เสียดสีตีแผ่ปัญหา ลูกบ้าสุดท้าทายของ “อึ่ง-สิทธานต์” นักรีวิวทางเท้า เจ้าของเพจ The Sidewalk

เสียดสีตีแผ่ปัญหา ลูกบ้าสุดท้าทายของ “อึ่ง-สิทธานต์” นักรีวิวทางเท้า เจ้าของเพจ The Sidewalkจะมีสักกี่คนที่กล้าออกมาเล่าปัญหาสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพื่อจุดประกายอะไรบางอย่างในสิ่งที่เราเองก็คิดนะแต่ไม่กล้าพูด จนกระทั่งวันนึงที่มีคนออกมาเป็นเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนหันมาใส่ใจกับเรื่องที่ยังไม่ถูกแก้ไขได้อย่างดีพอ

อึ่ง – สิทธานต์ ฉลองธรรม ผู้ชายที่ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติธรรมดา ทำมาหากินด้วยอาชีพคนเบื้องหลังผลิตรายการโทรทัศน์ แต่อยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมาเปิดเพจตีแผ่ปัญหาทางเท้าในกรุงเทพมหานครในชื่อ The Sidewalk โลกกว้างข้างทางเท้า ซึ่งเป็นเพจที่เขาทำขึ้นสนองความคิดบางอย่างกับความไม่ชอบธรรมในสังคม โดยเฉพาะเรื่องของพื้นที่สาธารณะ และปัญหาทางเท้าในบ้านเรา คำถามที่อยากรู้ในวันนี้ก็คือ เขาทุ่มเททำไปเพื่ออะไร ในเมื่องานประจำก็มีทำ แถมสิ่งที่กำลังทำกลับไปเบียดเวลาที่ควรจะพักผ่อนหลังเลิกงานด้วยซ้ำ

เขาบอกกับเราว่าถ้าจะให้คำนิยาม หรือสถานะอะไรสักอย่างกับสิ่งที่เขาเป็นอยู่ในตอนนี้ เขาเองไม่ใช่นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนอะไรแบบนั้น แต่ให้เรียกว่าเขาเป็นนักรีวิวทางเท้า น่าจะใช่มากกว่า

“ผมชื่อสิทธานต์ ฉลองธรรม อาชีพที่หามาหากินอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ทำรายการโทรทัศน์ และโปรดักชั่นวีดิโอต่างๆ  พื้นฐานเรียนจบมาด้านภาพยนตร์ สื่อสารมวลชน จริงๆ ก็แทบจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่ทำอยู่ในเพจเท่าไหร่ แต่มันเป็นความสนใจส่วนตัวที่มีมานานแล้ว”

แรงจูงใจที่ทำให้เปิดเพจ The side walk

“ผมมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของเมือง ตอนแรกเลยคือ สนใจเรื่องของพื้นที่สาธารณะ ผมเป็นคนที่ชอบสังเกตสิ่งรอบตัว เวลานั่งรถเมล์ หรือนั่งอยู่ริมทางเท้าก็จะมองผู้คนที่เดินขวักไขว่ไปมา เฝ้ามองชีวิตของเขามันเพลินดี ประกอบกับรู้สึกว่ามันมีหลายๆ ปัญหาของบ้านเรา ซึ่งอะไรที่มันควรจะเป็นไปในทางที่น่าจะเป็น ทำไมถึงไม่เป็นวะ  คือเราใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน เพราะชีวิตที่อยู่ในบ้านส่วนใหญ่ก็แค่พักผ่อนนอนหลับ ส่วนใหญ่เราอยู่บนพื้นที่สาธารณะ ซึ่งทางเท้ามันเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีมากที่สุดในเมือง ดังนั้นมันควรถูกออกแบบเพื่อให้เราใช้งานได้ดีสิ

เพจนี้ทำมาพักใหญ่แล้ว แต่เพิ่งมาทำเป็นวีดิโอเมื่อเดือนเมษายน และที่ตัดสินใจทำจริงๆ ไม่ได้อยากเอาตัวเข้าไปอยู่ในวีดิโอหรอก เพราะมันก็ไม่ใช่งานออฟฟิศ และใช้พลังงานเยอะให้คนเข้าใจว่าประเด็นพวกนี้มันเกี่ยวข้องกับพวกเขา พยายามหาวิธีการนำเสนอให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ฟีตแบคก็ดีมากครับ คนก็เข้าใจมากขึ้น เพราะทุกคนเกิดการตั้งคำถามเพื่อที่จะหาความจริงว่ามันคืออะไรกันแน่

ความสนใจมันสั่งสมมาเรื่อยๆ และหาความรู้มาตลอด เราเคยไปหาความรู้จากงานสถาปนิกต่างๆ แต่เราก็ยังไม่เข้าใจมันเท่าไหร่ พอวันนึงได้มีโอกาสได้ทำรายการโทรทัศน์ ก็เลยเลือกทำเรื่องที่เกี่ยวกับเมือง ช่วงนั้น 6-7 ปีที่แล้ว ทำรายการชื่อ คนเดินเมืองอยู่ 13 ตอน ตอนแรกก็เริ่มจากทางเท้าก่อน เพราะมันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด องค์ประกอบของทางเท้าที่เป็นมิตรกับผู้คนมันควรจะเป็นแบบไหน มีอะไรบ้าง ก็ไปสำรวจว่ามันมีไหม แล้วที่มันไม่มีมันเป็นเพราะอะไร  ต่อมาก็เล่นเรื่องทางข้ามถนนต่างๆ “

เท่าที่ไปเดินรีวิวมาทางเท้าในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

เวลาพูดถึงทางเท้ามันอดไม่ได้ มันต้องพูดถึงถนนด้วย เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งในระบบการเดินทาง ถามว่าทางเท้าในประเทศไทยเป็นยังไง ก็ต้องถามด้วยว่าถนนในประเทศไทยเป็นยังไง อย่างในกรุงเทพฯ ที่มันมีปัญหาอย่างทุกวันนี้ก็คือ ทางเท้าแคบ มีสิ่งกีดขวางอยู่ และเกิดการทวงคืนทางเท้าขึ้นมา เป็นเพราะว่าเราให้ความสำคัญกับถนนและรถยนต์มากเกินไป ซึ่งในทุกเมืองต่างประเทศ เคยเจอปัญหานี้หมด ที่เขาเรียกว่าวัฒนธรรมรถยนต์ครองเมืองในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่จากนั้นเขาก็เริ่มปรับตัวกัน อย่างเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หลายเมืองเขาก็เริ่มรู้สึกว่าการที่มีรถยนต์เข้ามาอยู่ในเมืองมากๆ มันไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มันส่งผลเสียต่อการจราจร มันทำให้ไม่สะดวก ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น มลพิษก็ส่งผลต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตก็เสีย”

เคยออกไปประท้วงหรือเป็นแกนนำในการรณรงค์บ้างหรือเปล่า

“ผมเป็นคนที่โคตรเกลียดการรณรงค์เลย เพราะถ้าการรณรงค์มันช่วยแก้ปัญหาได้ มันก็คงสำเร็จไปแล้ว ในทางตรงข้ามการรณรงค์นี่แหละเป็นสิ่งที่ทำร้ายประชาชน หรือสื่อเองที่ไปช่วยโปรโมทการรณรงค์ เช่นการข้ามถนนต้องใช้สะพานลอยและทางม้าลาย แต่ไปดูเข้าจริงๆ

มันมีที่ไหนทางม้าลาย สะพานลอยก็ไม่ใช่ทุกคนจะข้ามได้ อย่างคนท้องหรือคนแก่ เด็ก คนพิการ เขาก็ข้ามไม่ได้แล้ว และการณรงค์ก็ยังทำกันแบบนี้มาโดยตลอด ซึ่งผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไปเพื่ออะไร”

เหตุและผลที่เป็นจุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ นอกจากเป็นคนชอบสังเกตผู้คนจนเห็นปัญหา อีกอย่างที่เป็นจุดที่ทำให้เกิดแรงขับครั้งใหญ่นั่นก็คือการที่เห็นคนใกล้ตัว ต้องมาเผชิญกับความไม่สะดวกในการพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเขาเองก็รู้สึกขัดหูขัดตา และรับไม่ได้ถ้าต่อไปทุกคนยังมองข้ามและไม่นำไปสู่การแก้ไข

“มีเหตุการณ์หนึ่งคือ พี่ที่สนิทของผมเขาเป็นโรคหัวใจ และต้องเดินข้ามสะพานลอย ทีนี้เขาเดินต่อไม่ไหว ก็หยุดเดินกลางสะพาน ในใจเราก็คิดตั้งคำถามว่า แล้วงี้คนที่มีอายุหรือว่าไม่สบายจะข้ามถนนยังไง จากการที่เราได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้ก็รู้สึกว่า ไอ้สิ่งที่คนที่ใช้ชีวิตในเมืองควรจะได้รับความสะดวกสบาย ที่เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ ทำไมถึงไม่ได้รับ โดยเฉพาะคนเดินเท้า ทำไมถึงห้ามเดินลัดสนามทั้งที่มันใกล้ จริงๆ แล้วผมว่าคนที่ใช้ชีวิตในเมืองเขาไม่ควรลำบาก หรือในสวนสาธารณะถึงห้ามเดินตัดสนาม มีหญ้าไว้ให้มองอย่างเดียวหรอ ให้ใช้ด้วยได้ไหม

ยิ่งเราได้ไปเห็นที่ต่างประเทศบ่อยๆ ก็ยิ่งรู้สึกตอกย้ำว่าที่เราคิดมันน่าจะถูกต้องนะ  ทำไมต่างประเทศถึงไม่มีสะพานลอยวะ ทำไมสวนสาธารณะเขาไม่เห็นมีข้อห้ามมากมายเหมือนบ้านเราเลยวะ ทำไมจะนอนก็นอนได้ ทำไมบ้านเราต้องมียามขี่จักรยานและคอยดูว่าใครนอนก็มาบอกให้ลุก  ก็ค้นพบว่ามันมีความคิดความเข้าใจที่บางคนอาจจะมองว่าไม่ผิด แต่เราเองมองว่าเฮ้ย มันใช่หรือเปล่า เลยทำให้ต้องมาตั้งคำถาม อย่างเช่น เขาบอกสะพานลอยสร้างขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยของคนข้ามถนน ไปๆ มาๆ มันไม่น่าใช่เนอะ เพราะเมืองอื่นเขาไม่มีสะพานลอยแต่ทำไมเขาถึงข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย  การมีสะพานลอยมันใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือเปล่า หรือมันทำขึ้นมาเพื่อให้รถยนต์ไม่ต้องหยุดให้คนข้าม “

 คิดว่าเป็นเพราะความล้มเหลวของระบบการจัดการในบ้านเราหรือเปล่า

“ก็ใช่นะ คือเราเป็นคนที่ชอบร้องเรียนมาก น่าจะเป็นคนนึงที่ร้องเรียนเยอะในทุกๆ เรื่อง ถนนหนทางนี่ส่วนใหญ่เลย เราถือว่าเราเป็นพลเมือง และคนที่ควรจัดการก็ควรจะเป็นคนที่ได้ภาษีจากเรา ที่มีหน้าที่ในการจัดการ มันเป็นหน้าที่ของเขาให้ชีวิตของพลเมืองมีมาตรฐาน ในทางกลับกันก็มีวัฒนธรรมที่ควรจะหมดไปจากบ้านเราได้แล้ว อย่างสมมติไปต่อคิวทำใบขับขี่ ตอนนั้นเราถูกคนในเครื่องแบบแซงคิว ซึ่งพนักงานในนั้นอ่ะเป็นคนให้แซง เราก็ไม่ยอม เดินเข้าห้องอธิบดีเลยว่ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็นั่งรอจนเขามาคุย สุดท้ายเขาก็มาบอกว่ากลับบ้านไปแล้ว เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่อ่ะ ผมเชื่อว่าทุกคนก็รู้สึก พอจุดๆ หนึ่งก็เลยเริ่มรู้ว่าการร้องเรียนคงไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา”

กังวลเรื่องอิทธิพลไหม เพราะสิ่งที่ทำคือมันสะท้อนถึงการบริหารที่ไม่ถูกจุด

“ผมไม่เคยคิดนะ และผมไม่ได้ไปด่าใคร เราไม่ได้ด่าด้วยเรื่องส่วนตัว สิ่งที่เราพูดและทำมันเป็นเรื่องสาธารณะ เราไม่ได้ไปด่าบริษัทห้างร้านหรือบุคคล เราแค่ตั้งคำถามว่าเป็นแบบนี้มันใช่หรอ เราแค่อยากที่จะสื่อสารอะไรบางอย่างเพื่อให้มีการคิดใหม่เท่านั้นเอง”

งานประจำก็มีอยู่แล้ว มาเสียเวลามาทำเรื่องนี้ คิดว่าจะสามารถจุดประกายไปได้ไกลแค่ไหน

สิ่งที่ผมทำมันอาจจะไม่ได้ถูกต้องทั้งหมดนะ แต่ผมอยากที่จะสร้างความเข้าใจใหม่ เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าทำไมเมื่อก่อนเราไม่รู้วะ ทำไมไม่มีใครมาบอกเรา เพราะทุกอย่างมันก็เป็นเรื่องที่เราต้องเจอในชีวิตของเราทุกคน พักหลังผมก็เริ่มเข้าไปเห็นวิถีชีวิตของคนพิการมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเหมือนกัน ถ้าเราทำตรงนี้สำเร็จ คนพิการเองเขาเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดอยู่แล้ว ถ้าเขาใช้ชีวิตได้อย่างสบายกับพื้นที่สาธารณะ เราเองก็จะใช้ชีวิตได้ด้วย

คนส่วนใหญ่จะมองคนพิการแค่สองมิติ คือ น่าสงสาร และเป็นฮีโร่ ความเป็นคนปกติกลับไม่เคยถูกถ่ายทอดออกมา หรือในมุมที่เวลาเราไปเห็นตามต่างประเทศ ทำไมรถเข็นคนพิการเต็มไปหมด เป็นเพราะพวกเขาสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ แต่บ้านเราค่อนข้างน้อยที่จะเป็นแบบนี้ การเกิดเป็นคนพิการมันไม่ใช่กรรมนะ เพราะถ้าเป็นกรรมมันจะไม่เกิดการแก้ปัญหา ต้องเปลี่ยนความคิดตรงนี้ให้ได้

เพราะเราไม่ได้มองการพัฒนาแต่เรื่องวัตถุ เรื่องอุตสาหกรรม แต่ต้องมองที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นด้วย ถ้ามันดีขึ้น มันก็จะเข้าใจและเกื้อกูลกันมากขึ้น ทุกวันนี้การใช้รถใช้ถนน ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่คน ไม่เคยพูดถึงคนขับรถ เดินข้ามถนนบอกให้ระวังรถ แต่ไม่เคยบอกคนขับรถว่าให้ระวังคน ก็เลยอยากจะให้เกิดการคิดใหม่กับเรื่องนี้ให้ได้”

คิดว่าคนแก่ คนพิการในประเทศเรามีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นไหม

“ทุกวันนี้ผมว่าสังคมใช้ชีวิตกันตามฐานะ มีตังค์ก็ใช้รถยนต์ ไม่มีก็อยู่บ้าน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่รัฐควรรู้คือ ทุกคนควรมีสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน”

เห็นปัญหาจากคนรอบข้างแล้ว และส่วนตัวเคยเจอประสบการณ์ตรงกับการใช้ทางเท้าอย่างไรบ้าง

“เดินสะดุดล้มก็เคย แต่ถ้าที่หนักสุดก็มีทีหนึ่ง ผมไปถ่ายรายการนี้แหละ มันถ่ายไม่ได้เลย ข้ามถนนไม่ได้ ถนนข้ามยากมาก จุดนั้นอยู่แถวพัฒนาการ ตรงนั้นจะมีไฟเขียวไฟแดงกระพริบตลอด คือเขาปล่อยรถให้โฟลว์หมด มันไม่ใช่แค่สี่แยก แต่มีทั้งรถลงทางด่วน ขึ้นทางด่วน เลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน เลี้ยวซ้ายขึ้นทางด่วน คือข้ามไม่ได้เลย อีกอย่างก็มอเตอร์ไซด์ ขับบนทางเท้า คือเราไม่ได้ตั้งใจขวางนะ แต่เราเองก็ขยับไม่ได้ไง”

ใช้เวลาเดินสำรวจนานไหมกว่าจะลงไปถ่ายจริง

“คือมันก็ผ่านตามานานแล้วกับเรื่องพวกนี้ ว่ามันมีรายละเอียดยังไงบ้าง ปัญหาอะไร ยิ่งทำบ่อยๆ ก็จะมองเห็นปัญหาเอง และแต่ละพื้นที่บางทีปัญหามันเป็นแบบเดียวกัน ก็ต้องพยายามคิดหาไอเดียวิธีการนำเสนออยู่ตลอด”

ถ่ายทำนานไหมต่อ 1 เทป

“ตอนแรกๆ เคยถ่ายวันละ 2 -3 เทป หลังๆไม่ไหวด้วยสภาพอากาศที่บางครั้งไม่เป็นใจด้วย”

มีไอเดียอะไรอีกไหมที่อยากจะเล่าเรื่องปัญหาพื้นที่สาธารณะ

“ก็มีครับ อย่างสวนสาธารณะ คือผมเคยไปถ่ายแต่เขาไม่ให้ ต้องขออนุญาต พื้นที่สาธารณะทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึงได้ เราไม่ได้เป็นกองถ่ายใหญ่ที่ใช้ไฟอะไรเยอะแยะ หรือไม่ได้เข้าไปใช้พื้นที่จนทำให้คนอื่นไม่สะดวก ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเราก็ต้องขออนุญาตอยู่แล้ว อีกเรื่องก็คือการจัดลำดับความสำคัญของการใช้ถนน อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้เรื่องความไม่ปลอดภัยของการใช้ถนน ซึ่งให้ความสำคัญกับรถยนต์มาก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าตามหลักทั่วไป คนเดินเท้าต้องมาก่อน ขนส่งมวลชน จักรยาน รถยนต์ที่เป็นเซอร์วิส และรถยนต์ส่วนบุคคลคือมาท้ายสุด แต่บ้านเรามันกลับกันหมด คนส่วนใหญ่ก็รู้มากขึ้นกว่าก่อน ซึ่งการสื่อสารแค่เพจอาจไม่พอหรอก แต่ก็เป็นสิ่งที่คาดหวังในการที่เข้ามาทำตรงนี้”

คิดว่าควรเริ่มต้นแก้ไขปัญหาอะไรก่อน เพื่อให้คนใช้พื้นที่สาธารณะในเมืองใหญ่ๆ มีความสะดวกสบายมากขึ้น

“ สิ่งที่ควรมีก็คือ ความมีชีวิตชีวาบนพื้นที่สาธารณะ แต่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมี ซึ่งผมก็หวังว่าวันหนึ่งทางเท้าในบ้านเราจะดีขึ้นกว่านี้ เพราะทางเท้าไม่ได้มีไว้เดินสัญจรอย่างเดียว อย่างในต่างประเทศที่มีการปรับเมืองใหม่เช่น ไทม์สแควร์ในนิวยอร์กก็มีไว้ทำกิจกรรม ไว้ขายของด้วย แต่ของเรามีปัญหาเพราะทางเท้ามันแคบ และก็ไม่อยากจะดูแลความสะอาดกัน”

อนาคตจะเห็นนักรีวิวทางเท้าที่ชื่ออึ่งไปทำอะไรอีกบ้างไหม

“ผมก็ยังก็คงยังทำเพจเพื่อเล่าเรื่องพวกนี้ ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบมองเห็นการปฏิบัติต่อคนที่ไม่แฟร์”

การมาทำอะไรแบบนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะใจคงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เคยคิดไหมว่าจะทำไปเพื่ออะไร สุดท้ายก็อาจจะแค่ให้คนรับรู้

“มุมหนึ่งมันก็ใช่ แต่ทำเพราะว่าตอนที่เรายังไม่รู้ ก็คิดว่าทำไมเราไม่รู้วะ แต่ถ้าเราได้บอกให้คนที่ไม่รู้แล้วรู้ เขาก็น่าจะดีใจ มันก็เกิดความปิติเกิดขึ้น อย่างมีเคสหนึ่งเป็นผู้ปกครองไดเร็คเมสเสจมาที่เพจบอกว่าขอบคุณทุกวันนี้เขามีลูกสองขวบครึ่งตาบอด เมื่อก่อนไม่รู้เลยว่าจะใช้ชีวิตยังไง ตอนนี้เริ่มมีคนพูดถึง เข้าใจคนใช้พื้นที่สาธารณะเขาก็รู้สึกดี  และมันก็เป็นกำลังใจที่ทำให้เราอยากที่จะทำเพจนี้ต่อด้วย แม้ว่าบางครั้งจะถูกด่า แต่ก็ไม่ท้อแท้นะ เพราะคนที่เห็นด้วยก็มีเยอะมาก”

และนี่ก็น่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนที่สุดแล้วว่าสิ่งที่ผู้ชายคนนี้เขาทำไปทั้งหมดเพื่ออะไรกันแน่ อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเขารวยมากขึ้น แต่มันก็อิ่มเอมใจที่อย่างน้อยได้พยายามพูดในสิ่งที่ทุกคนรู้สึก แต่ไม่กล้าที่จะพูดให้เกิดประเด็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อเราทุกคนที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ ที่นับวันสิทธิและความเสมอภาคในการอยู่ร่วมกันในสังคมยังไม่เกิดความเท่าเทียมกันอย่างชัดเจน

 

เรื่อง : ภัทรีพันธ์ สุขสมพร้อม

ภาพ : จักรพงษ์ นุตาลัย

 

 

อ่านเรื่องราวของ The people ต่อได้ที่นี่

ดราม่า ‘มาดามตวง’ ถูกตัดสิทธิ์ในมรดกตระกูลนับ 1,000 ล้าน เพียงเพราะเป็นผู้หญิง

“ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา” แม่ผู้เอาชนะภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สู่บทบาทแม่ไอดอลสุดสตรอง

วลัยกร สมรรถกร นักวาดภาพ ออร์แกนิก กับชีวิตที่โดนมะเร็งตบหน้าเรียกสติ!

โลกไม่ได้มีไว้เพื่อกอบโกย! เจมส์ ดูอัน ชายเมียนมาร์ผู้พลิกหนี้ให้เป็นเงินหมื่นล้าน

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up