซึมเศร้า แต่ต้องมองให้ลึกไปกว่านั้นว่าโรคซึมเศร้าสำหรับเขาเป็นอย่างไร รู้สึกยังไง อาการมาตอนไหน พยายามมองให้เป็นมุมของเขามากที่สุด ไม่ใช่ซึมเศร้าในแบบของเรา เขื่อนจึงไม่เอาความคิดของตัวเองไปครอบ หมายถึงไม่ตัดสิน ไม่นิยามจากสิ่งที่เห็น เป็นการมองแบบไร้อคติและทัศนคติของเราให้มากที่สุด

“การฝึกมองด้วยเลนส์นี้ยากมากเลยครับ สมมติเรานั่งคุยกับเพื่อน เห็นเขาไม่ค่อยยิ้ม เราอาจรู้สึกว่าเราทำอะไรผิดหรือเปล่า เขาไม่ชอบเราเหรอ จึงมีวิธีมองที่เรียกว่า Bracketing Phenomenology นั่นคือแทนที่จะคิดว่าตัวเองทำอะไรผิด ก็ถามเขาเลย แต่เป็นการถามโดยไม่ใส่ความคิดตัวเองลงไป เช่น วันนี้เธอไม่ยิ้มเหมือนวันก่อนๆ เกิดอะไรขึ้น อยากเล่าให้ฟังไหม เพราะคนเรามักจะคิดในมุมตัวเองไปก่อน แต่ในอาชีพของเขื่อน (นักจิตบำบัด) ทำแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด

“ซึ่งเขื่อนเลือกมองแบบนี้ในการใช้ชีวิตของตัวเองด้วยนะ ทั้งการมองเรื่องความสัมพันธ์ เพศ พฤติกรรม เรื่องเสื้อผ้าก็เช่นกัน แน่นอนว่าการแต่งกายเป็นสิ่งที่คนจะมองเห็นได้ชัดเจน และอาจเลือกตัดสินใครจากสิ่งนี้ด้วยเช่นกัน”

เขื่อน ภัทรดนัย

ฉันไม่ใช่ “แฟชั่นนิสต้า”

“ต้องออกตัวก่อนว่าเขื่อนไม่ใช่แฟชั่นนิสต้า ไม่ได้แต่งตัวเก่ง แค่ใส่อะไรที่อยากใส่เท่านั้นเอง เสื้อผ้าที่เขื่อนชอบเป็นแนวโอเวอร์ไซส์หลวมๆ ใส่สบาย มีความพลิ้ว หรือขยับแล้วมีเท็กซ์เจอร์ เวลาไปซื้อเสื้อก็ไม่ได้เลือกว่าตัวนี้เป็นเสื้อผู้หญิงหรือผู้ชาย เพราะเขื่อนไม่เห็นเพศในเสื้อผ้า

“แต่ถ้าพูดตามจริง ทุกวันนี้ก็ช็อปปิ้งในแผนกเสื้อผ้าที่สังคมมองว่าเป็นของผู้หญิงมากกว่า เพราะสไตล์มีความหลากหลายกว่า อย่างกางเกงมีทั้งเอวสูง เอวกลาง เอวต่ำ ไปจนถึงขาสามส่วน ห้าส่วน มีลูกเล่นเยอะ ทั้งดีไซน์ สี เนื้อผ้า ต่างๆ สไตล์ก็มีทั้งแบบหวานๆ แบบเฟมินีน จนถึงเท่ๆ

“หลังจากเขื่อนโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียในช่วงหลังๆ ซึ่งก็มีทั้งกระแสตอบรับที่ดีและไม่ดี บางคนคอมเมนต์ว่าไม่สวยเลย ไม่เข้ากับรูปร่าง เขื่อนก็ตอบเขากลับไปอย่างสุภาพว่า ‘ถ้าใส่แล้วดูไม่เข้า ต้องขออภัยด้วยจริงๆ นะครับ’ เพราะเขื่อนไม่ได้เป็นแฟชั่นนิสต้า ดารา แต่มีอาชีพเป็นนักจิตบำบัด อยู่แต่กับหนังสือ กับลูกค้า แต่ที่ใส่เพราะอยากใส่จริงๆ

“บางวันทาเล็บรูปผีเสื้อ ใส่ต่างหูมุก ติดกิ๊บ หรือบางทีเจอเสื้อที่เราอยากใส่ แต่แขนเรามันเกินแขนเสื้อ ก็ไม่เป็นไร เพราะเราแฮ็ปปี้ (ยิ้ม) เขื่อนคิดว่าถ้าเราอยากทำอะไร แล้วมีคนไม่พอใจ นั่นคือปัญหาของเขา ยกเว้นสำหรับบางเรื่องที่เราต้องแก้ไข อันนั้นก็ต้องรับฟัง ต้องแยกให้ออกครับ เพราะแน่นอนว่าไม่ว่าจะทำอะไร ย่อมมีคนไม่ชอบหรือแอนตี้อยู่แล้ว ซึ่งเขาก็มีสิทธิ์นะ

“แต่ขณะเดียวกันเราก็มีสิทธิ์บอกเขาว่าการทำแบบนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ให้เกียรติกันเลยนะ และถ้าเขื่อนสามารถเปลี่ยนข้อความเหล่านั้นเป็นการรณรงค์ หรือทำให้ผู้คนเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้นได้ก็อยากทำนะ เขื่อนอยากให้พื้นที่ในโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยมากขึ้น อย่างเวลาเจอคนคอมเมนต์ต่อว่า พูดจาร้ายๆ ใส่ เขื่อนอยากบอกเขาว่าลองคอมเมนต์แบบอื่นไหม อาจจะดีกว่านะ คือไม่ได้โต้ตอบ เถียงหรือต่อสู้ เพียงแต่ชี้แจงว่าทำแบบอื่นก็ได้นะ ลองพิจารณาไหม

“เพราะอย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกที่ทุกคนมีอิสระในการพิมพ์ข้อความ เราอาจจะห้ามไม่ได้ แต่เขาก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา ทั้งดีและไม่ดีด้วย เช่น ถ้าโดนฟ้องร้องจะทำอย่างไร เพราะเราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ยอม ฉะนั้นความจริงคือแม้ทุกคนจะมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น แต่ควรอยู่ในขอบเขตของคำว่าเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย”

เขื่อน ภัทรดนัย

พื้นที่ Safe Zone – แสดงตัวตน

“เราอยู่ในยุคที่ทุกคนบอกว่าแสดงตัวตนออกมาสิ แต่เราลืมไปว่าเราต้องมีพื้นที่ปลอดภัยที่จะแสดงออกได้ก่อน อย่างศิลปินที่ใส่กระโปรงขึ้นเวทีคอนเสิร์ต เพราะที่ตรงนั้นอาจเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขาในการแสดงออก เขื่อนอยากให้ทุกคนมีพื้นที่ปลอดภยั ในการแสดงตัวตน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า การศึกษา ศิลปะ แนวคิด ฯลฯ

“สองคือ ถ้าเราเลือกที่จะแสดงตัวตนในพื้นที่ของเรา แต่ถ้ายังมีใครมีปัญหา นั่นคือปัญหาของเขา เขาต้องจัดการตัวเองก่อน เพราะเราก็กำลังจัดการกับปัญหาของเราอยู่เหมือนกัน ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่กลัวว่าจู่ๆ ลุกขึ้นมาใส่กระโปรงแล้วครอบครัวจะรับไม่ได้ ซึ่งบางคนอาจเป็นผู้ชายที่ชอบแต่งตัว แฟชั่น ซึ่งเขามีอิสระในการเลือก เพียงแต่ว่าแต่ละบ้านก็มีกฎที่ต้องเคารพ มีพื้นที่ตรงกลางให้มาเจอกันด้วย

“การแสดงตัวตนจึงต้องแสดงออกในวันที่เราพร้อม ถ้าบางครอบครัวคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจ ถ้าแสดงออกแล้วเขาต้องอยู่กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ก็ต้องเลือกว่ารับได้ไหม ครอบครัวยอมรับได้แค่ไหน สำคัญที่สุดคือเราต้องรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่นั้นก่อน

“ถ้าถามว่าแต่งตัวแบบนี้ห่วงลุคบ้างไหม เป็นถึงว่าที่ ดร. นะ เขื่อนตอบได้ทันทีว่าไม่ห่วงเลย (ยิ้ม) เรื่องภาพลักษณ์ก็ต้องแยกไปอีกบริบท เพราะทุกวันนี้เขื่อนชัดเจนว่าตัวเองไม่ได้เป็นดารา แต่เป็นนักกิจกรรม นักรณรงค์ และนักจิตบำบัด กำลังจะจบปริญญาเอกด้านนี้ เขื่อนต้องการเป็นกระบอกเสียงในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องจิตบำบัด เพราะเขื่อนมีอิสระที่จะใส่อะไรก็ได้ และถ้าตัดสินใจใส่ออกมาเดินนอกบ้านแล้ว ก็แปลว่าเราเลือกแล้ว ตอนนี้เขื่อนต้องการช่วยเหลือ Local Business หรือธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติต่างๆ ด้วย ก็มีหลากหลายแบรนด์ที่ส่งเสื้อผ้ามาให้ ซึ่งเขื่อนอยากช่วยเป็นกระบอกเสียง ช่วยโปรโมตสินค้าให้เขาฟรีๆ ก็มีทั้งที่ชื่นชอบในตัวเรา และที่ส่งมาเพราะอยากขอบคุณงานที่เราทำในเรื่องของความเท่าเทียมด้วย

“ซึ่งจะเห็นว่าเสื้อผ้าที่เขื่อนใส่มีหลากหลายทุกสไตล์เลย ตั้งแต่กระโปรง เดรส กางเกง สูท เพราะสุดท้ายแล้วเขื่อนมองว่าเสื้อผ้าไม่มีเพศ อยู่ที่ว่าเรามีความสุขที่จะเลือกใส่แบบไหน เพื่อสะท้อนตัวตนของเราออกมา”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 968

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เปิดใจครั้งแรก! ชีวิตหลังแต่งไม่เป็นอย่างที่คิด เขื่อน K-OTIC ยอมรับเลิก “เดเมียน”

สัมภาษณ์พิเศษ ชีวิตในต่างแดนของอดีตนางเอกในดวงใจ อุ้ม สิริยากร

ล้วงลึกบทบาท แม่ & เมีย ฉบับ ‘ซินดี้ สิรินยา บิชอพ’ หญิงแกร่งแห่ง UN Women

Praew Recommend

keyboard_arrow_up