“ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา” แม่ผู้เอาชนะภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สู่บทบาทแม่ไอดอลสุดสตรอง

Alternative Textaccount_circle

ไม่ว่าคุณจะคลิกเข้ามาเพื่อเสพเรื่องราวของ “ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์” คุณแม่อินฟลูเอนเซอร์ เจ้าของเพจ Little Monster ในฐานะอะไร คุณแม่มือใหม่ที่กำลังมุ่งมั่นกับการเลี้ยงลูก คนที่อยากมีลูกมาก หรือคนที่กลัวการมีลูกสุดชีวิต เชื่อเถอะว่าตัวตนและประสบการณ์การเป็นแม่ของผู้หญิงคนนี้ จะช่วยสร้างกำลังใจและเติมเต็มแรงบันดาลใจในการทำหน้าที่แม่ให้ดีที่สุดในแบบฉบับของตัวคุณเองได้

กว่าจะมีวันนี้ “ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์” ต้องก้าวผ่านสารพัดดราม่าแห่งความเป็นแม่ ต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จุดเริ่มต้นร้ายๆ ที่กลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการแบ่งปันความสุขให้กับหลายครอบครัว ผ่านเพจ Little Monster ที่ตอนนี้มียอดการติดตามกว่า 3.5 ล้าน

ก่อนสวมบทบาทคุณแม่อินฟลูเอนเซอร์ เคยทำอะไรมาก่อนคะ

“ตุ๊กเรียนจบปริญญาตรีด้านกราฟิกดีไซน์ที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นเรียนต่อปริญญาโทด้านคอมมูนิเคชั่นดีไซน์ที่อังกฤษ โชคดีที่ตอนเด็กๆ รู้ตัวเร็วว่าชอบด้านศิลปะ จำได้ว่าช่วงเรียน ม.1 ถามคุณแม่ว่า พวกบิลบอร์ดหรือใบปลิว ต้องเรียนอะไรถึงสามารถทำงานพวกนี้ได้ คุณแม่บอกว่าเป็นกราฟิกดีไซน์ ตุ๊กก็เลยไปทางนั้นตั้งแต่เด็ก

“หลังเรียนจบปริญญาตรีก็ทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกาพักหนึ่ง เป็นงานออกแบบทั่วไป พอเรียนจบปริญญาโทก็ไปเรียนทำขนมที่ Le Cordon Bleu เพราะสนใจด้านนี้อยู่แล้ว พอเรียนจบกำลังคิดว่าจะทำอะไรต่อดี ก็มีเหตุให้ต้องกลับมาเมืองไทย เพราะคุณพ่อไม่สบาย และไปทำงานที่แรกกับบริษัทสถาปัตย์แห่งหนึ่ง จากนั้นมาทำงานเอเจนซี่ ออกแบบพวก Corporate Identity ต่างๆ”

นิสัยส่วนตัวเป็นคนแบบไหน

“ถ้าตอนเด็กๆ เป็นคนขี้อาย ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ ไม่ชอบพูดหน้าชั้น ตุ๊กขี้อายมาก เงียบมาก จนเป็นจุดเปลี่ยนที่พ่อแม่ต้องส่งไปเรียนเมืองนอก เพราะคุณแม่เป็นห่วง คือคุณแม่ของตุ๊กเป็นแม่ประเภทที่อดไม่ได้ที่จะทำอะไรเพื่อลูก ซึ่งการไปเรียนเมืองนอกเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ตุ๊กเรียนรู้ที่จะทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น พูดเยอะขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น และเป็นการบังคับให้ช่วยเหลือตัวเองโดยอัตโนมัติ

ได้รับการปลูกฝังจากพ่อแม่อย่างไรบ้าง

“คุณพ่อเป็นคนที่เข้มงวดนิดหนึ่ง ใจร้อน ชอบสอนลูกให้รู้จักตั้งเป้าหมาย ส่วนคุณแม่เป็นคนใจเย็น และคอยบอกลูกว่า อย่าลืมเอ็นจอยกับระหว่างทางด้วย สำหรับตุ๊กได้ความเป็นพ่อมาเยอะกว่า จึงเป็นคนที่ถ้าคิดจะทำอะไร ก็จะตั้งเป้าหมายไว้ก่อน เพราะพอมีเป้าหมาย เราก็จะรู้ว่าต้องทำยังไงให้ไปถึงจุดนั้น

“อย่างการเลี้ยงลูก ตุ๊กมีนิสัยเหมือนคุณพ่อมากกว่า คือมองที่จุดหมายเยอะไปหน่อย จนบางทีต้องเตือนตัวเองว่าให้น้อยลงหน่อย อย่างจิน (ลูกสาวคนโต) ที่ชอบวาดรูปมาก และเขาบอกเราบ่อยว่าอยากโตไปเป็นอะไร ตุ๊กก็จะตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า จะทำอะไรเพื่อซัพพอร์ตเขาให้ไปถึงจุดนั้นได้บ้าง แต่พี่เหว่ง (สามี) จะเหมือนคุณแม่ เขายังเคยบอกเราเลยว่า ไร้สาระบ้างก็ได้ รีแล็กซ์บ้างก็ได้ ไม่ต้องตึงมาก ซึ่งนั่นทำให้ตุ๊กรีแล็กซ์มากขึ้น”

จากที่ทำงานด้านกราฟิกดีไซน์อยู่ อะไรคือจุดเริ่มต้นในการทำเพจ Little Monster

“เพจ Little Monster เกิดจากการที่ตุ๊กมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณหมอจึงแนะนำให้ลองทำอะไรที่ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข ซึ่งตุ๊กชอบงานด้านกราฟิก ชอบใช้เครื่องมือกราฟิกวาดการ์ตูน และชอบเขียน ก่อนทำเพจ ตุ๊กเป็นคนที่ชอบพิมพ์สเตตัสยาวๆ เล่าเรื่องในมุมตลก พอเกิดภาวะนั้นจึงอยากกลับไปทำในสิ่งที่ชอบ

“การตั้งเพจเป็นการบำบัดตุ๊กให้ดีขึ้น เพราะได้แชร์ประสบการณ์ส่วนตัวในเวอร์ชั่นการ์ตูน ซึ่งสะท้อนอารมณ์ตอนนั้นของเราได้ แล้วพอพี่เหว่งมาอ่านหรือมาดูการ์ตูน เขาก็เข้าใจความรู้สึกของเรามากขึ้น บวกกับทำให้ตุ๊กมีอะไรทำมากขึ้น เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบทำงาน ไม่ชอบอยู่ว่าง”

ก่อนหน้านี้วางแผนเรื่องการมีลูกไว้อย่างไรบ้าง

“เราไม่ได้มีแพลนอะไรเลย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ คิดว่าถ้าปล่อยแล้วไม่มีก็ไม่เป็นไร อีกอย่างคือตุ๊กสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง พี่เหว่งเลยบอกว่า ไม่มีก็ไม่เป็นไร เราซะอีกที่เป็นคนบิลด์ว่า ถ้าตุ๊กเป็นแม่ ตุ๊กว่าตัวเองเป็นแม่ที่ดีได้นะ โชคดีว่าหลังจากแต่งงานยังไม่ครบปี น่าจะประมาณ 8 เดือน ก็มีเลย”

อยากมีลูกทั้งคู่เลยไหมคะ    

“ตุ๊กรู้นิสัยพี่เหว่ง และรู้อยู่แล้วว่าทางฝ่ายแม่เขาอยากเลี้ยงหลาน แต่เขาไม่เคยกดดันเรานะ เขาอยากมีลูก แต่ก็จะพูดตลอดว่ายังไม่ใช่ตอนนี้ เพราะตอนนั้นบริษัทเขามีปัญหาเรื่องการลงทุนเยอะ แล้วเราก็ไม่ได้มีเงินเยอะ ตอนที่รู้ว่าท้อง เขาไม่ยอมบอกเราด้วยซ้ำว่าเขามีเงินในบัญชีไม่ถึงห้าหมื่น ซึ่งไม่พอค่าทำคลอดอยู่แล้ว เขาใช้วิธีไปยืมเงินแม่เขามาเพื่อเป็นค่าทำคลอดให้เรา ตัวตุ๊กเองตอนนั้นก็ไม่ได้ทำงานแล้ว เพราะแพ้ท้องหนักและนานถึง 5 เดือน

“เอาเป็นว่า ณ ตอนนั้นเราไม่มีความพร้อมใดๆ เลย แต่ก็กัดฟันกันไป เขาก็ตั้งใจทำงานหาเงิน ส่วนเราที่ไม่รู้ว่ามีปัญหา พอคลอดลูกก็มีความคิดว่า อีกสักพักหนึ่งจะกลับไปรับงานฟรีแลนซ์กราฟิกแล้ว จะได้ช่วยเขาหาเงิน”

ความรู้สึกตอนมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดแย่ขนาดไหนคะ

“ด้วยความที่เราไม่เคยเป็นแม่มาก่อนจึงมีแรงกดดันมาก ทั้งกดดันตัวเอง และแรงกดดันจากคนรอบข้าง ว่าการเป็นแม่ที่ดีต้องเป็นยังไง ตุ๊กมีความคิดและความเข้าใจในหัวว่า การเป็นแม่ที่ดีต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้ลูก ต้องไม่ทำงาน ต้องโฟกัสแต่ลูก ต้องเลี้ยงลูกเอง ต้องให้นมแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงการไม่ได้ทำในสิ่งที่เคยทำ ทำให้ปรับชีวิตตอนนั้นในฐานะแม่ไม่ได้ เลยยิ่งซึมเศร้ามากขึ้น

“ช่วงที่เป็นหนักๆ บรรยากาศเหมือนก่อนฝนตก พอลืมตาก็รู้สึกว่าไม่อยากตื่น คิดแค่ว่าจะผ่านแต่ละวันไปยังไงให้ตัวเองโอเค เพราะตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตมันน่าอยู่ ในแต่ละวันตุ๊กก็ให้นมลูกตามปกติ แต่รู้สึกอยากนอนทั้งวัน อยากนอนจนจบวัน เพื่อจะได้ไม่มีเวลาคิดหรือทำอะไร

“แล้วทั้งๆ ที่จินไม่ได้เป็นเด็กเลี้ยงยากเลย แต่เรามีความรู้สึกผิดตลอดเวลาว่า แม่ที่ดีต้องเป็นอย่างนี้สิ แม่ที่ดีต้องอุ้มลูกแล้วยิ้ม แม่ที่ดีต้องอาบน้ำให้ลูกคล่อง แม่ที่ดีต้องมีนมให้ลูกเยอะๆ ซึ่งเราไม่เป็นแบบนั้นเลย ไม่รู้สึกแม้กระทั่งอยากจะอุ้มเขา ครั้งหนึ่งตอนอุ้มเขา เรามองหน้าเขาแล้วก็ร้องไห้ ความรู้สึกคือทำไมมันเศร้าจัง ทำไมไม่มีความสุขเลย”

รู้สึกแบบนั้นอยู่นานไหมคะ

“ตอนนั้นไม่ได้จำว่านานแค่ไหน แต่รู้แค่ว่าวันที่ตุ๊กพาจินออกไปข้างนอกสองคนได้โดยที่ไม่กลัว นั่นคือรู้สึกว่าดีขึ้นแล้ว จำได้ว่าช่วงนั้นเราอยู่กันที่คอนโด ถ้าไม่นับออกไปฉีดวัคซีน ตุ๊กจะไม่ไปไหนกับลูกตามลำพังโดยเด็ดขาด เพราะกลัวการออกไปข้างนอก กลัวคน กลัวว่าถ้าลูกร้องไห้แล้วเราหยุดลูกไม่ได้ ถ้าคนมองเราจะทำยังไง คิดแบบนี้วนไปเรื่อยๆ แล้วหยุดคิดเองไม่ได้ด้วย ก็ไม่ออกไปดีกว่า”

แล้วจัดการกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอย่างไรบ้าง

“ตอนนั้นตุ๊กรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่ปกติ และคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้ไม่เป็นอย่างนี้ ปกติเป็นคนที่ชอบเสิร์ชข้อมูล ก็จะรู้ว่ามีภาวะแบบนี้หลังคลอด แต่ไม่รู้ละเอียดและไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง จึงไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อจะได้รู้แนวทางแก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้ดีกว่านี้ เพราะเราไม่อยากเป็นอย่างนี้ตลอดไป

“บวกกับนิสัยที่เป็นคนชอบตั้งเป้าหมาย ก็เลยตั้งเป้าไว้ว่า ฉันจะทำยังไงก็ได้เพื่อให้หาย ซึ่งจริงๆ แล้วภาวะซึมเศร้ามีหลายระดับ แต่ละคนก็จะมีแนวทางการรักษาไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะไหน การปรึกษาหมอดีที่สุด ในเคสของตุ๊ก คุณหมอแนะนำให้หาอะไรทำเพื่อให้ชีวิตสมดุล เพราะชีวิตใหม่ในฐานะแม่ของตุ๊กสุดโต่งมาก ตอนนั้นเรามีความคิดที่ว่า แม่ที่ดีต้องไม่ทำงาน ต้องเลี้ยงลูกอย่างเดียว แต่พื้นนิสัยของเรารักการทำงานมาก พอตัดไปหมด ชีวิตเลยหลุดบาลานซ์ ตอนนั้นตุ๊กจึงเริ่มหากิจกรรมทำ ออกไปนอกบ้านบ้าง คุยกับคนบ้าง บวกกับพอเรารู้สึกว่าตัวเองเลี้ยงลูกได้ดีขึ้น เหมือนรู้ใจลูกมากขึ้น ดูออกแล้วว่าลูกร้องทำไม ความกลัวต่างๆ น้อยลง และอาจจะด้วยภาวะฮอร์โมนที่ดีขึ้น หลายๆ อย่างก็เลยดีขึ้นตามลำดับ”

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดส่งผลกระทบต่อลูกไหมคะ

“ผลกระทบต่อลูกตอนนั้นไม่เห็น เพราะเขาเด็กมาก เขาไม่รู้หรอกว่าเราเศร้า แต่คนที่กระทบมากที่สุดน่าจะเป็นพี่เหว่ง เพราะเขาอยู่กับเราตลอด เวลาพี่เหว่งเห็นเรารู้สึกแย่ เขาจะดูเศร้าๆ จุดที่แย่ที่สุดคือวันที่เรานั่งให้นมลูกแล้วเหม่อมองไปข้างนอก พี่เหว่งก็พูดอะไรสักอย่างขึ้นมา แต่เราไม่ได้ยิน เหมือนเข้าหูซ้ายออกหูขวา เขาพูดอยู่นานจนต้องพูดเสียงดังขึ้น เราถึงจะได้ยิน เขาเลยถามเราว่า ตุ๊กไม่ได้ยินที่พี่พูดเลยหรอ สีหน้าเหมือนจะร้องไห้ แล้วก็ถามเราประมาณว่า เมื่อไหร่ตุ๊กจะกลับมา พอเราได้ยินแบบนั้นก็ร้องไห้เลย เพราะเรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ตัวเอง และเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำยังไงให้เราคนเดิมกลับมา”

กำลังใจสำคัญที่ทำให้หายจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้คือ…

“สิ่งที่ช่วยให้ผ่านมาได้คือครอบครัวล้วนๆ พี่เหว่ง พ่อแม่ อย่างคุณพ่อถึงจะไม่เข้าใจว่ามีโรคแบบนี้ด้วยหรอ แต่เขาก็ไม่ได้ตัดสินว่าเราผิด ส่วนคุณแม่แม้จะไม่เข้าใจ แต่ด้วยความที่เป็นแม่เหมือนกัน เขาก็จะดูแลเราอย่างดี ดีกว่าตอนที่เราเป็นเด็กอีก เพราะเขารู้ว่าเราแย่ เลยทำทุกทางให้เราดีขึ้น ตอนนั้นเขาอายุ 60 กว่าแล้ว แต่ก็ยังนั่งรถมาหาเรา ทำอาหารให้เรา ดูหลานให้เราได้นอน ส่วนพี่เหว่งที่งานเยอะมาก ก็พยายามกลับบ้านเร็วเพื่อเรา เพราะเขารู้ว่าถ้าปล่อยเราไว้คนเดียวนานๆ ไม่น่าจะดี ทั้งหมดนี้ทำให้คิดได้ว่า เพราะครอบครัวที่ทำให้ตุ๊กผ่านมาได้”

มาถึงตอนนี้ คิดว่าตัวเองเป็นแม่แบบไหนคะ

“ถ้าไม่นับที่คนอื่นมองเราจากสื่อนะ ตัวตนของตุ๊กเป็นคุณแม่ที่ชอบทำงาน ไม่อยู่นิ่ง ส่วนนิสัยเป็นคนใจร้อน ดุ แต่ก็จะมีมุมที่เล่นกับลูกแบบสนุกสนาน ที่น่าแปลกคือคนอื่นจะชอบถามเราว่า โกรธเป็นไหม เพราะดูเป็นคนใจเย็นมาก แต่จริงๆ แล้วเป็นคนใจร้อน พี่เหว่งจะใจเย็นกว่า

“ตุ๊กมองตัวเองแบบนั้น แต่การมีลูกหนึ่งคนกับสองคนก็ต่างกันนะ เพราะการมีลูกสองคนช่วยเปลี่ยนนิสัยเราไปเยอะเลย จากที่เคยใจร้อนมากหรือชอบทำงาน ถ้าไม่ได้ทำงานจะหงุดหงิด แต่พอมีลูกสองคน ถ้าลูกอยากเล่นกับเรา แล้วเราทำงานไม่ได้ ก็จะหงุดหงิดน้อยลง พออายุมากขึ้นและมีลูกสองคนทำให้รู้สึกปล่อยวางหลายๆ อย่างได้ง่ายมากขึ้น มีความใจเย็นมากขึ้น มองชีวิตกลางๆ ไม่สุขมากหรือทุกข์มาก”มีแนวทางการเลี้ยงลูกอย่างไรบ้าง

“คำถามนี้โดนถามบ่อยมาก ซึ่งตุ๊กไม่ได้มีแนวทางการเลี้ยงลูกที่ชัดเจนว่านี่คือแนวทางของฉัน แต่จะชอบแนวทางบางอย่างที่เอาไปใช้กับการเลี้ยงลูกของเราได้ เช่น การเลี้ยงลูกเชิงบวก การเลี้ยงลูกแนวนพลักษณ์ ตามบุคลิกหรือตัวตนของเรากับลูก เพราะทำให้เข้าใจตัวเราเองและตัวลูกมากขึ้น ไม่กดดันหรือเครียดมากเกินไป ส่วนการเลี้ยงลูกเชิงบวกทำให้เราสอนเขาง่าย ไม่ต้องสอนด้วยการดุ แต่สอนให้เขาเข้าใจและรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำ จนเขาทำเพิ่มมากขึ้นเอง

“มีคนอินบ็อกซ์มาเยอะมากๆ ว่าอยากรู้แนวทางการเลี้ยงลูกของเรา เพราะเขาเห็นเราเลี้ยงลูก แล้วลูกดูมีความสุข ดูว่าง่าย แต่ตุ๊กอยากบอกว่า สิ่งที่เห็นก็แค่ด้านเดียว คุณไม่ได้เห็นบางด้านที่เป็นด้านลบของเรา เพราะเราไม่สามารถเอาทุกมุมของชีวิตครอบครัวมาตีแผ่ได้หมด”

ชีวิตจริงกับเรื่องราวที่สื่อสารออกไปบนโลกโซเชียล เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

“สิ่งที่เห็นตามสื่อกับตัวตนของครอบครัวเราคือเหมือนกันเลย คลิปวิดีโอหรือสิ่งต่างๆ ที่เห็นไม่มีการแสดงละครหรือเฟค นั่นคือชีวิตของครอบครัวเราจริงๆ แต่เป็นแค่ด้านเดียว ตุ๊กจึงไม่แปลกใจที่หลายคนจะเข้าใจว่าครอบครัวเรามีแต่ความสุข เพราะเรานำเสนอแต่ความสุข

“แต่ความจริงคือทะเลาะกันก็มี พี่น้องทะเลาะกันมีทุกวัน ตุ๊กทะเลาะกับพี่เหว่งก็มี แต่เขาไม่เห็น เพราะคงแปลกถ้าเราตั้งกล้องถ่าย หรือถึงจะถ่ายได้ เราก็ไม่อยากนำเสนอมุมนั้น เพราะวันหนึ่งที่ลูกโตขึ้น เราไม่อยากให้เขาเห็น คือลูกรู้อยู่แล้วแหละว่าครอบครัวเรามีมุมนั้น  แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเตือนความทรงจำเขาว่าครอบครัวเรามีด้านนี้ เพื่อทำให้ใครๆ รู้ว่าครอบครัวเรามีทุกด้าน”ปัญหาหนักที่สุดในการเลี้ยงลูกคืออะไร

“ไม่มีปัญหาใหญ่ที่สุดในการเลี้ยงลูกนะ ไม่มีเลย แต่มีปัญหาใหญ่ที่กระทบทั้งเราและลูก ซึ่งหลักๆ เป็นปัญหาของตัวพ่อแม่ อย่างถ้าพี่เหว่งเกิดภาวะเครียด เพราะเขาทำงานหนักมากๆ บวกกับความกดดันที่คนอื่นมองว่าเขาเป็นคนตลก แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้เป็นคนตลกตลอดเวลา เขามีภาวะความกดดันในฐานะหัวหน้าครอบครัว หรือเครียดกับบริษัทที่เพิ่งก่อตั้ง ซึ่งเมื่อไหร่ที่เขาเครียด คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเรา เพราะเราก็ไม่อยากให้เขาเครียด ไม่อยากให้ครอบครัวอึมครึม ยิ่งถ้าเขาเครียดแล้วเราเครียดตาม ความเครียดของเราก็จะตกไปถึงลูกด้วย ซึ่งไม่ดีกับตัวลูก และต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว”

แล้วมีวิธีแก้ไขอย่างไรคะ

“อย่างพี่เหว่ง ตุ๊กจะเตือนเขาเลยว่าตอนนี้ดูเครียดนะ และด้วยความที่เราเปิดรับทุกอย่างอยู่แล้ว ก็จะแนะนำให้เขาไปพบจิตแพทย์ โดยเรามองว่าเป็นเรื่องปกติมาก เพราะการไปปรึกษาคุณหมอช่วยทำให้รู้ว่าจะจัดการกับความเครียดยังไง ซึ่งเขาไปแล้วก็ดีขึ้น เขาจัดการกับอารมณ์และปัญหาได้ดีขึ้น พอเขาโอเค เราก็โอเค ก็ไม่กระทบกับลูก”

เห็นลูกๆ พูดภาษาอังกฤษกันเก่งมาก มีวิธีสอนอย่างไรบ้าง

“อย่างที่บอกไปแล้วว่าตุ๊กเป็นคนชอบตั้งเป้าหมาย จึงตั้งใจว่าอยากให้ลูกพูดภาษาอังกฤษได้ก่อนเข้าโรงเรียน เพราะตอนนั้นเราไม่แน่ใจว่าโรงเรียนที่เหมาะกับเขาและใกล้บ้านที่สุดจะเป็นโรงเรียนแบบไหน โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนอินเตอร์ หรือโรงเรียนไทย เราไม่รู้เลย รู้แค่ว่าอยากให้ลูกพูดภาษาอังกฤษได้ ไม่ว่าเขาจะเรียนโรงเรียนไหนก็ตาม

“ตอนนั้นจินอายุประมาณขวบกับ 7 เดือน ก็เลยเริ่มสอนเขาโดยที่ไม่ได้ศึกษาอะไรมาก แค่คิดว่าเราพูดภาษาอังกฤษได้ยังไง ก็เพราะเราไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่บังคับให้ต้องพูด เลยเรียนรู้ว่าถ้าจะให้ลูกพูดภาษาอังกฤษได้ ก็ต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นภาษาอังกฤษ การ์ตูนภาษาอังกฤษ หนังสือนิทานภาษาอังกฤษ และเราพยายามพูดภาษาอังกฤษกับเขาบ่อยๆ แต่บางคำที่เรานึกภาษาอังกฤษไม่ออก ก็โน้ตไว้แล้วไปหามาพูดกับเขาอีกที”ถ้าในอนาคตลูกๆ ไม่อยากเป็นคนที่มีชื่อเสียงบนโลกโซเชียล คิดว่าจะทำอย่างไร

“คงต้องมาคุยกันก่อนว่า ณ วันนี้เขาเป็นที่รู้จักแล้ว หากจะย้อนให้คนไม่รู้จักเขาเลยคงเป็นไปไม่ได้  แต่ถ้าวันหนึ่งเขามาบอกเราว่า หนูไม่อยากทำแล้ว เราก็มีทางเลือกให้เขาอยู่แล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันนี้แล้วด้วย ไม่ใช่ว่าต้องรอวันนั้น

“ยกตัวอย่างจิน มีครั้งหนึ่งที่เราทั้งครอบครัวต้องไปงานรับรางวัลงานหนึ่ง ซึ่งเรารู้เลยว่าต้องมีคนถ่ายรูปเยอะมาก สัมภาษณ์เยอะมาก แล้วจินต้องโดนสัมภาษณ์แน่ๆ แต่อย่างเรนนี่ (ลูกสาวคนเล็ก) ไม่เป็นไร เพราะตอนนี้เราอุ้มเขาไปไหนก็ได้ที่เขารู้สึกแฮ็ปปี้ แต่ตุ๊กรู้นิสัยจิน เลยถามเขาว่าอยากไปไหม เขาก็ถามกลับว่าเป็นงานแบบไหน เราก็เปิดรูปให้ดูและอธิบายให้ฟังว่าเขาต้องเจออะไรบ้าง สุดท้ายเขาบอกว่าไม่ไป เราก็โอเค ไม่ไปก็ไม่ไป เพราะเราให้โอกาสเขาได้เลือกเสมอ”

ตั้งแต่ทำเพจ Little Monster มา เจอดราม่าหนักที่สุดคือเรื่องอะไร

“ต้องบอกก่อนว่าตุ๊กไม่เคยเจอดราม่าใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ใหญ่ในที่นี้คือไม่ได้มาแค่ช่องทางเดียว ซึ่งโดยปกติก็เคยเกิดดราม่าที่เพจเราอยู่ แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่สะเทือนความเป็นแม่ของเราได้เท่าครั้งนี้ เป็นดราม่าครั้งล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้เอง

“เรื่องเริ่มจากว่าตุ๊กเขียนบทความหนึ่ง เพื่อสื่อสารว่าการที่เราเลี้ยงดูลูกแต่ละคนในวัยที่ต่างกันไม่เหมือนกัน อาจทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าเราให้ความรักลูกแต่ละคนไม่เท่ากันก็ได้ ซึ่งตุ๊กไม่ได้จะสื่อสารว่ารักลูกคนนี้มากกว่าคนนี้ แต่ก็มีบางคนไปแชร์ต่อ และตั้งสเตตัสในทำนองว่า “แม่ที่รักลูกเท่ากันไม่มีอยู่จริง” จนกลายเป็นกระแสดราม่าขึ้นมา ถึงขั้นที่มีคนบอกว่าจินน่าสงสาร หรือแทบไม่ได้เห็นจินในเพจแล้ว ซึ่งเรารู้ว่าทำไมเขาถึงเข้าใจแบบนั้น เพราะเราเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกว่าอยากทำอะไรหรือไม่อยากทำอะไร เราไม่อยากบังคับลูกมาถ่ายคลิป ดังนั้นการที่จินไม่ถ่ายคลิปหรือออกมาในคลิปน้อย ก็เป็นเพราะการตัดสินใจของเขา แต่คนอื่นไม่รู้ ทำให้คิดไปว่าเราให้ความสำคัญกับเรนนี่มากกว่า

“ดราม่าแรงขึ้นทั้งในทวิตเตอร์และไอจี ถึงขนาดมีคนแคปรูปจิน หรือแคปโมเม้นต์ของจินในคลิป แล้วเอามาวิเคราะห์ว่าเด็กคนนี้ซึมเศร้าอยู่ บางคนก็ห่วงใย ส่งเบอร์จิตแพทย์มาให้ ตอนนั้นเราไม่ได้ตกใจอะไร เพราะทำงานตรงนี้ก็ปรึกษาจิตแพทย์เด็กอยู่แล้ว ว่าการเลี้ยงลูกบนสื่อโซเชียลต้องทำยังไงให้ถูกต้อง แต่สิ่งที่สะเทือนความเป็นแม่ของเรามาก คือเขาตัดสินเราไปแล้วว่าเราเป็นแม่ที่รักลูกไม่เท่ากัน และจินน่าสงสาร ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นตุ๊กหรอกที่โดนว่าแบบนี้แล้วจะสะเทือนใจ  แม่ทั่วไป ถ้ามีคนสักสองสามคนมาว่าแบบนี้ก็สะเทือนแล้วนะ แต่ของเรามีเป็นพันๆ คนที่ทั้งคอมเม้นต์ อินบ็อกซ์ แชร์ ทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี เรียกว่าเข้ามาทุกทาง แล้วตุ๊กเป็นคนที่ต้องอ่านทุกคอมเม้นต์ ซึ่งก็มีคนเตือนว่าอย่าอ่านทั้งหมด เพราะมันจะบั่นทอน แต่เราก็ไม่ได้ ต้องอ่านทุกอย่าง เพื่อวันหนึ่งที่ลูกโตขึ้นแล้วเขามาอ่าน เราจะได้ตอบเหตุผลเขาได้หมด”

แล้วผ่านดราม่านั้นมาได้อย่างไรคะ

“ตุ๊กร้องไห้เพราะเรื่องนี้ในวันแรกๆ ที่รู้สึกว่าดราม่าแรงขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกคิดแบบลวกๆ เลยว่าจะเลิกทำเพจดีไหม เพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่อลูก แต่พอผ่านไปสักสามสี่วัน เราได้ตกตะกอนความคิดและอารมณ์มากขึ้น ก็คิดได้ว่าคนที่กระทบไม่ใช่ลูก เขายังใช้ชีวิตแบบมีความสุขได้ตามปกติ แต่คนที่กระทบที่สุดคือเราเอง ซึ่งการเลิกทำเพจเป็นการหนี และตุ๊กมองว่าถ้าเรารับไม่ได้กับดราม่าแบบนี้ แล้วเราจะแนะนำลูกได้ยังไงในวันที่เขาโตขึ้นแล้วต้องเจอดราม่าหนักๆ

“มาถึงวันนี้แล้ว พอมองย้อนกลับไปในวันที่เกิดดราม่าขึ้น ตุ๊กรู้สึกโอเคและดีใจที่เกิดดราม่าครั้งนั้น เพราะทำให้เราได้มองโลกโซเชียลอีกด้านหนึ่ง ได้เห็นความน่ากลัว แต่ในความน่ากลัวนั้นก็ทำให้เราแข็งแรงขึ้น และทำให้คิดได้ว่า คนข้างนอกจะพูดยังไง ก็ไม่สำคัญเท่ากับคนข้างในที่เข้าใจกัน เพราะเราห้ามคนอื่นมาตัดสินเราหรือครอบครัวเราไม่ได้ แต่ถ้าครอบครัวเราแข็งแรง เราก็แข็งแรง และรับมือกับทุกปัญหาได้”

มาถึงวันนี้ที่ผ่านหลากหลายเรื่องราวมาได้ จนประสบความสำเร็จทั้งในฐานะแม่และการทำงาน รู้สึกอย่างไรบ้างคะ 

“รู้สึกขอบคุณหลายๆ คน ขอบคุณครอบครัว รวมไปถึงลูกเพจที่ทำให้เรามีวันนี้ เพราะหลายๆ อย่างเกิดขึ้นและแตกยอดมาจาก Little Monster ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีการสนับสนุนจากลูกเพจของเรา ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะงงๆ ว่ามาถึงจุดนี้ได้ยังไง แต่พอทำเพจมา 6 ปี ก็เข้าใจว่าหลายๆ อย่างขึ้นอยู่กับความถูกที่ถูกเวลาและความพยายามด้วย ตุ๊กรู้สึกขอบคุณทุกคนที่ทำให้เรามีวันนี้ได้” (ยิ้ม)

ขอบคุณตัวเองด้วยไหมคะ

“ลืม (หัวเราะ) เราไม่เคยขอบคุณตัวเองเลยเนอะ แต่ส่วนใหญ่จะให้กำลังใจตัวเองมากกว่า เพราะกว่าจะเป็นเพจ กว่าจะเป็นคลิป กว่าจะเป็นอนิเมชั่น ต้องผ่านอะไรมาเยอะ ผ่านการกลั่นกรองในการคิดเยอะมาก ยิ่งการทำงานร่วมกับเด็ก เราต้องทำให้เขาไม่กดดัน ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ใช่งาน และทำให้ลูกค้าแฮ็ปปี้ด้วย บวกกับทุกงานที่รับมา เราใช้จริง เราอยู่จริง จึงไม่ได้คิดแค่ว่าทำแล้วรับตังค์แล้วก็จบ แต่เราคิดต่อว่าจะทำอะไรได้บ้างที่เกิดประโยชน์ต่อทุกคนด้วย 

“ตุ๊กรู้สึกขอบคุณมากๆ ทุกครั้งที่เวลาเรามีคลิป ไม่ว่าจะเป็นงานสปอนเซอร์หรืองานของเราเอง แล้วได้รับอินบ็อกซ์เข้ามาเสมอๆ ว่า ขอบคุณที่ทำมันขึ้นมา และไม่ใช่น้อยเลยที่บอกว่า เขาดีขึ้นจากโรคซึมเศร้าเพราะคลิปของครอบครัวเรา

“บางคนบอกว่าเขาหยุดยาแล้วเพราะจินกับเรนนี่ ตุ๊กดีใจมาก ถึงขั้นหันไปบอกลูกว่า เราได้บุญนะเนี่ย ซึ่งแน่นอนว่าเขายังไม่เข้าใจหรอก แต่ตุ๊กก็ยังอยากแชร์ความรู้สึกดีๆ กับเขา  เพราะเรารู้สึกดีมากจริงๆ”


สัมภาษณ์/เรียบเรียง : อรจิรา ยิ้มอยู่

ภาพ : จักรพงษ์ นุตาลัย

Praew Recommend

keyboard_arrow_up