หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ จากตำหนักใหญ่สู่ตำหนักเล็ก (ตอนที่12)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก กับช่วงสงครามโลกครั้งที่2 และความฝืดเคือง

หม่อมเจ้าการวิก ทรงเล่าถึงช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ประทับในต่างประเทศนั้น เป็นช่วงที่ใกล้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ต้องทรงผจญกับความฝืดเคือง และทรงพยายามลดทอนค่าใช้จ่ายลงในทุกๆทาง

พระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่แสดงถึงความเป็นผู้รอบรู้ประการหนึ่งคือ การที่พระองค์ท่านเสด็จประพาสสถานที่ต่างๆที่มีความสำคัญและประวัติความเป็นมา ทรงมีความรู้ และสามารถรับสั่งให้เข้าใจได้โดยง่าย

ในบั้นปลายของพระชนม์ชีพ พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสต่างประเทศอยู่หลายคราวเพื่อประทับรักษาพระองค์ ด้วยพระพลานามัยระยะหลังไม่ใคร่ดีนักเมื่อพระอาการบรรเทาก็ทรงถือเป็นวโรกาสพิเศษที่จะเสด็จฯเยือนที่ต่างๆ เพื่อทรงพระสำราญ และมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานความรู้แก่ผู้ตามเสด็จด้วยการพาไปให้เห็นของจริง ซึ่งผมได้รับพระราชทานโอกาสพิเศษนี้ด้วยในฐานะผู้ตามเสด็จอยู่บ่อยครั้ง

จำได้ว่า ช่วงเวลานั้นราวพ.ศ.2480-2482 สถานการณ์ในยุโรปเริ่มไม่สงบ เพราะผู้นำเผด็จการนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งเยอรมนี ได้รุกรานเข้ารวบรวมดินแดนต่างๆที่อ้างว่ามีคนเชื้อสายเยอรมันอยู่เป็นของตน และมีการสะสมกำลังและอาวุธเพื่อเตรียมการทำสงคราม แต่ผู้นำประเทศต่างๆต่างประมาท ไม่คิดว่าเยอรมันจะมีกำลังลุกขึ้นมาก่อสงครามได้ เพราะผลจากการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2457-2461) ที่สร้างความบอบช้ำแก่ทั้งฝ่ายผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้อย่างมากมาย ทำให้นานาประเทศไม่พร้อมที่จะทำสงครามกับใครอีก

อดลอ์ฟ ฮิตเลอร์

แล้วในช่วงพ.ศ.2480 และ 2481 สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระภคินีร่วมพระชนกและพระชนนีในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ได้เสด็จประพาสอังกฤษเพื่อประทับรักษาพระองค์ถึงสองครั้ง และได้เสด็จเยี่ยมพระเจ้าอยู่หัวด้วย ในระหว่างที่ประทับ ณ โรงแรมเมย์แฟร์ กรุงลอนดอนนั้น พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ผมไปเป็นสารถีขับรถยนต์พระที่นั่งถวาย หากมีพระประสงค์จะเสด็จยังที่ต่างๆอยู่คราวละเดือนหนึ่ง บ่อยครั้งที่จะมีหม่อมราชวงศ์มรุต เทวกุล ตามเสด็จด้วย และครั้งสุดท้ายก่อนจะเสด็จกลับเมืองไทยทรงมีรับสั่งว่า

“ตาหวาน ฉันคงจะไม่ได้เห็นหน้าเธออีกแล้ว” และวันที่เสด็จกลับ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปส่งยังสถานีรถไฟ ผมยังจำภาพที่ต่างทรงล่ำลากันด้วยความอาลัย และมีน้ำพระเนตรคลอเบ้าทั้งสองพระองค์ พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2482 ก็ได้รับข่าวว่า สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯสิ้นพระชนม์แล้ว ด้วยพระโรควักกะ (ไต) พิการ

สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

ในช่วงต่อมา พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯที่จะเสด็จประพาสประเทศกรีซและตุรกี ผมเป็นคนรับหน้าที่ติดต่อจองตั๋วและวางหมายกำหนดการเสด็จฯ โดยทางเรือสำราญของบริษัทเฮเลนิกครูซ (HELENIC CRUISE) ของเซอร์เฮนรี่ ลัน (SIR HENRY LUNN) บังเอิญว่าผมได้รู้จักกับบุตรชายของท่านเซอร์คนหนึ่งเมื่อครั้งที่ผมได้ตามเสด็จไปเล่นสกีที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อพ.ศ.2480 ทางบริษัทจึงถวายความดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ซึ่งการเสด็จฯครั้งนั้นมีพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินี หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี หรือ ‘ท่านหญิงผ่อง’ และผมเท่านั้น

หมายกำหนดการเสด็จฯ เป็นการท่องเที่ยวที่เป็นเรื่องเป็นราวมาก เพราะมีจุดประสงค์ที่จะไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่างๆในประวัติศาสตร์ของอารยธรรมกรีกโบราณในประเทศกรีซ ทางบริษัทจะจัดแบ่งผู้โดยสารออกเป็นกลุ่ม และมีมัคคุเทศก์ประจำกลุ่มคอยอำนวยความสะดวกให้ จำได้ว่าขับรถไปลงเรือ ‘เลทิเทีย’(LETITIA)ที่ประเทศอิตาลี พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า

“จะไปดูพวกอารยธรรม ต้องไปดูที่กรีซก่อน ความจริงอารยธรรมอียิปต์นั้นมีความเจริญมาก่อนหน้านับพันปี แต่ถ้าไปดูอียิปต์ก่อน แล้วจะเห็นที่กรีซนี้เล็กน้อยมาก” ซึ่งก็เป็นความจริงดังพระราชกระแสรับสั่ง ถึงกระนั้นสิ่งที่ผมเห็นในประเทศกรีซก็ยิ่งใหญ่มโหฬารนัก

หมายกำหนดการที่เสด็จฯกรีซนั้น ประมาณ 10 วัน ผมได้ตามเสด็จไปชมเมืองต่างๆในประวัติศาสตร์ที่เคยเรียนและรู้จักจากหนังสือ ซึ่งแต่ละเมืองนั้นมีประวัติ ตำนานเล่าขานกันมากมาย เช่น เมืองอิทากา กิเตออน (ITHACA GITHEON) เมืองสปาร์ตา (SPARTA) เมืองมิสตรา (MISTRA) เมืองมาราธอน (MARATHON) ฯลฯ ในแต่ละเมืองที่ไปนั้น มัคคุเทศก์นำทางสามารถท่องจำเล่าอธิบายได้ราวกับเป็นหนังสือเดินได้ ส่วนความรู้เพิ่มเติมนอกตำรา พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเล่าได้มาก เพราะทรงเคยอ่านจากหนังสือมาก่อน แล้วในระหว่างที่อยู่ในเรือจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยบรรยายตามกำหนดการให้ว่า วันไหนจะไปที่ใดและที่นั้นมีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้างพอสังเขป

หลังจากนั้นจึงเสด็จฯยังอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในฝั่งทวีปยุโรปต่ออีกเป็นเวลา 3 วัน โดยท่องเรือในช่องแคบบอสโพรัส ชมแผ่นดินของสองฟากทวีป คือ เอเชียและยุโรป และเสด็จฯขึ้นชมมัสยิดอันมีชื่อ เช่น มัสยิดสีฟ้า (บลูมอส์ค) วิหารเซนต์โซเฟีย ฯลฯ แต่ไม่ได้เข้าไปยังตอนเหนือของตุรกีที่อยู่ในแผ่นดินทวีปเอเชีย เพราะสถานการณ์ทั่วไปไม่ค่อยดีนักจากการรุกรานของพวกเยอรมัน จากนั้นเสด็จฯลงเรือกลับมาขึ้นฝั่งที่อิตาลี และขับรถกลับกรุงลอนดอน น่าเสียดายภาพถ่ายสวยๆที่ผมได้ถ่ายในการตามเสด็จครั้งนั้นสูญหายไปเสียมาก เพราะว่าส่งไปล้างที่ร้านแล้วไม่ค่อยได้กลับคืน ซึ่งในการตามเสด็จในที่ต่างๆ ครั้งหลังๆมักมีเรื่องภาพถ่ายหายบ่อยๆเช่นกัน

ในราวพ.ศ.2482 สถานการณ์ในยุโรปถูกปกคลุมด้วยกระแสของสงครามที่หนาขึ้นทุกที แม้เซอร์เนวิล แชมเบอร์เลน (SIR NEVILLE CHAMBERLAIN) นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้นพยายามที่จะเจรจาด้วยสันติกับฮิตเลอร์ทุกอย่างจนได้สัญญาสันติภาพระหว่างเยอรมันกับอังกฤษที่ฮิตเลอร์ลงนามประกาศว่าไม่จอรุกรานประเทศใดอีก และจะรักษาสันติภาพของโลกตลอดไป แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเล็งเห็นการณ์ไกล และแน่พระราชหฤทัยว่าสงครามต้องมีขึ้นแน่นอน เพราะทรงติดตามเหตุการณ์ต่างๆมาโดยตลอด (ในที่สุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นจริงๆ สร้างความเสียใจแก่เซอร์แชมเบอร์เลนเป็นอันมาก จนล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรมในเวลาต่อมา)

พระองค์เจ้าจิรศักดิ์กับหม่อมมณี
ในหลวงรัชกาลที่ 7 หม่อมมณี และโอรสคนแรกของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ

พระองค์ท่านได้ทรงเตรียมการที่จะปกป้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของบุคคลที่อยู่ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ อาทิ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ซึ่งทรงเสกสมรสกับหม่อมมณี บุนนาค หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ กับหม่อมเสมอ หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณีกับผม และนายบวย นิลวงศ์กับนางสำเภา ซึ่งเดินทางมาถวายการรับใช้แทน คุณรองสนิท โชติกเสถียร และภรรยาที่รับสั่งให้กลับเมืองไทยพร้อมกับพี่ต๊ะ- อัชฌา ด้วยทรงเห็นว่า หากกลับเมืองไทยแล้วย่อมมีความปลอดภัยและอนาคตที่ดีกว่า ซึ่งนายบวยผู้นี้เคยทำงานถวายการรับใช้พระองค์เจ้าจุมภฏฯมาก่อน และไม่ยอมกลับเมืองไทย ขอมาถวายการรับใช้พระเจ้าอยู่หัวต่อ และทรงส่งเขาไปเรียนการทำอาหารที่ฝรั่งเศสด้วยทำให้เขามีฝีมือในการปรุงอาหารมาก

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้เริ่มประหยัดรายจ่ายทุกทาง โดยให้เลิกเช่าแฟลตอีตันเฮ้าส์ และตัดสินพระราชหฤทัยที่จะหาตำหนักใหม่ ด้วยมีพระราชดำริว่า พระตำหนักเวนคอร์ตนั้นอยู่ใกล้ช่องแคบอังกฤษ หากอังกฤษประกาศสงครามเมื่อใด เขตที่ประทับจะต้องกลายเป็นเขตทหารที่หวงห้ามทันที โดยมีรับสั่งกับมิสเตอร์อาร์.ดี. เครก (MR. R.D. GRAIG) ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายในเมืองไทยและเป็นผู้จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระองค์ที่ยังทรงมีอยู่ในขณะนั้นและไม่ถูกรัฐบาลไทยยึดไป ให้หาบ้านเช่าสักหลังหนึ่งในย่านเวอร์จิเนียวอเตอร์ โดยไม่มีพระราชประสงค์จะซื้อตำหนักใหม่ เพราะราคาแพงมาก

ต่อมาก็ได้บ้านเช่าขนาดย่อม เล็กกว่าพระตำหนักเวนคอร์ตหลายเท่า ชื่อว่าคอมพ์ตันเฮ้าส์(COMPTON HOUSE) แต่ต้องมีการซ่อมแซมบ้าง…

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ รับใช้ใต้เบื้องบาทบงสุ์ (ตอนที่ 10)

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ชีวิตที่แปรเปลี่ยน (ตอนที่ 9)

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ความผันผวนของบ้านเมืองและชีวิต (ตอนที่ 8)

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up