ไวรัสอู่ฮั่น

ความเสี่ยงในไทย กับการระบาดของ ไวรัสอู่ฮั่น หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

Alternative Textaccount_circle
ไวรัสอู่ฮั่น
ไวรัสอู่ฮั่น

ความเสี่ยงในไทย กับการระบาดของ ไวรัสอู่ฮั่น หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

  • มีการระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน
  • แนะนำผู้เดินทางที่จะเดินทางไปเมืองอู่ฮั่นหรือใกล้เคียงในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม หากจำเป็นให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน หลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์ และไม่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย และหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ
  • ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง หากมีไข้ ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางไปเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

โรคปอดอักเสบ คืออะไร

ปอดอักเสบ (pneumonia) ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบได้ทั้งการติดเชื้อ ไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอด และเนื้อเยื่อโดยรอบ โดยอาการสำคัญ ได้แก่ มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ

ไวรัสอู่ฮั่น

สถานการณ์ปัจจุบัน

ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2563 ทางการจีนรายงานว่าผู้ป่วยโรคปอดอักเสบไวรัสอู่ฮั่น หรือไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ อีก 139 รายในช่วงสุดสัปดาห์ รวมถึงผู้เสียชีวิตรายที่สาม หลังจากไวรัสแพร่ระบาดไปยังเมืองอื่นๆ

โดยมีสรุปแล้วช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ติดเชื้อทั้งหมด 198 รายในอู่ฮั่น รวมถึงผู้เสียชีวิต 3 ราย มีอยู่ 170 รายยังคงได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ในขณะที่ 25 คนได้รับการรักษาแล้ว แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมของยอดผู้เสียชีวิตล่าสุด

และนอกประเทศจีน ยังมีรายงานผู้ป่วย 2 รายในประเทศไทย และอีก 1 รายที่ญี่ปุ่น ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้ง 3 คน มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนจากอู่ฮั่นหรือมาที่เมืองเมื่อเร็วๆ นี้

สรุปแล้ว ขณะนี้มีผู้ป่วยทั้งหมด ที่เมืองอู่ฮั่น ปักกิ่ง เซินเจิ้น ไทย และญี่ปุ่น รวมแล้วเกิน 200 ราย

ไวรัสตัวใหม่นี้เป็นตระกูลเดียวกันกับโคโรนาไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS) ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 800 คนทั่วโลกในช่วงการระบาดของโรคในปี 2002/03

ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าไวรัสตัวใหม่อาจไม่ร้ายแรงเท่ากับโรคซาร์ส แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลมากนัก รวมถึงที่มา และโอกาสที่ไวรัสจะติดต่อระหว่างมนุษย์ได้ง่ายเพียงใด

(* อัพเดทข้อมูลวันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยใหม่ถึง 139 รายในช่วงสุดสัปดาห์)

  • โดยจากการสอบสวนโรคเบื้องต้นในประเทศจีน พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทำงานในตลาดหรือมีประวัติเดินทางไปที่ตลาด South China Seafood Market ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีการค้าสัตว์หลายชนิด เช่น นก ไก่ฟ้า งู เครื่องในกระต่าย และสัตว์ป่าอื่นๆ ขณะนี้ตลาดดังกล่าวได้มีการจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และถูกปิดแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
  • กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้มีมาตรการเฝ้าระวังคัดกรอง และป้องกันควบคุมโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนา ดังนี้ 1) ทำการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศใน 4 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต 2) ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางไปเมืองอู่ฮั่น และ 3) การเฝ้าระวังในชุมชน โดยให้ความรู้ประชาชน เมื่อพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422

ความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย

  • การเดินทางจากเมืองอู่ฮั่นมายังประเทศไทย มีสายการบินตรงมาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที ถึงกรุงเทพมหานคร และมีผู้โดยสารขาเข้าเฉลี่ยวันละ 1,200 คน
  • คนไทยเดินทางไปประเทศจีนประมาณปีละ 7 แสนคน และอยู่อาศัยในประเทศจีนประมาณ 12,000 คน โดยเป็นนักเรียนนักศึกษาประมาณ 2 ใน 3 ซึ่งเมืองอู่ฮั่นมีนักศึกษาไทยไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนคนจีนเดินทางมาประเทศไทยปีละประมาณ 10 ล้านคน จากประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน

วิธีป้องกันตนเองของนักเดินทาง

เนื่องจากองค์การอนามัยโลกไม่มีประกาศจำกัดการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ระหว่างเดินทางในต่างประเทศ ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีมลภาวะเป็นพิษ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรวมถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ข้อมูล : ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคปอดอักเสบรุนแรงจากไวรัส กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

เอกสารอ้างอิง

  • https://afludiary.blogspot.com/2020/01/who-wpro-statement-on-cluster-of.html?m=1
  • https://china.usembassy-china.org.cn/u-s-citizen-services/security-and-travel-information/
  • https://promedmail.org/
  • https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=10896&deptcode=brc&news_views=6006
  • http://www.boe.moph.go.th/fact/Pneumonia.htm
  • https://virologydownunder.com/viral-pneumonia-cluster-in-wuhan-central-china-44-cases-and-counting/

ภาพ : pixabay

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

การเฝ้าระวัง โรคปอดบวมปริศนา กระแสที่ต้องจับตามอง แม้ยังไม่พบหลักฐานชี้ชัด

ฮาวทูเซฟชีวิตในวิกฤต ฝุ่น PM2.5 มหันตภัยร้ายเล็กจิ๋วที่ห้ามมองข้าม!

6 ข้อควรรู้! ป้องกัน PM 2.5 ฝุ่นละอองเล็กจิ๋ว ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมหาศาล

ไอเท็มที่ขาดไม่ได้! แนะนำ หน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ภัยร้ายต่อร่างกาย

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up