โรค Surfer’s Myelopathy

อุทาหรณ์จากคุณหมอสาว เผชิญโรค Surfer’s Myelopathy หวิดอัมพาตจากการเล่นเซิร์ฟ 

Alternative Textaccount_circle
โรค Surfer’s Myelopathy
โรค Surfer’s Myelopathy

หนึ่งในกีฬามาแรงสำหรับชาวเอกซ์ตรีมบ้านเราคงต้องยกให้ “เซิร์ฟบอร์ด” ที่สร้างความท้าทายท่ามกลางเกลียวคลื่น สาวๆ หนุ่มๆ โพสอวดลีลาการยืนบนกระดานโต้คลื่นกันสนุกสนาน “คุณหมอเมษ์ – แพทย์หญิงปานรดา วงษ์สิน” กุมารแพทย์อนาคตไกลแห่งโรงพยาบาลเมืองพัทยา เป็นอีกคนที่อยากลองสัมผัสความท้าทายนี้ โดยไม่ได้เตรียมรับเหตุไม่คาดคิด อย่างการเผชิญกับโรค Surfer’s Myelopathy

อุทาหรณ์จากคุณหมอสาว เผชิญโรค Surfer’s Myelopathy หวิดอัมพาตจากการเล่นเซิร์ฟ

ฝันร้ายของนักเอกซ์ตรีม

“ช่วงเดือนตุลาคมปี 2563 เพื่อนๆ ที่ฟิตเนสฮิตไปเล่นเซิร์ฟบอร์ด กันที่หาดแหลมหญ้า จังหวัดระยองแทบทุกสัปดาห์ เพราะใกล้หมดช่วง คลื่นลม ช่วงนั้นเมษ์ว่างจึงขอร่วมก๊วนไปด้วย แต่ความที่ยังไม่เคยเล่น มาก่อน จึงต้องติดต่อบริษัทที่ให้เช่าบอร์ดและมีบริการสอนการเล่นเซิร์ฟ ครั้งแรกวันที่จองไว้คลื่นลมไม่เป็นใจ ต้องยกเลิก ผ่านไปไม่กี่วันเพื่อน โทร.มาชวนว่าวันนี้มีคลื่น ไปกันเลยไหม เมษ์ตอบตกลงทันที

“ก่อนลงเล่นมีครูสอนภาคทฤษฎีและท่าทางต่างๆ เริ่มจากนอน ระนาบกับพื้นกระดานแล้วกระโดดลุกขึ้นยืนบนบอร์ด ซึ่งเมษ์ก็สามารถ ทำได้อย่างรวดเร็ว พอลงเล่นจริงในทะเลก็ทำได้ดีมาก ไม่ตกน้ำเลย แม้แต่ครั้งเดียว เล่นไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมงเมษ์เริ่มมีอาการเมื่อยขา ทั้งสองข้าง คิดว่าเพราะวันก่อนเล่นเวตมากไป จึงตัดสินใจหยุดเล่น เปลี่ยนเป็นถ่ายรูปให้เพื่อนๆ แทน จากนั้นแวะรับประทานอาหารกลางวันกัน ระหว่างขับรถกลับบ้านที่พัทยา เพิ่งสังเกตว่าตลอดเวลาหลายชั่วโมง ที่ผ่านมาทำไมไม่รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำเลย แต่ก็คิดเองอีกว่าเพราะเหงื่อออกเยอะ ด้วยความเพลีย พอกลับถึงบ้านก็รีบเข้านอนเลย

“เช้ามาพอจะลุกจากเตียงมีอาการยืนไม่ได้ เหมือนขาชา อ่อนแรง ทั้งสองข้าง แต่ไม่ได้เจ็บหรือปวดอะไร พอยืนได้ก็พยายามเกาะเลาะ ตามขอบเตียง ไม่อย่างนั้นคงล้มไปกองที่พื้น เห็นท่าไม่ดีจึงรีบโทรศัพท์ บอกพี่สาวให้พาไปหาหมอ เวลานั้นไม่ได้ตกใจมาก แค่งงๆ ว่าตัวเองเป็นอะไร แต่พี่สาวต้องวานให้ รปภ.มาช่วยอุ้มเมษ์ขึ้นรถ เพราะขาขยับไม่ได้ พอถึงโรงพยาบาลเมืองพัทยามีพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เป็นหมอมา ช่วยกันดูแล เมื่อเห็นอาการทุกคนลงความเห็นว่าเกิดจากการปวดขามาก จนทำให้ปัสสาวะไม่ออก เพราะเมษ์ไม่ได้ประสบอุบัติเหตุล้มหรือ กระแทกอะไรเลย เพื่อนหมอที่เป็นเจ้าของไข้จึงเริ่มรักษาด้วยการ ใส่สายสวนปัสสาวะ ปรากฏว่ามีน้ำตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ประมาณลิตรกว่าๆ จากนั้นจึงฉีดยาแก้ปวด ซึ่งคุณหมอคาดว่าไม่กี่วัน น่าจะดีขึ้น

“ระหว่างนอนสังเกตอาการ เมษ์อยากหยิบโทรศัพท์มือถือที่วาง อยู่ห่างออกไป แต่เวลานั้นไม่มีใครอยู่ในห้อง จึงลุกจะเดินไปหยิบเอง พอลงยืนข้างเตียงเผลอดึงที่กั้นเตียงขึ้น ทำให้ไม่สามารถกลับขึ้นเตียงได้ ที่กดเรียกพยาบาลก็อยู่อีกฝั่ง ได้แต่ยืนค้างอยู่อย่างนั้น ทำอะไรไม่ถูก พอดีคุณหมอกายภาพซึ่งเป็นรุ่นพี่เดินเข้ามาเยี่ยมพอดี พอบอกว่า ขึ้นเตียงเองไม่ได้ เขานึกว่าเมษ์พูดเล่น จึงให้ลองเดินมาหาเขาที่อีกด้าน ของเตียง เราก็พยายามเกาะข้างเตียงแล้วขยับขาไป พอเห็นอาการ เขารีบโทร.หาเพื่อนที่เป็นคุณหมอด้านกระดูกและข้อว่าเมษ์มีปัญหาเกี่ยวกับไขสันหลังแน่นอน

โรค Surfer’s Myelopathy

“จากนั้นคุณหมอทั้งสองจึงช่วยกันเสิร์ชหาเอกสารทางการแพทย์ จากทั่วโลก พบว่าเมษ์เป็น ‘Surfer’s Myelopathy’ หรือโรคไขสันหลัง ทำงานผิดปกติจากการเล่นเซิร์ฟ คือเวลาเล่นเซิร์ฟบอร์ด ผู้เล่นที่แอ่นหลังมากเกินไปจะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไขสันหลังส่วนล่างมีการโค้งงอ จนทำให้ไม่สามารถไปเลี้ยงเส้นประสาทไขสันหลัง ส่งผลให้ขาดเลือด และเกิดอาการอัมพาตครึ่งซีกตั้งแต่ใต้เอวลงไป ซึ่งบางรายอาจถึงขั้น เป็นอัมพาตถาวร ภาวะนี้มักเกิดกับคนที่เล่นเซิร์ฟบอร์ดครั้งแรก หรือ กีฬาที่ต้องแอ่นหลังร่วมกับการกลั้นหายใจอย่างนักกีฬายกน้ำหนัก การเหวี่ยงเบ็ดตกปลาก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้

“ตอนนั้นมีคนทั่วโลกเป็นเคสนี้ไม่ถึง 100 คน สำหรับในไทยยัง ไม่มีรายงาน อาจมีใครเป็นแล้ว แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ก็ได้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะที่อยู่ติดทะเลอย่างเกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา หรือประเทศเกาหลีใต้ มีเอกสารทางการแพทย์ออกมาว่า อาการของโรคนี้จะเหวี่ยงมาก บางคนเป็นแค่ 2 – 3 วันอาการก็ดีขึ้น แต่บางรายก็แย่เลย

”ฉะนั้นเพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค คุณหมอเมษ์จึงถูก ส่งไปทำ MRI ผลออกมาตรงกับที่คาดไว้ คือมีอาการของไขสันหลัง ขาดเลือดตั้งแต่ระบบประสาทไขสันหลังส่วนอกข้อที่ 9 (T9) เป็นต้นไป ซึ่งมีผลทำให้เป็นอัมพาตครึ่งซีกล่าง

โรค Surfer’s Myelopathy

โรคใหม่…ที่ต้องเรียนรู้

“ด้วยความเป็นห่วงคุณแม่กับพี่สาวที่ต้องมานอนเฝ้าทุกวัน จะได้สะดวก มากขึ้น เมษ์ตัดสินใจย้ายจากโรงพยาบาลรัฐไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา เข้าไปเป็นคนไข้ของนายแพทย์วรา แจ้งยอดสุข อายุรแพทย์ ระบบประสาทและสมอง พออาจารย์เห็นอาการ สีหน้าเคร่งเครียดมาก พูด กับเมษ์ตรงๆ ว่าค่อนข้างหนักใจ เพราะไขสันหลังขาดเลือดเยอะ มีโอกาส ที่จะเป็นอัมพาตแบบถาวร

“สภาพที่เมษ์เป็นนั้นหนักกว่าที่เห็นภายนอกมาก นอกจากจะเดินไม่ได้แล้ว ยังเริ่มมีอาการความดันต่ำ หัวใจเต้นช้า มีภาวะ Spinal Shock (ไขสันหลัง หยุดทำงานชั่วคราว) เป็นผลมาจากการที่ไขสันหลังบวม จึงต้องส่งเข้าห้องไอซียู ด่วน เพื่อให้ยากระตุ้นความดัน แล้วให้ยาสเตียรอยด์แบบไฮโดสช่วยลด อาการอักเสบ ช่วงที่อยู่ไอซียูเมษ์ไม่ได้เจ็บปวดอะไร แค่มีอาการเบลอๆ จำอะไรไม่ค่อยได้ อย่างหนังสือที่เพิ่งอ่านจบไป พอถามว่าอ่านอะไร เมษ์จำไม่ได้ และเวลาหมอถามว่าขารู้สึกไหม เมษ์ตอบว่ารู้สึกตลอด แต่จริงๆ แล้วเป็นความรู้สึกแบบเส้นประสาทชามากกว่า”

โรค Surfer’s Myelopathy

สิ่งที่ถือเป็นความโชคดีในความโชคร้ายคือวันที่คุณหมอเมษ์แอดมิตตรงกับช่วงที่มีการประชุมประจำปีของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช พัทยา โดยมีแพทย์ระดับอาจารย์ด้านนี้จากทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม รวมทั้งรุ่นพี่ที่เป็นหมอประจำโรงพยาบาลเมืองพัทยา ทำให้เรื่องราวของคุณหมอเมษ์ถูกนำไปกล่าวถึงในที่ประชุม เพราะทั่วโลกยังไม่มีแนวทางการรักษาโรคนี้ที่ชัดเจน

“ทราบว่าคุณหมอหลายท่านที่เข้าร่วมประชุมช่วยกันระดมความคิดเพื่อหาวิธีการรักษา เมื่อออกจากห้องไอซียูได้แล้ว คุณหมอวราส่งเมษ์ไปเข้ารับการ บำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงหรือ Hyperbaric Oxygen Therapy เป็นการรับออกซิเจนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ในอุปกรณ์ที่ปรับความดันบรรยากาศ คล้ายๆ การดำน้ำ เพื่อกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ให้กับไขสันหลังและช่วย ให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เข้าไปนอนในแคปซูลเหมือนอย่างที่เห็นในหนังไซไฟ ประมาณ 45 นาที – 1 ชั่วโมง ประกอบกับการทำกายภาพทุกวัน

“อาการค่อยๆ ดีขึ้น จากที่ขยับตัวท่อนล่างไม่ได้เลยก็เริ่มขยับได้ มีแรงขึ้น ความรู้สึกชาตรงขาเหมือนใส่กางเกงหลายตัวทับซ้อนกันหนาๆ ก็เริ่มมีความรู้สึก ชัดเจนขึ้น อารมณ์เหมือนได้ถอดกางเกงออกไปทีละตัว ซึ่งคุณหมอวรา รุ่นพี่ และเพื่อนๆ ที่เป็นหมอทุกคนไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าเมษ์อาการดีขึ้นจากอะไร อาจเพราะการทำ Hyperbaric Oxygen Therapy และทำกายภาพ ประกอบกับ ไม่มีโรคประจำตัว กินดี และนอนหลับก็เป็นได้

“นอกจากนี้ยังมีอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับการบาดเจ็บของไขสันหลังที่ เรียกว่า Nephrogenic Diabetes Insipidus เกิดจากระบบการทำงานของไต ผิดปกติ ทำให้ร่างกายสูญเสียการควบคุมสมดุลของน้ำ ทำให้เมษ์ปัสสาวะออกมา เยอะกว่าปกติ จึงต้องให้ยารักษาอาการนี้ ประกอบกับติดตามเจาะเลือด ดูผล เกลือแร่อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วอาการก็ค่อยๆ ดีขึ้น แอดมิตโรงพยาบาลครบหนึ่งเดือน ก็ได้กลับบ้าน ซึ่งก่อนกลับเมษ์ต้องเรียนรู้วิธีใส่สายสวนด้วยตัวเอง เพราะยัง ไม่สามารถปัสสาวะเองได้ ใช้วิธีนี้ประมาณ 6 เดือนจึงหยุด แล้วพยายามฝึก ปัสสาวะเอง ผ่านมาปีกว่าแล้วเมษ์ยังไม่สามารถปัสสาวะได้ปกติแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องกดที่ท้องช่วยด้วยทุกครั้ง จะได้ไม่มีปัสสาวะตกค้าง เพราะอาจ ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้”

โรค Surfer’s Myelopathy

ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ

“ตอนที่กลับมาพักฟื้นที่บ้านเมษ์คิดว่าตัวเองดีขึ้นแล้ว แค่เดินไม่ค่อยคล่อง เท่านั้น จึงพยายามฝึกเดิน ปรากฏว่าสิ่งที่แสดงออกมาคือเมษ์เดินเหมือน กระทืบเท้า จึงต้องฝึกเดินใหม่ตามที่นักกายภาพสอน คือเริ่มจากจินตนาการก่อนว่า เรากำลังยกเท้า ก้าว ปลายเท้าแตะพื้นแล้วตามด้วยส้นเท้า ค่อยๆ ทำตามความคิด เหมือนตัวเองเป็นหุ่นกระบอก กว่าจะเดินได้สมู้ทอย่างที่เห็น เมษ์ต้องเปลี่ยนรองเท้า ไม่ต่ำกว่า 4 คู่จากการฝึกเดินจนพื้นรองเท้าสึก ที่สุดคุณหมอประทับใจว่าอาการ ดีขึ้นมาก เพราะถ้าตามผลของ MRI เมษ์ไม่น่าจะกลับมาเดินได้อีก

“ช่วงนั้นทางโรงพยาบาลเมืองพัทยาให้เมษ์กลับมาช่วยงานตรวจผู้ป่วยนอก ในตอนเช้า ช่วงบ่ายให้ไปทำกายภาพ แล้วไม่ต้องอยู่เวร แรกๆ พี่สาวขับรถมาส่ง ผ่านไปหนึ่งเดือนเมษ์ขับรถมาเองได้ เวลาอยู่ในโรงพยาบาลจะพยายามทรงตัว เดินเองให้ได้ ไม่ยอมใช้ไม้เท้า ถือเป็นการบังคับตัวเองให้ฝึกเดินทุกวัน

“ตลอดระยะเวลาที่รักษาตัวเมษ์ไม่เคยร้องไห้ฟูมฟาย อาจเพราะเป็นคนที่ รับและปรับตัวกับสถานการณ์อย่างนี้ได้เร็ว ไม่เคยคิดทุกข์ใจว่าอนาคตจะเป็น อย่างไร เมษ์แค่ทำใจให้เรื่องนี้ผ่านไป แล้วมองในแง่ดีว่าอาการตัวเองต้องดีขึ้น ทุกวัน นอกจากนี้ยังพยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เป็นอยู่ เช่น ทุกวันเมษ์ ต้องใช้สายสวนปัสสาวะ ก็จะเตรียมกระเป๋าสำหรับใส่อุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อที่ เวลาไปไหนก็สามารถหยิบมาใช้ได้เลย บางครั้งต้องเดินทางไปที่ที่ลำบากหน่อย ก็จะติดผ้าอ้อมผู้ใหญ่เผื่อไว้ในรถด้วย

“ผ่านมาได้ 6 เดือน เมษ์กลับไปเล่นฟิตเนสอีกครั้ง เพราะรู้สึกว่าสุดทาง ของการทำกายภาพแล้ว ขาแข็งแรงแล้ว แต่อยากทำให้กลับมาเหมือนเดิม แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ โดยเทรนเนอร์ช่วยออกแบบโปรแกรมเบาๆ ที่เน้นทำให้กล้ามเนื้อไขสันหลังและกล้ามเนื้อมัดอื่นๆ แข็งแรง อาจจะช่วยให้ร่างกายดีขึ้นได้

“ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เมษ์รู้สึกได้ว่าตัวเองดีขึ้นมาก จึงเริ่มคิด ที่จะกลับไปวิ่งอีกครั้ง ตัดสินใจสมัครลงงานวิ่งการกุศล LOMA RUN On The Beach 2022 ที่ชายหาดจอมเทียน พัทยา ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 กันยายนนี้

“เมษ์ฝึกวิ่งอย่างจริงจัง พบว่าเวลาวิ่งแล้วปวดปัสสาวะมาก เพราะคุณหมอ ให้กินยาเปิดทางเดินปัสสาวะ เพื่อไม่ให้มีปัสสาวะตกค้าง เมษ์ปรึกษาคุณหมอว่า ไม่อยากกินยา แต่พอลองหยุดระยะสั้นๆ แล้วพบว่ามีปัสสาวะตกค้างเล็กน้อย คุณหมอจึงอยากให้กินยาต่อไปก่อน

“อาจเพราะเมษ์เป็นหมอ ทำให้เข้าใจอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เมษ์จึงคิดหา วิธีออกกำลังกายให้กระเพาะปัสสาวะแข็งแรง โดยปรึกษานายแพทย์สมรส พงศ์ละไม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ว่าเมษ์อยากลองทำ PMS (Peripheral Magnetic Stimulation) ซึ่งเป็นการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กตั้งแต่ไขสันหลัง ไปจนถึงขา ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงต่อครั้ง ซึ่งคุณหมอสมรสยังไม่เคยรักษาในโรค Surfer’s myelophathy เนื่องจากในไทยมีเคสน้อย ปกติจะรักษาในกลุ่มไขสันหลัง บาดเจ็บอื่นๆ จากอุบัติเหตุ ตอนนี้เมษ์ทำได้ 10 ครั้งแล้ว สิ่งที่ดีขึ้นมากคือขาสามารถทำงานประสานกับร่างกายดีขึ้น ทำให้ การเดินสมู้ทอย่างเห็นได้ชัด และจากเดิมที่นิ้วเท้าข้างซ้ายจะมีอาการเกร็งเล็กน้อย แค่ทำ TMS ครั้งแรก กล้ามเนื้อเท้าที่เกร็งหายเลย ประกอบกับเทรนเนอร์เห็นว่า เมษ์แข็งแรงขึ้น จึงให้เริ่มทำ Functional Circuit การออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อ หลายๆ ส่วน เช่น ให้ฝึกกระโดดขึ้นไปยืนบนกล่อง ถ้าย้อนกลับไปเมื่อเดือน ตุลาคมปีที่แล้ว เวลากระโดดเมษ์จะล้มลงไปกองที่พื้นทุกครั้ง แต่วันนี้กระโดด แล้วยืนได้เลย (ยิ้ม)

“ถ้าให้ประเมินตัวเองในวันนี้ การเดินหรือความแข็งแรงของขากลับมา ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์แล้ว ถ้าเทียบกับคนที่ไม่ค่อยทำกิจกรรมเยอะ ถือว่า กลับมา 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ในส่วนของกระเพาะปัสสาวะยังทำงานไม่เต็มร้อย ประมาณ 85 – 90 เปอร์เซ็นต์” 

โรค Surfer’s Myelopathy

บทเรียนเตือนสติ

เมื่อมองย้อนกลับไป คุณหมอเมษ์ไม่เคยคิดเสียใจกับการเล่นกีฬา

“เมษ์เคยคิดอยากกลับไปเล่นอีก ขนาดย้อนไปดูคลิปวิธีการขึ้นบอร์ด ของคนอื่นเพื่อหาว่าเมษ์ทำผิดตรงไหน ทำให้รู้ว่าท่ากระโดดขึ้นบอร์ดของเมษ์ เป็นท่าแอดวานซ์เกินไป พอพี่สาวรู้ว่าอยากกลับไปเล่นอีก ก็บอกว่าถ้ารอบหน้า เป็นอีกจะว่าแล้วนะ เมษ์จึงคิดว่าคงต้องระวังตัวเองมากขึ้น อะไรที่ดูเอกซ์ตรีม เกินไปคงไม่ลองละ เพราะเวลาเป็นอะไรขึ้นมาเราไม่ได้เป็นคนเดียว แต่ครอบครัว จะลำบากและเป็นห่วงไปด้วย

“จึงอยากฝากไปถึงคนที่คิดจะลองเล่นเซิร์ฟบอร์ดว่ากีฬานี้ไม่ได้น่ากลัว ถึงขนาดต้องเลิกเล่น แต่ถ้าเล่นแล้วมีอาการผิดปกติต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น ขาอ่อนแรง ปัสสาวะไม่ออก รู้สึกปวดหรือเจ็บขามากกว่าปกติ เพราะ คุณมีโอกาสเสี่ยงจะเจอภาวะเดียวกันได้

“สำหรับคุณหมอทุกท่าน อยากให้ฟังคนไข้ให้มากๆ ว่าคนไข้ต้องการบอก อะไร บางทีเขาไม่สามารถสื่ออาการที่เป็นได้ เพราะไม่ใช่หมอและไม่เคยเป็น อาการนั้นมาก่อน อย่างเมษ์ไม่เคยมีอาการขาอ่อนแรง ก็จะไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างไร ทำให้ไม่สามารถบอกหมอถึงอาการที่เป็นได้อย่างถูกต้อง

“ณ วันนี้ทั่วโลกยังไม่มีแนวทางการรักษาโรค Surfer’s Myelopathy เรา จึงไม่ควรฝืนตัวเอง ไม่ใช่แค่โรคนี้เท่านั้น เราสามารถก้าวข้ามลิมิตตัวเองได้ แต่ ต้องรู้ว่าเพดานของความปลอดภัยอยู่ตรงไหน ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพื่อพิสูจน์ ว่าเก่ง อยากให้ลองย้อนถามตัวเองว่าพิสูจน์เพื่อใคร เก่งแล้วคุณจะได้อะไร เพราะผลลัพธ์ที่ตามมาอาจต้องแลกด้วยชีวิต” 


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 984

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up