เก๋ ชลลดา

นางฟ้าของมะหมา เก๋-ชลลดา เชื่อสัตว์ก็มีหัวใจและความรู้สึกไม่ควรถูกทอดทิ้ง

account_circle
เก๋ ชลลดา
เก๋ ชลลดา

หลายปีมาแล้วที่ชื่อของ เก๋-ชลลดา  สิริสันต์ (เมฆราตรี) ไม่ได้บ่งบอกถึงแค่การเป็นนักแสดงหรือพิธีกร แต่หมายถึงนักต่อสู้เพื่อสัตว์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเดอะวอยซ์ (เสียงจากเรา) ที่เป็นเสมือนกระบอกเสียงและสื่อกลางในการช่วยเหลือสัตว์จรจัด บาดเจ็บ หรือถูกทอดทิ้ง เพราะเธอเชื่อว่า “ทุกชีวิตมีหัวใจและความรู้สึก”

นางฟ้าของมะหมา เก๋-ชลลดา เชื่อสัตว์ก็มีหัวใจและความรู้สึกไม่ควรถูกทอดทิ้ง

ย้อนเล่าถึงวันแรกที่เริ่มทำภารกิจนี้สักนิดค่ะ

“ตอนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีพ.ศ.2554 เก๋ไปลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในย่านบางบัวทองประมาณ 20 วัน แล้วเห็นว่ามีสัตว์เลี้ยงตกค้าง และพลัดหลงค่อนข้างเยอะ จึงเริ่มหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่ามีเพจที่รับประกาศช่วยเหลือสัตว์หายจำนวนมาก เก๋ดูว่าเขามีขั้นตอนอย่างไร จึงเริ่มจากการถ่ายภาพ บอกพิกัด ข้อมูลต่างๆลงเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ส่วนตัวเพื่อเป็นสื่อกลางกระจายข่าวในการตามหาบ้านให้สุนัขและแมว

“ตอนแรกเก๋ทำคนเดียว จากนั้นก็มีน้องๆแฟนคลับของเก๋ช่วยทำข้อมูลและโพสต์ลงในเฟซบุ๊กแฟนเพจของเก๋ ซึ่งพอประกาศไปได้สักพัก บางโพสต์ที่ประกาศออกไปผ่านไปหลายวันก็ยังไม่มีคนติดต่อมาขอรับกลับสักที ทั้งยังมีคนติดต่อเข้ามาแจ้งขอความช่วยเหลือตามจุดต่างๆเพิ่มขึ้นอีกด้วยว่าเจอสุนัขจรจัดตรงนี้ เจอแมวโดนรถชนตรงนั้น จึงทำให้เก๋สงสัยว่าเพราะอะไร เก๋เองเลี้ยงสุนัขและรักเขาเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมคนถึงทิ้งสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ง่ายๆ

“และจากที่เก๋โพสต์ช่วยตามหาเจ้าของให้สัตว์ กลายเป็นว่าต้องช่วยเหลือสัตว์ที่ประสบอุบัติเหตุด้วย รวมถึงมีคนติดต่อเข้ามาให้ช่วยทำหมันสุนัขจรจัดได้ไหม ที่สุดจึงเกิดเป็นกองทุนเล็กๆเพื่อระดมทุนในเพจของเก๋ ชื่อโครงการเสียงจากเรา ซึ่งตอนนั้นคิดว่าจะทำแค่ชั่วคราวช่วงน้ำท่วม แต่ปรากฏว่ามีผู้คนแจ้งเหตุการณ์เข้ามาต่อเนื่อง ทำให้ตอนนั้นเฟซบุ๊กของเก๋จากเดิมที่โพสต์รูปและงานในแต่ละวัน กลายเป็นมีแต่ประกาศช่วยเหลือสัตว์เต็มหน้าฟีดเลยค่ะ

“เก๋และแฟนคลับจึงตัดสินใจเปิดอีกเพจเพื่อเป็นกระบอกเสียงเรื่องนี้โดยเฉพาะชื่อเพจว่า ‘เสียงจากเรา’ (มีนาคม พ.ศ. 2555) ซึ่งก็มีเคสส่งเข้ามาเยอะเลยค่ะ ทั้งโดนรถชน ถูกทิ้ง และมีเคสหนึ่งส่งมาบอกว่าเจอสัตว์ถูกทำร้าย เก๋แนะนำให้เขาไปแจ้งความ แต่เขาตอบกลับมาว่า ‘คุณเก๋ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ช่วยสัตว์กลับบ้าน ช่วยสัตว์ประสบอุบัติเหตุ หรือช่วยทำหมันสุนัข’ ซึ่งตอนนั้นเก๋ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายหรือ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ใดๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เก๋ค้นคว้าข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

เป็นที่มาของการผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์

“ค่ะ ส่วนตัวเก๋คือถ้าจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สุด ช่วงนั้นค้นคว้าข้อมูลหนักมาก และบังเอิญว่าเดือนเมษายน 2555 มีการชุมนุมอย่างสันติเพื่อผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ เมื่อเก๋ไปตรงนั้นจึงมีโอกาสได้รู้จักกับผู้ใหญ่และคนที่
ผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง บวกกับความที่เก๋เป็นนักแสดงจึงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน และถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เก๋สนใจและทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“เริ่มจากการใช้พื้นที่ของเราในการกระจายข่าว เพื่อเป็นส่วนเล็กๆที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้ และในระยะเวลาเพียง 1 เดือนมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่า 3 แสน 4 หมื่นรายชื่อ และพี่ๆนักข่าวก็ถ่ายภาพเก๋พร้อมการพาดหัวข่าวว่า ‘เสียงหมาๆ จากเก๋-ชลลดา สู่สภา’ ซึ่งทำให้ผู้คนจดจำเก๋ในภาพนี้

“ซึ่งที่จริงเรื่องนี้มีการรวมพลังกันมากว่า 7 ปีแล้วค่ะ เพียงแต่ตอนที่เก๋ได้เข้าร่วมเป็นกระบอกเสียงมีเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆในวงการช่วยกันกระจายข่าว และในที่สุดประเทศไทยก็มีพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2557 และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

“แม้จะยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าเราได้ช่วยกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม มีกฎเกณฑ์ในการตัดสินที่ชัดเจน ช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการแก้ไขกฎหมายกันอยู่นะคะ”

แล้วมูลนิธิเดอะวอยซ์ล่ะคะ เริ่มต้นอย่างไร

“เก๋ทำเพจช่วยเหลือสัตว์มาต่อเนื่อง จนปีพ.ศ. 2556 จึงจดทะเบียนเป็น มูลนิธิเดอะวอยซ์(เสียงจากเรา) เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงาน และเนื่องจากไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ กลุ่มคนที่สนับสนุนหรือร่วมทำบุญไม่สามารถนำเงินที่ช่วยเหลือไปลดหย่อนภาษีได้ บวกกับตอนนั้นเก๋เพิ่งทราบว่ามูลนิธิเกี่ยวกับสัตว์ในไทยไม่มีมูลนิธิไหนที่ผู้ก่อตั้งหรือเจ้าของเป็นคนไทยเลย ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนจากต่างประเทศ จึงทำให้ตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิขึ้น

“ตอนที่เริ่มทำมูลนิธิ เก๋อายุ32 ปี เป็นช่วงที่ใช้ชื่อเสียงและความนิยมจากประชาชนในวงการบันเทิงมาระยะหนึ่งแล้ว  จึงคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรดีๆเพื่อสังคมและผู้อื่นบ้าง ซึ่งก่อนหน้านั้นเก๋เคยไปเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ช่วยเด็กและคนพิการมาบ้าง แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่พอดีทั้งเวลา ความพร้อม และพลังของเก๋ (ยิ้ม) และแม้เราจะเปลี่ยนโลกทั้งใบไม่ได้ แต่สามารถเปลี่ยนจุดเล็กๆบางอย่างได้ รวมถึงอยากเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆคน ลุกขึ้นมาทำเรื่องดีๆด้วยกัน

“เก๋เริ่มลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง  โดยมีน้องๆแฟนคลับคอยช่วยเหลือกัน เป็นทีมที่น่ารักมาก ไม่ว่าจะขับรถไปรับสัตว์บาดเจ็บ พาไปหาหมอ ฉีดวัคซีน ทำหมัน ประกาศหาบ้าน ทำทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้เขาได้มีชีวิตใหม่
อีกครั้ง

“เก๋เคยเจอประโยคในหนังสือเล่มหนึ่งเขียนว่า ‘คุณช่วยสุนัขหนึ่งตัว ชีวิตของคุณไม่เปลี่ยนไปหรอก…แต่โลกทั้งใบของสุนัขตัวนั้นต่างหากที่เปลี่ยนไปเลย และสัตว์เขาจะจำ ภักดี และซื่อสัตย์กับคุณไปตลอดชีวิตของเขา’ ซึ่งเก๋เชื่อแบบนั้นจริงๆ มีหมาตัวหนึ่งที่เก๋ช่วยไว้ตอนน้ำท่วมและช่วยหาบ้านใหม่ให้ ตอนนี้ผ่านไป 10 ปีแล้ว ทุกครั้งที่เขาเห็นเก๋ก็ยังวิ่งมาหาเสมอ

“ความรู้สึกนี้ช่วยเติมเต็มหัวใจเก๋มากๆค่ะ เหมือนเราได้ทำภารกิจสำเร็จ ได้มอบโลกใหม่ให้เขา แม้สัตว์จะพูดไม่ได้  แต่เวลาที่เราได้เห็นหน้า เห็นแววตาของเขา เก๋สัมผัสได้ถึงความสุขนะ เก๋รู้ว่าเขากำลังยิ้มหรือขอบคุณเราอยู่” แต่ละเดือนมีเคสขอความช่วยเหลือเข้ามามากแค่ไหนคะ

“เยอะมากค่ะ ช่วงแรกที่ทำเก๋มีเงินเท่าไหร่ก็ช่วยหมดเลย ใจดีมาก จนน้องๆในทีมบอกว่าเจ้านายมีเมตตาเกินร้อย (หัวเราะ) ซึ่งในช่วงแรกนั้นเป็นเงินส่วนตัวแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ค่ะ บางครั้งมีร้อย…ให้สองร้อยด้วยซ้ำ ใช้เงิน
ในอนาคตไปก่อน เดี๋ยวค่อยหามาคืน หรือถ้าไม่พอก็ปันเงินส่วนตัวไปสมทบอีก แต่ที่สุดก็เรียนรู้ว่าถ้าทำแบบนี้ไปนานๆองค์กรจะไม่ยั่งยืน ทีมงานก็เหนื่อย เก๋ก็เครียด เพราะแต่ละเคสใช้เงินค่อนข้างเยอะ ค่ารักษา ค่ายา ค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกจึงต้องมีการปรับระบบใหม่ วางแผนการเงินให้เหมาะสม เพื่อให้องค์กรอยู่ได้

“แต่ละเดือนเราสามารถช่วยเหลือได้ประมาณ 40 เคส แต่มีคิวรอความช่วยเหลือจากเราทุกวัน ฉะนั้นการบริหารหรือคัดเลือกเคสก็สำคัญมากค่ะ เพราะถ้ารับเคสมามากเกินไป เราดูแลไม่ทั่วถึง โรงพยาบาลรับไม่ไหว ก็เป็นผลเสียอีก
เคยมีช่วงหนึ่งพาสัตว์ไปรักษามากถึง 136 รายใน 1 เดือน จนโรงพยาบาลต้องโทร.มาตาม เพราะทีมเราดูแลไม่ไหว

“อย่างเมื่อก่อนถ้าเจอสุนัขโดนรถชน เก๋ขับรถไปรับเลยนะ ซึ่งเราทำแบบนั้นทุกเคสไม่ได้ จึงต้องปรับใหม่ว่าถ้าใครเจอเคสที่ไหน ช่วยเป็นจิตอาสาให้ก่อน อย่างถ้าเจอสุนัขโดนรถชน รบกวนช่วยพาเขาไปโรงพยาบาล ช่วยดูแลเขาก่อน
แล้วทีมเราจะช่วยประสานงานในลำดับต่อไป

“สิ่งที่เก๋พูดเสมอคือเดอะวอยซ์เป็นกระบอกเสียงให้สัตว์ก็จริงนะคะ แต่ถ้าคุณเป็นคนแรกที่เจอเขา คุณนั่นแหละที่จะชี้ชะตาชีวิตของเขา เพราะทีมเราไม่สามารถมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกจังหวัด ไม่มีอาสาสมัครไปรับสัตว์ทุกรายได้ทันทุกที่
ทุกเวลาขนาดนั้น

“อย่างเคสล่าสุดมีคนแจ้งว่ามีสุนัขถูกทิ้งที่นนทบุรี เชื่อไหมคะว่าสุนัขเดินจนจะออกไปจังหวัดอื่นแล้วค่ะ แต่เราช่วยกันโพสต์ประกาศและมีคนแจ้งเบาะแสเข้ามาเรื่อยๆตามระยะทาง ในที่สุดก็ช่วยสุนัขตัวนั้นได้ แต่ก็เข้าใจว่าบางราย  อย่างสุนัขโดนรถชน คนที่เจอก็ไม่กล้าเข้าไปจับเพื่อพาไปโรงพยาบาล เพราะไม่รู้ว่าเขาจะกัดหรือเปล่า ซึ่งเก๋ก็เคยโดนกัดนะคะ จึงเข้าใจดี กรณีนี้อาจช่วยเฝ้าไว้ก่อนหรือช่วยติดต่อโรงพยาบาลใกล้เคียงให้หน่อย เพราะอย่างที่บอกว่า
คุณคือคนที่ชี้ชะตาชีวิตเขา อยากให้ทุกคนช่วยกันค่ะ

“อย่างบางรายพอพาสุนัขไปโรงพยาบาลก็ส่งหลักฐานค่าใช้จ่ายมาให้ทีม จากนั้นเก๋ก็โอนไปให้ ซึ่งเมื่อมีคนดีก็ต้องมีมิจจาชีพเช่นกัน ช่วงปีแรกคือปีแห่งการเรียนรู้มากๆ แต่พอเราเริ่มมีประสบการณ์ มีบทเรียน ก็ทำให้บริหารจัดการได้ดีขึ้น เพราะเก๋อยากให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคง”

เป้าหมายของมูลนิธิเดอะวอยซ์

“จริงๆเราก็มีตัวเลขในใจที่ตั้งไว้นะคะ เพราะทุกวันนี้เก๋ต้องเซ็นเอกสารการทำหมันและฉีดวัคซีนจำนวนมากทุกวัน  เยอะที่สุดเดือนหนึ่งเคยทำหมันสุนัขไป 400 ตัว ซึ่งเก๋หวังว่าวันหนึ่งจำนวนเหล่านี้จะลดลง เพราะสุนัขและแมวจรจัด
ไม่ได้ตกมาจากท้องฟ้า แต่มาจากมนุษย์ที่เลี้ยงแล้วไม่รับผิดชอบ พาพวกเขาไปปล่อย โดยไม่ได้ทำหมัน จำนวนจึงเพิ่มขึ้นแบบควบคุมไม่ได้

“และต่อให้เราพยายามทำหมันหรือฉีดวัคซีนเท่าไรก็ไม่มีวันหมด ถ้าไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ อีกทั้งทุกวันนี้สวัสดิภาพสัตว์ยังไม่ได้รับการสนใจเท่าที่ควร แต่เราก็มีการผลักดันอยู่เสมอ อย่างเก๋เคยทำงานเป็นหนึ่งในคณะกรรมการในการ
ร่างกฎหมายเรื่องสัตว์ ก็เข้าใจว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา เพียงแต่ต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้

“มูลนิธิเดอะวอยซ์เป็นเพียงกระบอกเสียง เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือสัตว์ แต่สุดท้ายปัญหาจะแก้ไขได้ต้องมาจากความเข้าใจของทุกคน ซึ่งต้องมีการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างจริงจังและทั่วถึง

“เพราะสัตว์ไม่สามารถไปแจ้งหรือเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองได้ ประชาชนที่พบเห็นต้องช่วยกัน อย่างถ้าคุณเห็นเพื่อนบ้านทำร้ายสัตว์ ไปแจ้งความเลยค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นเพื่อนบ้านกันต่อไปไม่ได้ ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด
ปัญหาเพิ่มขึ้นเยอะมากค่ะ สัตว์ถูกทอดทิ้ง ซึ่งตามกฎหมายระบุไว้เลยว่าถ้าทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะมีโทษปรับเริ่มต้นที่ 10,000 บาท แต่ก็ยังไม่ค่อยเกิดขึ้นจริง เพราะไม่มีใครไปแจ้งความหรือแจ้งเบาะแสในเรื่องนี้

“ตั้งแต่ทำมูลนิธิมา สิ่งเลวร้ายที่เจอคือเคสที่เจ้าของทำร้ายสัตว์เลี้ยงของตัวเอง สัตว์มีความซื่อสัตย์และรักเจ้าของมาก แม้เจ้าของยกมือถือมีดจะฟัน มันก็ไม่หลบ เพราะมันเชื่อใจ อย่างเคสหนึ่งเลี้ยงสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนแล้วมันหอน เจ้าของใช้ไม้เบสบอลตีจนตาย เคสแบบนี้น่าหดหู่ใจมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายยังไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้คนเกรงกลัว

“ซึ่งคำถามหนึ่งที่มีคนถามเก๋บ่อยคือ ปัญหาสัตว์ถูกทอดทิ้งในไทยจะดีขึ้นไหม บางครั้งเก๋ก็คิดว่ามันดีขึ้นแล้วนะ แต่จริง ๆมีเคสอีกเยอะมากที่เราไม่รู้ เพราะยังไม่มีคนไปเจอ ซึ่งเก๋หวังว่าวันหนึ่งตัวเลขเหล่านี้จะลดลง โดยเฉพาะตัวเลขสัตว์เลี้ยงถูกทอดทิ้งจากเจ้าของ ซึ่งมูลนิธิเดอะวอยซ์ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงและช่วยเหลือเฉพาะสุนัขหรือแมวเท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์ทุกชนิด

“ถ้าทุกคนช่วยเหลือกัน  เก๋ว่าปัญหาเหล่านี้จะดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ”


ข้อมูลจาก : นิตยสารแพรว

Praew Recommend

keyboard_arrow_up