ผู้ป่วย "ไทรอยด์" เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรค COVID-19 ที่รุนแรงหรือไม่

ไขข้อสงสัย หากผู้ป่วย “ไทรอยด์” ติดโควิด-19 จะเสี่ยงอาการหนักกว่าเดิมหรือไม่?

Alternative Textaccount_circle
ผู้ป่วย "ไทรอยด์" เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรค COVID-19 ที่รุนแรงหรือไม่
ผู้ป่วย "ไทรอยด์" เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรค COVID-19 ที่รุนแรงหรือไม่

ไขข้อสงสัยจากกรณีที่มีข่าวออกมาว่าผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 มักมีโรคประจำตัว เช่น อ้วน เบาหวาน แล้วโรค ไทรอยด์ มีผลทำให้ติดเชื้อรุนแรงหรือไม่? และนอกจากนี้ ทาง สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมคำถามที่ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ มักถามบ่อยๆ ในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ดังนี้

ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้หรือไม่

ฉีดได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคไทรอยด์แบบใดก็ตาม ได้แก่ มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ คอพอก ไทรอยด์เป็นพิษหรือมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ข้อดีจากการฉีดวัคซีน คือ ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 การที่ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน COVID-19 จะช่วยให้สถานการณ์การควบคุมโรคระบาด COVID-19 ได้ดีขึ้น ทั้งนี้การแพ้วัคซีนอาจเกิดขึ้นได้แต่น้อยมากและสามารถรักษาได้ (หลังฉีดวัคซีนต้องรอสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที) เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับแล้วการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 นับว่ามีความคุ้มค่ามาก (หากผู้ป่วยไทรอยด์เดินทางไปรับการฉีดวัคซีน ยังต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าเป็นโรคไทรอยด์อยู่ รวมถึงแจ้งว่ากำลังกินยาอะไรอยู่ด้วย)

กรณีที่แพทย์เลื่อนนัดเจาะตรวจชิ้นเนื้อก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (fine-needle aspiration หรือ FNA) จะส่งผลกระทบต่อโรคหรือไม่

โดยทั่วไป 90-95% ของก้อนที่ต่อมไทรอยด์เป็นเนื้อดี แต่ถ้าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ มักมีการดำเนินโรคที่ไม่รุนแรง จึงสามารถเลื่อนนัดการเจาะตรวจได้อย่างปลอดภัย แต่ในกรณีที่มีอาการผิดปกติ เช่น ก้อนโตเร็ว อึดอัด เสียงแหบหรือหายใจไม่ออก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การตรวจรักษาแบบเร่งด่วน

กรณีที่แพทย์เลื่อนการผ่าตัดต่อมไทรอยด์เพื่อรักษาโรคมะเร็งไทรอยด์ จะส่งผลกระทบต่อโรคหรือไม่

ในช่วงการระบาดของ COVID-19 สถานพยาบาลมีความจำเป็นที่ลดการบริการการผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉินออกไป โดยทั่วไปตัวโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มีการแพร่กระจายหรือลุกลามน้อย ดังนั้น ถ้าแพทย์ผู้รักษาพิจารณาแล้วสามารถเลื่อนผ่าตัดได้ในระยะเวลาเป็นเดือนๆ ได้อย่างปลอดภัย แต่ในกรณีที่เป็นภาวะฉุกเฉินหรือตัวโรคลุกลาม (พบไม่บ่อย) ทางทีมแพทย์ยังคงสามารถที่จะผ่าตัดแบบเร่งด่วนให้ได้

กรณีที่แพทย์เลื่อนการกลืนน้ำแร่ไอโอดีนเพื่อรักษาโรคมะเร็งไทรอยด์ จะส่งผลกระทบต่อโรคหรือไม่

คำตอบเช่นเดียวกับการเลื่อนผ่าตัดต่อมไทรอยด์

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งไทรอยด์ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรค COVID-19 ที่รุนแรงหรือไม่

ข้อมูลปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรค COVID-19 รุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป (ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรค COVID-19 รุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ อ้วน เบาหวาน สูบบุหรี่ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ เป็นต้น) เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งไทรอยด์แตกต่างจากโรคมะเร็งอื่นที่มักได้รับยาเคมีบำบัดที่อาจทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์บางราย มีความเสี่ยงต่อโรค COVID-19 ที่รุนแรงได้ เช่น มะเร็งกระจายไปที่ปอดขั้นรุนแรง ได้รับยาเคมีบำบัด

ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ที่เป็นโรคฮาชิโมโต้ (Hashimoto thyroiditis หรือ autoimmune thyroiditis) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรค COVID-19 ที่รุนแรงหรือไม่ 

ถึงแม้ Hashimoto thyroiditis จะมีสาเหตุจากภูมิในร่างกายที่ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยลง แต่มักไม่ได้มีผลต่อการทำงานของร่างกายในระบบอื่นๆ จึงไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป

ถ้ารับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์เป็นประจำ แต่แพทย์เลื่อนนัดตรวจออกไปจะทำอย่างไร

ขณะนี้สถานพยาบาลได้ปรับให้การรักษาแบบทางไกล (โทรศัพท์หรือ video call) สามารถส่งยาทางไปรษณีย์ได้ หรือเอาซองยาเดิมไปติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือร้านขายยาเพื่อรับยาเดิม (ถ้าไม่จำเป็น ให้หลีกเลี่ยงวิธีนี้ เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรค COVID-19 ให้ไปในระยะเวลาสั้นๆ และใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี ล้างมือบ่อยๆ และมี social distancing อย่างเคร่งครัด) ไม่ควรขาดยาเพราะอาจให้ร่างกายอ่อนแอได้ง่าย

ไทรอยด์

สำหรับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (= ฮอร์โมนไทรอยด์สูงกว่าปกติ หรือ hyperthyroidism)

ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ที่เป็นโรคเกรฟส์ (Graves’ disease) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรค COVID-19 ที่รุนแรงหรือไม่ 

ถึงแม้ Graves’ disease จะมีสาเหตุจากภูมิในร่างกายที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากกว่าปกติ แต่มักไม่ได้มีผลต่อการทำงานของร่างกายในระบบอื่นๆ จึงไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป

ถ้ายังรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษอยู่ต่อเนื่อง แต่แพทย์เลื่อนนัดตรวจออกไปจะทำอย่างไร

ขณะนี้สถานพยาบาลได้ปรับให้การรักษาแบบทางไกล (โทรศัพท์หรือ video call) สามารถส่งยาทางไปรษณีย์ได้ ถ้าจำเป็นต้องเจาะเลือดเพื่อปรับยา แนะนำให้มาเจาะเลือดอย่างเดียวและกลับบ้านไม่ต้องรอตรวจ (ไปในระยะเวลาสั้นๆ และใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี ล้างมือบ่อยๆ และมี social distancing อย่างเคร่งครัด) และค่อยติดต่อแบบทางไกลทีหลัง เพื่อลดโอกาสสัมผัสเชื้อโรค


ข้อมูล : thaiendocrine.org/th
ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

‘ลิ่มเลือดอุดตัน’ ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 จริงหรือ? และใครที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้

“วัคซีนใบยา” ป้องกันโควิด-19 โดยทีมนักวิจัยไทย คาดว่าจะฉีดได้ในต้นปี 2565

ทำความเข้าใจ “อาการแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19” จาก ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up