โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

สาเหตุและอาการ ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน’ ถึงมือแพทย์เร็วยิ่งมีโอกาสรอด

Alternative Textaccount_circle
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

งานหนักไม่เคยฆ่าใครจริงหรือ? สำหรับกรณีที่มีข่าวพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในไทยทำงานหนักจนเสียชีวิตคาโต๊ะทำงานด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย เราจึงขอนำข้อมูลการรักษา ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน‘ มาแนะนำ

ก่อนอื่นคำถามที่ว่า งานหนักไม่เคยฆ่าใครจริงหรือ? ทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เคยเผยผลการศึกษา งานหนักไม่เคยฆ่าใครนั้นไม่จริง เพราะในปี 2016 มีคนตายจากการทำงานหนักเกือบ 8 แสนคน ยิ่ง Work From Home ยิ่งเป็นปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ทำงานมากขึ้นกว่าเดิม โดยจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักนี้ แบ่งออกเป็น เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตก 398,000 คน เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 347,000 คน ฉะนั้น รักงานแค่ไหนก็อย่าลืมรักและดูแลตัวเองให้ดีนะคะ เพราะเรามีเพียงคนเดียวเท่านั้น อะไรก็ทดแทนไม่ได้

สาเหตุและอาการ ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน’ ถึงมือแพทย์เร็วยิ่งมีโอกาสรอด

สำหรับ ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน’ เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน หัวใจของเราเป็นอวัยวะหนึ่งที่ทำงานหนักที่สุดตลอดชีวิต หลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจประกอบด้วยหลอดเลือดแดงหลัก 2 ฝั่ง เป็นหลอดเลือดแดงที่อยู่ด้านขวาและด้านซ้าย ซึ่งหลอดเลือดแดงด้านซ้ายจะแตกแขนงออกเป็น 2 เส้นใหญ่ รวมหลอดเลือดแดงหลักๆ ทั้งหมดเป็น 3 เส้น นอกจากนั้นแต่ละเส้นยังมีการแบ่งออกเป็นแขนงย่อยๆ ออกไปอีก เพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย ดังนั้นหากหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจเหล่านี้เกิดการตีบหรืออุดตันก็จะนำไปสู่โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอกับความต้องการกล้ามเนื้อหัวใจ  ส่วนที่ขาดเลือดจะตาย ถ้าเกิดกล้ามเนื้อตายปริมาณมาก คนไข้จะหัวใจวายและเสียชีวิตได้ทันที อาการแบบนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง หรืออาจเกิดกับบุคคลที่แข็งแรงดีมาก่อนก็ได้ เมื่อเราทราบแล้วว่ากล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดจากหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตัน เราจึงต้องมาหาสาเหตุที่ลึกลงไปกว่านั้นว่าเกิดจากสาเหตุใด

ภาวะเส้นเลือดแข็ง เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งจะทำให้มีความผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงโดยจะเกิดการสะสมของคราบไขมัน ทำให้เกิดการตีบ หรือตันของหลอดเลือด อาการของผู้ป่วยอาจเป็นได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง

หลอดเลือดแดงแบบเฉียบพลัน นำไปสู่โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเตือนมาก่อนซึ่งภาวะนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถ้าไม่ได้รับการรักษาเปิดหลอดเลือดหัวใจที่ทันท่วงที กลไกการเกิดโรคชนิดเรื้อรังจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเพราะคราบไขมันจะค่อยๆ พอกหนาขึ้นทำให้เกิดรูตีบของหลอดเลือดแดงอย่างช้าๆ ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการแน่นหน้าอกโดยเฉพาะเมื่อออกแรง ออกกำลังกาย หรือทำอะไรรีบๆ

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

อย่างไรก็ตามในด้านการรักษาในปัจจุบันนี้วิทยาการทางการแพทย์รวมถึงเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก วิธีการรักษาจึงนุ่มนวลและมีความปลอดภัยมากกว่าแต่ก่อนมาก ปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่จะใช้การรักษาที่เรียกว่า การสวนหัวใจ เพียงแค่เปิด เส้นเลือดที่ขาหรือข้อมือขยายหลอดเลือดด้วยเทคนิคการใช้ขดลวดหรือบอลลูนเท่านี้ก็จะช่วยให้หัวใจพ้นวิกฤติจากการขาดเลือดได้อย่างรวดเร็วแล้ว ซึ่งวิธีการสวนหัวใจนี้ก็จะเป็นหนึ่งในรูปแบบการผ่าตัดแบบแผลเล็กเจ็บน้อยที่เรียกว่า Minimal Invasive Surgery (MIS) ซึ่งปัจจุบันก็เป็นที่นิยมเพราะเป็นการผ่าตัดที่เจ็บน้อยมาก แต่ให้ประสิทธิผลในการรักษาได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น สิ่งสำคัญของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ก็คือเรื่องของเวลา หากผู้ป่วยสามารถไปถึงมือแพทย์ได้เร็วโอกาสที่จะรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ก็มีสูง จงจำไว้ว่าถ้าเกิดความผิดปกติที่ไม่แน่ใจควรรีบพบแพทย์จะดีที่สุด หากพบโรคภัยที่รุนแรงจะได้ทำการรักษาได้ทันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้โรคร้ายเหล่านั้นลุกลามมาทำร้ายชีวิตของเรา


ข้อมูล : นพ. นาวี ตันจรารักษ์ อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท
ภาพ : Pexels

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up