เดิมพันด้วยชีวิต ฝ่าวิกฤติโควิด-19 วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร
วีระศักดิ์  วิจิตร์แสงศรี

เดิมพันด้วยชีวิต ฝ่าวิกฤติโควิด-19 วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร

Alternative Textaccount_circle
วีระศักดิ์  วิจิตร์แสงศรี
วีระศักดิ์  วิจิตร์แสงศรี

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่คนทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญ หนึ่งในข่าวที่บีบหัวใจคนไทยเมื่อปลายปีที่แล้วคือ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ตะลุยทำงานรับมือการแพร่ระบาดของโควิดในคลัสเตอร์ตลาดกุ้ง กระทั่งติดเชื้อและอาการโคม่าอยู่หลายวัน

42 วันที่ชีวิตของผู้ว่าฯปูอยู่ระหว่างความเป็นความตาย  และอีก 40 วันที่ใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง  กระทั่งเราได้รับข่าวดี  “ผู้ว่าฯปูกลับมาแล้ว”  พร้อมเรื่องราวการทำงานสู้รบปรบมือกับโควิดในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด  ประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยขั้นวิกฤติ ตลอดจนแนวทางการทำงานที่ผ่านมาของผู้ว่าฯที่ยึดมั่นว่า“ปัญหาของชุมชนไม่ได้มีแค่ในเวลาราชการ…ตรงไหนมีปัญหา  ตรงนั้นคือที่ทำงานของผม  เพราะทุกที่คือที่ทำงาน”

เดิมพันด้วยชีวิต ฝ่าวิกฤติโควิด-19 วีระศักดิ์  วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร

วีระศักดิ์  วิจิตร์แสงศรี

ขอแสดงความยินดีกับผู้ว่าฯปูอีกครั้งที่หายป่วยและกลับมาทำงานเป็นปกติสุขภาพช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ

“ดีขึ้นเยอะครับ  เดือนแรกที่กลับมาผมเน้นทำงานแบบเวิร์คฟรอมโฮมเป็นหลัก  ผ่านไปสองเดือนผมก็กลับมาทำงานที่ศาลากลางได้แล้ว  แต่ยังลงพื้นที่มากเท่าแต่ก่อนไม่ได้  ความจริงคุณหมอสั่งห้ามลงพื้นที่เลย  เพราะยังไม่แข็งแรงเต็มที่  เนื่องจากผมจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่พอลงมือทำงานจริงๆแล้วได้เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านก็อยากเข้าไปช่วย  จนคุณหมอต้องโทร.มาเตือนอยู่บ่อยครั้งว่าช่วยอยู่ประจำที่ศาลากลางด้วย  อย่าเพิ่งลงพื้นที่ (หัวเราะ) ก็ต้องขอบคุณในความห่วงใยของคุณหมอครับ  ถึงสุขภาพร่างกายผมจะยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ก็ประมาณ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ได้แล้ว  แค่รอดชีวิตกลับมาทำงานที่เรารักและภูมิใจ  รวมถึงกลับมาช่วยเหลือประชาชนได้  ก็ถือว่ายิ่งกว่าปาฏิหาริย์แล้วครับ”

ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสมุทรสาครเมื่อปลายปีที่แล้วอีกครั้งนะคะว่า  ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น  แล้วท่านติดโควิดมาได้อย่างไร

“อย่างที่รู้กันว่าตอนนั้นเกิดการระบาดของโควิดที่ตลาดกุ้ง  ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในเมืองไทย  และมีจำนวนคนที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  มีปัญหา
ประดังเข้ามาหลายอย่าง  ผมจึงต้องตระเวนไปดูหลายที่  อย่างตลาดกุ้งก็ไป 2 – 3ครั้ง  เพื่อทำความสะอาด  นำทีมไปเจรจากับทางทูตพม่า  ไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ตามด่านต่างๆ  ไปแจกของและให้กำลังใจตามชุมชน  ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นหลักพัน  เราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลาในการคัดแยกผู้ป่วย  ซึ่งปริมาณผู้ป่วยขนาดนี้  โรงพยาบาลไม่พอแน่นอน  ผมจึงเร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่ใช้ชื่อว่า ‘ศูนย์ห่วงใยคนสาคร’  ตอนแรกมองไว้หลายแห่ง  อย่างสวนน้ำพันท้ายนรสิงห์ที่ว่างอยู่  เจ้าของที่ก็โอเคแล้ว  แต่ชุมชนแถวนั้นต่อต้าน  กลัวจะนำเชื้อโรคเข้าไปใกล้เขา  ผมใช้เวลาเจรจาอยู่นาน  แต่ที่สุดเจ้าของที่เปลี่ยนใจปฏิเสธ  จึงต้องย้ายมาที่มหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ  แต่ก็เจอปัญหาชาวบ้านรอบข้างรวมตัวกันประท้วง  ไม่ยอมให้ใช้สถานที่อีก”

“ที่สุดผมตัดสินใจใช้บริเวณหน้าบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด  ซึ่งเป็นสนามกีฬาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็น ‘ศูนย์ห่วงใยคนสาคร’ แห่งแรก  เพราะตอนนั้นสถานการณ์ที่ตลาดกุ้งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องเร่งจัดโรงพยาบาลสนามให้เร็วที่สุด  ซึ่งสถานที่สาธารณะในสมุทรสาครค่อนข้างน้อย  อย่างตรงนี้ก็เป็นพื้นที่หลักของคนในพื้นที่  ทั้งออกกำลังกาย  เตะฟุตบอลเต้นแอโรบิก  จัดกิจกรรมต่างๆ  แต่เมื่อไม่มีทางเลือกและไม่มีเวลาแล้ว  ก็ต้องใช้พื้นที่นี้แหละ  ทีนี้ระหว่างตั้งศูนย์โรงพยาบาลสนาม  ผมก็คุยกับผู้เกี่ยวข้องว่าผมไปตรวจร่างกายก่อนดีกว่า  เผื่อติดโควิดขึ้นมาจะได้พูดได้ว่าเราติดเชื้อก่อนที่จะมาตั้งศูนย์นะ  ไม่ใช่ตั้งเสร็จแล้วเดี๋ยวคนจะหาว่าโรงพยาบาลสนามเป็นแหล่งแพร่เชื้อ”

ตอนนั้นท่านคิดว่าติดไหมคะ 

“ผมคุยกับทีมเลขาฯว่ามีสิทธิ์ที่จะติด  เพราะไปหลายพื้นที่  พบปะผู้คนเยอะแม้จะป้องกันอย่างดี  แต่ถือว่ามีความเสี่ยงสูง  แล้วช่วงนั้นผมพักผ่อนค่อนข้างน้อย  กลางวันลงพื้นที่เป็นหลัก  กลางคืนกลับบ้านแล้วค่อยมาเซ็นแฟ้มงานหรืออ่านเอกสาร  ความที่อายุราชการเหลือแค่ 2 – 3 ปีก็จะหมดแล้ว  ก็กะว่าจะทำงานให้เต็มที่  หลังเกษียณคงได้พักผ่อน  อีกอย่างคิดเองว่าต่อให้ติดโควิดขึ้นมาจริงๆคงใช้เวลาไม่นาน  10 – 14 วันก็น่าจะหายเหมือนคนส่วนใหญ่  ซึ่งต้องยอมรับว่าผมคิดผิด  แม้ผลตรวจจะออกมาเป็นอย่างที่คิด…แต่ไม่คิดว่าจะสาหัสขนาดนี้”

ตอนที่ทราบว่าติดโควิดแล้ว  อาการเป็นอย่างไรบ้างคะ

“วันที่ไปตรวจผมปกติดีทุกอย่างนะ  แค่รู้สึกอ่อนเพลียนิดหน่อย  แต่ปรากฏว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก  กลายเป็นว่าวันรุ่งขึ้นผมไม่รู้สึกตัวเลย  แล้วก็ไม่รู้เรื่องไปอีก 42 วันเต็มๆ  ไปโรงพยาบาลศิริราชได้อย่างไรก็ไม่รู้  มาทราบทีหลังว่าทีมศิริราชพาผมออกมา  ต้องเล่าว่าทีมแพทย์และพยาบาลของศิริราชมาช่วยทำงานเรื่องโควิดกับทางสมุทรสาครอยู่ก่อนแล้ว  พอผมทรุด  เขาจึงแยกผมออกมา  เพราะถ้าผมซึ่งเป็นผู้นำจังหวัดยังอยู่ในพื้นที่  จะทำให้คนทำงาน โดยเฉพาะโรงพยาบาลสมุทรสาครห่วงหน้าพะวงหลัง  ถ้าเอาผมออกมาเสีย คนทำงานก็จะได้ทำงานเต็มที”

ช่วงที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหนักหนาแค่ไหน  ท่านพอจำอะไรได้บ้างไหมคะ

“ถ้าเป็นช่วง 42 วันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ  ผมแทบจะไม่รู้ตัวเลย  มีบางครั้งที่สะลึมสะลือ  พอจำได้เป็นห้วงๆ  เช่น  ตอนพยาบาลนำข้อความของลูกสาวหรือภรรยามาอ่านให้ฟัง  หรือเวลาที่ รศ. นพ.นิธิพัฒน์  เจียรกุล (คุณหมอเจ้าของไข้) มาดูอาการและคอยส่งข่าวเรื่องโรงพยาบาลสนามว่าไปถึงไหนแล้ว จำได้ว่าคุณหมอบอกว่า  ‘ผู้ว่าฯไม่ต้องเป็นห่วง  ตอนนี้มีความก้าวหน้าเยอะแล้ว’ แต่ผมยังตอบโต้ไม่ได้”

“ตอนฟื้นขึ้นมา  คุณหมอเล่าให้ฟังว่าผมเป็นคนไข้ที่ดื้อมาก  มีหลายครั้งที่ทั้งดิ้นและกระชากสายน้ำเกลือ  สายให้เลือด  และสายออกซิเจน  จนในที่สุดทางทีมแพทย์และพยาบาลต้องยึดมือผมไว้กับนวมข้างเตียงไม่ให้ขยับ  ไม่อย่างนั้นจะเป็นอันตรายต่อตัวผมเอง  ซึ่งผมเป็นอย่างนี้อยู่นานมาก  จำได้เป็นห้วงๆว่า รู้สึกทรมานเหลือเกิน  จึงพยายามดิ้นรน  มีอยู่ครั้งหนึ่งจำได้ว่าผมทั้งปีนป่ายทั้งถีบ  จนกระทั่งเสาน้ำเกลือล้มลงมากระแทกกับเตียง  โชคดีมากที่ไม่หล่นใส่หัว”

ยังจำครั้งแรกที่รู้สึกตัวได้ไหมคะ 

“ผมรู้สึกตัวครั้งแรกตอนย้ายจากห้องความดันลบออกมาอยู่ที่ห้อง RCU หรือหออภิบาลดูแลเกี่ยวกับการหายใจของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชได้เกือบสัปดาห์ความคิดแรกที่แว่บเข้ามาคือ‘เรารอดมาได้อย่างไร’  เพราะตอนนั้นแขนขาผมลีบไปหมดทุกส่วนเลย  ดูแล้วไม่น่าจะเดินหรือทำอะไรได้อีกแล้ว  มีชีวิตอยู่ได้ยังไงยังไม่รู้เลย  พูดก็ไม่ได้  เพราะไม่มีท่อเสียง (เนื่องจากถูกเจาะคอเพื่อให้ออกซิเจน)  ไม่สามารถทานอาหารเองได้  ต้องฟีดอาหารผ่านสายยาง  แต่หลังจากนั้นอาการก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ  หลายฝ่ายรวมถึงครอบครัวช่วยนำข้อความให้กำลังใจที่ได้จากหลายฝ่ายหลายคนมาให้ดู  ทำให้ผมมีกำลังใจไปต่อได้”

“อีกอย่างผมรู้สึกโชคดีมากที่ทีมหมอและพยาบาลเก่งมาก  ทำให้ผมรอดมาได้  เพราะเท่าที่ฟังคุณหมอเล่า ทางแพทย์เองก็คาดเดาไม่ถูก  ต้องรักษาอาการไปแบบวันต่อวัน  แต่หลัก ๆคือโรคโควิดส่งผลต่อการทำงานของปอด  และผมก็ติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอดด้วย  แถมยังมีอาการดื้อยาหลายชนิดแต่โชคดีที่ ศ. นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้คุยกับทีมแพทย์ว่านี่เป็นเคสที่ท้าทายหมอและพยาบาลของศิริราชนะ  ให้ช่วยกันดู  เพราะคนไข้อาการหนักมาก  แต่ใจยังสู้  ประการต่อมาคือที่สมุทรสาครเป็นคลัสเตอร์ใหม่  ถ้าทำให้ผู้ว่าฯซึ่งถือว่าเป็นผู้นำของจังหวัดสามารถรอดพ้นอันตรายได้  ก็เหมือนเป็นกำลังใจให้คนทั้งจังหวัดด้วย  ซึ่งผมต้องขอขอบคุณทางศิริราชพยาบาลไว้ณ โอกาสนี้อีกครั้งครับ”

“สุดท้ายคือกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง  อย่างน้ำหวาน ลูกสาวคนโต  คอยเป็นธุระให้ทุกอย่าง  มาคอยเฝ้าดูและตั้งไลน์กลุ่มเพื่อให้บุคคล
ภายนอกส่งกำลังใจมาให้  ทำให้ผมได้รับกำลังใจจากคนสมุทรสาครและคนไทยทั้งประเทศ  ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนช่วยผลักดันและเป็นแรงเสริมทำให้ผมฮึกเหิมเอาชนะโรคร้ายมาจนได้”

หลังจากนั้นต้องมีการฟื้นฟูร่างกายอย่างไรบ้างคะ

“ที่ต้องฟื้นฟูหนักๆมี2 เรื่อง  จุดแรกคือปอดที่โควิดเข้าไปทำลายจน สูญเสียประสิทธิภาพการใช้งานไปค่อนข้างมาก  ตอนนั้นปอดผมทำงานได้แค่
30 – 40 เปอร์เซ็นต์  ต้องฝึกเรื่องการเป่าลม  เป่าลูกบอล  ฝึกการหายใจ  เพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปในปอดเพิ่มมากขึ้น  และฟื้นฟูให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น  อย่างตอนนั้นให้ผมมาพูดแบบนี้ไม่ได้หรอกนะ  แค่ลุกมานั่งอยู่ข้างเตียงได้2 นาทีก็จะเป็นลมแล้ว  เหนื่อยมากเลย  อาหารก็ต้องกินผ่านสายที่ต่อไว้กับคออยู่2 สัปดาห์  หลังจากนั้นจึงค่อยๆหัดกลืนอาหารเหลว  เริ่มจากโจ๊กปั่นก่อน  แล้วก็เป็นข้าวต้ม  จากนั้นจึงเป็นอาหารปกติ  ถัดมาคือการทำกายภาพบำบัด  ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่มีโอกาสหรือตามที่หมอสั่งให้ทำ  เช้า  กลางวัน เย็น  ซึ่งในภาวะที่เราไม่ค่อยมีแรงนั้น  ต้องอาศัยความพยายามและกำลังใจสูงมาก  อย่างที่บอกว่าแค่ลุกนั่งก็จะแย่แล้ว  แต่ถ้าเรามีวินัยและความพยายามในการทำกายภาพบำบัดให้มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง  ก็สามารถทำให้ร่างกายกลับมาใช้งานมากขึ้นได้ในที่สุด  จนไม่น่าเชื่อว่าจากวันนั้นถึงวันนี้  ภายในเวลา50–60 วัน  ผมสามารถพูดได้  เดินได้  รับประทานอาหารได้เป็นปกติแล้ว”

สำหรับผู้ว่าฯ  โควิดครั้งนั้นให้บทเรียนอะไรบ้างคะ

“มีอยู่ 3 ประการนะ  อย่างแรกคือ  เรื่องกำลังใจ  อาจฟังดูเป็นนามธรรมก็จริง  แต่สิ่งนี้มีคุณค่ามหาศาล  สามารถทำให้เราเดินหน้า  ถอยหลัง  หรือ
เดินซ้ายเดินขวาต่อได้  ผมเองได้กำลังใจที่ดีทั้งจากครอบครัวและคนรอบข้าง ได้รับความเมตตาจากคุณหมอประสิทธิ์ที่มาเยี่ยมวันเว้นวัน  ส่วนคุณหมอนิธิพัฒน์เจ้าของไข้มาทุกวัน  ทั้งเช้า  กลางวัน  เย็น  ไหนจะกำลังใจจากคนไทยทั้งประเทศซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เรามีกำลังใจที่ฮึกเหิมและมีสุขภาพจิตที่ดี  จนเอาชนะความยากลำบากทางร่างกายมาได้”

“สอง  ไม่ว่าอุปสรรคใดก็ต้องยอมแพ้ต่อความรักความสามัคคี  ถ้าวันนั้นเราตั้งโรงพยาบาลสนามไม่ได้  ถ้ายอมแพ้  ไม่มาตั้งที่หน้าบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด  โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2  3  4 จนถึงแห่งที่ 9 – 10 ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้แต่เพราะความรักความสามัคคีของในจังหวัด  ที่สุดมันจึงเกิดขึ้นได้  แม้จะแลกมากับชีวิตของผู้ว่าราชการจังหวัดผมก็ยอม  ถือว่าคุ้มค่าแล้ว  ทำให้ผมอิ่มใจ ว่าโรงพยาบาลสนามที่ปลุกปั้นมามีส่วนช่วยให้เอาชนะโควิดได้”

“สุดท้ายจากประสบการณ์  โควิดไม่ใช่บัญญัติไตรยางศ์  ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ป่วยจะมีอาการเหมือนกันหรือเป็นหนักเท่ากัน  อย่างผมเคยคิดว่าแค่ 10 วัน
ก็น่าจะหาย  นอกจากไม่หาย  ยังหนักหนาสาหัสกว่าคนอื่นไปมาก  ปาเข้าไป42 วันที่ไม่รู้สึกตัว  อยู่โรงพยาบาลรวมแล้ว 82 วัน  ยิ่งมาฟังคุณหมอและครอบครัวเล่าเรื่องย้อนหลังให้ฟัง  ยิ่งรู้สึกว่าผมรอดมาได้แบบเส้นยาแดงผ่าแปด เพราะฉะนั้นอย่าประมาท  ผมไม่สามารถบอกให้ทุกคนเชื่อผมได้  ป่วยการจะไปบอกให้คนอื่นทำ  แต่อย่างน้อยสำคัญที่สุดคือเราบอกตัวเองได้ว่า ‘ป้องกันไว้ก่อน’  อย่าลืมสวมมาสก์  ล้างมือบ่อยๆ  เว้นระยะห่าง  อย่าไปในที่แออัด ถ้าทุกคนบอกตัวเองและทำได้แบบนี้  ผมเชื่อว่าอย่างไรโควิดก็แพ้เรา”

วันแรกที่กลับมาสมุทรสาครเป็นอย่างไรบ้างคะ

“ผมเดินทางกลับมาสมุทรสาครวันแรก 19 มีนาคม  มีคนมารอรับแบบโอ้โฮ  เยอะมาก (ยิ้ม)  ถ้าไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป  ผมรู้สึกว่าคนสมุทรสาคร
หลายๆคนดีใจที่ผมกลับมา  ก็ดีใจและภูมิใจที่ทุกคนมีน้ำใจกับผม  ผมตั้งใจมาตลอดตั้งแต่รู้สึกตัวว่าหายเมื่อไรก็อยากกลับมาสมุทรสาคร  ผมรู้ว่าทุกคนลำบากกันทั่วหน้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่หาเช้ากินค่ำ  เราเจอปัญหาตั้งแต่โควิดครั้งที่ 1  แล้วมาครั้งที่ 2  ผมว่าทุกคนล้วนเหนื่อยใจ  อย่างน้อยถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดกลับมา  ก็หวังว่าจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขาอย่ายอมแพ้  โอกาสที่เราจะชนะยังมีอยู่  ดูสิ…ขนาดผู้ว่าฯที่น่าจะตายยังไม่ตายเลย (ยิ้ม)  ถ้าชีวิตผมทำให้หลายคนมีใจสู้ได้  ก็คุ้มค่าต่อการเป็นข้าราชการคนหนึ่งแล้ว”

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร

ตอนนี้สถานการณ์โควิดที่สมุทรสาครเป็นอย่างไรคะ 

“ถ้าดูเฉพาะตัวเลข  ตอนนี้สมุทรสาครดีขึ้นเยอะ (ณ วันที่ 30 เมษายน2564)  หากเทียบกับตอนผมเข้าโรงพยาบาลปลายปีที่แล้ว  ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 15,000 – 17,000 คน  ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันถ้าเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อเดือนเมษายนก็ประมาณ 700 – 800 คน ซึ่งไม่น้อยหรอกนะ  แต่ถ้าเทียบกับปีที่แล้วที่เป็นหลักหมื่นก็เยอะ  แต่ใน 700 –800 คนนี้  มากกว่าครึ่งไม่ใช่คนสมุทรสาคร  แต่เป็นคนกรุงเทพฯที่ทางโรงพยาบาลเอกชนรับเข้ามา  เนื่องจากคนไข้ล้นมาจากกรุงเทพฯเยอะ

“ที่เห็นได้ชัดเลยคือผู้ติดเชื้อรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทย  ทั้งยังเป็นการติดเชื้อระหว่างคนในครอบครัว  กลุ่มเพื่อนที่ไปปาร์ตี้หรือมีกิจกรรมกินข้าว
ด้วยกัน  นี่เป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าโควิดได้แพร่ระบาดเข้าไปถึงครอบครัวแล้ว  แต่ปัญหาคือหลายคนไม่ค่อยระมัดระวังตัวเอง  ถามคนที่เป็นโควิดทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีใครคิดว่าตัวเองจะเป็นหรอก  ผมจึงอยากเตือนว่าเราต้องไม่ประมาท  ให้คิดว่าทุกครั้งที่เจอคนอื่นมีความเสี่ยงที่จะติดโควิดเสมอ เราต้องไม่ตระหนก  แต่ก็ป้องกันตัวให้เต็มที่”

แผนรับมือโควิดของผู้ว่าฯปูตอนนี้มีอะไรบ้างคะ 

“ผมตั้งเป้าว่าจะพยายามทำสมุทรสาครให้ปลอดโควิดให้ได้ก่อน  โดยมีแผนรับมือคือ  หนึ่ง  เรื่องมาตรการป้องกันเพื่อให้ประชากรมีคุณภาพ  เน้นย้ำ
ให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน  โดยเราเป็นจังหวัดแรกที่มีการปรับคนที่ไม่สวมมาสก์อย่างจริงจังตั้งแต่มีการระบาดครั้งแรก  จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ยกเลิก  ถัดมาคือห้ามดื่มสุราในร้านอาหาร  ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง สาม  ห้ามการจัดงานปาร์ตี้สังสรรค์ต่างๆโดยไม่มีข้อยกเว้น  ถ้าทำได้ทั้งสามเรื่องนี้จะเป็นการตัดตอนการแพร่ระบาดโดยเฉพาะในครอบครัวได้

“สองคือ  การให้ความช่วยเหลือส่วนกลางผ่านการเปิดโรงพยาบาลสนามให้ผู้ป่วยที่มาจากส่วนกลางหรือจากจังหวัดอื่นๆ ได้เข้ามาใช้  เดิมเราเคยมี
โรงพยาบาลสนามกว่า 10 แห่ง  แต่ตอนนั้นมีไว้รองรับแรงงานต่างชาติเป็นหลัก ปัจจุบันเหลืออยู่ 3 แห่ง  ซึ่งใช้รองรับผู้ป่วยคนไทยเป็นหลักเลย  จุได้ประมาณกว่าพันคน  ผมคิดว่าต่างชาติเรายังรับมาแล้ว  ทำไมจะดูแลคนไทยไม่ได้ อย่างไรเสียทั้งสมุทรสาครและคนไทยทั้งประเทศต้องรอดไปด้วยกัน

“ส่วนเรื่องวัคซีน  ตอนนี้ในสมุทรสาครฉีดวัคซีนไปกว่าแสนรายแล้ว  จากคนไทยในจังหวัดทั้งหมดกว่า 5 แสนราย  คิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของ
ประชากร  ถือว่าเป็นจังหวัดที่ฉีดวัคซีนได้มากที่สุดของประเทศ  แต่ถ้าถามว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่หรือยัง  ยังหรอก  แต่มีโอกาสใกล้เคียงที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในที่สุด  คือตามหลักทางการแพทย์  ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ต้องฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป  ซึ่งเรามีการผลักดันให้ฉีดวัคซีนตั้งแต่แรก ประกอบกับเรามีคลัสเตอร์ตลาดกุ้งจึงได้ฉีดก่อน  แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ไม่ใช่ได้วัคซีนช้าหรือเร็ว  แต่เรายังฉีดวัคซีนให้คนไทยไม่ทั่วถึง  ไหนจะคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเราอีกมาก  เมื่อไรจะถึงคิวเขา  เป็นเรื่องของการจัดสรรวัคซีน หลายคนพร้อมจะจ่าย  ทั้งบริษัท  ประกันสังคม  หรือตัวบุคคลเองก็พร้อมจ่าย แต่ปัญหาคือยังเข้าไม่ถึงวัคซีน”

ระหว่างการทำงานในช่วงเวลาวิกฤติ  รู้สึกท้อบ้างไหมคะ

“ไม่ถึงกับท้อ  แต่จะมีช่วงเวลาที่หนักใจ  เอาเป็นว่าไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุปสรรค  หรือความสำเร็จใดๆที่เคยเกิดขึ้น  ไม่ได้อยู่ที่ผมเพียงคนเดียว  แต่
อยู่ที่หลายคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ หลายครั้งที่ผมก็อึดอัด อย่างเวลา ำงานแล้วมีคนตั้งความหวังให้ผมแก้ปัญหาบางเรื่อง  ซึ่งทำไม่ได้ทันที  เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน  แต่โดนต่อว่าว่า ‘เป็นผู้ว่าฯ  หากผู้ว่าฯไม่ทำ  แล้วใครจะทำ’  สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ  ไม่ใช่ผมไม่อยากทำ แต่ผมทำคนเดียวไม่ได้  เราต้องช่วยกัน  เช่น  ถ้าอยากให้โควิดหมดไปก็ต้องให้ความร่วมมือ  ถ้าอยากจะทำให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี  จะให้ผู้ว่าฯไปไล่จับโรงงานกว่า 7,000 แห่งในสมุทรสาครก็จับไม่ได้หมดหรอก  ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา  หรือถ้าอยากแก้ปัญหายาเสพติด  แล้วบอกว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจทั้งหมด  ประชาชนไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัว  เขามีครอบครัว  มีลูกมีเมีย  อ้าว แล้วตำรวจไม่มีลูกเมียเหรอ  ถ้าประชาชนกลัวได้  ตำรวจก็กลัวได้  แต่ถ้าประชาชนกล้า  ตำรวจก็กล้า  ผู้ว่าฯก็กล้า  แล้วช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม  แต่ผมถือว่าปัญหามีไว้ให้แก้  การทำงานทุกอย่างมีปัญหา ก็ค่อยๆแก้ไปครับ”

ก่อนจะมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร  เส้นทางของการเป็นข้าราชการเป็นอย่างไรคะ 

“ผมสอบติดบรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อปี2526 ที่กรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย  ในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน  ที่อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  จากนั้นประมาณปี2539 ก็เข้าโรงเรียนนายอำเภอ  กระทั่งได้เป็นนายอำเภอครั้งแรกที่แม่วงก์  จังหวัดนครสวรรค์อยู่ 2 ปี  แล้วย้ายมาที่อำเภอเดิมบางนางบวช  จังหวัดสุพรรณบุรี  ทีนี้อยู่มายาวเลย10 กว่าปี  คือเป็นนายอำเภอเดิมบางนางบวช 5 ปี  เป็นนายอำเภอศรีประจันต์1 ปี  เป็นนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี1 ปี  เป็นปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี2 ปี  และเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 4 ปี  ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเป็นครั้งแรกอยู่ 2 ปี  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษอีก 1 ปี  แล้วจึงย้ายมาที่สมุทรสาคร  ซึ่งตอนนี้เข้าปีที่ 2 แล้วครับ”

วีระศักดิ์  วิจิตร์แสงศรี

ทราบว่าตลอดชีวิตการทำงาน  ผู้ว่าฯปูมักลงพื้นที่เป็นหลัก  วีรกรรมการลุยของท่านเป็นอย่างไรคะ

“สมัยอยู่สุพรรณบุรีผมได้ชื่อว่าเป็น‘รองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายผักตบชวา’ (หัวเราะ)  เพราะช่วงนั้นมีผักตบชวาอยู่เต็มแม่น้ำลำคลองผมก็เดินทางไปทุกอำเภอที่มีปัญหาเรื่องนี้  ไปดูแหล่งน้ำทุกที่  และเจรจาขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการกำจัดผักตบชวา  จนทำให้ช่วงหนึ่งแม่น้ำลำคลองใน
สุพรรณบุรีปลอดผักตบชวาไปได้  ซึ่งหลายคนก็บอกว่าไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ผมเชื่อว่าผมเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้การกำจัดผักตบชวาเห็นผลเป็นรูปธรรม สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ทุกคนช่วยกัน

“ส่วนที่จังหวัดพิจิตรผมจัดกิจกรรมค่อนข้างหลากหลาย  แต่ที่พลิกโฉมหน้าไปเลยคือการทำให้เมืองพิจิตรกลายเป็นเมืองเล็กแต่น่ารัก  มีกิจกรรมสำคัญขึ้นมาคือตึกโบราณ  ตำนานรถไฟ  ซึ่งเดิมไม่ค่อยมีใครรู้จักสถานีรถไฟพิจิตร  แถมสวนสาธารณะที่อยู่หน้าสถานีก็รกร้าง  เต็มไปด้วยขยะ  พอตกเย็นก็กลายเป็นที่ซ่องสุมเสพยาเสพติด  ผมก็เข้าไปลุยตรงนี้  ให้เก็บกวาดขยะให้เรียบร้อย  ปรับพื้นที่ใหม่ทำเป็นสวนสาธารณะที่มีชีวิตชีวา  จัดให้มีตลาดชุมชนไปขายของ  มีกิจกรรมสกายวอล์คบนสะพาน  พอเราปรับพื้นที่ให้มีทิวทัศน์สวยงาม  คนก็เข้ามาใช้งาน ภาพก็เปลี่ยนไปเลย  กลายเป็น‘ชานชาละวัน’  สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัด

“พอย้ายมาอยู่ที่ศรีสะเกษ  ผมก็ไปลุยเรื่องขี้หมู  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคิดถึง  แต่ชาวบ้านเดือดร้อนกันมาก  คือฟาร์มหมูที่ชุมชนบ้านน้อยดงเมืองตำบลอีเซ  อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ  กลิ่นขี้หมูแรงมาก  เป็นอันตรายต่อการหายใจของคนในชุมชนที่มีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก  ที่ผ่านมายังไม่มีใครคิดแก้ไขตรงนี้  เพราะแก้ลำบาก  เนื่องจากกระทบกับคนเลี้ยงหมู  ผมก็ลงไปเจรจาแก้ไข  แต่เนื่องจากกระบวนการต้องใช้เวลานาน  ผมอยู่ที่ศรีสะเกษแค่ปีเดียว  แต่เมื่อเดือนที่แล้วได้ข่าวว่าทางกรมอนามัยสั่งให้หยุดการเลี้ยงหมูตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเคยแจ้งไปแล้วจนกว่าจะมีการปรับปรุงให้ไม่มีกลิ่น  หรือลดกลิ่นให้น้อยที่สุดจนไม่มีผลกระทบต่อชุมชน  ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปมีผลลัพธ์ตอบกลับมา”

ตลอดการรับราชการ  ผู้ว่าฯทำผลงานได้รางวัลมาแล้วมากมายมีชิ้นไหนที่ภาคภูมิใจมากที่สุดคะ

“ผมยอมรับว่ารางวัลที่ได้อาจบ่งบอกได้ถึงคุณภาพของงานอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด  ดังนั้นรางวัลที่ภาคภูมิใจมากที่สุดไม่ใช่โล่รางวัล  เกียรติบัตร หรือเงินรางวัลตอบแทน  แต่เป็นรางวัลที่ประชาชนให้การยอมรับ  ที่ถือว่ามีค่าสำหรับผมมากที่สุด  ถ้าเราไปอยู่ที่ไหนแล้วคนในจังหวัดไม่ยอมรับ  พอหมดวาระจะออกจากจังหวัดทีมีแต่คนโห่ไล่  ได้รางวัลไปก็ไม่มีความหมาย  แต่ถ้าชาวบ้านบอกว่ากลับมาเมื่อไร  ยินดีต้อนรับ  หรือเวลาที่เรากลับไปเยี่ยมแล้วเขาดีอกดีใจนี่เป็นความปีติยินดีที่มีคุณค่ามากกว่าโล่รางวัล  มากกว่าเกียรติบัตรใดๆ  อย่างน้อยผมก็ภูมิใจว่าใน 4 – 5 จังหวัด
ที่ผมเคยไปอยู่  ไม่ว่าจะนครสวรรค์  สุพรรณบุรี  พิจิตร ศรีสะเกษ  และสมุทรสาคร  ยังมีคนคิดถึงและต้อนรับอย่างที่สุพรรณบุรี  เวลากลับไปคนกยังนึกถึงรองฯผักตบชวาที่ไปตระเวนดูน้ำตามที่ต่างๆอยู่

“หรือที่ศรีสะเกษที่นอกจากเรื่องขี้หมู  ยังมีเรื่องทุเรียนภูเขาไฟ  ซึ่งเดิมขายไม่ออก  ส่วนตัวผมไม่ชอบทุเรียนหรอก (ยิ้ม)  แต่ก็ต้องคิดว่าจะช่วยอย่างไรให้เขาขายได้  ที่สุดจัดเป็นงานทุเรียนขึ้นมา  มีการประมูลทุเรียนกันจนขายได้หลายแสน  ทำให้ทุเรียนภูเขาไฟมีราคาสูงขึ้นมาได้  คิดถึงทีไรก็ภูมิใจ  พอมาอยู่สมุทรสาคร  ผมก็เข้ามาดูเรื่องการแก้ปัญหาน้ำเสีย  การจับกลุ่มในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม  หรือแม้กระทั่งเรื่องโควิด  ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวความทรงจำที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นการส่วนตัว  จริงๆมีอีกหลายเรื่องที่คงเล่าได้ไม่หมด  แต่หากที่ไหนยังมีคนนึกถึงเราอยู่  ก็เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งเลยครับ”สิ่งที่ท่านยึดถือมาตลอดชีวิตการทำงาน “ข้าราชการ” คืออะไรคะ

“สิ่งหนึ่งที่ผมพูดเสมอ  ทั้งกับกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  นายอำเภอ  ข้าราชการฝ่ายปกครอง  และข้าราชการท้องถิ่น  คือ  ตำแหน่งของพวกเราไม่ได้มีไว้
ทอดผ้าป่า  ตัดริบบิ้น  หรือสวมพวงมาลัยให้คู่บ่าวสาว  นั่นเป็นเกียรติที่เขาให้เราสิ่งสำคัญคือการทำงานดูแลประชาชน  เพราะฉะนั้นบนเกียรตินี้  เรามีหน้าที่ที่ต้องทำด้วย  ต้องผสมผสานสองเรื่องนี้ให้ดี  ถ้าว่างไปงานที่เขาเชิญก็ไป  ถือว่าเป็นเกียรติแก่เจ้าภาพ  แต่ต้องทำงานที่เป็นหน้าที่ของเราก่อน  อย่าให้เสีย  และสิ่งที่ข้าราชการต้องคิดเสมอคือ  อย่าดูถูกเสียงเล็กเสียงน้อย  ต้องยอมรับความจริงว่าเสียงของคนในสังคมดังไม่เท่ากัน  เสียงคนรวยมักจะดังกว่าคนจน  เสียงคนมีตำแหน่งมักจะดังกว่าตาสีตาสา  เราจึงต้องมองมุมกลับว่าในเมื่อเสียงคนรวยดังอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปช่วยกระพือให้เขาหรอก  ไปช่วยฟังเสียงตาสีตาสาเถอะ

“ดังนั้นทุกที่คือที่ทำงานของผม  ผมไม่ยึดติดว่าที่ทำงานของนายอำเภอ คือที่ว่าการอำเภอ  หรือผู้ว่าฯต้องไปทำงานที่ศาลากลางจังหวัด  เพราะความเดือดร้อนของชาวบ้านอยู่ที่ท้องไร่ท้องนา  โรงพยาบาล  ถนนหนทาง  เขาเดือดร้อนตรงไหนนั่นแหละคือที่ทำงานของเรา  เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆส่วนใหญ่ผมจะไม่ค่อยอยู่ศาลากลางจังหวัดหรอก  แต่ไปอยู่ในพื้นที่ที่ชุมชนนั้นมีปัญหา  งานแฟ้มงานเอกสารส่วนใหญ่ผมจะเก็บไปเซ็นช่วงสามสี่ทุ่มที่บ้านพัก  มีแค่ตอนป่วยแล้วนี่แหละที่คุณหมอห้าม”

ถ้าให้เล่าถึงวิธีการทำงานของผู้ว่าฯปูเป็นอย่างไรคะ

“ความที่ผมผ่านอะไรมาเยอะ  ทั้งโควิดที่เกือบไม่รอด  ก่อนหน้านี้ปี2539ตอนเป็นนายอำเภอที่เดิมบางนางบวช  จังหวัดสุพรรณบุรี  ก็เคยผ่าตัดสมองเพราะเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ  แต่ผ่าแล้วปรากฏว่าเส้นเลือดในสมองแตก  ทำให้สมองน้อยที่ควบคุมการเคลื่อนไหวตาย  หมอต้องตัดส่วนนั้นทิ้ง  ผมอยู่โรงพยาบาลเกือบสองเดือน  พูดและเดินไม่ได้  ช่วยตัวเองไม่ได้  ทุกคนลงความเห็นว่าน่าจะไม่รอด  แต่ผมก็รอดมาได้  หมอบอกว่าไม่น่าจะเดินได้  แต่ผมก็โขยกเขยกจนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างทุกวันนี้ได้  เพราะฉะนั้นสัจธรรมที่ผมเรียนรู้จากการป่วยหนักมาคือ  อะไรก็ไม่แน่นอน  ถ้าคิดอยากจะทำอะไร  ต้อง ‘ท.ท.ท.’ คือทำทันที  อย่าผัดวันประกันพรุ่ง  อย่ามัวแต่คิดแล้วคิดอีก  ไม่ทำสักที ความทุกข์และปัญหาของชาวบ้านไม่มีวันหยุด  ไม่มีเสาร์- อาทิตย์  โควิดก็เหมือนกัน  ถ้าคิดอยากจะแก้ไข  ต้องลงมือแก้เลย  เพราะโควิดไม่มีวันหยุดราชการ  ไม่มีเวลาทำการว่าจะติดตอนตี5 หรือตอน 8 โมง  ปัญหาไม่รอเรา จะป้องกันหรือแก้ไขก็ต้องทำเลย”

“วิธีการของผมคือ  จะพยายามคิดก่อนว่าปัญหาอยู่ตรงไหน  ถ้าเราสามารถทำได้ก็จะทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้  ต้องยอมรับว่าฝั่งราชการถูกประชาชนดูถูกกันเยอะว่าเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี  ทำงานเงอะงะงุ่มง่าม  ชักช้า  ไม่อยากเสียเวลาไปติดต่อราชการ  ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ไดโนเสาร์ยุคนี้กระปรี้กระเปร่าจากเต่าล้านปีให้เหลือสักพันปีได้ไหม  อยากจะพลิกโฉมหน้าราชการไทย  เพียงแต่เราทำคนเดียวไม่ได้  ทุกคนต้องช่วยด้วย  โดยผมอาศัยทำให้ดูเป็นตัวอย่าง  ผมเชื่อว่าตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน  ถ้าผมอยากให้ทุกคนทุ่มเททำงานเต็มที่ให้สมกับที่ได้รับเงินเดือนจากประชาชน  ผมก็ต้องทุ่มเทให้เต็มที่ก่อน  หรือผมบอกว่าทำงานอย่ามีเสาร์-อาทิตย์  ผมเองก็ต้องไม่มีเสาร์-อาทิตย์  ต้องทำให้เขา
เห็น  ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญมากที่สุด  จะได้ไม่พูดกันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดดีแต่พูด”แนวทางใดที่ผู้ว่าฯปูยึดถือในการทำงานร่วมกับผู้อื่นจนได้รับการยอมรับคะ

“คำเดียวเลย  ‘ความจริงใจ’  เวลาทำงานหรือประสานงานอะไรก็ตาม  ส่วนใหญ่ผมจะพูดตรงๆ  บางคนอาจพูดแบบน้ำตาลฉาบหน้า  พูดหวาน  แต่ทำจริงๆแค่นิดเดียว  แต่ผมเป็นแนวเน้นเนื้อหาจริงจัง  อยากแก้ปัญหาเรื่องไหนก็จะยึดเรื่องนั้นเป็นหลัก  ผมคิดว่าเรื่องความจริงใจนั้นพิสูจน์ได้  แต่ต้องอาศัยระยะเวลาแค่ 1 – 2 วันคนคงสัมผัสไม่ได้  แต่ผ่านไปเป็นเดือนเป็นปี  เขาเริ่มรู้แล้วว่าผมเป็นอย่างไร  และความจริงใจที่มอบให้มีคุณค่ามหาศาลแค่ไหน  หลายคนที่ผมรู้จักกันมาตั้งแต่อยู่สุพรรณบุรี  พิจิตร  ศรีสะเกษ  หรือแม้กระทั่งที่สมุทรสาคร เห็นหน้ากันทีแรกบอกว่าผมเหมือนคนคุยยาก  เต๊ะท่า  แต่พอมาคุยด้วยจริง ๆแล้วเขาบอกว่าผมรับฟังทุกคน  ซึ่งกว่าจะรู้แบบนี้  บางคนใช้เวลาหลายเดือน  อย่างมีคนหนึ่งที่เคยทำงานด้วยกันที่ศรีสะเกษและทะเลาะกันมามากมาย  ปัจจุบันเขาบอกเพื่อนว่าคนที่จริงใจในการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านมากที่สุดคือผู้ว่าฯวีระศักดิ์
เพราะเขารู้ว่าที่ทะเลาะกันเพราะเราอยากให้ชาวบ้านได้สิ่งที่ดีที่สุด  เขารู้แล้วว่าเราทำเพื่อประชาชน  ให้ชุมชนอย่างแท้จริง”คุยเรื่องงานเยอะแล้ว  ขออนุญาตถามถึงครอบครัวที่เป็นขวัญและกำลังใจบ้างนะคะ”

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร

“ผมกับภรรยา (ชุติพร  วิจิตร์แสงศรี) เป็นพัฒนากรด้วยกัน  เจอกันสมัยผมบรรจุเป็นข้าราชการครั้งแรกที่บางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  ส่วนเขาเข้าไปฝึกงานที่บางปลาม้าพอดี  การเป็นข้าราชการเหมือนกันทำให้เขามีส่วนช่วยซัพพอร์ตผมได้มาก  ความคิดเราค่อนข้างมาในแนวทางเดียวกัน  ตอนนี้เขาเป็นนายกเหล่ากาชาดที่สมุทรสาครและประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยสมุทรสาคร  ซึ่งก็ช่วยผมได้เยอะเลย  อย่างเรื่องโควิดที่ผ่านมา  ตอนผมออกจากโรงพยาบาลศิริราชแล้วพบว่าพวกสถานบันเทิง  ผับ  บาร์  คาราโอเกะในสมุทรสาครนั้นหยุดกิจการมานานมากตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว  ผมจึงเป็นห่วงพวกพนักงานในร้าน  เด็กเสิร์ฟ  แม่ครัว  ไม่รู้จะช่วยเขาอย่างไรดี  ก็ปรึกษาภรรยาและเหล่ากาชาดให้ช่วยประสานกับส่วนกลางเพื่อจัดหาถุงยังชีพช่วยเหลืออาหารไปมอบให้คนเหล่านี้  ซึ่งช่วยไปได้600 กว่าราย”

“ส่วนลูกๆ  ผมมีลูกสาวทั้งหมด 4 คน  คนโตทำงานอยู่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  อีกคนกำลังเรียนปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์-
มหาวิทยาลัย  ส่วนคนเล็ก 2 คนเป็นฝาแฝด  คนหนึ่งเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  อีกคนเรียนที่มศว  ประสานมิตร ต้องบอกว่าครอบครัวเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ของผม  แต่ก่อนผมอาจจะรู้สึกว่าเราเป็นหัวเรือใหญ่ของบ้าน  แต่การป่วยสองครั้งใหญ่ในชีวิต  ผมได้ภรรยาและลูกๆช่วยประคับประคอง  ทำให้รู้สึกว่าจริงๆแล้วทุกคนในบ้านสามารถช่วยกันและเป็นหัวเรือใหญ่ของบ้านได้หมด  ทำให้ผมภาคภูมิใจในครอบครัวมากและเป็นหัวเรือใหญ่ของบ้านได้หมด  ทำให้ผมภาคภูมิใจในครอบครัวมาก”

มีลูกสาวตั้ง 4 คน  หวงไหมคะ

“ไม่ค่อยหวงนะ  ไม่ค่อยมีคนมาจีบเท่าไร (หัวเราะ)  ถึงมาจีบก็ไม่เป็นไร เป็นสิทธิ์ของเขา  ผมไม่ค่อยได้กะเกณฑ์อะไรลูกมาก  กฎกติกาภายในบ้านมีแค่ ถ้ายังเรียนประถม-มัธยม  จะไปไหนต้องมาขออนุญาตพ่อกับแม่ก่อน  แต่ถ้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว  แค่แจ้งให้ทราบ  ไม่ต้องขออนุญาตแล้ว  เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะไปไหนก็ได้  ส่วนถ้าทำงาน  รับผิดชอบตัวเองได้แล้ว  ทีนี้แล้วแต่เขาเลย จะบอกหรือไม่บอกก็ได้

“ส่วนเรื่องอนาคต  ผมไม่เคยคาดหวัง  ลูกอยากจะเป็นอะไรก็ได้  ขอแค่เป็นคนดีและอย่าเป็นภาระของสังคม  ผมบอกลูกเสมอว่าพ่อเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง (หัวเราะ)  อีกไม่เท่าไรก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว  ฉะนั้นฝากอนาคตของประเทศชาติไว้ในมือของคนรุ่นลูก  จะคิดอ่านทำอะไรก็ขึ้นอยู่กับลูกเป็นหลัก พ่อไม่ห้าม  บ้านผมไม่มีข้อจำกัดเรื่องความคิดทางการเมืองเลย  เขามีสิทธิ์ที่จะเห็นต่าง  แล้วแต่เขาจะคิด  แต่ผมจะทำให้ลูกเห็นว่าผมในฐานะข้าราชการ เราให้คุณค่ากับประชาชน  ถ้าลูกจะเห็นต่างก็ได้  แต่เขาต้องเห็นว่าผมทำอะไรอยู่ ต้องยอมรับว่าบางเรื่อง  บางทัศนคติ  เราไปไม่ทันเด็กรุ่นใหม่หรอก  เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก  เราไม่สามารถเปรียบเทียบยุคเราที่ยังไม่มีมือถือกับยุคปัจจุบันที่เด็กเล่นเกม  เล่นอินเทอร์เน็ต  ทำทุกอย่างผ่านออนไลน์ได้  มันคนละยุคกันแล้ว จะให้เขาคิดเหมือนกับเราคงเป็นไปไม่ได้  ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง  และยอมรับว่าโลกปัจจุบันเป็นโลกของคนรุ่นเขา”

ผู้ว่าฯคิดว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจาก วิกฤติโควิดไปได้ทั้งในแง่สุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศคะ

“ผมว่าเราต้องยกเรื่องสุขภาพอนามัยไว้เป็นหลักก่อน  เพราะถ้าสามารถคุมการแพร่ระบาดของโรคได้  การผ่อนคลายมาตรการต่างๆทางเศรษฐกิจก็จะตามมา  แล้วคนก็จะใช้ชีวิตและประกอบอาชีพได้เป็นปกติ  อย่างถ้าใครเห็นภาพของคุณซิโก้- เกียรติศักดิ์  เสนาเมือง ที่ไปเป็นโค้ชสโมสรฟุตบอลที่เวียดนาม เขามีการเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูเกมฟุตบอลได้เต็มความจุสนามเลย ประมาณ 7,000 – 8,000 คน  ซึ่งหลายคนเห็นภาพแล้วสงสัยว่าที่เวียดนามไม่มีโควิดเหรอ  ความจริงคือที่นั่นก็มีโควิด  แต่เขาล็อกดาวน์เป็นเมืองๆไป  ซึ่งระหว่างล็อกดาวน์ทุกคนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อกำหนด  จึงสามารถถอนการล็อกดาวน์ได้อย่างรวดเร็ว  จนกระทั่งสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้  ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยด้วยซ้ำ  นี่เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าถ้าบุคลากรหรือประชากรในประเทศมีคุณภาพ  การป้องกันในเรื่องอื่นๆหรือการผ่อนคลายเรื่อง
เศรษฐกิจก็จะตามมาโดยปริยาย”สุดท้ายขอกำลังใจให้พี่น้องประชาชนชาวไทยในการต่อสู้กับผลกระทบจากโควิดค่ะ”

“ทุกคนรู้ดีว่าวิกฤตินี้ทำให้หลายคนลำบาก  การต่อสู้ที่ยาวนานทำให้ทั้งหมดแรง  เหนื่อยและอ่อนล้า  แต่โปรดจงรู้ไว้เถอะครับว่าอุปสรรคหรือวิกฤติครั้งนี้คือบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตว่าเราจะสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้หรือไม่  อุปสรรคนั้นมีอยู่ในทุกที่  ไม่มีการทำงานใดไม่มีปัญหา  ยิ่งทำมาก  ปัญหาก็ยิ่งมาก”

“แต่ถ้าพวกเราทุกคนร่วมมือและรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวให้ได้  เราจะสามารถผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างดี  แม้เส้นทางอาจไม่ราบรื่นสวยงามนัก  และ
ต้องใช้เวลาในการต่อสู้กับปัญหา  ต่อสู้ให้คนหลายคนเคารพในกติกา  ทำตามระเบียบสังคม  แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ  พรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้แน่นอน  ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ  ผมเชื่อว่ากำลังใจจะช่วยส่งเสริมให้พวกเราสามารถเอาชนะวิกฤติโควิดนี้ได้เหมือนที่ผมได้รับกำลังใจจากทุกคน””


ข้อมูลจาก นิตยสารแพรว ฉบับ 971

สามารถติดตามอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่

เด็ดขาด รอบคอบ ทำจริง! วิสัยทัศน์ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ จากบทเรียนถ้ำหลวง สู่วิกฤติโควิด-19

ทำความรู้จัก เอิร์ธ-พงศกร ลูกชายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เบื้องหลังชีวิตแสนลำบากของ ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย

Praew Recommend

keyboard_arrow_up