แพทย์ชี้เสมหะ คือ สิ่งข้นเหนียวเหมือนเมือกที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเป็นปกติอยู่แล้ว แต่จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
ผู้ป่วยโควิด-19 หลายคนมักจะมีอาการหายใจมีเสียงครืดคราด หรือรู้สึกว่ามีเสมหะในทางเดินหายใจ หรือไอแบบมีเสมหะอยู่ตลอดเวลา จนส่งผลให้การหายใจเพื่อเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้น จึงจำเป็นมากที่ผู้ป่วยต้องกำจัดเสมหะเหล่านี้ออกจากทางเดินหายใจ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
แพทย์แนะ “3 วิธีระบายเสมหะ” ด้วยตนเองในผู้ป่วยโควิด-19
วิธีที่ 1 การไอเพื่อระบายเสมหะ ทำในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว ด้วยวิธีดังนี้
- นั่งบนเก้าอี้ โน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย และหายใจเข้า – ออกปกติ 3-5 ครั้ง
- หายใจเข้าลึกเต็มที่จนสุด โดยเน้นให้ชายโครงบานออก
- กลั้นหายใจไว้ 3 วินาที พร้อมกับเกร็งเนื้อหน้าท้อง
- ให้อ้าปากกดคางลง ทำปากเป็นรูปวงกลม พร้อมไอออกแรงๆ และยาวจนสุดลมหายใจออก
- พักด้วยการหายใจเข้า – ออก ปกติ 3-5 ครั้ง

วิธีที่ 2 การระบายเสมหะด้วยวิธีถอนหายใจออกแรง ทำในกรณีที่มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด สามารถทำได้ดังนี้
- นั่งบนเก้าอี้ โน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย และหายใจ เข้า – ออกปกติ 3 ครั้ง
- หายใจเข้าปกติ จากนั้นพ่นลมหายใจออกจากคอผ่านทางปากแรงๆ (อ้าปากกดคางลง ทำปากเป็นรูปวงกลม) พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง จนหายใจออกสุด ทำซ้ำ 3 ครั้ง
- หายใจเข้า – ออกปกติ 3 ครั้ง จนหายเหนื่อย
- อาจทำซ้ำ 3-4 รอบ
วิธีที่ 3 การระบายเสมหะด้วยการหายใจเป็นวงจร active cycle of breathing technique (ACBT) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจที่ไม่สามารถออกแรงมาก จนเหนื่อยเกินไปได้ สามารถทำได้โดย
- นั่งบนเก้าอี้ในท่าที่สบายและผ่อนคลาย
- หายใจเข้า – ออกปกติ 5-10 วินาที
- หายใจเข้าให้สุด โดยเน้นให้ซี่โครงบานออกและหายใจออกสุด
- หายใจเข้าออกปกติ จากนั้นถอนหายใจออกทางปาก (อ้าปากกดคางลงทำปากเป็นรูปวงกลม) พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง กระทั่งหายใจออกสุด ทำซ้ำ 3 ครั้ง และกลับมาหายใจเข้า – ออกปกติ 3 ครั้ง
- หายใจเข้า – ออก ปกติ 5 – 10 วินาที จนหายเหนื่อย เป็นต้น

วิธีลดการแพร่กระจายของเชื้อในระหว่างการระบายเสมหะ ต้องใส่หน้ากากอนามัยให้กระชับใบหน้าทุกครั้งขณะไอหรือถอนหายใจแรงเพื่อระบายเสมหะ ระหว่างการฝึกควรนั่งอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร และหากไอแล้วมีเสมหะออกมาด้วยให้บ้วนเนื้อเสมหะใส่กระดาษชำระ จากนั้นทิ้งใส่ถุงพลาสติกพร้อมมัดปากถุงให้เรียบร้อย
รวมไปถึงข้อควรระวังที่สำคัญระหว่างการฝึกระบายเสมหะ หากมีอาการเหนื่อยหอบมาก หน้ามืด วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หายใจสั้นหรือถี่มากๆ ควรพักด้วยการหายใจเข้าออกปกติจนกระทั่งไม่มีอาการดังกล่าวแล้วจึงเริ่มฝึกต่อ จำนวนครั้งในการฝึกต่อวันขึ้นกับปริมาณเสมหะของแต่ละบุคคลด้วย
ข้อมูล : โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์
ภาพ : Pexels
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ