ทำไม 'ไซยาไนด์' ถึงเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต พร้อมวิธีการรับมือหากเผลอสัมผัส

ทำไม ‘ไซยาไนด์’ อันตรายถึงชีวิต พร้อมวิธีการรับมือหากเผลอสัมผัส

Alternative Textaccount_circle
ทำไม 'ไซยาไนด์' ถึงเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต พร้อมวิธีการรับมือหากเผลอสัมผัส
ทำไม 'ไซยาไนด์' ถึงเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต พร้อมวิธีการรับมือหากเผลอสัมผัส

หลายคนคงเห็นข่าวหญิงสาวรายหนึ่งที่มีพฤติกรรมเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ในคดีวางยาไซยาไนด์จนทำให้เหยื่อหลายรายเสียชีวิต เลยจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับสารอันตรายชนิดนี้ที่มีชื่อว่า ไซยาไนด์ (Cyanide) คือ สารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ทำไม ‘ไซยาไนด์’ อันตรายถึงชีวิต พร้อมวิธีการรับมือหากเผลอสัมผัส

ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีพันธะคาร์บอนไนโตรเจน (CN) มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร Cyanide สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด อย่างอัลมอนด์ แอปเปิ้ล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์  อย่างไรก็ตาม Cyanide ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

Cyanide ในรูปแบบไหนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
สารเคมีอันตรายชนิดนี้มีรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปแบบของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยแต่ละชนิดมีแหล่งที่มาและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • Sodium cyanide (NaCN) เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานอาจเป็นพิษถึงตายได้
  • Potassium cyanide (KCN) มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายแอลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อ Potassium cyanide เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • Hydrogen cyanide (HCN) อาจมาในรูปของของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา
  • Cyanogen chloride (CNCl) มีลักษณะเป็นของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน  และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสูดดม

อันตรายจาก Cyanide
Cyanide สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ระคายเคืองบริเวณที่สัมผัสอย่างผิวหนังหรือดวงตา ร่างกายอ่อนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจติดขัด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น โดยความรุนแรงของอาการนั้นอาจขึ้นอยู่กับชนิดของ Cyanide ปริมาณ และระยะเวลาในการได้รับ

โดยผลกระทบจากการได้รับ Cyanide อาจแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

  • ภาวะเป็นพิษจาก Cyanide แบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่พบได้ยาก เกิดขึ้นในทันที อาจทำให้เกิดอาการ เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น
  • ภาวะเป็นพิษจาก Cyanide แบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับ Cyanide ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

หากสัมผัสกับ Cyanide ควรรับมืออย่างไร
เพราะ Cyanide เป็นสารเคมีอันตราย หากสัมผัสกับสารชนิดนี้ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการรับมืออาจทำได้ ดังนี้

  • การสัมผัสทางผิวหนัง หากร่างกายสัมผัสกับ Cyanide ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้นๆ และนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อน Cyanide ไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรงเพราะอาจได้รับพิษจาก Cyanide ไปด้วย จากนั้นจึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
  • การสูดดมและกิน หากสูดดมอากาศที่มี Cyanide ปนเปื้อนควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ
  • การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ
  • สิ่งของบางอย่างที่ปนเปื้อน Cyanide อาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ต้องทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารพิษอย่างถูกวิธีก่อนนำกลับมาใช้ สำหรับคอนแทคเลนส์ หรือเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนควรเก็บใส่ถุงพลาสติกที่มิดชิดและกำจัดทิ้งอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ

วิธีหลีกเลี่ยงและลดโอกาสในการสัมผัสกับ Cyanide อาจทำได้ ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่
  • เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลงหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสการสัมผัสและการสูดดมลงด้วย
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อน Cyanide ออกนอกสถานที่ทำงานหรือนำกลับบ้าน
  • ติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจาก Cyanide อาจมาในรูปแบบของควันได้
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี หรือต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของ Cyanide
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูง เช่น เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พนักงานที่อยู่ในกระบวนการการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และพลาสติก ผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง เป็นต้น ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

ขอบคุณข้อมูล : pobpad.com
ภาพ : Pexels

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up