ข้อเท้าแพลง

อย่าประมาท ‘ข้อเท้าแพลง’ อาการบาดเจ็บที่อาจเรื้อรังหากรักษาไม่ถูกวิธี

Alternative Textaccount_circle
ข้อเท้าแพลง
ข้อเท้าแพลง

ปวดบวมบริเวณตาตุ่ม มีรอยฟกช้ำ หรือเดินลงน้ำหนักไม่ได้ เป็นลักษณะเฉพาะของอาการ ‘ข้อเท้าแพลง’ ที่สามารถสังเกตได้ทางกายภาพหลังจากเกิดอุบัติเหตุ หรือการเล่นกีฬา ทว่าอาการเหล่านี้ยังสามารถบ่งบอกกลุ่มโรคบางอย่างได้ หากแต่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์

อย่าประมาท ‘ข้อเท้าแพลง‘ อาการบาดเจ็บที่อาจเรื้อรังหากรักษาไม่ถูกวิธี

นพ.กวิน วงศ์ทองศรี แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ อนุสาขาศัลยศาสตร์เท้าและข้อเท้า ได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับอาการ ‘ข้อเท้าแพลง’ ที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคนในการสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางในการเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ข้อเท้าแพลง คือการบาดเจ็บของเส้นเอ็นบริเวณตาตุ่มนอก พบได้บ่อยจากอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วประมาณ 80% สามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องผ่าตัดหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

ข้อเท้าแพลง 1

อาการ

  • ปวด บวม บริเวณตาตุ่มนอก
  • มีจุดเลือดออกใต้ผิวหน้า ฟกช้ำ จ้ำเลือด
  • เดินลงน้ำหนักไม่ได้

ซึ่งอาการดังกล่าวอาจจะมีกลุ่มโรคที่มีอาการแสดงที่ใกล้เคียงกัน เช่น กระดูกข้อเท้าหัก กระดูกโคนนิ้วเท้าที่ 5 หัก เส้นเอ็นตาตุ่มนอกหลุด กระดูกส้นเท้าหัก เป็นต้น อย่างไรก็ตามควรวินิจฉัยแยกโรคโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาต่อไป

การรักษา

  • ควรพักการเดิน และการใช้งานเท้าข้างที่บาดเจ็บ
  • ประคบเย็นบริเวณที่บาดเจ็บ
  • ยกขาสูง เพื่อลดอาการบวมของเท้า
  • แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาโดยวิธีการใส่เฝือก กรณีที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรง ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • กินยาเพื่อลดการอักเสบของข้อเท้า

ควรนัดตรวจติดตามอาการหลังทำการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถ้าหากอาการบาดเจ็บยังไม่ดีขึ้น อาจจะพิจารณาการรักษาเพิ่มเติม โดยวิธีการทำกายภาพ และหากภายใน 6 สัปดาห์ อาการบาดเจ็บยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำ MRI เพื่อวินิจฉัยภาวะโรคอื่นที่เกิดร่วมกัน เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อบาดเจ็บ หรือ เส้นเอ็นเหนือข้อเท้าฉีกขาดฯ

ข้อเท้าแพลง 2

การป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ

  • ภายหลังจากอาการบาดเจ็บดีขึ้นแล้ว ควรฝึกการบริหารข้อเท้า เพื่อทำให้เส้นเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าเรียงตัวได้ดีขึ้น และป้องกันการเกิดข้อเท้าพลิกซ้ำได้ในอนาคต
  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง
  • ใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้า เพื่อป้องกันข้อเท้าพลิกซ้ำ
  • งดเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บซ้ำสูง

อย่างไรก็ตามประมาณ 20% ของคนไข้ข้อเท้าแพลง จะมีอาการข้อเท้าไม่มั่นคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งจำเป็นต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัด ณ ปัจจุบันการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

1. การผ่าตัดแบบเปิด คือ การผ่าตัดเปิดเพื่อซ่อมเส้นเอ็นที่บาดเจ็บ เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษา

2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นทางเลือกในการรักษาในปัจจุบัน ช่วยลดขนาดแผลผ่าตัดได้ ซึ่งผู้ป่วยต้องปรึกษากับแพทย์ เพื่อร่วมกันตัดสินใจในการรักษาต่อไป


ข้อมูล : นพ.กวิน วงศ์ทองศรี แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ อนุสาขาศัลยศาสตร์เท้าและข้อเท้า ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up