ฟื้นฟูร่างกายจากอาการ ปวดเมื่อย

5 เคล็ดลับทำได้ง่าย! ฟื้นฟูร่างกายจากอาการ ปวดเมื่อย หลังหมั่นออกกำลังกาย

Alternative Textaccount_circle
ฟื้นฟูร่างกายจากอาการ ปวดเมื่อย
ฟื้นฟูร่างกายจากอาการ ปวดเมื่อย

การออกกำลังกายที่บ้าน (Home Fitness) กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลังจากฟิตเนส สนามกีฬา และสวนสาธารณะ มีการปิดห้ามใช้งานไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม บางครั้งหลังจากเราออกกำลังกายที่บ้าน ไม่ว่าจะเลือกออกกำลังกับคลาส Body Combat ออนไลน์เรียกเหงื่อ หรือวิดีโอสอนออกกำลังกายออนไลน์อื่นๆ ก็ตาม เราอาจรู้สึก ปวดเมื่อย ร่างกายจนแทบขยับตัวไม่ไหว

ผศ.นพ. กรกฎ พานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และสมาชิกคณะกรรมที่ปรึกษาด้านโภชนาการของเฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น จึงมีคำแนะนำดีๆ ที่จะมาแบ่งปันแก่ผู้ออกกำลังกายอยู่ที่บ้านและผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งแบบ Virtual Run โดยเฉพาะคำแนะนำเกี่ยวกับการฟื้นฟูร่างกายอย่างเต็มที่หลังออกกำลังกายและการฝึกซ้อมทุกครั้ง เพราะการพักผ่อนและการเติมเต็มโภชนาการที่เหมาะสมจะช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่อ่อนล้าจากการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี     

5 เคล็ดลับทำได้ง่าย! ฟื้นฟูร่างกายจากอาการ ปวดเมื่อย หลังหมั่นออกกำลังกาย

ปวดเมื่อย หลังหมั่นออกกำลังกาย

1. การนอนอย่างมีคุณภาพ

การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ คือ การนอนหลับสนิทติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง โดยบทความของ Marshal G J.G. (2016) ระบุว่าการนอนอย่างมีคุณภาพอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อคืนมีความจำเป็นเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการฟื้นฟูนี้ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนออกมาหลายชนิด เช่น melatonin ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต ช่วยซ่อมแซมระบบต่างๆในร่างกายทั้งระบบภูมิคุ้มกัน กระบวนการเคมีในร่างกาย การอักเสบ ระบบกล้ามเนื้อ ระบบความคิดและความจำ สำหรับท่านที่ประสบปัญหาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่ม NCDs เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานได้

2. การรักษาสมดุลของน้ำ และเกลือแร่

การวิ่งที่สร้างความทนทานให้กล้ามเนื้อและหัวใจ (endurance exercise) อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอจะช่วยให้การฟื้นตัวของร่างกายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตัวอย่างของการออกกำลังกายแบบสร้างความทนทานให้กล้ามเนื้อและหัวใจคือการวิ่ง ซึ่งต้องใช้พลังงานของกล้ามเนื้อขา ต้นขาและน่อง เมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้แข็งแรงและทนทานขึ้น เมื่อคุณวิ่ง ประสิทธิผลก็จะดีขึ้นในขณะที่ความเร็วในการฟื้นตัวก็จะเร็วขึ้นด้วย ดูง่ายๆ เช่นอัตราการเต้นหัวใจขณะพัก ปกติ อาจอยู่ที่ประมาณ 70-80 ครั้งต่อนาที หากวิ่งสม่ำเสมอ อัตราการเต้นหัวใจขณะพักจะลดลงมาอยู่ในช่วง 60-70 ครั้งต่อนาทีได้ไม่ยาก และสิ่งหนึ่งที่ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำควรตระหนักอยู่เสมอ  คือ การรักษาสมดุลของน้ำทั้งก่อน ระหว่างและหลังการออกกำลังกาย โดยการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าหากสมดุลของน้ำและเกลือแร่ไม่แปรปรวนมาก ร่างกายของคุณจะฟื้นฟูได้ไวอย่างแน่นอน

3. การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่

การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ มีผลดีกับร่างกาย รวมถึงในด้านการฟื้นฟูร่างกายและการซ่อมแซมกล้ามเนื้อส่วนที่สึกหรอ เพราะนอกจากการนอนอย่างมีคุณภาพและการออกกำลังกายเป็นประจำแล้ว ร่างกายของมนุษย์ยังคงต้องการสารอาหารที่ใช้ในการซ่อมแซมร่างกายและฟื้นบำรุงอวัยวะส่วนต่าง ๆ แม้ในขณะที่นอนหลับก็ตาม ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าสารอาหารหลักที่ช่วยในการซ่อมแซมร่างกายคือคาร์โบไฮเดรต เปรียบเหมือนน้ำมันรถ และโปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ ที่พบใน เนื้อสัตว์ นม ไข่ และถั่ว ผัก ผลไม้  เหล่านี้เปรียบเหมือนน้ำมันเครื่อง รถจะไม่พังเร็วต้องดีทั้งน้ำมันเครื่อง และน้ำมัน การฟื้นฟูร่างกายแบบนักกีฬามืออาชีพ แนะนำให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ง่ายที่สุดเช่น นม 1 กล่องหรือโปรตีนเชคที่มีส่วนผสมของคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากการออกกำลังกายซึ่งเป็นช่วงนาทีทองที่ร่างกายเปิดรับสารอาหาร ที่จะไปเก็บในรูปของไกลโคเจนที่กล้ามเนื้อเพื่อใช้ในครั้งต่อไป

*สัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตที่นักกีฬาต้องการต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 6–10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมและโปรตีน 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

4. การคูลดาวน์ และยืดกล้ามเนื้อหลังจากการออกกกำลังกาย

อีกปัจจัยเพื่อการฟื้นฟูร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การทำคูลดาวน์ ซึ่งเปรียบได้กับการชะลอความเร็วเครื่องยนต์และยืดกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกาย ในขณะที่เราออกกำลังกายนั้น ร่างกายจะส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ หากเราหยุดวิ่งทันทีเลือดจะค้างอยู่ที่กล้ามเนื้อ ทำให้เลือดไม่สามารถเดินทางกลับไปที่หัวใจได้ในทันที การทำคูลดาวน์จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดกลับไปหัวใจอย่างนุ่มนวล เครื่องยนต์ไม่กระตุก ทำให้เลือดสูบฉีดออกจากหัวใจเพื่อไปยังอวัยวะและเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้อย่างดี ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งฟื้นฟูและซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้ดีขึ้นด้วย

5. การขับถ่าย

การขับถ่ายคือปัจจัยสุดท้ายที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลย เพราะการขับถ่ายของเสียทำให้ร่างกายรู้สึกสบายและโล่งมากขึ้น หลายท่านมีปัญหาปวดท้อง อยากถ่ายแต่ไม่ถ่าย จนนอนไม่หลับ ทรมาน ตื่นมาก็งัวเงีย ซึ่งจากงานวิจัยของ Rong Huang (2014) พบว่า คนออกกำลังกายจะท้องผูกน้อยกว่าคนไม่ออกกำลังกาย* เมื่อเราไม่สะสมของเสีย ร่างกายจะฟื้นฟูได้ดีมากขึ้น อยากท้องโล่ง ท้องสบาย ออกกำลังกายช่วยได้นะ

ฟื้นฟูอาการ ปวดเมื่อย

ถ้าทำได้ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นประจำอย่างมีวินัย เชื่อว่าการฟื้นฟูร่างกายจะต้องดีขึ้นและแน่นอนว่าจะเกิดผลดีมากมายกับตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นการมีร่างกายที่แข็งแรง กล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง และยังสามารถทำผลงานการเล่นกีฬาและออกกำลังกายได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย และไม่ว่าเป้าหมายของร่างกายคุณจะเป็นอย่างไร ก็จะสามารถพิชิตเป้าหมายนั้นได้อย่างง่ายดาย


 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แพทย์เตือน “ฉีดวิตามิน” เข้าหลอดเลือด อันตรายถึงชีวิต แนะหมั่น ทา ครีมกันแดด

อยากดูเด็กไปนานๆ ต้องรู้จัก “เทโลเมียร์” ชะลอวัย ยืดอายุเซลล์ทำให้ไม่แก่

ฉีดไว้ก็ดี! วัคซีนสำหรับผู้หญิง เพราะเป็นเพศที่การทำงานอวัยวะในร่างกายซับซ้อน

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up