ใต้ร่มฉัตร

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ รับใช้ใต้เบื้องบาทบงสุ์ (ตอนที่ 10)

ใต้ร่มฉัตร
ใต้ร่มฉัตร

 

ใต้ร่มฉัตร…รับใช้ใต้เบื้องบาทบงสุ์

ใต้ร่มฉัตรดำเนินมาถึงตอนที่ 10 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ชีวิตของหม่อมเจ้าการวิก ที่แต่เดิมเป็นเพียงนักศึกษาไทยในต่างประเทศ และเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้มีรับสั่งชวนให้มาถวายการรับใช้ ก็ทรงตอบรับด้วยความยินดีที่จะรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความเต็มพระทัยยิ่ง

เวลานั้น ผู้ที่จะอยู่สนองเบื้องพระยุคลบาทมีน้อยเต็มที แม้มีหลวงศักดิ์นายเวร (แจ่ม เงินยอ) กับคุณเชย ภรรยา เดินทางจากเมืองไทยมาถวายการรับใช้เพิ่มก็ตาม ซึ่งหลังจากที่ผมตามเสด็จเสร็จแล้ว ก็กราบบังคมทูลลากลับมาเรียนต่ออีกหนึ่งภาคเรียน และสอบได้ระดับบักกาโลเรอาท์ 1 (BACCALAUREAT 1) ตามหลักสูตรการเรียนของฝรั่งเศส เทียบง่ายๆก็เหมือนระดับมัธยมปลายของไทย เตรียมตัวจะสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย ก็เดินทางไปเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ท่านก็พระราชทานรถสปอร์ต S.S. รุ่นเล็กเป็นรางวัล รถที่พระราชทานเป็นขนาดกินน้ำมันลิตรครึ่ง คันไม่ใหญ่และไม่หรูหราอะไรมาก ต่อมาบริษัทสแตนดาร์ดมอเตอร์สเปเชียล ผู้ผลิตรถประเภทนี้ก็พัฒนาจนกลายเป็นรถจากัวร์ (JAGUAR) นั่นเอง

เมื่อพระองค์ท่านรับสั่งว่า ไม่ต้องไปเข้าโรงเรียนนายร้อยหรอก เรียนสิ่งที่จะประกอบอาชีพอื่นดีกว่า ผมจึงเปลี่ยนความตั้งใจมาสอบเข้าเรียนในระดับบักกาโลเรอาท์ 2 ซึ่งเป็นหลักสูตรแบบโรงเรียนโปลีเทคนิค ใช้เวลาเรียน 1 ปี ก็สามารถจบออกมาทำงานได้หลายอาชีพ ชื่อโรงเรียนโปลีเทคนิคนี้ ในประเทศอื่นอยู่ในขั้นโรงเรียนอาชีวะศึกษาทั่วไป แต่ในฝรั่งเศสเป็นเหมือนโรงเรียนอัจฉริยะ สอบเข้ายากและเรียนยาก อย่างวิชาการคำนวณเบื้องต้น (MATHEMATIQUES ELEMENTARIES) ซึ่งในอังกฤษเรียกว่าวิชาการคำนวณชั้นสูง (HIGHER MATHEMATICS)

น่าเสียดายที่ผมสอบเข้าไม่ได้ คงเป็นเพราะยากจริงๆ

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามผมว่า

“จะมาอยู่ด้วยกันไหม ฉันไม่มีคนจะใช้” ผมกราบบังคมทูลทันทีว่า ยินดีที่จะมาสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มที่ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขับรถที่ได้รับพระราชทานกลับมาที่เมืองมาร์เซลย์ เพื่อเก็บของและล่ำลาครอบครัวคุณพ่อคุณแม่และพี่น้องที่ผมมาอาศัยด้วยความอาลัย และกลับมาเป็นมหาดเล็กคอยตามเสด็จและถวายการรับใช้สนองเบื้องพระยุคลบาทตั้งแต่นั้น เรื่องการเรียนในโรงเรียนของผมจึงเป็นอันยุติลง แต่ภายหลังหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯทรงแนะนำให้ไปเรียนหลักสูตร CHARTERED INSTITUTE OF SECRETARIES OF STOCK COMPANIES ทางไปรษณีย์ โดยใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือและไปสอบ วิชาที่เรียนเกี่ยวกับการทำบัญชี การจัดเอกสาร การสื่อสารทางธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผมมากในการทำงานถวายการรับใช้พระองค์ท่าน หลักสูตรนี้แบ่งเป็นสามระดับ แต่ผมสอบได้เพียงระดับสองเท่านั้น

การที่ผมมาเป็นมหาดเล็กครั้งนี้  เท่ากับว่าเป็นการพลิกชีวิตผมอีกครั้งหนึ่งเหมือนกับฝันไป เพราะความหรูหรา (อย่างธรรมเนียมตะวันตก) เกินหน้าเกินตา ด้วยตอนที่เรียนในโรงเรียนฝรั่งเศส ผมอยู่กับเด็กที่มาจากสังคมอันหลากหลาย มีชีวิตธรรมดา แม้ครอบครัวที่ฝรั่งเศสจะมีเชื้อสายขุนนางเก่า แต่การกินการอยู่ก็ไม่หรูเท่ากับที่ผมพบในพระตำหนักนี้ แต่สิ่งที่ผมยินดียิ่งคือ ผมได้พบ ‘เพื่อนเก่า’ ที่เคยอยู่ด้วยกันในพระที่นั่งอัมพรฯอีกครั้ง รวมทั้งพระญาติบางองค์ เช่น พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พี่ต๊ะ-อัชฌา ตอนหลังก็มีหม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์ ซึ่งเสด็จมาจากอเมริกา หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์ เสด็จมาจากปีนัง ซึ่งทั้งสององค์เป็นพระอนุชาและพระขนิษฐาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จมาประทับที่พระตำหนักเกลน พัมมันต์ (GLEN PAMMANT) ด้วย

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงขี่คอหม่อมเจ้าการวิก ที่เมืองมาร์เซลย์

กิจวัตรของความเป็นอยู่ที่หรูหราดังกล่าวนี้ คือ การที่พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงจ้างฝรั่งมาเป็นคนรับใช้และคนขับรถ ตลอดจนมารยาทการกินการอยู่ รวมถึงการแต่งตัวก็เป็นธรรมเนียมอย่างฝรั่ง ทั้งนี้ก็เพื่อดำรงพระเกียรติยศในฐานะอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยามต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้ใครดูถูกได้ว่าเป็นชาวเมืองป่า ไม่รู้ธรรมเนียมของพวกที่เรียกตนเองว่า ‘อารยะ’ อันจะเป็นผลพลอยกระทบเกี่ยวโยงมาถึงคนไทยทั้งชาติด้วย

ทุกวันตอนโมงเช้า จะมีคนรับใช้ผู้ชายมาเคาะประตูห้อง ถือถาดวางถ้วยน้ำส้มคั้นเล็กๆ เปรี้ยวจี๊ดมาให้ดื่ม แค่จิบเดียวก็สะดุ้งตื่นทันที ถามว่าวันนี้จะสวมชุดสากลสีอะไร แล้วเขาจะจัดเน็คไท เชิ้ต ถุงเท้าวางไว้ให้ เสร็จแล้วเอาชุดสากลที่เลือกไปให้คนรับใช้ผู้หญิงรีด เอารองเท้าไปขัด สักครู่เขาก็กลับมาพร้อมถาดใส่ขนมปังทาเนยบางๆสองชิ้นเล็กๆ พร้อมน้ำชาและน้ำตาล นมสำหรับปรุงรส เรียกให้ลุกขึ้นนั่งบนเตียง เอาหมอนขึ้น บอกให้รับประทานขนมปังแล้วดื่มชาตาม จากนั้นเขากลับออกไปเอาชุดที่รีด พร้อมรองเท้ามาให้ ผมก็ลุกจากเตียงล้างหน้า สีฟัน ทำธุระส่วนตัวและแต่งตัว เสร็จแล้วก็ลงไปที่ห้องเสวย

ตอนสองโมงเช้า ทุกคนจะมาพร้อมกันที่ห้องเสวย ซึ่งจัดโต๊ะยาวเรียกว่า โต๊ะบิวเฟ่ต์ มีอาหารวางอยู่ อาทิ ปลานึ่งหรือปลารมควัน ไข่ดาว ไข่เจียว หรือไข่กวน แฮม เบคอน ไส้กรอก เซี่ยงจี๊ตัดเป็นเส้นเล็กๆ ใส่หอมใหญ่หรือหมูสามชั้นคลุกตีน้ำมัน แล้วมีพวกของกรอบ เช่น ข้าวคั่ว เกล็ดข้าวโพด (CORN FLAKES) สำหรับใส่นม ชา กาแฟ น้ำส้มคั้น พอพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จฯลงแล้ว จึงจะลุกไปตักกันมารับประทานร่วมโต๊ะเสวย จากนั้นต่างก็แยกไปทำภารกิจของตัวเอง เวลารับประทานอาหารกลางวันตอนบ่ายโมงกับอาหารมื้อค่ำตอนสองทุ่ม ส่วนใหญ่จะเหมือนกัน เป็นอาหารฝรั่ง เริ่มด้วยซุป ตามด้วยปลาแล้วก็เนื้อ และของหวาน ขนม ผลไม้ ทุกคนต้องเข้านั่งโต๊ะเป็นระเบียบและตรงเวลา โดยมีหัวหน้าบริการตีฆ้องเป็นสัญญาณ และตามธรรมเนียมอังกฤษต้องแต่งชุดราตรีอย่างโก้ตอนอาหารมื้อค่ำด้วย

เว้นแต่บางครั้งหากทรงคิดถึงพระกระยาหารไทย จะโปรดเกล้าฯให้ทำกันในครัวฝรั่งก็ไม่ได้ เพราะจะมีกลิ่นแรง จึงรับสั่งให้ไปทำกันที่บังกะโลไม้หลังเล็กๆคล้ายศาลา อยู่ใกล้สนามเทนนิสในบริเวณพระตำหนัก ทุกคนรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้มารวมกันที่บังกะโลนี้ และสมเด็จพระบรมราชินีโปรดการตำน้ำพริกมาก พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงปรุงพระกระยาหารเอง แต่จะรับสั่งได้ว่าอาหารชนิดใดต้องปรุงอย่างไร แล้วคนที่ทำพระกระยาหารไทยถวายเสมอก็คือ หลวงศักดิ์ฯกับภรรยานั่นเอง เพราะมีฝีมือในทางนี้

ในบางเวลาที่มีคนมาขอเข้าเฝ้าฯ เป็นคนจากสถานทูตบ้าง นักเรียนไทยที่ทรงรู้จักบ้าง ก่อนที่จะเข้าเฝ้าฯ ผมมีหน้าที่จะเป็นคนออกไปต้อนรับ พูดคุยไต่ถามสร้างความเป็นกันเอง เพื่อช่วยผ่อนคลายความตื่นเต้นประหม่าของเขา พร้อมกับหาข้อมูลว่าคนที่มาขอเฝ้าฯนี้เป็นคนนิสัยอย่างไร เป็นใครมาจากไหน เรียนที่ไหน มาทำไม ชอบอะไร แล้วไปกราบบังคมทูลให้พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีทรงทราบและทรงรู้จักล่วงหน้า พอเสด็จฯลง ผมจะเป็นคนนำเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านก็จะมีพระราชปฏิสันถารด้วย ทำให้คนที่มาเข้าเฝ้าฯหายกลัวหรือประหม่าน้อยลง และกล้ากราบบังคมทูลเรื่องราวต่างๆอย่างสบายใจ นี่เป็นหน้าที่ ‘มหาดเล็กอเนกประสงค์’ อย่างหนึ่งของผม

ในหลวงรัชกาลที่ 7 และพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ ช่วงวัยรุ่น

นอกจากนี้ ผมยังทำหน้าที่คนขับรถสำรอง คือก่อนหน้าที่ยังทรงมีพระราชภารกิจอยู่มาก ทรงจ้างคนขับรถพระที่นั่งมืออาชีพเป็นฝรั่งซึ่งเกลามาจากโรงงานของรถโรลสรอยซ์ โดยทางโรงงานจะคัดเลือกคนยอดๆมาถวายให้ทรงเลือกจ้าง จำได้ว่าเขาพูดได้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน เวลาไปต่างประเทศเขาจะเป็น ‘ดิกชันนารี’ เลย และหยิ่งพอควรทีเดียว บางรายว่ากันว่า ใครมาแตะรถยังควักผ้าเช็ดหน้ามาเช็ด แล้วหยิบผ้าเช็ดหน้าทิ้งถังขยะ

ต่อมาเมื่อพระราชภารกิจลดน้อยลง ไม่ต้องเสด็จฯไปไหนมาไหนแล้ว มีพระราชประสงค์ที่จะลดค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ และพระเจ้าอยู่หัวโปรดขับรถยนต์พระที่นั่งเองอยู่แล้ว อย่างตอนบ่ายบางวันรับสั่งว่า ‘วันนี้อยากไปกินน้ำชาที่ริมแม่น้ำเทมส์’ ก็ทรงขับเอง สมเด็จพระบรมราชินีทรงอ่านแผนที่ ส่วนผมนั่งข้างหลัง หากทรงเหนื่อยก็จะรับสั่งว่า

“เอาละ เอาละ แกขับบ้าง” แล้วสมเด็จพระบรมราชินีก็ทรงย้ายมาประทับข้างหลัง ผมก็ขับถวายแทน และยังโปรดเกล้าฯส่งผมไปเรียนที่โรลสรอยซ์เป็น OWNER DRIVERS’ COURSE ต้องไปฝึกรื้อรถออกมาหมดแล้วประกอบเข้าไปใหม่ เผื่อว่าเดินทางไกลที่ไหนที่ไม่มีช่าง ไม่มีร้านจะได้ซ่อมแก้ไขเป็น ซึ่งการเรียนตรงนี้มีประโยชน์กับตัวผมมากในภายหลัง โดยเฉพาะตอนสงครามโลกครั้งที่ 2

อีกหน้าที่หนึ่งของผมในภายหลังคือ เป็นราชเลขานุการด้วย ตอนแรกนั้นราชเลขาฯจริงๆไม่มี เพราะหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ หรือ‘ท่านชิ้น’ ไม่ทรงรับตำแหน่ง ทรงอธิบายว่า

“อั๊วเป็นทหาร และอั๊วไม่ชอบคำว่าเซอเกรแตร์” (SECRETRAIRE – ภาษาฝรั่งเศส)

ผมจึงรับหน้าที่ราชเลขาฯสำรองระยะหนึ่ง จนกระทั่งหม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์ ทรงจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา แล้วเสด็จมาประทับที่ลอนดอนด้วย ทรงรับตำแหน่งราชเลขาฯจริงอยู่หลายเดือน จึงกราบบังคมทูลลาออกไปเสกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรกานต์มณี (พระองค์ห้า) พระธิดาองค์หนึ่งในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ผมจึงรับหน้าที่ราชเลขาฯมาตลอดตราบจนพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 สวรรคต

Praew Recommend

keyboard_arrow_up