โรคจอประสาทตาเสื่อม

วัย 40 อัพระวัง “โรคจอประสาทตาเสื่อม” เปิดสาเหตุ พร้อมแนะวิธีป้องกันและรักษา

Alternative Textaccount_circle
โรคจอประสาทตาเสื่อม
โรคจอประสาทตาเสื่อม

ดวงตาคงจะไม่ได้เป็นเพียงหน้าต่างของหัวใจ เพราะดวงตาเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ ที่ทำหน้าที่เปิดรับข้อมูลเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางความคิด การตัดสินใจ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อีกมากมายในชีวิตเรา โดยในกระบวนการรับรู้ผ่านระบบการมองเห็นนั้น ภาพหรือแสงจะต้องเดินทางเข้าไปในลูกตา ผ่านส่วนประกอบต่างๆ ของตา ได้แก่ กระจกตา และเลนส์แก้วตา จนไปตกกระทบที่จอประสาทตาที่เป็นผนังชั้นในของลูกตา อันประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทตาจำนวนมาก ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณภาพที่ได้ผ่านเส้นประสาทตาไปสู่สมอง เพื่อทำการแปลสัญญาณเป็นภาพในที่สุด

วัย 40 อัพระวัง “โรคจอประสาทตาเสื่อม” เปิดสาเหตุ พร้อมแนะวิธีป้องกันและรักษา

โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของจุดกลางรับภาพของจอประสาทตา เป็นโรคที่พบมากในกลุ่มอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ แม้ว่าโรคจอประสาทตาเสื่อมอาจเกิดได้กับผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ  หรือเกิดจากโรคติดเชื้อบางอย่าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปจึงอาจถือได้ว่าเป็นการเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการของโรค ได้แก่

  • อายุ เนื่องจากพบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม พบว่าอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม
  • บุหรี่ โดย มีหลักฐานทางการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างชัดเจน
  • ความดันเลือดสูง โดยคนไข้ที่ต้องทานยาลดความดันเลือด และมีระดับของไขมัน Cholesterol ในเลือดสูงและระดับ Carotenoid ในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม แบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และ
  • วัยหมดประจำเดือน พบว่าผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมน estrogen จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

โรคจอประสาทตาเสื่อม มี 2 ลักษณะ คือ

  • ลักษณะแรก โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD)

ซึ่งพบได้บ่อยกว่า เกิดจากจุดกลางรับภาพจอประสาทตา มีการเสื่อม และบางลงทำให้ความสามารถในการมองเห็นจะค่อยๆ ลดลง อาการลักษณะนี้ จะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ

  • ลักษณะที่สอง คือ โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD)

ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย ทว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอด เนื่องมาจากการที่มีเส้นเลือดผิดปกติเจริญเติบโตอยู่ใต้จอประสาทตา และผนังชั้นพี่เลี้ยง และมีการรั่วซึมของเลือด รวมถึงสารเหลวจากเส้นเลือดเหล่านั้น ทำให้จุดกลางรับภาพเกิดอาการบวม ผู้ที่มีอาการจะเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว และมืดลงในที่สุด

โรคจอประสาทตาเสื่อม 1

เมื่อรับทราบถึงอาการของโรคแล้ว ก่อนที่จะเริ่มเป็นกังวล เรามาดูกันค่ะว่าควรจะระมัดระวัง สังเกตสัญญาณของโรคกันอย่างไรบ้าง เพื่อที่ว่าหากรู้กันแต่ในระยะแรก ก็จะยังสามารถทำการรักษากันได้ทัน อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน และยากที่ผู้ป่วยจะสามารถสังเกตความผิดปกติในการมองเห็นได้ในระยะเริ่มแรก เนื่องจากส่วนมากยังสามารถใช้ตาอีกข้างหนึ่งในการชดเชยการมองเห็นได้ ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ ยกเว้นกรณีที่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นพร้อมกันในตาทั้ง 2 ข้าง ที่ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมองตรงกลางของภาพไม่ชัด ขาดหาย มืดดำไป หรือภาพที่เห็นมีลักษณะบิดเบี้ยวจากปกติ

เนื่องจากการสังเกตอาการของโรคอาจะทำได้ยาก จึงแนะนำว่าผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 64 ปี ที่แม้จะไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา รวมถึงการตรวจจอประสาทตา ทุกๆ 2 – 4 ปี และ สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทุกๆ 1 – 2 ปี เพราะการตรวจพบและทำการรักษาโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เนื่องจากจอประสาทตาที่เสื่อมไปแล้ว การรักษาจะสามารถทำได้เพียงการหยุด หรือชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาให้ช้าที่สุดเท่านั้น ซึ่งอาจรักษาไม่ได้เลยหากตรวจพบช้าและมีความรุนแรงค่ะ

เพราะฉะนั้น ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา การมองเห็น หรือกังวลว่าอาจจะเป็นอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม อย่าลืมรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกันแต่เนิ่นๆ จะได้ทำการรักษากันได้ในขณะที่อาการยังไม่รุนแรงนะคะ


ขอบคุณข้อมูล : ไลฟ์เซ็นเตอร์บล็อก lifecenterthailand.wordpress.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แพทย์ผิวหนังชี้ “โรคตุ่มน้ำพองใส” อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แต่รักษาได้

รอยปื้นสีน้ำตาลหรือดำบนเล็บ อาจส่งสัญญาณเตือน “มะเร็งผิวหนัง” ชนิดเมลาโนมา

เครียดแล้วกินไม่หยุด เกิดจากอะไร? พร้อมแชร์ 5 วิธียับยั้งใจให้หยุดกินอาหารมากเกินไป

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up