หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

รู้ไว้จะได้ระวัง! 4 พฤติกรรมเสี่ยงและสาเหตุเกิด ‘หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท’

Alternative Textaccount_circle
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หนึ่งในสาเหตุของอาการปวดหลังร้าวลงขา (Sciatica) หรือปวดคอร้าวลงแขน (Brachialgia) ได้บ่อยที่สุด ซึ่งในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ 1-3% ของจำนวนประชากร และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อัตราส่วน 2:1 และในกลุ่มช่วงอายุที่พบได้บ่อยสุด คือ 30-50 ปี (Gen X, Gen Y) 

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถเกิดกับหมอนรองกระดูกสันหลังได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ อก หรือ เอว ซึ่งพบหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ในบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่างได้บ่อยที่สุด

3 อาการหลักของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  1. ปวดคอร้าวลงแขน ปวดหลังร้าวลงขา 
    • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง จะมีอาการปวดหลังร้าวลงขา มักปวดจากสะโพก ร้าวลงบริเวณด้านหลังของต้นขา (hamstings) ลงบริเวณน่อง ถึงข้อเท้าหรือปลายเท้าขึ้นกับตำแหน่งการกดของเส้นประสาท 
    • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณคอ อาการปวดมักจะเริ่มจากหลังส่วนบน สะบัก ร้าวไปหัวไหล่ลงถึงแขนหรือมือ การไอ จาม อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดร้าวได้มากขึ้น บางครั้งอาการปวดอาจเป็นลักษณะอาการปวดเสียว หรือปวดแสบปวดร้อนได้
  2. อาการชา หรือความรู้สึกซ่า (Tingling sensation) อาการชาหรือซ่า ร้าวไปตามแขนหรือขา ขึ้นกับตำแหน่งการกดทับเส้นประสาท
  3. อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เส้นประสาทที่ถูกกดจนเสียหาย หรือเส้นประสาทที่ถูกกดเรื้องรังนานๆ มีผลต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เส้นประสาทนั้นๆ ที่ไปเลี้ยง ทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

สาเหตุของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ โครงสร้างตรงกลาง เรียกว่า นิวเคลียส (Nucleus pulposus) ซึ่งมีน้ำและคอลลาเจน เป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนเปลือกของหมอนรองกระดูก (Annulus fibrosus) ซึ่งมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หนาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสาเหตุของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกี่ยวเนื่องกับหลายปัจจัย เช่น 

  • เกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม และเกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้าง และหน้าที่ของหมอนรองกระดูกจึงเกิดการแตกปลิ้นทับเส้นประสาท
  • เกิดจากอุบัติเหตุทั้งการบาดเจ็บรุนแรง เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ ตกจากที่สูง หรือการบาดเจ็บไม่รุนแรง เช่น การเล่นกีฬาบางชนิด 
  • เกิดจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น การยกของหนักในท่าที่ผิดลักษณะ 

การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาศัยข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน ดังนี้

  • การซักประวัติ เพื่อให้ทราบถึงอาการแสดงหรือปัญหาของผู้ป่วย 
  • การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจการทำงานของเส้นประสาท 
  • การส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการ ปัจจุบันการตรวจหมอนรองกระดูก ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ถือเป็นมาตรฐาน (Gold standard) ในการวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท 

ความเสี่ยงกับการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  • น้ำหนัก น้ำหนักตัวที่มาก ทำให้หมอนรองกระดูกทำงานหนักขึ้น
  • กิจกรรมและอาชีพบางชนิด อาชีพที่ต้องออกแรงมากๆ เช่น ยกของหนัก นักกีฬาระดับสูง ประวัติเคยเกิดอุบัติเหตุบริเวณกระดูกสันหลัง รวมถึงอาชีพหรือกิจกรรมที่ต้องนั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ เช่นคนที่ต้องขับรถนานๆ  ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าปกติ
  • บุหรี่ 
  • กรรมพันธุ์ มีรายงานพบว่า หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์

การป้องกันตัวเองจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลังและท้อง (Core muscle) ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  • ปรับท่าทางการใช้ชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นท่านั่งทำงาน ท่ายืน การก้มยกของ 
  • หยุดสูบบุหรี่

ในกรณีที่มีอาการปวด ปวดคอ หรือปวดหลังเรื้อรัง 

  • อาการปวดเริ่มรุนแรง มักปวดคอ ปวดหลังบ่อยๆ และอาการปวดทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ปวดคอหรือปวดหลังร่วมกับอาการของระบบประสาทที่ผิดปกติไป เช่น ปวดร้าวลงแขนหรือลงขา อาการชาปลายมือปลายเท้า หรือมีอาการอ่อนแรงของมือหรือขา อาการเหล่านี้ ถือเป็นอาการแสดงของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยต่อไป

การรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แบ่งเป็น 2 ทางเลือก คือ

  1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด (Nonsurgical treatment) 
    จุดมุ่งหมายในการรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือ เป็นการบรรเทาความปวด และอาการอื่นๆ ของระบบประสาท (Palliative treatment) การรักษาแบบไม่ผ่าตัดมี 2 ทางเลือกย่อย คือ
    • การรักษาแบบอนุรักษ์ (Conservative treatment) ได้แก่ การปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิต การบรรเทาอาการด้วยยาตามอาการ กายภาพบำบัด รวมถึงการฝึกและบริหารกล้ามเนื้อ
    • การควบคุมอาการปวดด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ เข้าโพรงเส้นประสาท (Epidural steroid injection) 
  2. การรักษาแบบผ่าตัด (Surgical treatment)
    จุดมุ่งหมายในการรักษาแบบผ่าตัด คือ การรักษาให้หายขาดจากโรค (Curative treatment) 
    ​​​​​​​ปัจจุบัน วิวัฒนาการการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทพัฒนาไปมากและได้ผลดีมาก เมื่อเทียบกับการผ่าตัดในอดีต
    • การผ่าตัดหมอนรองกระดูกด้วยกล้อง Microscope (Microscope Assisted Lumbar Discectomy) เป็นหนึ่ง ในเทคนิคการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแบบแผลเล็ก ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้รวดเร็ว
    • การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยการส่องกล้อง Endoscope (Full Endoscopic Lumbar Discectomy) เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope ทำให้รบกวนกล้ามเนื้อหลังน้อยที่สุดเทียบกับการผ่าตัดวิธีอื่น 
    • การผ่าตัดแบบใส่เหล็กเชื่อมข้อ (Lumbar fusion) เป็นการผ่าตัดระบายโพรงเส้นประสาท และเชื่อมข้อ เหมาะในรายที่มีการปลิ้นซ้ำที่ตำแหน่งเดิมของหมอนรองกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทร่วมกับมีการเคลื่อนผิดรูปของกระดูกสันหลัง

ข้อมูล : นพ.ภัทร อำนาจตระกูล แพทย์ชำนาญการด้านกระดูกสันหลังและข้อ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท
ภาพ : Pexels


Praew Recommend

keyboard_arrow_up