กู้ร่วมซื้อบ้านกับคนรัก แต่ต้องเลิกกัน จะทำยังไงดี?

Alternative Textaccount_circle

ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอนนะคะทุกคน บางครั้งหญิงชายที่รักกันมาก ตัดสินใจสร้างครอบครัวด้วยกัน ลงหลักปักฐาน แต่พอมาถึงจุดที่ต้องเลิกราก็ไม่สามารถประคองชีวิตคู่ต่อไปได้ ปัญหาอยู่ที่ คู่รักที่ทำเรื่องกับธนาคาร กู้ร่วมซื้อบ้าน ด้วยกันนี่แหละค่ะ ผ่อนยังไม่ทันหมดแต่ขาเตียงหักซะก่อน จะทำยังไงดี?

กู้ร่วมซื้อบ้าน กับแฟน แต่กำลังจะเลิกกัน ทำยังไงดี?

เรื่องกู้ร่วมแล้วสุดท้ายเลิกกัน ทำเอาหลายคู่รักฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลมามากแล้ว ตอนรักกันก็ให้ฟีล Home sweet home แต่พอเลิกกันจาก Home กลายเป็น Hell ไปเลย วิธีแก้ปัญหาที่หลายคนเลือกทำคือ

1. ขายบ้าน!

กู้ร่วมซื้อบ้าน
Property market. House in shopping cart

จากบ้านอันแสนอบอุ่นกลายเป็นนรกร้อนระอุ คู่รักหลายคู่คงไม่อยากอยู่ต่อให้ช้ำใจ หลายคนมองว่าการขายบ้านที่กู้ร่วมกันจึงเป็นทางเลือกสำหรับการจบปัญหาทุกอย่าง แต่ก่อนจะเริ่มกระบวนการขาย ควรตกลงกันให้ดีๆ ว่าจะแบ่งสรรปันส่วนเงินกันอย่างไร คู่รักส่วนใหญ่มักจะแบ่งกัน 50 – 50 ซึ่งข้อดีของการขายบ้านคือ ไม่ต้องมีภาระผ่อนต่อ และได้เงินก้อนไว้ใช้ หรือต่างคนอาจนำเงินจากการแบ่งขายไปดาวน์บ้านหลังใหม่ของตัวเอง ขึ้นอยู่กับการวางแผนของแต่ละคน

การตัดปัญหาโดยการขายบ้านก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน เพราะการขายของใหญ่เช่นนี้ ต้องใช้เวลาหาผู้ซื้อค่อนข้างนาน ขึ้นอยู่กับราคาที่ตั้งขายและทำเลว่ามีคนสนใจซื้อบ้านหรือไม่ แต่ถ้าหาคนซื้อบ้านได้แล้ว คุณสามารถติดต่อธนาคารเพื่อทำเรื่องซื้อขายกันต่อไป แนะนำว่าควรเช็กรายละเอียดเรื่องค่าธรรมเนียมการโอน, ค่านายหน้า, ค่าอากรแสตมป์, ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจมีเพิ่มเติม

2. ถอนชื่อผู้กู้ร่วม

กู้ร่วมซื้อบ้าน
ภาพถ่ายโดย Anete Lusina จาก Pexels

วิธีนี้เหมาะสำหรับคนเคยรักที่เลิกกันและตกลงกันได้ด้วยดี ซึ่งกรณีนี้สามารถแบ่งได้เป็น คู่รักที่จดทะเบียนสมรส และ คู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส

คู่รักที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย จะต้องดำเนินการจดทะเบียนหย่าให้เรียบร้อย แล้วนำใบหย่ากับสัญญาจะซื้อจะขายไปธนาคาร เพื่อทำเรื่องขอถอนชื่อผู้กู้ร่วมออกจากสัญญากู้ โดยทางธนาคารจะเปลี่ยนรูปแบบสินเชื่อและทำสัญญาเงินกู้ฉบับใหม่ให้ ส่วนค่าธรรมเนียมต่างๆ ณ กรมที่ดิน จะได้รับการยกเว้น เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าอากร และภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะถือว่าอสังหาฯ ที่ขายเป็นสินสมรส

ส่วนคู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ง่ายขึ้นมาอีกนิด สามารถนำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายไปทำเรื่องขอถอนชื่อผู้กู้ร่วมที่ธนาคารได้เลย โดยแจ้งความประสงค์ว่าต้องการถือกรรมสิทธ์ในทรัพย์สินแต่เพียงคนเดียว (ตกลงกันให้ดีว่าใครจะได้บ้านไป) และจะเปลี่ยนจากการกู้ร่วมเป็นการกู้เพียงคนเดียว แต่จะไม่ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ เหมือนคู่ที่จดทะเบียนสมรส

ข้อดีของการถอนชื่อผู้กู้ร่วมคือ บ้านจะยังเป็นของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งต้องรับหน้าที่ผ่อนต่อ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทำเรื่องขอถอนชื่อผู้กู้ร่วมแล้ว ธนาคารจะตรวจสอบว่า คนที่ได้กรรมสิทธิ์บ้านไป มีความสามารถในการผ่อนชำระต่อหรือไม่ ถ้าธนาคารพิจารณาแล้วว่าไม่สามารถผ่อนคนเดียวได้ ธนาคารก็มีสิทธิ์ไม่อนุญาตให้ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม แบบนี้อาจต้องแก้ปัญหาด้วยการปรึกษาพ่อ แม่ พี่ น้อง ว่าใครจะสามารถมาช่วยเป็นผู้กู้ร่วมคนต่อไปได้บ้าง

3. รีไฟแนนซ์จากกู้ร่วมเป็นกู้เดี่ยว

กู้ร่วมซื้อบ้าน
Photo by Kelly Sikkema on Unsplash

หากธนาคารไม่อนุญาตให้ถอนชื่อผู้กู้ร่วม วิธีนี้สามารถใช้แก้ปัญหาได้เช่นกัน คุณสามารถรีไฟแนนซ์หรือขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอื่น โดยทำเรื่องยื่นกู้เพียงคนเดียว ข้อดีคือ ถ้ากู้ผ่าน คุณอาจจะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำลงในช่วงแรก ขณะเดียวกัน ก็มีสิทธิที่จะกู้ไม่ผ่าน หากธนาคารใหม่พิจารณาความสามารถผ่อนชำระของคุณแล้วเห็นว่าไม่มีความสามารถพอ

การกู้ร่วมซื้อบ้านกับคนรัก เป็นสิ่งแรกๆ ที่หลายคู่ทำเพื่อสร้างครอบครัวให้มั่นคง ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต คู่ไหนที่รักมั่นคง แพรวเวดดิ้งก็ยินดีด้วย ส่วนใครที่ต้องเลิกราแล้วมีภาระผูกพันซึ่งกันและกัน เช่น การกู้ร่วมซื้อทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถ หรือคอนโด คงต้องตกลงกันให้เข้าใจ ไม่มีปากเสียงหรือฟ้องร้องทางกฎหมายคงดีที่สุด

ภาพจาก : Pexels, Unsplash

Praew Recommend

keyboard_arrow_up