แหวน ปวริศา

กินหนักจัดเต็ม…ต้องระวัง! “แหวน-ปวริศา” แชร์ประสบการณ์ป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวน 

Alternative Textaccount_circle
แหวน ปวริศา
แหวน ปวริศา

ไม่นานนี้หลายคนที่เห็นพิธีกรสาวสุดแซ่บ “แหวน – ปวริศา เพ็ญชาติ” โพสต์ภาพตัวเองในลักษณะหน้าท้องโป่งนูนคล้ายคนท้อง ก็พากันส่งข้อความไปแสดงความยินดียกใหญ่ แต่ความจริงคือเธอป่วยเป็นโรค IBS หรือลำไส้แปรปรวน โรคที่ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุและไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่เจ้าตัวสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานแบบเอกซ์ตรีม

กินหนักจัดเต็ม…ต้องระวัง! “แหวน-ปวริศา” แชร์ประสบการณ์ป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวน

พิษของหวาน

“ก่อนหน้านี้แหวนชอบขนมหวานมาก รวมถึงพวกอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แล้วยังชอบกินอาหารแบบเดิมซ้ำๆ ในปริมาณมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน พอน้ำหนักขึ้นก็เลือกใช้วิธีลดความอ้วนด้วยการอดข้าว แล้วกินขนมแทน ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้ เค้ก โดยกินอย่างเดียวนานนับเดือน จนร่างกายเริ่มออกอาการขับถ่ายไม่ปกติ จาก 2 – 3 วันถ่ายครั้งหนึ่ง เป็นมากขึ้นถึงขั้นไม่ถ่ายเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ กินอะไรเข้าไปก็อาเจียนออกมาหมด จึงรีบไปโรงพยาบาล คุณหมอส่องกล้องตรวจดูลำไส้ภายใน พบว่ามีเมือกลักษณะเหมือนแป้งเปียกหรือกาวติดลำไส้เต็มไปหมด ส่งผลให้ลำไส้อุดตัน เวลากินอะไรเข้าไปก็จะค้างอยู่บริเวณนั้น เรียกว่าอาการแพ้กลูเตน เกิดจากความผิดปกติของระบบการย่อย เมื่อกลูเตนไม่สามารถย่อยผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็กได้ จึงทำให้เกิดอาการท้องอืดและมีแก๊สในกระเพาะ

“คุณหมอจึงให้ลดแป้งกับขนม เปลี่ยนมากินอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์ เช่น ผักและผลไม้ สำหรับแหวนถือเป็นการทรมานจิตใจมาก เพราะไม่ชอบผักเลย จึงพยายามหาของอร่อยมาทดแทน แล้วพบว่าบุกมีไฟเบอร์สูงจนหลายคนชอบ เพราะช่วยให้อิ่มท้องด้วย แหวนจึงซื้อเยลลี่บุกมาผสมกับชานมไข่มุก ด้วยความสุดโต่งแบบแหวน จึงดื่มวันละ 10 แก้วทุกวัน จากที่จะเป็นประโยชน์ก็กลายเป็นโทษต่อร่างกาย สุดท้ายต้องกลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยอาการแน่นท้อง คราวนี้ไม่อาเจียน แต่ไม่ขับถ่ายเลย เพราะผงบุกไม่ย่อยแล้วไปบวมอยู่ในท้อง กลายเป็นก้อนเหนียวๆ ติดแน่นอยู่ในลำไส้ ส่งผลให้ลำไส้อุดตัน อาหารใหม่ที่กินเข้าไปจึงไม่สามารถไหลผ่านออกมาได้ ทำให้คุณหมอถึงกับพูดแกมตำหนิว่าแหวนเป็นมนุษย์เอกซ์ตรีมมาก ไม่มีความพอดีเลย (หัวเราะ)

“ทีแรกคุณหมอจะรักษาโดยล้างท้องเพื่อจัดการเม็ดบุก แต่ด้วยความเหนียว คาดว่าอาจไม่สามารถล้างออกมาได้หมด จึงต้องเปลี่ยนมาให้ยาขับลม ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน และยาช่วยย่อย เพื่อให้ร่างกายขับถ่ายเม็ดบุกออกมาเอง

“หลังจากที่อาการดีขึ้น แหวนจึงหันมากินผักอย่างจริงจัง พยายามหาซอสที่มีรสชาติหวานๆ มาช่วยให้กินง่ายขึ้น ค่อยๆ เริ่มจากทีละนิด เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเวลากินผักเยอะเกินไปท้องก็จะอืดและมีแก๊สในกระเพาะอีก จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รอบนี้แหวนตั้งตัวได้เร็ว พยายามปรับลดปริมาณให้เหมาะสม จึงยังปลอดภัยดีค่ะ” (ยิ้ม)

แหวน ปวริศา

โรค…ที่รักษาไม่หาย

หลังจากผ่านวิกฤติจากการกินที่เกินพอดี ตั้งแต่ขนม ไฟเบอร์ ก็ยังมีเหตุให้เธอต้องเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

“แหวนไปฉลองปีใหม่ที่จังหวัดกระบี่ ทางโรงแรมจัดเตรียมอาหารมื้อพิเศษเป็นซีฟู้ดไซส์จัมโบ้ ตั้งแต่กุ้งล็อบสเตอร์ หอย ปู พอพนักงานเห็นว่าแหวนเอร็ดอร่อยจึงจัดมาให้เพิ่มอีก ด้วยความเกรงใจจึงพยายามกินเข้าไปให้หมด ทั้งที่รู้สึกว่าอิ่มมากจนถึงขั้นปลดกระดุมกางเกงเลยทีเดียว (หัวเราะ) พอกลับมาบ้านรู้สึกพะอืดพะอมเหมือนอยากจะอาเจียนตลอดเวลา จนต้องไปโรงพยาบาล คุณหมอบอกว่าเป็นอาการของหูรูดกระเพาะอาหารขยายออกเพราะกินเยอะ แล้วเมื่อกลับมาพยายามลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารแบบกะทันหัน ทำให้มันหดตัวกลับไปไม่ทัน น้ำกรดในกระเพาะจึงกระฉอกออกมา จนเกิดอาการกรดไหลย้อน คุณหมอให้เปลี่ยนวิธีการกินอาหาร โดยแบ่งออกเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ เพื่อให้กระเพาะอาหารปรับสภาพกลับมาเข้าที่

“ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แหวนกลับมามีอาการท้องอืดอย่างรุนแรง มีแก๊สเยอะมากจนทำให้เรอและผายลมตลอดเวลา ความที่ทำงานในวงการบันเทิง ต้องพบปะผู้คน ก็ต้องพยายามอดทนอั้นเอาไว้ กับขอตัวไปเข้าห้องน้ำเพื่อผายลมบ่อยมาก แล้วอาการที่ทำให้แหวนเครียดมากๆ คือหน้าท้องที่เคยแบนราบ กลับใหญ่ขึ้นเหมือนคนท้อง เมื่อก่อนพอนอนหลับแล้วตื่นนอนมา หน้าท้องจะยุบลง แต่ครั้งนี้ท้องป่องตลอดเวลา ทำอย่างไรก็ไม่ยุบ จนคนเริ่มทักว่าท้องหรือเปล่า แหวนจึงต้องประกาศลงโซเชียลว่ายังไม่ได้ท้องนะคะ

แหวน ปวริศา

“คุณหมอสงสัยว่าแหวนน่าจะเป็นโรคลำไส้แปรปรวน (IBS : Irritable Bowel Syndrome) เพราะอาการเข้าข่ายหมดทุกข้อ แต่อาจจะไม่ถึงขั้นรุนแรง ซึ่งอาการของผู้ป่วยโรค IBS มี 2 แบบ คือ ท้องเสีย กินอะไรเข้าไปก็ถ่ายออก มาหมด กับแบบท้องผูก ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน และยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นโรคเรื้อรัง อาจเป็นปี ๆ หรือ อาจเป็นตลอดชีวิต ทำได้เพียงให้ยารักษาไปตามอาการ ตอนที่ได้ฟังหมอพูด แหวนรู้สึกท้อใจมากค่ะ แต่ยังโชคดีที่โรคนี้ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมและไม่เป็น อันตรายถึงชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญและความกังวลใจให้แก่ผู้ป่วย

“สำหรับสาเหตุอาจมาจากการกินอาหารฟ็อดแม็ป หรือ FODMAPs (กลุ่มอาหารที่มีองค์ประกอบเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่สามารถย่อยและดูดซึมใน ทางเดินอาหาร เช่น น้ำตาลฟรักโทส น้ำตาลแล็กโทส) ทำให้ท้องปั่นป่วน นอกจากนี้อาจมีความเครียดร่วมด้วย คุณหมอจึงแนะนำให้เลี่ยงการกินอาหาร ฟ็อดแม็ป และให้ยา 3 อย่าง คือ ยาแก้เครียด ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ช่วยให้ผ่อนคลายกับลดการบีบตัวของลำไส้ ยาฟอร์แลกซ์ (Forlax) ช่วยบรรเทา อาการท้องผูก และยาคอนโทรลอค (Controloc) ใช้รักษาอาการหลอดอาหาร อักเสบจากโรคกรดไหลย้อนกับช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหาร

“แต่อาการต่าง ๆ กลับเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่รู้สึกว่าหนักที่สุดคือ ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขากลับจากไปเที่ยวทริปเกาะซานโตรินี่ (Santorini) ประเทศกรีซ แหวนมีอาการเป็นลมบนเครื่องบิน เพราะท้องอืดและปวดท้อง มากจนเหมือนท้องจะระเบิด ทำให้หายใจไม่ออก ต้องเข้าห้องน้ำเพื่อผายลม ตลอด แทบไม่ได้นอนเลยตลอดทั้งไฟลท์ จนต้องส่งข้อความหาคุณพ่อคุณแม่ เพื่ออัพเดตอาการตลอด เมื่อกลับถึงบ้านก็รู้สึกว่าดีขึ้นบ้าง แต่กลัวว่าจะมีอาการ หนักแบบนี้อีก จึงตัดสินใจไปหาหมออีกครั้ง ซึ่งยาที่ได้มาก่อนหน้านี้เอาไม่อยู่ มีอาการท้องอืดและท้องผูกอย่างรุนแรง คราวนี้คุณหมอมั่นใจแล้วว่าแหวนเป็น โรคลำไส้แปรปรวน

“จากเดิมน้ำหนัก 43 กิโลกรัม ขึ้นมาเป็น 47 กิโลกรัม และมีแก๊สใน กระเพาะอาหาร ทำให้ท้องป่องทุกวัน วัดรอบเอวช่วงเช้าจะยังอยู่ที่ประมาณ 22 นิ้ว พอตกกลางคืนเพิ่มมาเป็น 34 นิ้ว จากการสะสมอาหารตลอดทั้งวัน และมักมี อาการปวดท้องรุนแรงร่วมด้วย เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

“คุณหมอแนะนำว่า หากมีแพลนไปต่างประเทศอีก ให้เตรียมตัวด้วยการ กินอาหารอ่อน ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ และอาจกินยาล้างท้องก่อนขึ้นเครื่องบิน เนื่องจากแรงกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ ที่เรียกว่า อาการ Jet Bloat”

แหวน ปวริศา

หนทางรักษา

“หลังจากหลีกเลี่ยงอาหารฟ็อดแม็ปตามที่คุณหมอบอกแล้ว คุณหมอก็สั่งยา ล้างลำไส้ให้ เพื่อช่วยในการขับถ่าย แหวนกินเป็นขวด ๆ ก็ยังไม่ได้ผล จนต้อง อัลตราซาวนด์ดู ปรากฏว่าเจอกลุ่มแก๊สเป็นก้อน ๆ เต็มท้อง คุณหมอจึงแนะนำ วิธีการรักษา 2 ทาง คือ การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร และตรวจ ภูมิแพ้อาหารแฝง

“แหวนเริ่มที่การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารก่อน คือคนเรา อาจมีแบคทีเรียในลำไส้มากผิดปกติจากสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ไม่ถูก ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วไปกองอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ จึงทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด และปวดท้อง แต่การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียจะต้องมีข้อปฏิบัติคือ ภายใน 7 วันก่อนการทดสอบจะต้องกินอาหารประมาณไก่ต้ม เกลือ มันฝรั่ง ข้าวขาว และต้องงดยาถ่ายเป็นเวลา 7 วัน อันนี้ยากมากสำหรับแหวน เพราะ แหวนต้องกินยาถ่ายตลอด ปกติไม่ขับถ่ายแค่ 3 วันก็รู้สึกทรมานแล้วค่ะ จึงต้อง ล้มเลิกไป

“แหวนเคยมีความคิดอยากลองรักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนจีน จึงลอง ปรึกษาคุณหมอที่สยามโอสถแถวเยาวราช คุณหมอบอกว่าที่แหวนมีปัญหาเกี่ยวกับ ท้องและลำไส้มาตลอดเพราะมีธาตุเย็นเยอะ ต้องทำให้ระบบลำไส้สมดุลด้วย การกินของที่มีฤทธิ์ร้อนอย่างน้ำขิง ไวน์แดง และให้กินยาจีนวันละ 60 เม็ด รวมถึงยาน้ำที่รสชาติขมมาก กินได้ไม่กี่วันก็ท้อใจและยอมแพ้ไปในที่สุด

“จึงหันมาใช้วิธีตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง 132 ชนิดที่ Klaire Medical Center โดยคุณหมอแหม่ม (แพทย์หญิงพัฒศรี พงษ์สถิตย์) เพื่อหลีกเลี่ยง สิ่งที่จะไปกระตุ้นให้ลำไส้แปรปรวน ผลตรวจออกมาคือแหวนแพ้ไข่ขาว ทั้งที่ เมื่อ 3 – 4 ปีก่อนแหวนเคยตรวจแล้วไม่แพ้เลย

“อาจเพราะก่อนหน้านี้แหวนออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ จึงต้อง กินโปรตีนในปริมาณมาก ๆ ประกอบกับตรวจพบคอเลสเตอรอลสูง จึงงด เนื้อสัตว์ แล้วหันมากินไข่ขาวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโปรตีนที่ลีน และดีที่สุดแทน แต่ความสุดโต่งของแหวนจึงกินไข่ขาววันละไม่ต่ำกว่า 20 ฟอง ด้วยการนำไปทำเป็นขนม และกินเส้นอุด้งกับเส้นหมี่ที่ผลิตจากโปรตีนไข่ขาว ประมาณ 10 ถุงต่อวัน

“พอมีอาการโรคลำไส้แปรปรวน แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเพราะไข่ขาว เพียงปัจจัยเดียว ซึ่งพอได้ผลตรวจว่าแพ้ไข่ขาวจึงงดทันที ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ปรากฏว่าอาการดีขึ้นทันตา ไม่ปวดท้องแล้ว น้ำหนักลดลง 1 กิโลกรัม และ ท้องไม่ป่อง (หัวเราะ) ดีใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกจากตลอดระยะเวลา 4 เดือน ที่ต่อสู้กับโรคนี้มา แต่การขับถ่ายยังไม่คงที่ คุณหมอให้กำลังใจว่าต้องค่อยเป็น- ค่อยไป และควรงดอาหารที่แพ้ติดต่อกันอย่างน้อย 4 – 6 สัปดาห์

“คุณหมอยังเตือนแหวนอีกว่า มีหลายคนเข้าใจผิดว่าอาหารที่มีประโยชน์ ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะผักหรือไข่ขาวสามารถกินมากเท่าไหร่ก็ได้ ความจริงคือ แม้จะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ เราก็ต้องควบคุมปริมาณการกินให้พอดี ไม่อย่างนั้น จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน

“ตั้งแต่นี้ไปแหวนต้องมีวินัยในการกินมาก ๆ ถ้าลองใช้วิธีนี้แล้วไม่เกิด แก๊สในกระเพาะ หน้าท้องยุบเหมือนเดิม รวมถึงไม่มีอาการท้องอืดจนปวดท้อง อย่างรุนแรงอีก คุณหมอแนะนำให้ใช้วิธีนี้ไปเรื่อย ๆ และรักษาไปตามอาการ

“ทำให้ได้ลองย้อนกลับไปดูพฤติกรรมการกินอาหารของตัวเอง ยอมรับ เลยว่านอกจากกินอาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังกินอะไรแบบเดิม ซ้ำ ๆ และปริมาณมากกว่ามนุษย์ทั่วไปเขากินกัน จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ในวันนี้ ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในชีวิตเลยค่ะ

“อยากฝากถึงทุกคนนะคะว่า ควรเดินทางสายกลาง อย่าทำอะไรสุดโต่ง แบบแหวนจนเกิดผลเสียต่อร่างกาย สำหรับใครที่กำลังเป็นโรคนี้อยู่ แหวนขอส่ง กำลังใจไปให้นะคะ” 


ที่มา : นิตยสารแพรว 985

ภาพเพิ่มเติม : whanpavarisa, undubzapp.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up