เรื่องใกล้ตัวที่ห้ามปล่อยผ่าน “ฮอร์โมนผิดปกติ” เสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

Alternative Textaccount_circle

ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ชอบใจเวลามีประจำเดือน เพราะต้องระวังรอยเลอะ กลัวกลิ่นอับ และเกิดอาการปวดหน่วงท้องน้อย พอประจำเดือนไม่มาก็ชะล่าใจ คิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะหากปล่อยไว้นานอาจนำไปสู่โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเราได้ขอวิธีเช็คตัวเองว่าเสี่ยง ฮอร์โมนผิดปกติ หรือไม่ พร้อมวิธีการรักษาจาก “เรืออากาศเอกหญิง พญ.ภัทรพร ภู่ทอง” สูตินรีแพทย์ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ มาฝากค่ะ

เริ่มจากการเช็คลิสต์ตัวเอง 

  • รอบประจำเดือนปกติ ให้นับวันแรกที่ประจำเดือนมาเป็นวันที่หนึ่ง รอบถัดไปควรมาในอีก 28 วันข้างหน้า หรือถ้ามาในช่วงวันที่ 21 – 35 ก็ยังถือว่าปกติ เช่น ประจำเดือนมาวันแรกตรงกับวันที่ 1 ม.ค. รอบถัดไปควรเริ่มมาวันที่ 28 ม.ค. หรือถ้ามาช่วงวันที่ 21 ม.ค.-4 ก.พ. ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ปริมาณประจำเดือนปกติ ควรมีปริมาณเฉลี่ยไม่เกิน 80 – 100 ซีซี. เทียบเท่าการใส่ผ้าอนามัย 3 – 4 แผ่นต่อวัน
  • Tip : ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 3 – 5 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการอับชื้น

ฮอร์โมนผิดปกติ

อาการผิดปกติของประจำเดือน

  • มามาก จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยมากกว่าวันละ 4 แผ่น บางรายมีลิ่มเลือดปนด้วย
  • มาน้อย 35 วันผ่านไปประจำเดือนยังไม่มาสักที
  • มากะปริบกะปรอยหรือมาถี่เกินไป เช่น ประจำเดือนเพิ่งหมดไป 3 วันก็มีต่อทันที

ส่วนสาเหตุที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ

  1. ตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปจนประจำเดือนขาด
  2. ยาคุมกำเนิดบางประเภท ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย จนกดการทำงานของรังไข่
  3. ความเครียด ส่งผลให้ฮอร์โมนผิดปกติ เช่น นักกีฬาที่ต้องซ้อมหนักๆ นักศึกษาที่กำลังเตรียมสอบ
  4. รังไข่ทำงานผิดปกติ อาจเกิดจากการกินอาหารขยะ อาหารที่ปนเปื้อนสารเร่งการเจริญเติบโต อาหารมันๆ อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ฯลฯ
  5. ฮอร์โมนผิดปกติ ถ้าปล่อยให้ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนไม่สมดุลกันไปเรื่อยๆ ฮอร์โมนเพศหญิงจะเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเพศชาย และอาจเกิดปัญหาสิว หน้ามัน ขนดก ฯลฯ ตามมา

ในเรื่องของการรักษานั้น 

  • ถ้าประจำเดือนมากเกินไป การขูดมดลูกจะช่วยหยุดเลือด แถมแพทย์ยังได้ชิ้นเนื้อมาตรวจด้วย (แต่ถ้าประจำเดือนมาน้อย แพทย์จะใช้วิธีดูดชิ้นเนื้อมาตรวจแทน)
  • ไข่ไม่ตก แพทย์จะให้กินยาปรับฮอร์โมน 1 – 2 เดือน กระตุ้นให้ไข่ตก ช่วยกรณีมีบุตรยาก
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์และไม่พบการตั้งครรภ์ แพทย์จะให้กินยาคุมกำเนิดเพื่อกดการทำงานของรังไข่ จนทำให้ประจำเดือนมาปกติ
  • เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความต้องการมีบุตรของคนไข้ ถ้าไม่มีอาการผิดปกติ อาจใช้การตรวจ
    ติดตามขนาดของเนื้องอกทุกเดือน ถ้าพบความผิดปกติจะรักษาตามอาการหรืออาจต้องผ่าตัด ขึ้นอยู่คนไข้แต่ละคน
  • เนื้องอกชนิดร้ายแรงต้องผ่าตัดและต้องการเวลาพักฟื้นกรณีที่เยื่อบุโพรงมดลูกหนามาก แต่ไม่ถึงกับเป็นมะเร็ง แพทย์อาจให้ยารักษาตามอาการ หรืออาจแนะนำให้ตัดมดลูก ขึ้นอยู่กับว่าต้องการมีลูกในอนาคตหรือไม่ ถ้าพบสาเหตุเนื้องอกตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ผ่าตัดได้โดยเก็บมดลูกและรังไข่ไว้ แต่ถ้าปล่อยให้เนื้องอกใหญ่ขึ้นจนมีขนาด 10 เซนติเมตรขึ้นไป อาจต้องตัดมดลูก

ปล.คีมปากเป็ดสำหรับตรวจภายในยาวแค่ 9 ซม. กว้างเพียง 1 ซม. ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดนะจ๊ะ

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับประจำเดือน

  • ดื่มน้ำเย็น ไม่มีผลกระทบต่อประจำเดือน เพราะร่างกายจะปรับอุณหภูมิของน้ำไปตามกระบวนการย่อยอาหาร ความเย็นของน้ำจึงไปไม่ถึงกระเพาะอาหารหรือมดลูก
  • ประคบร้อน ถุงน้ำอุ่นลดอาการปวดประจำเดือนได้ ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อมดลูกที่เกร็งตัว แต่ถ้าน้ำร้อนมากเกินไปอาจทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ เพราะความร้อนจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว

มีคาถาเรียกประจำเดือนมาบอก

• งดหรือปรับลดบุหรี่และแอลกอฮอล์
• งดอาหารไขมันสูง
• พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกสมาธิ ปรับอารมณ์ให้สดชื่น
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอช่วยรักษาระดับฮอร์โมนให้สมดุล

“คอเลสเตอรอล” เป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนเพศทุกชนิด สาวๆ กลัวอ้วนที่เลือกกินแต่อาหารไร้ไขมัน ร่างกายอาจขาดวัตถุดิบในการสร้างฮอร์โมน ในทางกลับกันถ้ากินไขมันมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดีต่อระบบการทำงานของฮอร์โมนนะจ๊ะ


ภาพ : Pexels , Howcast

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up