งามทุกผืน! เปิด 10 ผ้าไทยลายลิขสิทธิ์ ออกแบบใหม่ให้ ‘พรหมลิขิต’ โดยเฉพาะ

Alternative Textaccount_circle

รู้หรือไม่ว่าผ้าไทยในละครเรื่อง ‘พรหมลิขิต‘ ได้ถูกออกแบบและจดลิขสิทธิ์ขึ้นใหม่โดยเฉพาะ ผลงานจาก อาจารย์ธนิต พุ่มไสว

ใครกำลังติดละครเรื่อง ‘พรหมลิขิต’ ขอให้ยกมือขึ้น การกลับมาของภาคต่อกับละครยอดฮิตในอดีตอย่าง ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่ยังคงคุณภาพของเนื้อเรื่องไว้ได้เป็นอย่างดี คุ้มค่ากับการรอคอย และนอกจากบทละครสนุกๆ เรายังได้เพลิดเพลินไปกับศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตในอดีตที่หาสัมผัสได้ยากในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือ ‘เครื่องแต่งกาย’ ที่ละครเรื่องนี้ใส่ใจเป็นพิเศษเช่นกัน

แน่นอนว่าเครื่องแต่งกายในสมัยก่อนมีหลายชิ้นส่วน แต่ครั้งนี้เราขอโฟกัสไปที่ผ้านุ่งอย่าง ‘ผ้าลายอย่าง’ และ ‘ผ้าลาย’ ที่ละครเรื่องนี้ลงทุนให้ออกแบบและจดลิขสิทธิ์ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานจาก อาจารย์ธนิต พุ่มไสว ซึ่ง ‘ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปกรรมสมัยอยุธยา เนื่องจากผ้าลายอย่างและผ้าลายที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันมีน้อยเต็มที จึงต้องผูกลายขึ้นใหม่โดยอิงจากศิลปกรรมดังกล่าว ให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัยและแนวทางของละครมากที่สุด’ ซึ่งผ้าลายอย่างทุกลวดลายที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ในละครเรื่องพรหมลิขิต จึงถือเป็นงานลิขสิทธิ์ ของ ‘ภูษาผ้าลายอย่าง

โดยลวดลายของผ้าในละครมีทั้งหมด 10 ลาย ได้แก่ ลายสายสุคนธ์, ลายพุดกรอง, ลายปานบุหงา, ลายหิมพานต์ สีเหลืองหรดาน, ลายกุดั่นทรงเครื่องใหญ่, ลายเครือพุดตาน, ลายแก้วชิงดวง, ลายริ้วก้านต่อดอก, ลายแก้วมาลินี และลายกุดั่นปรางรัญจวน ซึ่งแต่ละชนิดจะแตกต่างกันอย่างไร เรานำข้อมูลมาจาก ภูษาผ้าลายอย่าง มาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ

ลายสายสุคนธ์

ลายสายสุคนธ์ จัดอยู่ในผ้าตระกูลลายริ้ว ออกแบบเป็นเครือดอกไม้ เลื้อยพันกัน เป็นริ้วเป็นสายขึ้นไปดุจมีขีวิต ผ้าตระกูลลายริ้วนี้ แต่เดิม ใช้เป็นผ้านุ่งได้ทั้งชายและหญิง ต่อมาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยกบทบาทให้เป็นผ้าเฉพาะบุรุษเพศ จะเห็นได้จากการนำผ้าลายริ้วมาตัดเป็นสนับเพลา ผ้าลายริ้วในละครเรื่องนี้จึงมีหน้าที่ส่งเสริมเอกลักษณ์ ความเป็นสมัยอยุธยา ให้นักแสดงที่สวมใส่ โดดเด่นชัดเจนยิ่งขึ้น

ลายพุดกรอง

ลายพุดกรอง จัดเป็นผ้าลายดอกประเภทหนึ่ง ออกแบบเป็นดอกพุดร้อยกรอง ผูกกันเป็นกระบวนลายดอกประจำยาม กระจายทั่วท้องผ้า บนพื้นสีฟ้าเทา ผืนนี้แปลกกว่าผืนอื่น ตรงมีหน้าผ้าเชิงกรวยเพียงชั้นเดียว ผูกเป็นลายดอกไม้ลดรูปบนพื้นแดง ดูแปลกตา เรียบง่าย

ลายปานบุหงา

ลายปานบุหงา ผ้าลายดอกประเภทหนึ่ง ออกแบบและผูกกันขึ้นใหม่เป็นลาย ประจำยามสี่กลีบ สลับคั่นด้วยลายดอกจอกแปดกลีบ บนพื้นสีแดงเข้ม แผ่เป็นลายกุดั่นทั้งผืน ทั่วท้องผ้า ได้แรงบันดาลใจการจัดผังลายจากศิลปกรรมสมัยอยุธยา ผืนนี้เป็นผืนที่งดงามด้วยรูปแบบพิเศษ คือมีหน้าผ้ากรวยเชิงสองชั้น มีสังเวียนแม่ลายลูกขนาบ และช่อแทงท้อง งดงามดั่งนิมิตร เสริมส่งให้ผู้สวมใส่ดูสุขุม มากด้วยอำนาจ แต่แฝงไปด้วยความอ่อนโยน สามารถนุ่งได้ทั้งชายและหญิง

ลายหิมพานต์ สีเหลืองหรดาน

ลายหิมพานต์ สีเหลืองหรดาน ลายนี้เป็นลวดลายที่งดงาม เขียนขึ้นเป็นลายสัตว์หิมพานต์ในทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีชื่อว่าไตรเทพปักษีหรือไกรเทพปักษีมีราชวัตร (ราชวัตร หมายถึง รั้ว) ทำเป็นลายนกการเวก บนพื้นสีเหลืองหรดาน มีสังเวียนเป็นลายคชสีห์ และนาคปักษิณกัดช่อกนกเริงเล่นหยอกเย้ากันไปมา มีกรวยเชิงสามชั้นตามอย่างราชสำนักโบราณ ประกอบด้วยลายนาค อัปสรสีห์ หงส์ ปลาศฤงคมัศยา เงือก กินรี และติณสีห์ ล้วนเป็นสัตว์มงคล และงดงามตามตำนานไตรภูมิ

ซึ่งความพิเศษของผ้าลายนี้ในละครมีการนำไปเขียนทอง ให้เป็นผ้าเขียนลายทอง จึงทำให้สังเกตเห็นว่าผ้าจากรูปด้านซ้ายและขวาไม่เหมือนกัน

ลายกุดั่นทรงเครื่องใหญ่

เป็นกระบวนลายสมัยอยุธยา ลักษณะเป็นลายกุดั่นดอกลอยทรงกลม มีกลีบโดยรอบ ล้อมด้วยราชวัตร แตกลายด้วยแม่ลายย่อมุมสิบสอง เชื่อมลายด้วยลายก้ามปูพิเศษด้วยเป็นการห้ามลายและเชื่อมลายในตัว มีหน้าผ้าสามชั้น มีสังเวียน มีลูกขนาบเต็มอย่างยศผ้าโบราณ โทนสีเลือกใช้โทนสีโบราณ ท้องผ้านั้นได้แรงบันดาลใจจากต้นเสาพระตำหนักของเจ้าพระขวัญ ที่สมเด็จพระเจ้าเสือถวายให้สมเด็จพระสังฆราชแตงโม(ทอง) ที่วัดน้อยปักษ์ใต้ที่เมืองเพชร ปัจจุบันเป็นศาลาการเปรียญสมัยอยุธยาที่สมบูรณ์ที่สุดในวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

ลายเครือพุดตาน

ลายเครือพุดตาน เป็นกระบวนลายโบราณที่ผสมผสานเอาดอกพุดตาน ดอกไม้มงคลของไทยและจีน มาออกแบบผสมผสานกับวิหคน้อยให้มีลักษณะที่งดงาม อีกทั้งมีหน้าผ้าสามชั้นผูกลายเป็นดอกไม้ไทยประดิษฐ์ต่างๆ บนพื้นสีแดงเข้ม เหลืองนวล และแดง สังเวียนเป็นลายดอกพุดตานบนพื้นสีฟ้าโทนโบราณ ลักษณะผ้าผืนนี้มีมาแต่โบราณใช้ได้ทั้งหญิงและชาย ดูแปลกตาจากทุกลายที่เคยทำมา มีลักษณะเป็นริ้วตั้งฉากสลับกันเล็กใหญ่ ทำให้ผู้สวมใส่ดูสูงผอม

ลายแก้วชิงดวง

ลายแก้วชิงดวง ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก แม่ลายโบราณที่ได้รับความนิยมตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ ที่มีชื่อเรียกว่าลายแก้วชิงดวงนั้นมาจากโครงสร้างสีผ้าทรงของเจ้านาย สมัยรัตนโกสินทร์ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร โดยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานไว้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2470

ลายริ้วก้านต่อดอก

ลายริ้วก้านต่อดอก ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ลายผ้าโบราณ มีลักษณะเป็นริ้วตั้งใหญ่สลับเล็ก โดยใช้สีแดงสลับดำแซมเหลือง มีลายก้านต่อดอกเกลียวกนกเคล้าพันกันในริ้วนั้นอย่างงดงาม ผ้าลายริ้วนี้เป็นกระบวนลายที่มีมาแต่สมัยอยุธยา เดิมเป็นผ้าราชสำนักที่ใช้ได้ทั้งชายหญิง แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้จำกัดบทบาทผ้าลายริ้วให้เป็นเพียงผ้าประจำบุรุษ ผืนนี้ใช้กระบวนสีดำแดงเป็นหลัก แล้วตัดด้วยสีฟ้าเพื่อให้ดูไม่เลี่ยน และเสริมให้ดูงดงามยิ่งขึ้น

ลายแก้วมาลินี

ลายแก้วมาลินี เป็นผ้าลายดอกพิเศษ ออกแบบเป็นลายก้านต่อดอก เกี่ยวพันกันเป็นลายผ้า ผ้าลายนี้หากเพ่งพินิจแล้ว จะเหมือนดอกไม้มีชีวิต ดูสละสลวย เพราะออกแบบให้มีช่องไฟที่พอเหมาะ ดูไม่อึดอัด บนพื้นสีม่วงที่คนโบราณเรียกว่าสีเม็ดมะปราง ผืนนี้มีกรวยเชิงสองชั้น คือสีแดง และสีเหลือง สีเหลืองนี้เองที่ทำให้ผ้าดูสนุกสนาน ด้วยว่าเป็นสีคู่ปฏิปักษ์ ราวกับลายหยอกเอินกันอย่าน่าอภิรมย์ มีสังเวียนแม่ลายลูกขนาบเพิ่มความอ่อนหวาน

ลายกุดั่นปรางรัญจวน

เดินทางมาสู่ลายสุดท้ายกับ ‘กุดั่นปรางรัญจวน’ ผ้าลายนี้ออกแบบเป็นลายประจำยามสี่กลีบ เชื่อมกันด้วยลายฟองมัน คั่นสลับกันทั่วท้องผ้า บนพื้นสีแดงลิ้นจี่ เพี้ยนคำมาจาก(อินจี) คือแมลงชนิดหนึ่ง มีกรวยเชิง2 ชั้น ประกอบแม่ลายลูกขนาบ อย่างโบราณ ผ้าผืนนี้ให้อารมณ์อ่อนหวาน เคร่งขรึม ตามนิสัยของคนสยามสมัยโบราณ

หลังจากอ่านครบแล้วก็เห็นถึงความตั้งใจของทั้งกองละครและผู้ออกแบบ ที่ต้องการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมไทยผ่าน ‘พรหมลิขิต’ ให้ออกมาอย่างดีที่สุดจริงๆ


ข้อมูล, รูปภาพ: ภูษาผ้าลายอย่าง

Praew Recommend

keyboard_arrow_up