7 ข้อเท็จจริงที่ว่าที่บ่าวสาวต้องรู้ถ้าคิดจะจัดงานแต่งริมทะเลให้ผ่านฉลุย

account_circle

หลายคนอาจเคยเห็นไอเดียการจัด งานแต่งริมทะเล เจ๋งๆ สวยๆ มามากมาย อีกทั้งพร๊อพส์หลากหลายที่จะเนรมิตบีชเวดดิ้งให้สวยงามและสนุกสนานดั่งฝัน แต่รู้หรือไม่ว่าก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ มีข้อมูลสำคัญอะไรบ้างที่คุณต้องรู้และเตรียมตัวรับมือให้ดีก่อนเริ่มต้นจัดงาน วันนี้เรารวบรวม 7 เรื่องสำคัญที่คู่รักริมทะเลต้องรู้มาบอก!

1. สภาพอากาศวันงาน

สิ่งสำคัญอย่างแรกที่เราอยากให้คุณว่าที่บ่าวสาวเช็คให้ดีก็คือ วันแต่งงานของคุณอยู่ในฤดูอะไร ร้อน ฝน หรือหนาว รวมถึงดูพยากรณ์อากาศให้ดีด้วยว่า วันงานจริงแดดจะออกมากน้อยแค่ไหน ลมพัดแรงหรือไม่ ท้องฟ้าปลอดโปร่งหรือมีพายุ ฝนจะตกไหม คลื่มลมทะเลเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อเตรียมการรับมือกับสภาพอากาศในวันนั้นได้อย่างดี เช่น ถ้าวันงานแดดออกเปรี้ยงปร้าง แว่นกันแดดคือพร้อบส์สำคัญที่ไม่ควรพลาด แต่ถ้าฝนตกหรือมีลมแรง คุณจะได้เตรียมเต๊นท์ ร่ม และสถานที่สำหรับหลบฝนให้กับทุกคนในงาน

2. ระดับน้ำทะเลขึ้นลง

ข้อนี้เราไม่ได้จะให้คุณเอาไม้บรรทัดไปวัดว่าน้ำทะเลจะสูงต่ำกี่เซนติเมตรนะคะ แต่ให้คุณเตรียมหาข้อมูลมาว่า ในช่วงวันงานแต่งน้ำทะเลจะขึ้นตอนกี่โมง ลงตอนกี่โมง เช่น น้ำขึ้นตอนเช้า พอช่วงเย็นๆ น้ำจะลง รวมถึงหาข้อมูลมาด้วยว่า ในช่วงที่น้ำขึ้นและลงนั้นระดับน้ำจะอยู่ประมาณไหน ขึ้นจนมิดหาดทรายหรือว่ายังพอเหลือพื้นที่ให้จัดงานได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเรื่องนี้จะส่งผลกับการจัดวางเวที ซุ้มประตู และองค์ประกอบต่างๆ ของงาน รวมถึงระยะเวลาดำเนินพิธีการในแต่ละขั้นตอนด้วย ถ้าไม่เช็คและวางแผนให้รอบคอบ มีหวังได้ยืนสาบานรักกันกลางน้ำแน่นอน!

3. ความกว้างของพื้นที่รับรองแขก

ความแตกต่างของงานแต่งริมหาดกับงานในโรงแรมก็คือ งานแต่งที่จัดในโรงแรมมักจะบอกตัวเลขชัดเจนว่าห้องจัดงานสามารถรองรับแขกได้กี่คน แต่งานแต่งริมหาดจะให้บอกเป๊ะๆ แบบนั้นก็คงยาก เพราะเรามีธรรมชาติ (ที่ไม่สามารถควบคุมได้) มาเกี่ยวข้อง คุณอาจจะเห็นว่าชายหาดแสนกว้างรองรับแขกได้เยอะแน่นอน แต่พอถึงวันจริงกลับเจอน้ำทะเลดันขึ้นมา หาดที่ว่ากว้างๆ อาจแคบลงจนไม่สามารถรองรับแขกได้เพียงพอ เพราะฉะนั้น กะเกณฑ์พื้นที่ตามจริงให้สอดคล้องกับจำนวนแขกที่จะเชิญมาด้วย

4. แผน 2 และพื้นที่สำรอง

อย่างที่บอกว่าเราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ แต่เราเตรียมการรับมือได้ค่ะ ใครที่ดูพยากรณ์อากาศจนมั่นใจแล้วก็โล่งอกไปได้เปลาะหนึ่ง แต่เราแนะนำว่ากันไว้ดีกว่าแก้ เตรียมพื้นที่ในร่มสำรองไว้เผื่อว่าท้องฟ้าพิโรธ ลมฝนมากะทันหันแบบไม่บอกไม่กล่าวและไม่เกรงใจคำพยากรณ์ของกรมอุตุฯ คุณจะได้อพยพเหล่าแขกเหรื่อเข้าไปจัดพิธีต่อในที่ร่มได้ทันท่วงที จะได้ไม่ต้องยืนหนาวสวมแหวนท่ามกลางสายฝน รวมถึงถ้าหากมีแขกมาเยอะเกินที่คาดการณ์ไว้ พื้นที่สำรองตรงนี้ก็ยังใช้รับแขกได้อีกด้วยนะ

5. ที่พักสำหรับแขก

การจัดงานแต่งริมทะเลต้องมีแขกที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดแน่นอน (ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะเป็นคนในพื้นที่และเชิญแค่คนแถวบ้านน่ะนะ) เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะให้คุณเช็คตามลิสต์ 2 ข้อ ต่อไปนี้

 5.1 ที่พักที่คุณเลือกสามารถรองรับแขกได้ครบทุกคนหรือไม่ บางครั้งถ้าคุณเชิญแขก 200 แต่รีสอร์ทที่คุณเลือกอาจมีห้องพอสำหรับแขก 100 คน แบบนี้วิธีแก้ไขก็คือ มองหาที่พักอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกับสถานที่จัดงานและเดินทางสะดวก เพราะฉะนั้นเช็คให้ชัวร์ตั้งแต่เนินๆ จะได้เตรียมหาที่พักเสริมสำหรับแขกได้ทันการณ์

5.2 การเดินทางมาสถานที่จัดงาน โดยคุณจะต้องคำนึงถึงว่าอาจมีแขกบางคนที่เดินทางจากบ้านมาสถานที่จัดงานในต่างจังหวัด ดังนั้นคุณควรทำแผนที่หรือนัดแนะเส้นทางการเดินทางกับแขกแต่ละท่านให้เรียบร้อย หรือแขกคนไหนที่มาพักโรงแรมใกล้ๆ สถานที่จัดงาน คุณอาจมีแผนที่สำหรับให้แขกเดินทางมาเอง หรือจะมีรถรับส่งแขกเหล่านั้นก็ได้ เรื่องนี้ก็แล้วแต่ความสะดวกและงบประมาณที่คุณมี อย่าลืมเตรียมที่จอดรถสำหรับแขกที่ขับรถมาเองด้วยนะคะ

6. ค่าใช้จ่ายเรื่องที่พัก  

เมื่อหาที่พักสำหรับแขกได้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ เช็คราคาที่พักให้เรียบร้อย ทั้งที่พักหลักและที่พักเสริมว่ามีเรทอัตราค่าให้บริการคืนละเท่าไหร่ แล้วคุณจะรับผิดชอบจ่ายทั้งหมดหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าเชิญแขกเยอะก็จะเปลืองงบประมาณในส่วนนี้มากเป็นพิเศษ ว่าที่บ่าวสาวคู่ไหนที่คำนวณแล้วว่าไม่มีแรงจ่ายค่าที่พักให้กับแขกทุกคนได้ อย่าลังเลที่จะพูดเรื่องนี้ออกไปตรงๆ ว่าอาจต้องรบกวนให้แขกจ่ายค่าที่พักเอง แต่คุณจะเป็นคนจัดหาที่พักให้

สำหรับบ่าวสาวคู่ไหนที่มีงบในเรื่องนี้อยู่บ้างแต่ไม่สามารถจ่ายได้ทั้งหมด อาจใช้วิธีการคัดกรองแขกเฉพาะคนสำคัญที่คุณอยากให้เขามาร่วมงานจริงๆ และจะออกค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักให้ ซึ่งแขกกลุ่มนี้คุณอาจต้องเชิญเป็นการส่วนตัวนิดนึงเนอะ จะได้ป้องกันปัญหาน้อยอกน้อยใจว่า ทำไมจ่ายให้คนนั้นได้แต่จ่ายให้ฉันไม่ได้ เดี๋ยวจะปวดหัวกันไปใหญ่

7. แจ้งธีมสีของงานให้ชัดเจน

บรรยากาศงานแต่งริมทะเลส่วนใหญ่จะชิลๆ สบายๆ ไม่อลังการอะไรมากมายเหมือนในโรงแรม แขกเหรื่ออาจแต่งกายง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องให้ลากชุดราตรียาวหรือใส่สูทตัวหนามางาน แต่สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้เลยคือ ธีมสีของงาน ว่าที่บ่าวสาวควรแจ้งแขกให้ชัดเจนว่า อยากให้แขกใส่สีโทนไหน สีอะไร และขอความร่วมมือจากแขกให้ได้มากที่สุด ย้ำอีกครั้งสักหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันงาน รับรองว่าเมื่อทุกๆ คนใส่เสื้อธีมสีเดียวกันภายใต้แสงไฟสีสวยและบรรยากาศริมทะเล จะต้องเป็นภาพที่สวยงามสุดแน่นอน

สุดท้ายนี้ หลังจากว่าที่บ่าวสาวเตรียมความพร้อมกับทุกรายละเอียดของงานแล้ว อย่าลืมเลือกชุดเจ้าบ่าวและชุดเจ้าสาวให้เข้ากับสถานที่และบรรยากาศด้วยนะจ๊ะ

ดูไอเดียและคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดงานแต่งงานที่นี่อีกเพียบ คลิกเลย!

ภาพ : creativeeventsasia.com

Praew Recommend

keyboard_arrow_up