สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา ทรงพระภูษาสีแดง แฝงนัยยะเจ้านายตามธรรมเนียมโบราณ… เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 17.46 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปยังพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา พุทธศักราช 2564
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา ทรงพระภูษาสีแดง แฝงนัยยะเจ้านายตามธรรมเนียมโบราณ
ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงสวมใส่
ฉลองพระองค์ชุดไทยอมรินทร์สีแดง พระภูษาตัดเย็บจากผ้ายกไหมลายเถากระดังงาสีแดง โดยสังเกตได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงสวมใส่ฉลองพระองค์สีแดงเช่นนี้ไม่บ่อยครั้งนัก
แพรว จึงสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่า การทรงพระภูษาสีแดงในวันพระของเจ้านาย เป็นหนึ่งในธรรมเนียมของราชสำนักไทยที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยเรื่องราวความเป็นมามีอยู่ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอนุสรณ์ถึงเมื่อครั้งทรงครองเพศบรรพชิตว่า ทรงมีโอกาสพระราชทานพระธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัทอยู่เนืองๆ แต่เมื่อทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ไม่ทรงได้พระราชทานพระธรรมเทศนาเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นเมื่อทรงว่างจากราชการแผ่นดิน และตรงกับวันธรรมสวนะ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในเสด็จและตามเสด็จเจ้านายมาพร้อมกัน ณ พระพุทธรัตนสถาน ในสวนศิวาลัย ซึ่งเป็นพระอุโบสถสำหรับฝ่ายใน เพื่อทรงปฏิบัติศาสนกิจ และพระราชทานพระธรรมเทศนาอย่างที่ทรงโปรด

ในโอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระภูษาย้อมฝาง สีจึงออกไปทางสีแสดแดง เพราะทรงมีพระราชประสงค์ให้สีพระภูษาใกล้เคียงกับสีจีวรพระภิกษุ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เจ้านายทรงพระภูษาย้อมฝาง หรือทรงพระภูษาสีแดง โดยเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระพุทธรัตนสถาน และกลายเป็นพระราชนิยมสืบต่อมาว่า เจ้านายจะทรงพระภูษาสีแดงในวันธรรมสวนะ หรือในการทรงบำเพ็ญพระกุศล

โดยเจ้านายฝ่ายในจะทรงพระภูษาสีแดง และทรงสะพักสีชมพู ส่วนข้าราชการฝ่ายในจะนุ่งผ้าสีตามวัน และห่มสะไบสีชมพู ซึ่งเรื่องการนุ่งผ้าสีแดงที่สงวนไว้สำหรับเจ้านายเท่านั้น ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้กันดี หากคนสามัญนุ่งแดงแล้วอ้างว่าไม่รู้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะคนโบราณถือว่าการที่เราทำเทียมเจ้านายเท่ากับเป็นการไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ เสมือนหนึ่งว่าเป็นการยกตนตีเสมอเจ้านาย การทำเช่นนั้นถือเป็นอัปมงคล

ครั้งหนึ่งหม่อมแผ้ว ในสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ท่านนุ่งผ้าแดงมา เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทอดพระเนตรพบเข้าก็ทรงดุว่า “นังแผ้ว ใส่แดงเชียวรึ” เพราะหม่อมแผ้วเป็นสามัญชน การทำเช่นนั้นก็ประหนึ่งทำตัวเทียบเจ้านาย
การทรงพระภูษาสีแดงหรือฉลองพระองค์สีแดงในวันธรรมสวนะหรือในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นการทรงฉลองพระองค์สีแดงของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา พุทธศักราช 2564 เมื่อวานนี้นั่นเอง

ข้อมูลและภาพ : พิพิธประวัติศาสตร์ โดย อัศนัย มีอนันต์, We love สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี, matichon.co.th, tanstudio
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
4 ควีน 2 เจ้าหญิง ขวัญใจพสกนิกร จากสตรีสามัญชนสู่ขัตติยนารีแห่งราชวงศ์
ถอดความหมายมงคล ฉลองพระองค์กี่เพ้าสีแดงเลือดนก สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา
แฝงนัยยะ ฉลองพระองค์เขียวทอง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา เสด็จสถานทูตออสเตรเลีย