หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก…เล่าถึงท่านชิ้น-หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ (ตอนที่29)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก ในห้วงยามที่สงครามโลกในเอเชียใกล้จะสิ้นสุดลง

หม่อมเจ้าการวิก ในห้วงยามที่สงครามโลกในเอเชียใกล้จะสิ้นสุดลง หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ  สวัสดิวัตน์ ได้เตรียมเดินเดินทางเข้ามาปฏิบัติการในเมืองไทย แต่ทางอังกฤษสงสัยว่า จะทรงได้รับการต้อนรับจากเสรีไทยในเมืองไทยหรือไม่ เพราะสถานะความเป็นเจ้าของท่าน กับผู้นำเสรีไทยในเมืองไทย ที่เคยเป็นฝ่ายเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ.2475

ผมขอย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ในปีพ.ศ.2488 ซึ่งในปีนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นความหวังของคนทั่วโลกที่อยากจะเห็นความสงบสุขกลับคืนมาอีกครั้ง แต่กว่าจะบรรลุถึงจุดนั้นมิใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว ทรัพยากรอันมีค่ารวมถึงชีวิตของมนุษยชาติต้องถูกสังเวยในเปลวเพลิงแห่งสงครามเหลือนับคณา…

เย็นวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2488 คณะซาวันนา (SAVANA) นำโดยทศ (หัวหน้าคณะ) จีริดนัย (ช่างวิทยุ) และบุญส่ง (ผู้ช่วย) ได้รับคำสั่งให้ขึ้นเครื่องบินลิเบอเรเตอร์ (B-24) เพื่อกระโดดร่มเข้าเมืองไทยที่ภูกระดึง จังหวัดเลย โดยมีเสนาะ ประโพธ และเทพ พร้อมสมาชิกเสรีไทยในประเทศจำนวนหนึ่งมารอรับ

ก่อนหน้านั้น ทางอังกฤษพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะติดต่อกับไทยหรือให้ไทยส่งคนมาติดต่อ จนตอนหลังถึงตัดสินใจเลือกหาบุคคลที่อาสาเข้ามาประเทศไทยเพื่อติดต่อกับ ‘รู้ธ’ (นายปรีดี) หลังจากที่ทราบว่า ทางอเมริกันติดต่อไทยได้แล้ว และกำลังจะส่งนายทหารอเมริกันเข้าไทย แต่ทาง S.O.E. ลอนดอนไม่ยินยอมให้กิลคริสต์ ซึ่งเคยทำงานในสถานทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯและพูดไทยได้เข้ามา เพราะระแวงว่าทหารฝรั่งในกองกำลัง 136 มีความชอบพอลำเอียงต่อคนไทยและเชื่อคนไทยง่ายๆ ปู่จุดกับกิลคริสต์จึงต้องเสียเวลาค้นหานายทหารอังกฤษที่มีคุณสมบัติเหมาะสม คือต้องเป็นคนอังกฤษ มีสุขภาพดีพอจะกระโดดร่มได้ รู้จักเมืองไทยและสถานการณ์ในประเทศพอควร และต้องมีความรู้ทางทหารพอที่จะพิจารณาแผนการทางทหารในระดับสูงได้ ทั้งกับฝ่ายไทยและกองบัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร (SEAC) จนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ.2488 จึงได้พลจัตวา วิกเตอร์ เจคส์ (VICTOR JACQUES) ซึ่งเคยมีสำนักงานทนายความที่มีชื่อเสียงอยู่ในกรุงเทพฯหลายปี ความสามารถทางทหารเคยได้รับเหรียญกล้าหาญ (MILITARY CROSS) ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึง 3 ครั้ง เป็นผู้อาสา กว่าจะทำเรื่องโอนตัวกันเสร็จ ผู้แทนทหารอเมริกันคือ พันตรี ดิ๊ก กรีนเลย์ และร้อยเอก จอห์น เวสเตอร์ ก็ได้เดินทางเข้ามาเมืองไทยแล้ว

ต่อมาทางอังกฤษตกลงให้ฝ่ายไทยส่งคณะผู้แทนไทยออกมาเจรจากับกองบัญชาการทหารสูงสุดในแคนดี้โดยไม่อิดออด โดยส่งเครื่องบินทะเลสองลำมารับคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยนายดิเรก ชัยนาม (หัวหน้าคณะ) พลโท หลวงชาตินักรบ (สุข ชาตินักรบ) เสนาธิการทหารบก นายถนัด คอมันตร์ และพลพรรคในประเทศอีก 8 คน ที่เกาะเต่า (ทางเหนือของเกาะสมุย) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ โดยมีจุ๊นเคงร่วมทางมาด้วย และพลพรรคทั้งแปดนั้นได้ถูกส่งไปรับการอบรมแบบพวกช้างดำ โดยใช้ชื่อรหัสว่า ‘ช้างสีน้ำตาล’(BROWNS) คณะผู้แทนไทยอยู่ในแคนดี้ 4 วันก็เดินทางกลับโดยเครื่องบินทะเล มีประพฤทธิ์ซึ่งเป็นนักวิทยุมือดีคนหนึ่งของกลุ่มช้างเผือกร่วมทางกลับเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยด้วย

เมื่อพลจัตวา เจคส์ เดินทางถึงกัลกัตตาเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2488 แล้ว ปู่จุดก็กำหนดตัวบุคคลที่จะส่งเข้าประเทศไทย เพื่อติดต่อกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทยอีก 2 คน คือ พันตรี ฮอบบส์ (นายเหนื่อย) และเสรีไทยอีกคนหนึ่งที่เหมาะสมคือ ท่านชิ้น หรือพันตรี หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ เนื่องจากท่านทรงเป็นทหารอาชีพ จบวิชาทหารจากโรงเรียนวูลวิช (WOOWICH) อยู่ในหน่วย ROYAL HORSE ARTILLERY ในอังกฤษ และรับราชการในกองทัพบกไทย แต่ว่ามีข้อกังขาอยู่ประการหนึ่งคือ ท่านทรงเป็นเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และเคยเป็นผู้บังคับบัญชาการทหารรักษาพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในระยะที่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง และทรงปกป้องพระเจ้าอยู่หัวด้วยความจงรักภักดี ทำให้คณะราษฎรไม่พอใจที่ทรงขัดขวางการดำเนินการ

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงมีเรื่องขัดแย้งกับคณะราษฎรถึงขนาดที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติและเสด็จฯมาประทับอังกฤษ ท่านชิ้นได้ตามเสด็จมาด้วย แล้วการที่หัวหน้าเสรีไทยในประเทศก็เป็นบุคคลสำคัญในบรรดาผู้นำคณะราษฎร จึงเกรงว่าอาจเกิดความรังเกียจ ทางกองกำลัง 136 จึงส่งวิทยุถามมาว่าขัดข้องหรือหากจะส่งท่านเข้ามาด้วย

‘รู้ธ’ ตอบกลับมาทันทีว่า ยินดีที่จะเสด็จมาติดต่อด้วยพระองค์เอง เพราะขบวนการต่อต้านมีเจตนาสำคัญเพียงประการเดียวที่จะรักษาเอกราชของชาติไทย และยึดความสามัคคีเป็นหลักใหญ่ คนไทยทุกคนไม่ว่าเป็นใคร ถ้าเป็นผู้รักชาติย่อมถือว่าเป็นคณะเดียวกัน แต่ปู่จุดยังไม่มั่นใจ จึงแอบส่งวิทยุถามความเห็นส่วนตัวของป๋วย ป๋วยตอบว่าเขาเชื่อในความจริงใจนายปรีดี

ต่อมาท่านชิ้นได้ขอให้ส่งวิทยุในนามของท่านถึงนายปรีดีโดยตรง ทรงขอบใจที่ยินดีต้อนรับ ซึ่งทรงปรารถนาจะร่วมงานเพื่อรับใช้ชาติด้วย แต่ขอถามว่าจะปฏิบัติอย่างไรต่อพระสหายของท่านที่ต้องโทษการเมืองอยู่ในเวลานั้น นายปรีดีตอบกลับมาว่า จะรีบหาทางปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ ภายหลังทรงได้รับเลื่อนเป็น ‘สมเด็จ กรมพระยา’) ตลอดจนออกกฎหมายนิรโทษกรรมทันทีที่มีโอกาสทำได้ เมื่อทุกฝ่ายตกลงทำความเข้าใจกันในปัญหาขัดข้องใจต่างๆกันเป็นที่พอใจแล้ว ปู่จุดก็เตรียมการที่จะส่งนายทหารทั้งสามคนเข้าประเทศไทย

ก่อนที่นายทหารผู้ใหญ่ทั้งสามจะเข้ามานั้น ปู่จุดได้ทูลทาบทามท่านชิ้นให้เตรียมตัวด้วยการฝึกกระโดดร่ม แต่ท่านรับสั่งว่า ยินดีที่จะเข้าไทยโดยไม่ต้องกระโดดร่มได้ไหม ทรงยอมรับตรงๆว่ากลัว (ท่านนึกว่าท่านกลัวอยู่องค์เดียว) และขอให้เจรจาขอเครื่องบินทะเลไปส่งแทน

ปู่จุดทูลว่า ไม่แน่ใจว่าจะได้ ด้วยทางฝ่ายกองทัพอากาศไม่สู้เต็มใจให้เอาไปใช้เพื่อส่งคนเข้าประเทศ เพราะเครื่องบินทะเลเสี่ยงอันตรายมากกว่าใช้เครื่องลิเบอเรเตอร์ เนื่องจากบินช้า หากเผชิญกับเครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่นก็จะไม่มีทางสู้หรือหนีทัน แต่ท่านก็แย้งว่า ในเมื่อกองทัพอังกฤษยินยอมให้เครื่องบินทะเลรับส่งคณะผู้แทนรัฐบาลไทยแล้ว เหตุใดจึงขัดข้องที่จะพานายทหารทั้งสาม ซึ่งนับว่าอาวุโส เพราะวัยเกินกว่า 40 ปีทั้งสิ้นเล่า (ท่านชิ้นเองขณะนั้นชันษา 44 ปี) ปู่จุดจึงทูลว่าจะลองขอดู แต่จะได้หรือไม่ก็ไม่อาจทราบ แต่ว่าทั้งพลจัตวา เจคส์ และพันตรี ฮอบบส์ กระโดดร่มได้ ฉะนั้นขอให้ท่านไปฝึกกระโดดร่มเพียงสองครั้ง เพื่อพร้อมที่จะเดินทางได้ทั้งสองวิธี

หม่อมเจ้าการวิก ทรงสเก็ตช์องค์เอง ในการรับ-ส่งวิทยุ

ท่านชิ้นทรงบ่นกระปอดกระแปดว่า ถ้าท่านพลาดพลั้งแข้งขาหักเข้าเมืองไทยไม่ได้ ท่านจะยิงปู่จุด และขู่เข็ญอีกว่า หากท่านเข้าเมืองไทยได้โดยไม่ต้องกระโดดร่มละก็น่าดู ในที่สุดท่านก็ทรงยอมไปฝึก โดยพันโท ฮัดสัน (HUDSON) และผมไปกระโดดเป็นพี่เลี้ยงที่เมืองเจสซอร์ (JESSORE) ใกล้กัลกัตตา เมืองนี้.oปัจจุบันมีสนามบินใหญ่ชื่อดัมดัม (DUM DUM)

พันโท ฮัดสันผู้นี้เป็นเพื่อนสนิทของท่าน ซึ่งเขายอมให้ท่านเคี่ยวเข็ญทุกอย่าง ชื่อของเขาเป็นชื่อยี่ห้อสบู่ที่ดังพอสมควร เพื่อนๆเลยเรียกว่า ไอ้โซฟี่’ หรือไอ้สบู่ เขาเป็นผู้มีอัธยาศัยอ่อนโยนคล้ายผู้หญิงนิดๆ แต่ความเป็นจริงเป็นคนที่เข้มแข็งที่สุด เคยกระโดดร่มลงไปช่วยรบกับเยอรมันที่ฝรั่งเศสแล้วถูกจับ แต่แหกคุกออกมาได้

เขาเดินเท้าหนีออกจากฝรั่งเศสเพื่อลงเรือในโปรตุเกสข้ามกลับอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายในการหลบหนี ด้วยการเดินเท้าหลายร้อยกิโลเมตร ต้องปลอมตัวเป็นชาวบ้าน และเขาพูดภาษาฝรั่งเศสได้ดีทำให้เขาเดินทางกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย

 

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up