มะเร็งปากมดลูก

ป้องกันไว้ดีกว่ารักษา! 7 เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งปากมดลูก”

Alternative Textaccount_circle
มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก พบในผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่กลับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็งนั้น ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ ที่แสดงออกมาชัดเจน รวมถึงผู้หญิงไทยยังมีอัตราการตรวจคัดกรองโรคในระดับที่น้อย กว่าที่จะตรวจพบ ก็อาจเข้าสู่ระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

7 เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งปากมดลูก

1. มะเร็งปากมดลูกเกิดได้กับผู้หญิงทุกคนทั้งที่เคยมีเพศสัมพันธ์และไม่เคย

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกกว่า 90% เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ส่วนใหญ่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนน้อยติดต่อทางการสัมผัส มักพบบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของผู้หญิงบริเวณปากมดลูก ช่องคลอด และอวัยวะเพศ ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก เช่น มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีบุตรหลายคน สูบบุหรี่ รวมถึงการมีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

2. ควรฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อต้านเชื้อ HPV

ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุตั้งแต่ 9 – 26 ปี โดยฉีดจำนวน 3 เข็ม  ซึ่งวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ฉีดได้เช่นกัน แต่ในกรณีนี้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพดีก็ต่อเมื่อไม่เคยได้รับเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่บรรจุอยู่ในวัคซีนมาก่อน โดยวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้น มีให้ฉีด 2 แบบ ดังนี้

– วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก Gardasil (สำหรับสุภาพสตรี) ฉีด 0,2,6 จะป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18

– วัคซีนป้องกันปากมดลูก Cervarix (สำหรับสุภาพสตรี) ฉีด 0,1,6 จะป้องกันได้ 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18

มะเร็งปากมดลูก 1

3. ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกภายใน 3 ปีหลังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ส่วนคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน อาจเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป โดยตรวจพร้อมๆ กับการตรวจสุขภาพประจำปี ด้วยการตรวจตินเปร็ป (ThinPrep) ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV

4. ThinPrep การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

ให้ผลการตรวจที่ละเอียดกว่า เป็นการตรวจทางเซลล์วิทยา เช่นเดียวกับแปปสเมียร์มาตรฐานเดิม (Pap test) ซึ่งปัจจุบันนิยมการตรวจ Thin Prep ร่วมกับการตรวจ HPV Testing ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจทางด้านชีวโมเลกุลมีความแม่นยำสูง สามารถตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกและเชื้อ HPVชนิดก่อมะเร็ง ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือ หากผลการตรวจปกติ สามารถเว้นระยะเวลาการตรวจได้ถึง 2 ปี อย่างปลอดภัย

5. ตรวจพบความผิดปกติของเซลล์

หากพบความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกได้ตั้งแต่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง สามารถรักษาให้หายขาดได้

6. ตรวจแล้วก็ยังเสี่ยง

มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่มีกระบวนการเกิดโรคที่ช้า ใช้เวลาในการพัฒนาเป็นมะเร็งนาน แต่สามารถรักษาให้หายได้ถ้ารู้ตัวก่อน ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงควรทำอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล

7.มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ

แต่หากมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด มีประจำเดือนนานจนผิดปกติ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงวัยหมดประจำเดือนแบบถาวรไปแล้ว ควรรีบไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน หรือหากมะเร็งได้ลุกลามไปมากขึ้น อาจลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ส่งผลให้มีอาการปวดหลัง ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด หรือไตวายเฉียบพลันได้

และนี่คือ 7 เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งปากมดลูก” อย่าลืมเช็คลิสต์ร่างกายตัวเองบ่อยๆ เพื่อจะได้รักษาทันตั้งแต่ระยะเริ่มต้นนะคะ


ข้อมูล : สมิติเวชไชน่าทาวน์
ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เตือนข่าวเท็จ “ผู้หญิงที่ย้อมสีผมบ่อย เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้น 60%”

รอยปื้นสีน้ำตาลหรือดำบนเล็บ อาจส่งสัญญาณเตือน “มะเร็งผิวหนัง” ชนิดเมลาโนมา

3 วิธี ปรับสมดุลฮอร์โมนด้วยวิธีธรรมชาติ ลดเสี่ยงท้องยาก

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up