วัณโรคหลังโพรงจมูก

รู้จักเพื่อป้องกัน “วัณโรคหลังโพรงจมูก” โรคหายากที่คร่าชีวิต “น้ำตาล บุตรศรัณย์”

Alternative Textaccount_circle
วัณโรคหลังโพรงจมูก
วัณโรคหลังโพรงจมูก

จากกรณีการเสียชีวิตจากโรคปริศนาของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือ น้ำตาลเดอะสตาร์ 5 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 นั้น ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้ขออนุญาตส่องกล้องเข้าไปดูบริเวณหลังโพรงจมูกและพบบริเวณเยื่อบุหลังโพรงจมูกมีสีผิดปกติไป จากปกติขนาดประมาณ 0.5 – 1 ซม. และตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าว เพื่อนำมาตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาหาสาเหตุการเสียชีวิต

ซึ่งเช้าวันนี้ 26 มิถุนายน 2562 เวลา 9.30 น. ทาง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ แพทย์เจ้าของไข้ ของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือ น้ำตาล เดอะสตาร์ 5 ได้ร่วมกันรายงานผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูกของ น้ำตาล โดยระบุว่า

“ระหว่างตัดชิ้นเนื้อพบมีเลือดไหลออกมา หลังจากย้อมชิ้นเนื้อ พบว่าเข้าได้กับวัณโรคแต่ไม่พบเชื้อ คณะฯ จึงได้ทำการตรวจอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า PCR (Polymerase Chain Reaction) คือการตรวจหา DNA ของเชื้อวัณโรคได้ผลเป็นบวก (positive) ผลการตรวจ PCR ดังกล่าวและผลการตรวจชิ้นเนื้อจึงบ่งชี้ว่า มีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก ซึ่งในกรณีนี้มีโอกาสติดต่อกันได้น้อยจากสถิติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คนจากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอด ร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด

สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด อีกทั้งวัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกมีรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่าผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใดๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตหรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง

ข้อแนะนำสำหรับประชาชนจากกรณีของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว คือ

  • อุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังไม่ลดลงสามารถเกิดได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัยและสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายอวัยวะ
  • ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากพบสิ่งผิดปกติใดๆ จำต้องสืบค้นจนพบสาเหตุของความผิดปกตินั้น
  • แม้การตรวจร่างกายจะปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่ง เช่น น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ คลำได้ก้อนผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ”

และ แพรวดอทคอม จะพามารู้จักว่า โรควัณโรคหลังโพรงจมูก คืออะไร

วัณโรค คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เล็กมาก คือเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ติดต่อโดยการสูดอากาศที่มีตัวเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีความคงทนต่ออากาศแห้ง ความเย็น ความร้อน สารเคมี และอยู่ในอากาศได้นาน ยกเว้นไม่ทนทานต่อแสงแดด

เมื่อคนสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อวัณโรคที่มีขนาดใหญ่จะติดอยู่ที่จมูกหรือลำคอ ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ส่วนที่มีขนาดเล็กๆ จะเข้าไปสู่ที่ปอด เชื้อจะถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากมีเชื้อที่ถูกทำลายไม่หมดจะแบ่งตัวทำให้เกิดการติดเชื้อ ถ้าระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงจะสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อวัณโรค

เชื้อวัณโรคจะแพร่โดยเชื้อจนอยู่ในเสมหะที่มีขนาด 1-5 ไมครอนซึ่งจะไปถึงถุงลมในปอดและทำให้เกิดการติดเชื้อ เสมหะนี้จะเกิดจากการไอ จาม พูดหรือร้องเพลง เชื้อโรคอาจจะอยู่ที่กล่องเสียงหรือในปอด หากเสมหะมีขนาดใหญ่กว่านี้จะถูกติดที่เยื่อบุโพรงจมูก ซึ่งตามปกติไม่ทำให้เกิดโรค

โดยส่วนใหญ่แล้วจากสถิติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คน จากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอด ร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด แม้ว่าส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยเป็นโรควัณโรคที่ปอด แต่วัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย

สำหรับ วัณโรคหลังโพรงจมูก พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด นั่นหมายถึงเป็นกรณีที่พบได้ค่อนข้างยากนั่นเอง และในกรณีของโรควัณโรคหลังโพรงจมูก พบว่ามีการติดต่อกันได้น้อยกว่าวัณโรคชนิดอื่น

วัณโรค พบได้ในส่วนใดของร่างกายได้บ้าง
นอกจากปอด และโพรงจมูกที่ไม่ค่อยพบแล้ว เราอาจสามารถพบวัณโรคได้ในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่พบได้เป็นส่วนน้อย เช่น เยื่อหุ้มสมอง เนื้อสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ กระดูกสันหลัง ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง มดลูก อัณฑะ หรืออาจจะบอกได้ว่าเป็นได้ทุกส่วนของอวัยวะในร่างกาย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค

  • จำนวนเชื้อวัณโรคที่อยู่ในอากาศ
  • ความเข้มข้นของเชื้อโรค ซึ่งขึ้นกับปริมาณเชื้อ และการถ่ายเทของอากาศ
  • ระยะเวลาที่คนอยู่ในห้องที่มีเชื้อโรค
  • ภูมิคุ้มกันของคนที่สัมผัสโรค

อาการของวัณโรคหลังโพรงจมูก จากรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่า ผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใดๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก ไม่เหมือนกับโรควัณโรคปอดทั่วไปที่จะมีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ไอมีเลือดออก เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ด้วย

การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูก จึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อน หรือต่อมน้ำเหลือง

การป้องกันโรควัณโรค

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนมากๆ พื้นที่พลุกพล่าน พื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรควัณโรค
  2. ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่แออัด ควรใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันการสูดดมละอองฝอยน้ำลายจากการไอ จาม ของผู้ป่วย รวมถึงเชื้อโรคที่พบได้ในอากาศ
  3. รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากภูมิต้านทานโรคในร่างกายทำงานได้ดี ก็จะมีความเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคได้น้อยลงมาก
  4. หากเป็นผู้ป่วยที่ต้องอยู่ในภาวะภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เป็นผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
  5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรควัณโรค
  6. ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี
  7. แม้การตรวจร่างกายจะปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่ง เช่น น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารมี ไข้ต่ำๆ คลำได้ก้อนผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

วัณโรคสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายอวัยวะ แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกมากนัก เพราะวัณโรคเป็นโรคที่รักษาได้หากพบว่าเป็นโรคนี้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ดังนั้น จึงควรหมั่นตรวจเช็คร่างกาย และสังเกตความผิดปกติของร่างกายเป็นประจำด้วยนะคะ


ข้อมูล : ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์,กลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติรายการพบหมอรามา ช่วง ลัดคิวหมอ วันที่ 1 มิ.ย. 2559นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 347Siam Health
ภาพ : numtarny

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ตายเฉียบพลันอันดับหนึ่ง! โรคหลอดเลือดดำอุดตัน อันตรายร้ายแรงที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก

ตายได้! “มะเร็งเต้านม” มะเร็งร้าย ถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบระยะต้นมีโอกาสรอด

อย่าเมิน! 5 เช็คลิสต์สุขภาพสำหรับสาวๆ สำคัญนะอย่ารอให้ลุกลามจนร้ายแรง

สาเหตุที่ “มะเร็งปอด” ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต และพบมากสุดอันดับ 5 ในเพศหญิง

ก่อนเรื้อรังหนัก “กรดไหลย้อน” โรคฮิตชีวิตคนเมืองป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ไม่ต้องผ่าตัด! นวัตกรรมใหม่รักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ผู้หญิงวัย 30+ เสี่ยงสูง

4 จุดริ้วรอยบอกโรค! ส่วนไหนไม่ปกติ ส่วนไหนบกพร่อง สะท้อนสุขภาพจากภายใน

กลิ่นปาก ทำเสียบุคลิก! 5 ทางแก้ปัญหาสุขภาพฟันวัยทำงานที่ไม่ควรละเลย

กินไว้ให้เป็นนิสัย! กับ 6 สุดยอดกลุ่มอาหารต้านมะเร็งที่ผู้หญิงควรใส่ใจ

เช็คเลย “ตกขาว แบบไหนไม่ธรรมดา” อย่าปล่อยไว้ไม่ไปหาหมอเพราะความอาย!!

รู้ไหมว่า..ทั้งชายและหญิงถ้าขาดฮอร์โมนจะมีอาการยังไง และควรรับมือแบบไหน

แชร์ภัยร้ายของ MPS อาการคล้าย ออฟฟิศซินโดรม แต่ร้ายและรุนแรงกว่ามาก!!

Praew Recommend

keyboard_arrow_up