ออกกำลังกายท่ามกลางมลพิษ

4 วิถีสายเอ้าท์ดอร์ ออกกำลังกายท่ามกลางมลพิษ ให้รับผลกระทบสุขภาพน้อยที่สุด

Alternative Textaccount_circle
ออกกำลังกายท่ามกลางมลพิษ
ออกกำลังกายท่ามกลางมลพิษ

คิดว่าทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญต่อการมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี ทั้งยังช่วยพัฒนาระบบปอดและระบบไหลเวียนเลือดให้แข็งแรง แต่เมื่อมีการสัมผัส มลพิษทางอากาศ ในขณะออกกำลังกาย ผลลัพธ์ต่อสุขภาพอาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้นั้นมีโรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคระบบไหลเวียนเลือดอื่นๆ

แม้ว่าจะไม่ได้ออกกำลังกาย การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ก็สามารถก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพ แต่เมื่อมีมลพิษทางอากาศในขณะที่กำลังออกกำลังกาย ปัญหาต่อสุขภาพอาจมีความรุนแรง “เพิ่มขึ้น” ได้

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ในช่วงกิจกรรมการออกกำลังกาย เรามักจะมีการหายใจที่ลึกขึ้น สูดอากาศเข้าไปถี่มากขึ้น และมีแนวโน้มที่หลายคนจะหายใจผ่านทางปาก หากออกกำลังกายในระดับที่ค่อนข้างหนัก ซึ่งอาจทำให้ได้รับมลพิษทางอากาศเข้าไปเพิ่ม (ในกรณีหลัง อากาศที่เข้าสู่ปอดจะไม่ได้ผ่านระบบกรองเหมือนการหายใจปกติทางจมูก)

4 วิถีสายเอ้าท์ดอร์ ออกกำลังกายท่ามกลางมลพิษ ให้รับผลกระทบสุขภาพน้อยที่สุด

ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจากมลพิษทางอากาศ ได้แก่

  • เพิ่มโอกาสในการเกิดอาการของโรคหอบหืด
  • ทำให้อาการของคนไข้ที่มีโรคปอดอยู่เดิมแย่ลง
  • เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองแบบเฉียบพลัน
  • อาจก่อความเสียหายระยะยาวในระบบทางเดินหายใจ
  • เพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดหรือกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจต่างๆ

สิ่งที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องมลพิษทางอากาศและการออกกำลังกาย คือ เรื่องระดับของมลพิษ และระยะเวลาที่มีการสัมผัส แต่ด้วยเพราะการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่ชัดเจน จึงไม่แนะนำให้เลิกออกกำลังกายกลางแจ้งทั้งหมด (ยกเว้นกรณีมีข้อแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลท่านอยู่) แต่ควรจะหาวิถีทางเพื่อให้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศขณะออกกำลังกายให้น้อยที่สุด เช่น

  1. ตรวจสอบระดับมลพิษทางอากาศจากแหล่งข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น aqmthai.com ของกรมควบคุมมลพิษ หรือจากทางหนังสือพิมพ์บางฉบับ
  2. เลือกเวลาออกกำลังกายที่เหมาะสม แนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใกล้ถนนสัญจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
  3. หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูง ยกตัวอย่างเช่น ระดับมลพิษมีแนวโน้มที่จะสูงที่สุดและจะลดลงตามระยะห่างจากถนน หรือสภาพแวดล้อมในเมืองมักมีระดับมลพิษสูงกว่าชานเมือง
  4. อาจสลับจากการออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นการออกกำลังกายในร่มเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่คุณภาพอากาศไม่ดี

และหากท่านใดมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจหรือระบบไหลเวียนเลือดอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลท่าน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ


ขอบคุณข้อมูลจาก : นพ.ณัฐพล โรจน์เจริญงาม แพทย์นักวิ่งประจำโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ภาพ : Pexels

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up