โรค กรดไหลย้อน คือภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อนกลางหน้าอกหรือมีการเรอเปรี้ยว ตลอดจนอาการไอหรืออาการเจ็บหน้าอกในบางราย ซึ่งพบได้ทุกเพศทุกวัย รวมถึงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
กรณีอาการไม่รุนแรงหรือไม่กำเริบบ่อย กรดไหลย้อน อาจเพียงสร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากถูกละเลยจนกลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะภาวะอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหารจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารส่วนปลาย (Barrett’s esophagus) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารในที่สุด
กรดไหลย้อน เกิดจากสาเหตุใดบ้าง
- ความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งหูรูดของหลอดอาหารเริ่มเสื่อมสภาพ น้ำย่อยและอาหารในกระเพาะจึงไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก ซึ่งมักถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการรับประทานยาบางชนิด ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
- ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ส่งผลให้หลอดอาหารบีบตัวไล่น้ำย่อยที่ย้อนขึ้นมาได้น้อยลง ทำให้น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานขึ้น
- กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จนไม่สามารถนำอาหารที่ย่อยแล้วลงสู่ลำไส้ได้หมด อาหารจึงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน เกิดแรงดันในกระเพาะอาหารจนไปดันให้หูรูดเปิดออก อาหารและน้ำย่อยจึงย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร
- ปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ
- บุหรี่ การสูบบุหรี่ส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น รวมถึงกระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จึงทำให้น้ำย่อยและอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร
- ความเครียด ยังส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากเกินไป จนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
- การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด ส่งผลให้หูรูดหลอดอาหารคลายตัว โดยเฉพาะอาหารไขมันสูง คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และเปปเปอร์มินต์
- การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูง เช่น ส้ม มะนาว รวมถึงอาหารรสจัด ทำให้หูรูดเกิดการระคายเคืองได้
- การรับประทานยาบางชนิด อาจไปกระตุ้นให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน โดยผลข้างเคียงของยาจะส่งผลแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดยาหรือซื้อยามารับประทานเอง
- ความอ้วน เนื่องจากคนอ้วนมีความดันในช่องท้องมากกว่าคนทั่วไปทำให้เกิดความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้น
- การตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นความดันในกระเพาะก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์จึงเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อนมากขึ้น
การเช็คกรดไหลย้อนด้วยตัวเอง ทำได้ ดังนี้
- สังเกตอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ บางครั้งอาจปวดร้าวไปยังลำคอ เหมือนมีก้อนจุกอยู่ กลืนลําบาก แสบคอ คลื่นไส้ เรอบ่อย และมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาจนรู้สึกขมที่คอ
- จุกเสียด แน่นท้อง เหมือนอาหารไม่ย่อย อาจมีกลิ่นปาก หรือเสียวฟันร่วมด้วย
- หลังรับประทานอาหารมักเกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน หรือไอแห้งๆ บ่อยๆ
- เสียงแหบในช่วงเช้า หรือแหบเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาทำให้กล่องเสียงอักเสบ
- สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกขณะนอนหลับ
การรักษา กรดไหลย้อน
- รับประทานยาลดกรด ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะ ซึ่งควรรับประทานตามแพทย์สั่ง โดยไม่ซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาที่ไม่ถูกวิธี
- ผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการรับประทานยา หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา
การป้องกันกรดไหลย้อน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กระเพาะหลั่งกรดมากเกินไป เช่น อาหารไขมันสูง และอาหารรสจัด งดเครื่องดื่มคาเฟอีนและ แอลกอฮอล์ รวมถึงเลิกสูบบุหรี่
- ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกาย
- ไม่นอนราบ ออกกำลังกาย หรือทำงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ ทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ โดยควรรอให้อาหารย่อยประมาณ 2-3 ชั่วโมง
- ไม่ควรนอนหลังรับประทานอาหารทันที ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมง
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มักประสบกับภาวะกรดไหลย้อน โดยเฉพาะเมื่อครรภ์เข้าสู่ไตรมาสท้ายๆ เนื่องจากขนาดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นไปเบียดกระเพาะอาหาร จนกรดและอาหารในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร รวมถึงผลกระทบจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ ส่งให้ระบบย่อยอาหารทำงานลดลง
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดอาการกรดไหลย้อน ไม่ควรซื้อยาลดกรดมารับประทานเองเด็ดขาด เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือตัวคุณแม่เอง โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูอาการและทำการรักษา
โรคกรดไหลย้อนอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้เสียบุคลิกภาพ แต่หากไม่ทำการรักษาปล่อยไว้เรื้อรังอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารและเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรดูแลสุขภาพอนามัยอยู่เสมอ พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่ให้เกิดโรคกรดไหลย้อน รวมถึงปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อห่างไกลจากกรดไหลย้อนอย่างจริงจังและยั่งยืน
ข้อมูล : นพ. อนุพงศ์ ตั้งอรุณสันติ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบทางเดินอาหาร รพ. สมิติเวช สุขุมวิท
ภาพ : Pexels
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เรื่องใกล้ตัวที่ห้ามปล่อยผ่าน “ฮอร์โมนผิดปกติ” เสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ลองหาทำ 25 ข้อ เปลี่ยนพุงพลุ้ยเป็นหุ่นเพรียว แค่ปรับไลฟ์สไตล์การกินอยู่
จะอ้วนหรือไม่อ้วนอยู่ที่ “ปาก” กับ 8 ข้ออ้าง ตามใจปาก ที่คนชอบกินควรรู้ทัน!