งูสวัด ขวัญ หทัยรัตน์ สิริศรีสกุลชัย

“ขวัญ หทัยรัตน์ สิริศรีสกุลชัย” เล่าอุทาหรณ์ “งูสวัด” พ่นพิษ เป็นอัมพาตครึ่งหน้า

Alternative Textaccount_circle
งูสวัด ขวัญ หทัยรัตน์ สิริศรีสกุลชัย
งูสวัด ขวัญ หทัยรัตน์ สิริศรีสกุลชัย

ช่วงสิ้นปี 2020 ท่ามกลางบรรยากาศวันหยุดปลายปีที่ผู้คนเดินทางกลับบ้าน เพื่อใช้เวลากับครอบครัว เตรียมตัวฉลองปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง ทว่าสำหรับ “คุณขวัญ หทัยรัตน์ สิริศรีสกุลชัย” ทายาทโรงแรมลำปางเวียงทอง กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่คงลืมไม่ลง โดยเธอถูกโรคงูสวัดเล่นงาน จนเป็นอัมพาตครึ่งหน้า

“ขวัญ หทัยรัตน์ สิริศรีสกุลชัย” เล่าอุทาหรณ์ “งูสวัด” พ่นพิษ เป็นอัมพาตครึ่งหน้า

เช้าวันใหม่กับอาการหน้าเบี้ยว

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันที่ 27 ธันวาคม 2020 ซึ่งเธอกลับไปใช้เวลากับครอบครัวที่จังหวัดลำปาง

“วันนั้นตื่นเช้ามามีอาการเจ็บจี๊ดๆ ในหูข้างซ้ายเป็นพักๆ แต่คิดว่าอาจเป็นเพราะอาบน้ำแล้วคงเผลอใช้คอตต้อนบัดเช็ดหูแรงไปหน่อย จึงไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก พอตกเย็นเริ่มมีอาการปวดบริเวณคอและบ่าสองข้าง คล้ายคนเล่นโทรศัพท์มือถือหรือพิมพ์งานนานๆ ประมาณว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเราเป็นอยู่แล้ว เวลาทำงานหนักหรือเครียดจะมีอาการปวดบ่าและหลังแบบนี้ จึงซื้อยาคลายกล้ามเนื้อมากินก่อนนอนหนึ่งเม็ด เหมือนที่เคยกินแล้วหาย ผ่านไปสองวันอาการยังไม่ดีขึ้น แต่ไม่ได้เอะใจ เพราะเคยปวดแบบนี้มาเป็นเดือนๆ จึงกินยาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

“กระทั่งวันที่ 30 ธันวาคม ตื่นเช้ามาไม่รู้สึกเจ็บแล้ว จึงไปวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะใกล้บ้าน ทำกิจกรรมนั่นนี่โน่นชิลๆ จนถึงเช้าวันที่ 31 ธันวาคม ตื่นเช้ามาเตรียมตัวจะออกไปวิ่งเหมือนเดิม ขณะล้างหน้าแปรงฟันก็เหลือบเห็นหน้าตัวเองในกระจก เอ๊ะ…ทำไมร่องริมฝีปากบนเบี้ยวไปทางขวา แต่ก็คิดว่าคงเพิ่งตื่นนอน หน้ายังไม่เข้าที่ จึงใช้มือนวดหน้า จับๆ ดู ร่องริมฝีปากก็กลับมาอยู่ตรงกลางตามปกติ จึงไปวิ่งออกกำลังกาย กลับถึงบ้านอาบน้ำเสร็จ รู้สึกเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ แต่วัดปรอทแล้วไม่มีไข้ รู้สึกเหนื่อย อยากนอน จึงกลับไปนอนพักที่โรงแรม เพื่อเตรียมตัวฉลองปาร์ตี้เคานต์ดาวน์ตอนกลางคืนที่โรงแรม

“ตื่นมาอีกทีตอนห้าโมงเย็น อาบน้ำแต่งตัว แล้วก็ต้องตกใจว่าทาลิปสติกแล้วเม้มปากไม่ได้ เพราะปากเบี้ยวไปทางขวา กลายเป็นว่าใบหน้าซีกซ้ายของเราเป็นอัมพาตไปแล้ว ขยับเปลือกตาเปิดปิดไม่ได้ ตกใจมาก น้ำตาร่วงเลย รีบค้นกูเกิ้ลดูว่าอาการปากเบี้ยวเกิดจากอะไรได้บ้าง ซึ่งมีคำตอบว่าเกิดจากไขมันอุดตันในเส้นเลือด ทำให้เป็นเส้นเลือดสมองอุดตัน หรือไม่ก็เป็นโรค Bell’s Palsy (หน้าเบี้ยวครึ่งซีก)

“รีบถ่ายรูปและวิดีโอภาพตัวเองส่งให้เพื่อนที่เป็นหมอ เขาบอกว่าอาจเป็น Bell’s Palsy ก็ได้ เกิดจากพักผ่อนน้อย สามารถหายได้เอง แต่ต้องใช้เวลาสองสัปดาห์ขึ้นไป บางคนอาจกินเวลาเป็นเดือนก็มี เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายมาก ความที่ตอนนั้นเราไม่มีไข้หรืออาการเจ็บปวดใดๆ เลย จึงไม่ได้บอกให้ที่บ้านรู้ กลัวว่าจะตกใจ เนื่องจากกำลังจะขึ้นวันปีใหม่ จึงใช้วิธีใส่หน้ากากอนามัยปิดหน้าฉลองปีใหม่ แต่ยอมรับว่าตอนนั้นเริ่มจิตตก คอยสังเกตอาการบนใบหน้าทุก 2-3 ชั่วโมง รู้สึกเหมือนปากค่อยๆ เบี้ยวไปเรื่อยๆ ควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าไม่ได้ ริมฝีปากมุมซ้ายเริ่มไม่รู้สึก ยิ้มไม่ได้ เปลือกตาซ้ายปิดไม่ได้ เหมือนซีกซ้ายทั้งหมดถ่วงลงมาคล้ายคนเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แต่ยังพูดรู้เรื่อง เวลาทานอาหารอ้าปากยากนิดนึง คืนนั้นไม่ได้กินยาอะไร คิดว่ารุ่งขึ้นต้องกลับกรุงเทพฯอยู่แล้ว ค่อยไปหาหมอทีเดียวเลย”

งูสวัด ขวัญ หทัยรัตน์ สิริศรีสกุลชัย

 

งูสวัดทำลายหู

“กลับถึงกรุงเทพฯเริ่มมีตุ่มใสๆ แดงๆ ขึ้นที่โคนผมเหนือหน้าผากฝั่งซ้าย 4-5 เม็ด ทีแรกคิดว่าเป็นสิว เพราะเพิ่งกลับจากการเดินทาง อาจเจอฝุ่น PM2.5 ขณะเดียวกันก็เริ่มรู้สึกว่าภายในหูซ้ายร้อน ใบหูเริ่มแดง แตะไม่ได้เลย เจ็บมาก

“ไปพบคุณหมอทางระบบสมองและเส้นประสาท โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท คุณหมอเห็นอาการแล้วบอกว่า ‘ติดเชื้องูสวัดที่ปลายประสาทคู่ที่ 7’ ซึ่งอาการหนักกว่าคนเป็นโรค Bell’s Palsy เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเหมือนกัน ร่วมกับหลายสาเหตุ เช่น เครียด พักผ่อนไม่พอ หรือภูมิร่างกายตก คนที่เคยเป็นอีสุกอีใสแล้วจะมีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ในปมประสาทเป็นปกติ ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อจะแสดงอาการออกมาตอนไหน แต่ส่วนมากจะมาตอนที่ร่างกายอ่อนแอ บางคนเป็นงูสวัดที่ท้อง ที่หลัง ที่แขน แต่ของเราเป็นที่หู ซึ่งหมอก็ตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไรจึงเกิดอาการบริเวณนั้น พร้อมกับส่งไปตรวจกับหมอตา หู คอ จมูก เพื่อตรวจการได้ยิน ซึ่งเรายังได้ยินเสียงเป็นปกติ

“พอรู้ว่าเป็นโรคนี้รู้สึกตกใจ ฟังคุณหมออธิบายเสร็จก็มาวิเคราะห์ตัวเองว่าเป็นเพราะเราเจออากาศเปลี่ยนหรือเปล่า เพราะช่วงปลายปีที่แล้วลำปางหนาวมาก ประมาณ 10 องศาเซลเซียส และอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หรืออาจเพราะ ปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นพิษ คุณหมอถามว่าไปถูกลมแรงๆ ที่ไหนหรือเปล่า จึงบอกไปว่าชอบออกไปวิ่งตอนเช้า ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าในตัวเรามีเชื้อนี้อยู่แล้ว ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จึงเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้แสดงอาการของโรค พอเล่าให้แม่ฟัง ท่านตกใจร้องไห้ กลัวว่าเราจะกลับมาไม่เหมือนเดิม พอดีเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดรอบสอง จึงเดินทางไปมาหาสู่กันยากนิดนึง ทำให้ต้องคอยปลอบแม่ว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวก็หาย แต่ข้างในเราเองจิตตกไปแล้ว”

รับยาต้านไวรัส + ช็อร์ตไฟฟ้า + ฝังเข็ม

“คุณหมอเริ่มต้นรักษาด้วยการให้ทานยาต้านเชื้อไวรัส ทำให้เม็ดแดงใสๆ ที่หน้าผากยุบแห้งไป โชคดีที่ไม่ลุกลามลงมาที่หน้า ซึ่งโบราณบอกว่างูสวัดสามารถพาดไปได้ทุกที่ในร่างกาย อาการของเราตามที่เข้าใจคืองูสวัดเริ่มพาดในหูก่อน และกำลังจะมาที่ศีรษะ โชคดีที่ได้รับยาภายใน 72 ชั่วโมง ทำให้ตุ่มใสๆ แดงๆ แห้งไป ไม่เกิดตุ่มใสเพิ่มขึ้น เพราะเคยมีเพื่อนคุณแม่เป็นงูสวัด ที่หน้าผากลามลงมาที่ตาจนเกือบบอด ขยับใบหน้าไม่ได้เหมือนกัน ใช้เวลารักษาสองปี ปัจจุบันหายแล้ว แต่ที่หน้ายังมีแผลเป็น

“ช่วงที่รับยาเหมือนร่างกายกับยาต่อสู้กัน เพราะเริ่มมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งปวดคอ บ่า ไหล่ ขยับลิ้นลำบาก เหมือนลิ้นชาตลอดเวลา ไม่รับรส ไม่อยากกินข้าว เริ่มพูดไม่ชัด จึงไม่ค่อยอยากพูด ดูดน้ำจากหลอดแล้วกลืนไม่ได้ เพราะบังคับริมฝีปากไม่ได้ ต้องใช้ซีรินจ์ดูดน้ำฉีดเข้ากระพุ้งแก้มขวา เหมือนซีกซ้ายทั้งหมดไม่ทำงาน เป็นช่วงที่ใช้ชีวิตลำบากมาก เริ่มเจ็บที่ใบหน้า หน้าบวม เปลือกตาปิดไม่ได้ ต้องใช้เทปดึงเปลือกตาปิดลงมา เพื่อป้องกันไม่ให้กระจกตาโดนลมและเป็นรอย ถ้าจะล้างหน้าต้องใช้มือปิดหรือใช้เทปดึงไว้ แต่การมองเห็นยังเป็นปกติ ทำให้ช่วงนั้นไม่อยากเจอใคร และมีอาการนอนไม่หลับด้วย ซึ่งหมอก็ให้ยามาช่วย แต่เราทานแค่สองวันแล้วเปลี่ยนมาใช้วิธีสวดมนต์ก่อนนอน ดูซีรี่ส์ที่ชอบ คิดเสียว่า…ช่างมัน! แล้วก็คุยโทรศัพท์กับแม่ มีคนรอบข้างและเพื่อนฝูงที่คอยให้กำลังใจ เล่นโซเชียลมีเดียกับส่องกระจกให้น้อยลง ทั้งหมดนี้ก็พอจะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจได้

“ในการรักษาระยะแรกต้องพบหมอระบบประสาททุกสัปดาห์ เพื่อดูอาการตุ่มใสๆ แดงๆ และอาการเจ็บหู เริ่มมีการปรับขนาดยา พร้อมกับพบหมอกายภาพเพื่อกระตุ้นไฟฟ้า พอหมอใช้เครื่องมือจี้ กล้ามเนื้อบนใบหน้าจะเต้นตามระดับไฟที่ใช้ ซึ่งคล้ายเราถูกไฟดูดที่หน้า ตอนแรกก็รู้สึกเจ็บ แต่พอทำไปเรื่อยๆ เริ่มชิน ใช้เวลาทำครั้งละหนึ่งชั่วโมง จากนั้นหมอจะสอนท่าบริหาร เหมือนการทำโยคะใบหน้า ร่วมกับใช้แผ่นประคบร้อนมาประคบใบหน้าซีกซ้าย

“ตอนหลังมีคนแนะนำให้ใช้ศาสตร์การฝังเข็มตามหลักการแพทย์แผนจีนร่วมด้วย จึงใช้เวลาฝังเข็มทั้งใบหน้า มือ และเท้าสองข้าง ครั้งละ 20 นาทีควบคู่กันไป จนปัจจุบันนี้ทำการกระตุ้นไฟฟ้าที่ใบหน้าไปแล้ว 20 ครั้ง ฝังเข็มทางการแพทย์แผนจีนแล้ว 15 ครั้ง ซึ่งแพทย์แผนจีนบอกว่าคนจีนป่วยเป็นโรคนี้เยอะ แต่เขานิยมฝังเข็มรักษาทุกวันจึงหายเร็ว บางคนตอบสนองดีมาก ฝังเข็มไม่กี่ครั้งก็หาย ขึ้นอยู่กับว่าเส้นประสาทของเราถูกทำลายไปแค่ไหน กรณีของเราคือกล้ามเนื้ออ่อนแรงไปแล้ว ถือว่าอาการหนักทีเดียวกว่าจะมาพบหมอ

“ตอนฝังเข็มครั้งแรกไม่เจ็บเลย แต่พอทำไปเรื่อยๆ แล้วยังไม่เห็นผลก็รู้สึกท้อ เพราะปากยังขยับไม่ได้ ตายังปิดเองไม่ได้ รู้สึกเหมือนหน้าตาเราประหลาด ขยับปากได้ข้างเดียว แสดงสีหน้าไม่ได้ ยิ้มไม่ได้ เวลาที่ถอดเข็มที่ฝังช่วงแรกๆ ไม่มีเลือดไหลเลย เพิ่งมามีเลือดไหลเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งหมอแผนจีนบอกว่าเป็นเพราะระบบไหลเวียนเลือดเริ่มดีขึ้น

“ปัจจุบันนี้เริ่มขยับปากได้ เปลือกตาเริ่มปิดสนิทบางวัน บางวันก็ยังปิดได้ ไม่เต็มที่ เพราะกล้ามเนื้อตายังมาไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าคืนไหนเข้านอนแล้วตาปิดไม่สนิท มีแสงลอดเข้ามา ต้องใช้เทปปิดเพื่อดึงเปลือกตาให้ปิดสนิท ป้องกันลมเข้า ตอนนี้อยู่ในช่วงทำกายภาพกล้ามเนื้อตาให้แข็งแรงอยู่ค่ะ”

งูสวัด ขวัญ หทัยรัตน์ สิริศรีสกุลชัย

เครื่องมือรักษาที่ดีที่สุดคือ “ฟังเสียงร่างกายตัวเอง”

“เดือนแรกๆ ที่เริ่มรักษาไม่เจอเพื่อนฝูงเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องตอบคำถาม และไม่ทำให้เพื่อนเข้าใจผิด เนื่องจากหน้าตาไม่สามารถแสดงอารมณ์ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเขาคุยด้วยแล้วเราไม่ยอมคุย จึงเลี่ยงการเจอไปเลยดีกว่า แต่ก็จะรู้กันในวงแคบๆ ว่าขวัญไม่ค่อยสบาย พออาการเริ่มดีขึ้นจึงค่อยไปเจอเพื่อนบ้าง เพราะหมอขอไว้ว่ายังไม่อยากให้กลับไปใช้ชีวิตหนักเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเคยทำงานอีเว้นต์ ทำงานดึก นอนน้อย และขอให้ออกกำลังกายด้วยการเดินหรือวิ่งก็ได้ แต่ขอให้ทำเบาๆ ไม่หักโหม

“จนถึงวันนี้ขวัญใช้เวลารักษาตัวมากว่าสามเดือนแล้ว โดยทำกายภาพใบหน้าด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าและฝังเข็มอย่างต่อเนื่อง ส่วนยาที่กินมีการปรับลดขนาดตามความเหมาะสม ซึ่งคุณหมอบอกไม่ได้ว่าจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่ เพราะบางคนใช้เวลา 3-6 เดือน บางคนใช้เวลาเป็นปี ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และแม้รักษาหายแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาเป็นโรค Bell’s Palsy ได้อีก เพราะถ้าเกิดความเครียดอาจส่งผลต่อเส้นประสาทคู่ที่ 7 จึงควรป้องกันด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามรักษาอุณหภูมิในร่างกาย อย่าอยู่ในที่ร้อนจัดหรือหนาวจัด จนทำให้เป็นหวัด ห้ามตากลม อย่านอนดึก ออกกำลังกายเบาๆ แต่สม่ำเสมอ ที่สำคัญคือต้องไม่เครียด

“ช่วงที่ป่วยอาจเพราะขวัญว่างงานพอดี ทุกคนเจอโควิด-19 กันหมด ขวัญขายของออนไลน์เล็กๆ น้อยๆ ทั้งขายอาหารเหนือ ‘เปิงใจ๋ อาหารเหนือ’ และปลูกผักออร์แกนิก ‘กล้าปลูกผัก’ และช่วยดูงานธุรกิจโรงแรมของครอบครัว พอมาเกิดโควิด-19 รอบสองแล้วเราถูกแคนเซิลงานออร์แกไนซ์เยอะ ก็อาจเป็นจุดที่ทำให้เครียดและล้มป่วย

“บทเรียนจากความเจ็บป่วยครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการเตือนตัวเอง และอยากบอกทุกคนว่า เมื่อรู้สึกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย ควรรีบพบหมอให้เร็วที่สุด อย่าคิดไปเองว่าไม่เป็นไร เพราะความจริงอาจเป็นมากกว่าที่คิดก็ได้ ร่างกายของเราฉลาด เวลาเกิดอะไรขึ้นมักส่งสัญญาณเตือนก่อนเสมอ เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ใส่ใจฟังเสียงร่างกายตัวเอง ซึ่งถ้าเราใส่ใจตัวเองตั้งแต่ที่เริ่มเจ็บหูแล้วไปพบแพทย์ หน้าอาจจะไม่เบี้ยวเลยก็ได้ เพราะอาจได้กินยาต้านไวรัสทันที ทำให้เส้นประสาทไม่ถูกทำลายอย่างที่เป็น ฉะนั้นต้องใส่ใจเสียงเตือนจากร่างกายตั้งแต่ตอนที่เตือนเบาๆ อย่ารอจนสัญญาณมาหนักหน่วง”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 970

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ตัวตนลึกๆ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้ของ “ก๊อต จิรายุ ตันตระกูล” #สามีแห่งชาติ คนล่าสุด

สัมภาษณ์พิเศษ ชีวิตในต่างแดนของอดีตนางเอกในดวงใจ อุ้ม สิริยากร

เส้นทางสู่แชมป์ไม่ง่าย แมมมอธ วัย 18 ปี ลายมือสวยขั้นเทพ มุ่งฝึกฝนจนเป็นที่หนึ่ง

Praew Recommend

keyboard_arrow_up