ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก กับชีวิตทหารเสรีไทย (ตอนที่17)
หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก สิ้นพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ เริ่มต้นชีวิตทหารเสรีไทย (ตอนที่17)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก เริ่มต้นชีวิตทหารเสรีไทย

หม่อมเจ้าการวิก กับจุดเปลี่ยนอีกครั้งในช่วงที่สงครามโลกกำลังคุกรุ่นไปทั่วโลกนั้น  พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรมของในหลวงรัชกาลที่ ที่ทรงสมัครเป็นทหารอังกฤษและร่วมปฏิบัติการทางทหารได้ทรงประสบอุบัติเหตุสิ้นพระชนม์ ทิ้งชายา-หม่อมมณีต้องเป็นม่ายอยู่กับโอรสวัยทารกเพียงลำพัง ขณะที่หม่อมเจ้าการวิกทรงเริ่มเข้าฝึกเป็นทหารอาสาเสรีไทย

ถ้าจะเปรียบชีวิตคนเหมือนลำเทียนที่ถูกจุดส่องสว่าง เปลวไฟก็คงจะค่อยๆลามเลียไปจนหมดเชื้อ อุปมาดังสิ้นอายุขัย หากเปลวไฟนั้นถูกดับโดยพลัน ทั้งที่ยังเหลือเชื้ออีกมาก โอกาสที่จะส่องแสงสกาวเพื่ออำนวยประโยชน์ก็ไม่มีอีกต่อไป ทว่าลำเทียนที่ดับนั้นยังอาจถูกจุดขึ้นใหม่ได้ แต่ชีวิตคนไม่อาจฟื้นคืน จะเหลือไว้ก็เพียงคุณงามความดีให้ผู้อื่นรำลึกถึงชั่วกาล…

ต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2485 เมื่อผมมาอยู่ที่ค่ายทหารเด็นบี้ได้ไม่กี่วัน ก็ได้รับทราบข่าวร้ายที่สุดข่าวหนึ่ง คือ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ซึ่งทรงปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยกองบิน A.T.A. ทรงประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก! เพราะชนภูเขา ขณะทรงปฏิบัติหน้าที่ในเขตสก็อตแลนด์เนื่องจากมีหมอกมากและสิ้นพระชนม์ทันที นับเป็นข่าวที่เศร้าสลดยิ่ง ผมรู้สึกเห็นใจครอบครัวของท่านนัก ด้วยเพิ่งทรงมีโอรสที่ยังเยาว์มากถึง 2 คน (คือหม่อมราชวงศ์เดชนศักดิ์ และหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์) และเสียดายที่ทรงด่วนสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงหนุ่มมาก ชันษาแค่ 25 ปี หากทรงมีพระชนม์ต่อไปก็อาจจะทรงทำประโยชน์แก่ส่วนรวมต่อไปได้อีกมาก

พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตในวัยหนุ่ม

 

ก่อนหน้านั้น หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯได้ทรงเคยชักชวนให้มาร่วมกับคณะเสรีไทย แต่พระองค์จิรศักดิ์ฯตรัสว่า ทรงทำหน้าที่นี้ก็เท่ากับได้รับใช้ส่วนรวมเหมือนกัน และเจ้านายอีกองค์หนึ่งที่ทรงปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับเครื่องบิน คือ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ซึ่งเคยทรงชวนผมไปสมัครเข้ากองทัพอากาศหลวงของอังกฤษ (ROYAL AIR FORCE) แต่เขาไม่รับผม เพราะเห็นว่าแก่เกินไปแล้ว (อายุราว 24-25 ปี) ซึ่งต้องทรงใช้เวลาฝึกอยู่หลายปี กว่าผมจะได้พบกับพระองค์ท่านอีกก็ตอนผมไปฝึกทหารอยู่ที่อินเดียในภายหลัง

การมาฝึกที่ค่ายเด็นบี้นี้ พวกเราถูกกองทัพอังกฤษส่งเข้าสังกัดกองโยธา (PIONEER CORPS) ซึ่งเพื่อนบางคนแปลคำนี้ว่า กองกุลี หรือหน่วยสวะ ทั้งนี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกองทัพอังกฤษที่ว่า ชนชาติศัตรูจะเป็นทหารประจำการในหน่วยอื่นไม่ได้ นอกจากหน่วยนี้ซึ่งเป็นเพียงหน่วยเดียวที่ไม่มีคำว่า ‘ROYAL’นำหน้าชื่อ (แต่ในตอนท้ายของสงครามโลกถึงได้รับการยกฐานะให้ใช้ฐานะ ROYAL ได้) มีเครื่องหมายประจำกอง คือ เสียมไขว้กับจอบ ความภาคภูมิใจในสมรรถภาพของแต่ละคนที่เคยมีเมื่อครั้งการฝึกที่บิงเล่ย์ก็พลันหดหายมลายสิ้นทันที

ทหารชาวอังกฤษที่อยู่ในหน่วยนี้ส่วนมากเป็นพวกกรรมกร หรือพวกที่มีการศึกษาน้อย บางส่วนก็เป็นพวกที่ไม่สมประกอบ เช่น ขาเป๋ ตาเหล่ ตาบอด แต่พอมีความสามารถ และครูฝึก ที่เป็นนายสิบนี่มักเป็นพวกที่อยู่หน่วยอื่นไม่ค่อยได้ ไม่แก่เกินไปก็มีข้อบกพร่องอื่นๆ ถึงถูกส่งมาคุม ‘พวกขยะ’ และเขาก็พลอยเรียกพวกเราเป็น ‘ไอ้ขยะ’(SCUM) ไปด้วย หน้าที่หลักของหน่วยนี้คือ ดายหญ้า รักษาความสะอาดในค่ายกวาดถูโรงเรือน ล้างส้วม ขุดและปลอกมันฝรั่ง อยู่ยามพวกเราทุกคนจึงต้องรับบทบาท ทหารกรรมกรอย่างกะเล่อกะล่าพะอืดพะอมกันทั่วหน้า

จำได้ว่าวันแรกที่มาถึงนั้น ผู้บังคับหมู่ชื่อ สิบเอก เบนท์เล่ย์ (SERGEANT BENTLEY) ที่พวกเราเรียกกันว่า ‘ไอ้รถยนต์’ เพราะชื่อเหมือนรถยนต์ ROLLSROYCE SPORTS เขาสั่งให้พวกเราไปอยู่เต๊นท์หลังใหญ่พอควร นอนบนที่นอนยัดฟางมีผ้าใบหุ้ม ตัวเห็บตัวเรือดเต็มไปหมดต้องเอายาไปฉีด คืนแรกที่นอน พอเช้าขึ้นมาครูฝึกเป่านกหวีดเรียกให้ลุกขึ้นเข้าแถวขานชื่อที่หน้าเต็นท์ กว่าทุกคนจะลุกออกมาก็บิดกายกันอย่างอืดอาดและขี้เกียจอยู่ครู่ใหญ่ เมื่อเขาเห็นชุดนอนเสื้อคลุมจำพวกผ้าแพรที่มีสีสันลวดลายแสบตาของพวกเราตากห้อยระโยงระยาง เขาก็เริ่มสวดทันทีว่า ต่อไปต้องว่องไวกว่านี้ และเก็บเครื่องแต่งตัวพวกนี้ไว้ใช้หลังการปลดทหาร เพราะกองทัพต้องการทหารที่ทรหดอดทน ไม่ใช่หรูหราฟุ่มเฟือย

ส่วนห้องน้ำนั้นมีชักโครกให้อันเดียว สกปรกเหลือรับ ฉี่เต็ม อึถูกป้ายไว้แห้งกรังตามพื้นและกำแพง ผมพอมีสตางค์ติดตัวอยู่บ้าง เลยซื้อไม้กวาดกับน้ำยาคาร์บอลิกมาละลาย แล้วฉีดล้างขัดถูตั้งแต่กำแพงถึงพื้นจนสะอาดขึ้น ผมทำได้โดยไม่รู้สึกรังเกียจอะไรมากนัก ถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครกล้าใช้ พวกเพื่อนๆเห็นเข้าก็ถามว่า

“ใครทำ และใครออกเงินซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดพวกนี้ เดี๋ยวไปเก็บเงินมาคืนให้”

            “ผมเอง และไม่ต้องการเงินคืนหรอก แต่อยากจะขอความช่วยเหลือสักอย่าง คือ อย่าให้ผมต้องทำทุกวันนะ ผมอยากเสนอให้ผลัดเวรกันทำ จะได้ช่วยกันระวังไม่ทำสกปรกอีก”

ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนประทับใจ และเป็นผลให้เขาไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าแล้วต้องเหยาะแหยะ แต่เวลาไปฝึกถูกครูฝึกตะคอกด้วยคำหยาบ ทุกคนฟังแล้วเจ็บใจ เพราะยังเปลือกบางกันอยู่ แต่ตัวผมฟังทุกวันก็ค่อยๆมีภูมิต้านทานไปเอง ในที่สุดทุกคนเห็นเป็นเรื่องขัน

เรื่องที่พวกเราถูกส่งมาอยู่หน่วยนี้ ต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางคุณป๋วยและคุณมณีได้พยายามเจรจากับทางการอังกฤษ ขอให้หาทางส่งทหารไทยไปทำงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ เพื่อจะได้ทำประโยชน์แก่สัมพันธมิตรและบ้านเมืองของเราอย่างดีที่สุด แต่ทุกคนก็เชื่อว่าคงจะต้องทำใจที่จะต้องอยู่ในฐานะนี้ไปอีกระยะหนึ่ง เพราะทางการอังกฤษอาจจะต้องการทดสอบพวกเราว่ามีกำลังใจเข้มแข็งปานใด เอาจริงแค่ไหน

ความทุกข์ยากในการฝึก ประกอบกับอากาศที่หนาวจัด ทำให้ความเป็นอยู่ของพวกเราเกิดการกระทบกระทั่งด้วยความหงุดหงิดและเหน็ดเหนื่อยกันบ้าง แต่เมื่อหายจากความขุ่นมัวนี้ ก็ไม่ได้ผูกใจเจ็บอาฆาตแค้นต่อกัน แล้วค่ายทหารนี้มีค่ายทหารหญิง ที่อยู่ห่างออกไปราว 1 กิโลเมตรด้วย โดยทหารหญิงมีหน้าที่ทำครัวและแจกอาหาร ซึ่งพวกเราหลายคนก็ได้รับอัธยาศัยไมตรีอันดี และสานความสัมพันธ์ต่อกัน ก่อให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลายที่น่ารื่นรมย์ในหมู่ทหารไทยได้บ้าง เวลามีทหารหน่วยใหม่เข้ามา ‘ไอ้รถยนต์’ จะต้องตะโกนว่า

“ไอ้พวกขยะ ดู! นี่คือทหารตัวอย่าง (คือพวกเรา) ฝึกมาอย่างยอดเยี่ยม พวกเอ็งดูให้ดีทุกวัน แล้วอาจจะเป็นทหารแท้เหมือนพวกเขาบ้าง”

สำหรับผู้นำในหมู่พวกเรานั้น ตอนแรกคุณป๋วยในฐานะที่เคยเป็นครู (โรงเรียนอัสสัมชัญ) และอยู่ในฐานะที่ได้ร่วมก่อตั้งคณะเสรีไทยที่เคมบริดจ์ขึ้นมา กลุ่มคนส่วนใหญ่จึงยกให้เป็นหัวหน้า และคนอื่นก็ไม่คัดค้าน ทางผู้บัญชาการค่ายก็ยอมรับด้วย เมื่อพวกเราอยู่ด้วยกันนานวันจึงมีความสนิทสนมกลมเกลียวกัน การเรียกขานชื่อก็เรียกกันโดดๆ และได้ตั้งฉายานามไว้ล้อกันครบทุกคนตามลักษณะเด่นเฉพาะตัวอย่างเช่นตัวผมเองเป็น ‘หัวหนักศักดิ์ใหญ่ ไร้ผม’ ตามสภาพจริงแต่ความที่เป็นคนค่อนข้างอารมณ์ดียิ้มแย้ม ฝรั่งเลยเรียก SUNSHINE และถูกแปลงให้เป็นคำไทยๆว่า ‘รัศมี’ เป็นต้น (อันเป็นสร้อยพระนามทูลกระหม่อมปู่จาตุรนต์รัศมี) ซึ่งชื่อนี้ผมได้ใช้เป็นรหัสประจำตัวในการปฏิบัติการในอินเดียและเมืองไทยด้วย

ระหว่างที่อยู่ในค่ายนี้ มีอยู่วันหนึ่งที่ทุกคนจะต้องถูกฉีดยาป้องกันโรคเมืองร้อน อาทิ อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ บาดทะยัก ฯลฯ ซึ่งแพทย์ทหารที่นี่จะรวบรัดฉีดทีเดียวหลายๆขนาน คนฉีดเป็นนางพยาบาลตัวใหญ่ เธอมีวิธีฉีดที่น่ากลัว เพราะใช้การขว้างปักเข้าที่ต้นแขนเหมือนกับการปาลูกดอกบนกระดานแทนที่จะจิ้มเข็มเอียงๆ เบาๆ แล้วพวกเราคนหนึ่งคือ บุญส่ง พึ่งสุนทร เขากลัวการเห็นเลือดมากจนหน้าซีด ภีศเดชเห็นเข้าก็กระเซ้าเย้าแหย่ตามนิสัย บอกใครๆว่า

“หมอนี่ปอดแหก ยังไม่ทันถูกฉีดเลย”

พอถึงคราวท่าน นางพยาบาลคนนี้ก็กดลูกสูบมิดด้ามเข็ม เนตรท่านเหลือกล้มตึง เข้าใจว่าคงแพ้ยาบาดทะยัก และพวกที่ถูกฉีดหลังภีศเดชก็ยิ่งปอดแหกกว่าบุญส่งเสียด้วยซ้ำ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up