มหาดไทย น้อมนำหลักการทรงงานของในหลวง เป็นต้นแบบ “งานพัฒนา”

เป็นความโชคดีของคนไทยอย่างสุดซึ้ง ที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวง ทรงทุ่มเทพระวรกายเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชาวไทยร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ ตามหมู่บ้านและชุมชนห่างไกล ที่หน่วยงานราชการปกติเข้าไม่ถึง รวมทั้งบางพื้นที่ที่มีการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

พระองค์ได้ทรงงานคิดค้นหลักการเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลักการเหล่านั้น ได้นำมาปรับใช้ต่อยอด และได้ช่วยเหลือชาวบ้านให้อิ่มท้องสบายกายและใจโดยไม่ต้องทุกข์ร้อนได้อีกครั้ง

กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย

เรียกว่าเป็น “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” ที่คลุกคลีกับงานพัฒนาชนบทและชาวบ้านอย่างถึงลูกถึงคนมาตลอดชีวิตการรับราชการก็ว่าได้

ในหลวงเริ่มรับราชการในปี 2522 ถูกส่งไปทำงานที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนและทุรกันดาร ทำให้ได้เห็นและเรียนรู้พระราชกรณียกิจในการดูแลช่วยเหลือประชาชนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมตามหมู่บ้านและชุมชนห่างไกล เมื่อดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ทั้งในมิติการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่

อย่างหลักการ ‘ระเบิดจากข้างใน’ + ‘ทำตามลำดับขั้น’  หมายถึงชาวบ้านหรือคนที่มีปัญหาลองคิดหรือเสนอเองว่าเขาอยากทำอะไร“ ส่วนเราเป็นฝ่ายราชการจะเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำหรือสนับสนุน เช่น กระทรวงมหาดไทยจัดทำโครงการ ‘ทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสนบาท’ ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีหลักการให้ชาวบ้านแบ่งที่ดินทำกินเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ใช้ปลูกพืชเพื่อบริโภค หากเหลือก็จำหน่าย ส่วนที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ส่วนที่เป็นแหล่งน้ำเพื่อความชุ่มชื้น และเลี้ยงปลา และสร้างที่อยู่อาศัยรวม 1 ไร่ ขณะนี้มีการดำเนินการในจังหวัดสงขลา นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ชุมพร ฯลฯ

“ขณะเดียวกันได้จัดทำโครงการ ‘สร้างป่า สร้างรายได้’ สำหรับพื้นที่ที่เคยบุกรุกป่า โดยใช้หลักการตามพระราชดำรัส ‘ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง’ คือ ปลูกไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ วิธีนี้จะทำให้ชาวบ้านเห็นว่าป่ามีประโยชน์ ส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่วนราชการเองสามารถปลูกป่าเพิ่มเติมได้บนพื้นที่ที่ได้คืนมา เป็นการคืนผืนป่า ตามที่เคยมีรับสั่งว่า ‘ถ้าไม่มีใครรังแกป่า ป่าจะฟื้นขึ้นมาได้เอง’

อภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

ในหลวงสำหรับบทบาทของกรมการพัฒนาชุมชนที่ได้ดำเนินงานสนองเบื้องพระยุคลบาท

อธิบดีอภิชาติเล่าว่า น้อมสนองพระราชดำริมากว่ากึ่งศตวรรษ “กรมการพัฒนาชุมชนมีการดำเนินงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากึ่งศตวรรษแล้ว โดยปี 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทอผ้าบ้านเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพระราชทานให้กรมการพัฒนาชุมชนร่วมดำเนินการโดยมีภารกิจ 3 ประการ คือ 1. การเตรียมชุมชนในพื้นที่เป้าหมายของโครงการ เน้นสนับสนุนการให้การศึกษาแก่องค์กรประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการพัฒนา 2. การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายที่ตั้งโครงการ เน้นการพัฒนาทั้งหมู่บ้าน และคุณภาพชีวิตประชาชนให้ผ่านเกณฑ์ จปฐ. 3. อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายผลครอบคลุมพื้นที่ใน 33 จังหวัด 105 อำเภอ 372 ตำบล 1,377 หมู่บ้าน ในปี 2537

กิจกรรมพิเศษเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในปีมหามงคล

“งานที่กรมการพัฒนาชุมชนได้ปฏิบัติมาและจะเน้นหนักเพิ่มขึ้นต่อไปคือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้พระราชทานไว้ มาเป็นหลักในการพัฒนาหมู่บ้าน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ‘ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง’ ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน ทำมาตั้งแต่ปี 2549 โดยระยะเริ่มแรกได้ส่งเสริมให้ประชาชนน้อมนำหลักปรัชญามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันใน 6 ด้าน คือ การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ การประหยัดอดออม การเรียนรู้ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความเอื้ออารี

“แต่ในปีนี้และต่อเนื่องไปในปีหน้า เราจะจับจุดที่สำคัญ คือคำว่า‘รายได้’ ทำไมต้องจับรายได้ เนื่องจากสิ่งที่ก่อให้เกิดรายได้คืออาชีพ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อมีรายได้ สิ่งที่ตามมาคือ ความร่วมมือ เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ พอเห็นมีรายได้ เขาก็จะเข้ามาช่วยเหลือกัน คือมีการร่วมมือกัน สิ่งที่ตามมาคือ คำว่า ‘ชุมชนเข้มแข็ง’ แล้วต่อมาคือ ‘เศรษฐกิจฐานรากของชาวบ้านมั่นคง’

“เป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือความสุขของประชาชน ซึ่งผมจะพยายามทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรมให้ได้ครับ”

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ในหลวงคุณหนุ่ม – ฐาปน บริหารธุรกิจในเครือมากมายโดยยึดหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้นแบบทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิต

“สมัยเด็กผมมีโอกาสอ่านหนังสือ แม่เล่าให้ฟัง เป็นพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทำให้ผมซึมซับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปด้วย

“ในฐานะที่ผมเป็นประชาชนชาวไทยคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้ามาทำงานร่วมกับภาครัฐ ในโครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งผมทำหน้าที่ในฝั่งเอกชนในคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เกี่ยวโยงกับชุมชนโดยตรง เราวางเนื้องานไว้โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ การเกษตรการแปรรูป/ ผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในท้องที่นั้นๆ

โดยมี พระราชจริยวัตรที่น้อมยึดเป็นหลักชัย คือ พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างให้คนไทยคือ การทรงงานที่ไม่ย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อยใดๆ ทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์ ความจริงแล้วทรงเลือกที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ ที่สบายมากกว่านี้ก็ย่อมทำได้ แต่ทรงเลือกที่จะเสด็จฯไปทั่วทุกหนแห่งในประเทศไทย ทรงตรากตรำทำงานก็เพื่อประโยชน์สุขของคนไทย

“สิ่งนี้เป็นข้อคิดและเตือนสติแก่ผม คือ ถ้าผมมีโอกาสจะทำเพื่อเกิดประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ก็ไม่ควรจะมองถึงความสุขสบายของตัวเองเพราะขนาดพระองค์ท่านยังทรงเสียสละยอมลำบากพระวรกาย ทรงเป็นแบบอย่างที่ทำให้คนไทยควรจะระลึกไว้ว่า พระองค์ท่านทรงเหน็ดเหนื่อยขนาดนี้ ดังนั้นเวลาเราเจออุปสรรค ซึ่งอาจจะเป็นเพียงเล็กน้อย เราจึงไม่ควรย่อท้อ

“ตราบใดที่เรามีโอกาสที่จะทำประโยชน์ให้สังคมได้ ก็ต้องลงมือทำเพื่อทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข”

 

ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับที่ 833 ปักษ์วันที่ 10 มิถุนายน 2559

Praew Recommend

keyboard_arrow_up