ในหลวงรัชกาลที่ 9… พ่อหลวง… พ่อของแผ่นดิน… ไม่ว่าใครจะเรียกพระองค์ว่าอย่างไร แต่ในใจคนไทยล้วนหมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก
ตลอด 70 ปี แห่งการครองราชย์ ไม่มีวันใดเลยที่พระองค์จะหยุดทรงงาน เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้อยู่ดีกินดี เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา แพรว ขอร่วมเทิดพระเกียรติด้วยการนำเสนอหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” 6 ศูนย์ทั่วประเทศ ที่พระองค์ทรงพลิกฟื้นผืนดินเสื่อมโทรมให้กลายเป็นทอง จนเกษตรกรในพื้นที่สามารถปลดหนี้ กู้ศักดิ์ศรีเกษตรกรกลับคืนมาด้วยแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้จนถึงวันนี้
‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดจันทบุรี
เกิดขึ้นจากพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงไปประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลและจังหวัดจันทบุรี” ต่อมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงได้มีขึ้น

ประจวบ ลีรักษาเกียรติ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์มาตั้งแต่ปี 2529 ด้วยความจงรักภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงทำให้เขาขอย้ายกลับมาที่ศูนย์ ในปี 2556 ทำงานสนองพระราชดำริมาจนถึงปัจจุบัน
มุ่งมั่นสนองงานจากยอดเขาสู่ท้องทะเล
“ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ที่มีพระราชประสงค์ให้พัฒนาการเกษตร ประมง จนปรับประยุกต์ไปในเรื่องของการท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านในปัจจุบันมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ป่าที่เคยเสื่อมโทรมกลับมาเขียว จนถึงพื้นที่ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบนถูกบุกรุกจนน้ำทะเลเข้าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน สวนผลไม้เสียหาย ด้วยพระอัจฉริยภาพที่พระราชทานแนวทางให้ปรับปรุงพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมรอบอ่าวคุ้งกระเบนเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนโดยให้ชาวบ้านดูแลและปลูกป่าชายเลนควบคู่กันไป ขณะเดียวกันเกษตรกรที่ได้มาเรียนรู้อบรมที่ศูนย์ก็มีการรวมกลุ่มอาชีพกัน เราพยายามนำกลุ่มทั้งหมดมาจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้ยืนอยู่บนขาตัวเองให้ได้

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดสกลนคร
หากย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯแปรพระราชฐานมาเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดสกลนครเป็นครั้งแรก ทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่แห้งแล้ง ป่าถูกทำลาย ราษฎรยากจน จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องดิน แหล่งน้ำ และป่าไม้ ให้แก่ราษฎร แล้วนับจากปี 2523 เป็นต้นมา พระองค์ท่านเสด็จฯมาประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนครทุกปี บางปีเสด็จถึง 2 ครั้ง จนกระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 ทรงเปิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน โดยมีพระราชดำรัสว่า
“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานจะต้องเป็นที่รวบรวมงานด้านต่างๆ ตั้งแต่การพัฒนาด้านการผลิต การซื้อ และการจำหน่าย รวมทั้งงานวิชาการต่างๆ ให้ครบวงจรด้วย นอกจากนี้หากหน่วยงานราชการใดสนใจจะเข้ามาดำเนินการศึกษาในเรื่องต่างๆ ก็ย่อมกระทำได้ถ้ามีวัตถุประสงค์ร่วมในการมุ่งส่งเสริมให้ประโยชน์ต่อราษฎรให้มากที่สุด”

“เป็นแนวทางที่พวกเราที่ทำงานในศูนย์ศึกษายึดถือสืบต่อกันมาถึงวันนี้ครับ” สุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แม้จะเข้ารับตำแหน่งได้ 3 ปี แต่เมื่อเป็นคนอีสานโดยกำเนิด จึงสานต่อแนวทางพระราชดำริได้โดยไม่ยาก
ภูพานสตรอง แนวทาง 3 D
“ผมยอมรับเลยว่า เริ่มงานเดือนแรกหนักใจมากว่าจะรู้งานในส่วนอื่นได้อย่างไร เพราะผมเป็นข้าราชการกรมชลประทาน แต่ที่ศูนย์ศึกษามีทั้งเรื่องของการเกษตร แหล่งน้ำ สร้างอาชีพ ฯลฯ แต่ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน ทุกคนจึงพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมทั้งผมก็อาศัยค้นคว้าเพิ่มเติม ทำงานอยู่ภายใต้บริบท สร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตที่พอเพียง ภายใต้หลักการ 3 D คือ 1.ความรู้ดี 2.พันธุ์ดี 3.คนดี

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดเพชรบุรี
วันที่ 5 เมษายน 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ ทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่จึงมีรับสั่งว่า “พื้นที่นี้มีความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมากเกิดความแห้งแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด”

พ.ต.อ.นพพล ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย เล่าถึงพระราชดำริที่ทรงก่อตั้งศูนย์ศึกษาว่า “เดิมพื้นที่แห่งนี้มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะกวาง เนื้อทราย ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่น ลงมากินน้ำในลำห้วยจำนวนมาก เพราะเป็นที่ดินในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จึงได้ชื่อว่า ‘ห้วยทราย’ เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคต ประชาชนได้บุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่ มีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ภายในเวลาไม่ถึง 40 ปี สภาพพื้นดินจึงกลายเป็นดินเสื่อมโทรม ปลูกพืชไม่ได้”
แก้ปัญหาดินดานด้วยหญ้าแฝก
“เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นดินเสื่อมโทรม ดินร่วนปนทราย เมื่อขาดธาตุอาหาร ความชื้น และอากาศที่เหมาะสม ทำให้จับตัวกันแน่นแข็งที่เรียกว่า ‘ดินดาน’ ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ จึงมีพระราชดำริให้ทดลองใช้หญ้าแฝกแก้ปัญหา จนปัจจุบันสามารถเพาะปลูกพืชได้แล้ว พระองค์ท่านทรงติดตามงานตลอดเวลา และมีพระราชดำรัสชื่นชมเมื่อปี 2540 ความตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่ทำไว้ที่ห้วยทรายนับว่าประสบความสำเร็จดีมาก ต้องบันทึกไว้เป็นทฤษฎีหรือตำรา ฉันปลื้มใจมาก…” พระราชดำรัสดังกล่าวจึงเป็นขวัญและกำลังใจให้คณะทำงานของศูนย์อย่างหาที่สุดมิได้

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดเชียงใหม่
จากป่าเสื่อมโทรม-ดินหินกรวดแห้งแล้งจึงก่อกำเนิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ผู้อำนวยการคนที่ 4 ของศูนย์ศึกษา สุรัช ธนูศิลป์ เล่าว่า “ย้อนไปปี 2525 ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง พระองค์ท่านเสด็จฯไปทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำของหมู่บ้าน ปัจจุบันคือ ‘อ่างห้วยฮ่องไคร้ 7’ ความจุประมาณ 2 ล้านลิตร
“พระองค์ท่านทรงวิเคราะห์ดินว่า เป็นหินกรวดแห้งแล้ง เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า มีไฟป่า ฝนตกมาคราใดก็ชะล้างหน้าดิน จนเหลือแต่หินกรวด ทั้งที่อยู่ห่างตัวเมืองแค่ 30 กิโลเมตร แต่ไม่มีใครบุกรุกที่ดินผืนนี้ เพราะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ พระองค์ท่านทรงนึกในพระราชหฤทัยว่า ‘ถ้าได้พื้นที่แห่งนี้มาจะทำให้คนอื่นอิจฉาภายใน 5 ปี’ ผอ.สุรัชเล่าพร้อมกับจ้องตาเรา นัยว่าเพื่อยืนยันเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้

“ด้วยพระอัจฉริยภาพเรื่องการชลประทาน ได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อหาน้ำให้พื้นที่ในศูนย์ทำกิจกรรมต่างๆ โดยทรงแนะนำให้ใช้หลักแรงโน้มถ่วง ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่ลายซึ่งอยู่สูงกว่า ไหลลงมาที่ห้วยฮ่องไคร้ เลือกผันน้ำเฉพาะช่วงฝนตกเยอะ ปริมาณน้ำล้นเกิน หรือช่วงเกษตรกรแม่ลายไม่ได้ใช้น้ำพร้อมกับสร้างฝายต้นน้ำลำธารกักความชื้น
“พอเริ่มมีน้ำจึงพระราชทานคำแนะนำให้ขุดคูน้ำจากฝาย กระจายออกเป็นก้างปลา และปลูกป่าตามแนวคูน้ำ ด้วยวิธีที่ทรงแนะนำทำให้พื้นที่ป่าเต็งรังแห้งแล้งเริ่มมีสภาพเปลี่ยนเป็นป่าเบญจพรรณ มีไม้ผลัดใบมากขึ้น เพราะดินมีความชื้น ระบบนิเวศป่าไม้เปลี่ยนไป ความหนาแน่นต้นไม้เพิ่มขึ้นจาก 100 ต้นต่อไร่เป็น 400 ต้นต่อไร่ จากพันธุ์พืช 50 กว่าชนิดเพิ่มเป็น 200 กว่าชนิด นี่คือผลสำเร็จของการฟื้นฟูป่า และทรงมีกุศโลบายให้ ‘ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง’ คือ ปลูกไม้ผลกินได้ ไม้เศรษฐกิจสำหรับสร้างบ้านเรือน ได้ไม้เชื้อเพลิงสำหรับทำฟืน ประโยชน์คือ กินได้ ใช้สอยได้ และเมื่อคนเข้าใจว่าป่าเป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีของกินของใช้ เขาก็จะไม่ทำลายป่า รักษาความชุ่มชื้นไว้ในดิน เกิดการอนุรักษ์ดินและน้ำ กลายเป็นประโยชน์ประการที่สามและสี่ตามมา”

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดนราธิวาส
ไม่ว่าดินแดนนั้นจะอยู่แสนไกลสุดปลายด้ามขวานไทย ก็ไม่ไกลเกินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินถึง แล้วเมื่อพระองค์ท่านทอดพระเนตรความทุกข์ยากของชาวบ้านที่จังหวัดนราธิวาส ที่เดือดร้อนเรื่องพื้นที่ทำกิน จึงมีพระราชดำริให้ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองขึ้น

“ชีวิตราชการดิฉันเริ่มต้นที่นี่” ผู้อำนวยการ สายหยุด เพ็ชรสุข เริ่มต้น ใครจะคิดว่าเมืองนราธิวาส พื้นที่ชายแดนใต้ที่มีสถานการณ์ไม่สงบ ผู้อำนวยการศูนย์ที่ต้องคลุกคลีกับชาวบ้านทั้งสองศาสนาจะเป็นผู้หญิง เป็นเพราะพระบารมีที่ทำให้เธอรับราชการมาได้ยาวนานถึง 24 ปี
พลิกพื้นดินเปรี้ยวสู่แผ่นดินทอง
“หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จฯมาที่ภาคใต้เมื่อปี 2502 อย่างต่อเนื่อง เยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ พบปัญหาในที่ดินทำกิน บางคนถวายฎีการ้องเรียนเรื่องที่ดินทำกิน เพราะจากสภาพพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่พรุที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือพรุบาเจาะ และพรุโต๊ะแดง ปัญหาคือดินเปรี้ยวจัด ชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรได้ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ศึกษาและค้นคว้าวิจัยหารูปแบบในการพัฒนาพื้นที่พรุให้ชาวบ้านสามารถใช้เป็นพื้นที่ทำกินได้
ในระยะแรกมีพระราชดำริในเรื่องจัดการระบบชลประทาน และแก้ปัญหาเรื่องดินเปรี้ยวจัด ซึ่งพระราชทานแนวทางเรื่องโครงการแกล้งดิน รวมทั้งหาอาชีพเสริมให้ชาวบ้าน จะได้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีพระราชดำริให้ทำงานแบบบูรณาการ ทั้งเรื่องดิน น้ำ ป่าไม้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรคเท้าช้าง จึงให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดูแล รวมทั้งในพื้นที่พรุมีหญ้ากระจูด ชาวบ้านนำมาสานเสื่อและเครื่องใช้ต่างๆ มีพระราชดำริให้กระทรวงอุตสาหกรรมมาส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน”

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ที่นี่คือปฐมบทของศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริของประเทศไทยดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล่าประวัติพระราชทานแก่ประธานกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 26 สิงหาคม 2531 ว่า
“…ประวัติมีว่า ตอนแรกมีที่ดิน 264 ไร่ ที่ผู้ใหญ่บ้านให้เพื่อสร้างตำหนักในปี 2522 ที่เชิงเขาหินซ้อนใกล้วัดเขาหินซ้อน ตอนแรกก็ต้องค้นคว้าว่า ที่ตรงนั้นคือตรงไหน ก็พยายามสืบถามก็ได้พบบนแผนที่พอดี อยู่มุมบนของระวางของแผนที่ จึงต้องต่อแผนที่ 4 ระวางสำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่ตรงนั้นอยู่ตรงไหน ก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างตำหนักแต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาบอกยินดี ก็เลยเริ่มทำในที่นั้น…”
เกษตรรู้จริง จึงสำเร็จ

นับจากวันนั้นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนได้เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้รับสนองงานในวันนี้คือ อนุวัชร โพธินาม ในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา กล่าวว่า
“การที่เกษตรกรจะทำสำเร็จได้นั้นไม่ใช่แค่มีองค์ความรู้ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ มากมายที่เกษตรกรต้องเรียนรู้ เพราะแต่ละพื้นที่มีปัจจัยแตกต่างกัน การสร้างศูนย์เรียนรู้ที่สำเร็จขึ้นมาเป็นต้นแบบให้เกษตรกร ทำให้เขาเห็นว่าสามารถทำได้สำเร็จ ไม่ใช่แค่การเล่าจากปากต่อปาก และการที่เกษตรกรจะทำสำเร็จได้นั้นไม่ใช่ทำแค่คนเดียว แต่ชุมชนต้องเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เกษตรกรพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืนจริงๆ”

ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับที่ 833 ปักษ์วันที่ 10 มิถุนายน 2559