รู้จัก "เอิง-สร้อยสกุล คุณสุข" นักบินฝนหลวงหญิงคนแรก ผู้สร้างสุขจากสายฝน

รู้จัก “เอิง-สร้อยสกุล คุณสุข” นักบินฝนหลวงหญิงคนแรก ผู้สร้างสุขจากสายฝน

Alternative Textaccount_circle
รู้จัก "เอิง-สร้อยสกุล คุณสุข" นักบินฝนหลวงหญิงคนแรก ผู้สร้างสุขจากสายฝน
รู้จัก "เอิง-สร้อยสกุล คุณสุข" นักบินฝนหลวงหญิงคนแรก ผู้สร้างสุขจากสายฝน

เปิดเส้นทางกว่าจะมาถึงวันนี้ “เอิง-สร้อยสกุล คุณสุข” นักบินฝนหลวงหญิงคนแรก ผู้มุ่งมั่นสร้างความสุขจากสายฝน

“ฝนหลวง” เปรียบได้กับความมหัศจรรย์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ชาวไทยทั้งประเทศ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนนี้ “เอิง-สร้อยสกุล คุณสุข” มุ่งมั่นและตั้งใจก้าวขึ้นมาเป็นนักบินหญิงคนแรกของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

นักบินหญิงฝนหลวง

เอิง นักบินหญิงวัย 27 ปี บอกกับ แพรว ว่า เพราะเชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เธอจึงสนใจอาชีพนักบิน

“หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีรุ่นพี่ที่รู้จักกันเป็นนักบิน เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การทำงาน วิธีคิดต่างๆ จึงเสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับนักบิน จากที่รู้สึกแค่ว่าเท่ดี พอพบว่าเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ เป็นงานที่ต้องมีการคิดวางแผน ก็ยิ่งทำให้สนใจ และอยากเรียนต่อด้านนี้ จึงไปสมัครเรียนหลักสูตรการบินที่โรงเรียนการบินกรุงเทพ (Bangkok Aviation Center)

รู้จัก "เอิง-สร้อยสกุล คุณสุข" นักบินฝนหลวงหญิงคนแรก ผู้สร้างสุขจากสายฝน“พอเรียนจบหลักสูตรประมาณ 1 ปี ก็ไปสอบใบประกาศ ซึ่งตอนนั้นเราชัดเจนแล้วว่าชอบทางนี้จริงๆ จึงเริ่มมองหางานนักบินตามสายการบินต่างๆ เห็นกรมฝนหลวงและการเกษตรประกาศรับสมัครนักบิน รู้สึกสนใจมากๆ เพราะเป็นการทำงานอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากสายการบินเชิงพาณิชย์ จำได้ว่ารุ่นที่เอิงสมัครมีผู้หญิงแค่ 3 – 5 คนเท่านั้น หลังจากสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ และสอบปฏิบัติ เอิงก็ได้เป็นนักบินผู้หญิงคนแรกที่ผ่านการคัดเลือกในปีนั้น (ยิ้ม)

“เมื่อเข้ามาที่กรมต้องเรียนเพิ่มเติม ทั้งทฤษฎีต่างๆ ฝึกการบิน และเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับการทำฝนหลวงว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง ยอมรับค่ะว่าช่วงแรกค่อนข้างยากและกดดัน ต้องอ่านหนังสือทุกวัน เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งในความคิดของเอิง นักบินที่นี่แตกต่างจากที่อื่น เพราะเป็นการบินเพื่อปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย

“โดยเริ่มจากการทำงานร่วมกับนักวิชาการ เพื่อดูว่าพื้นที่ตรงไหนต้องการความช่วยเหลือ ดูสภาพอากาศ ความชื้น เวลาที่เหมาะสม และทำงานร่วมกัน ซึ่งความแตกต่างของการบินเพื่อทำฝน ก็คือต้องบินเข้าไปใกล้เมฆ ซึ่งตามปกติเราจะไม่เข้าไปใกล้เมฆ เพราะอาจจะเกิดสภาพอากาศแปรปรวนได้ แต่ถ้าจะทำฝน เราต้องบินไปใกล้เมฆ เพื่อ เข้าไปเติมความชื้นให้สารเกิดการควบแน่น ช่วงแรกจึงต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเยอะ ทั้งการบิน เรื่องของสภาพอากาศ และเทคนิคการบิน เพราะไม่ว่าจะปฏิบัติการอะไรก็ตาม ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรกค่ะ”

สร้างสุข…จากฝน

แม้นักบินฝนหลวงเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน เผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ แต่เวลาที่ได้เห็นพื้นดินแห้งแล้งกลับมาชุ่มชื้นจากสายฝน ก็ทำให้เธอเป็นสุขใจทุกครั้ง

“การทำงานหลักๆ ของนักบินฝนหลวงจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเปิดฤดูฝน คือเดือนมีนาคมถึงตุลาคม ซึ่งมักมีภัยแล้งในหลายพื้นที่ นักบินฝนหลวงจะออกไปประจำการตามจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 2-3 เดือน แต่ถ้าแล้งมากๆ ก็อาจจะอยู่ถึง 4-5 เดือน อีกช่วงคือระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ที่เรียกว่าช่วงปิดฤดูฝน นักบินจะกลับมาประจำที่กรมการฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อเข้าคลาสเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม แต่ถ้าพื้นที่ไหนต้องการความช่วยเหลือ ก็จะมีหน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไปคอยดูแลได้ตลอดค่ะ

“ปีแรกของการทำงาน เอิงโชคดีได้ไปประจำที่จังหวัดจันทบุรี บ้านเกิด จากนั้นไปอยู่สระแก้ว สุรินทร์ หัวหิน กาญจนบุรี และล่าสุดประจำอยู่สุรินทร์ สลับไปเรื่อยๆ ค่ะ โดยการขึ้นบินจะดูตามความเหมาะสม บางสัปดาห์บินทุกวัน เพราะเราไม่ได้ทำฝนให้ตกในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเดียว แต่รวมไปถึงน้ำในการอุปโภคบริโภคที่ต้องสร้างฝน เพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ด้วย

รู้จัก "เอิง-สร้อยสกุล คุณสุข" นักบินฝนหลวงหญิงคนแรก ผู้สร้างสุขจากสายฝน

“แต่การบินเพื่อทำฝนหลวงจะไม่ทำในกรุงเทพฯนะคะ เนื่องจากความปลอดภัยของพื้นที่ที่มีตึก ไม่ได้เป็นพื้นที่โล่ง และไม่ได้มีพื้นที่เกษตรกรรมมาก แต่ช่วงที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ทีมนักบินจะแสตนด์บายอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง หรือจังหวัดนครสวรรค์ และคอยตรวจตราดูสภาพอากาศว่าเป็นอย่างไร สมมติว่าเจอเมฆในระยะใกล้ที่กำลังจะเคลื่อนตัวเข้าไปในกรุงเทพฯ ทีมนักบินจึงจะออกไปทำฝนหลวงในบริเวณนั้น เพื่อเพิ่มความชื้นให้ก้อนเมฆเคลื่อนตัวไปตกเป็นฝนเพื่อลดปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ

“และความที่ครอบครัวของเอิงเป็นเกษตรกร ปลูกผลไม้ที่จันทบุรี ทำให้เข้าใจความต้องการและปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เรารู้ว่าถ้าปลูกผลไม้แล้วไม่มีฝนจะเกิดอะไรขึ้น เพราะเกษตรกรลงทุนไปเยอะ ถ้าช่วงที่ต้องเก็บผลผลิต แต่ผลไม่ออกเพราะแล้ง ผลไม้ราคาตก ทุกอย่างเสียหมดเลยนะคะ เหมือนว่าที่ตั้งใจทำมาทั้งปีคือสูญเปล่า

“เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561 – 2562) เอิงไปอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ จำได้เลยว่าปีแรกที่ขึ้นบินผ่านอ่างเก็บน้ำ เห็นภาพเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ แต่เมื่อปีที่แล้วบินผ่านจุดเดิม ภาพที่เห็นคือเป็นพื้นดินแห้งแล้ง ไม่มีน้ำเลยค่ะ จนเกือบจำไม่ได้ว่าตรงนี้คือพื้นที่เก็บน้ำ ทำให้ต้องคิดว่าแล้วชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไร เราจะช่วยเขาอย่างไรได้บ้าง

“และเมื่อทีมนักบินเริ่มทำงานขึ้นไปสร้างฝนหลวง จากเดิมที่มีปริมาณน้ำน้อยมากๆ ค่อยๆ เห็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลับมาเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ได้ ในฐานะนักบิน เอิงรู้สึกว่าฝนหลวงคือสิ่งมหัศจรรย์มากๆ ค่ะ เพราะเราเห็นและอยู่กับมันทุกขั้นตอน จากพื้นดินแห้งแล้ง ท้องฟ้าสว่างสดใส จากนั้นเมฆก็เริ่มก่อตัวจนมืดดำ แล้วกลายเป็นฝนตกลงมา รู้สึกดีใจและภูมิใจทุกครั้งที่เห็นภาพแบบนี้ (ยิ้ม) และตรงนี้เองที่เป็นแรงผลักดันและกำลังใจในการทำงานที่ทำให้เอิงอยากพัฒนาตัวเอง อยากเรียนรู้ให้มากขึ้น

“ในการเป็นนักบินฝนหลวง อย่างแรกต้องคิดถึงความเดือดร้อนของผู้คน ฉะนั้นเราต้องทำหน้าที่ให้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องกลับมาดูตัวเองทุกครั้งหลังจบงานว่ายังมีจุดไหนที่ต้องแก้ไข และต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเพื่อพัฒนาตัวเอง ทำให้งานมีประสิทธิภาพและดีขึ้นเรื่อยๆ

“การเป็นนักบินช่วยให้เอิงคิด วางแผน และทำงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพราะเวลาที่อยู่หน้างาน ถ้ามีบางอย่างไม่ตรงกับแผนที่วางไว้จะมัวตกใจไม่ได้ ต้องมีสติ นั่นคือสิ่งสำคัญมากค่ะ และต้องมีแผนสำรองอยู่เสมอ

“เอิงรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของนักบินผู้หญิง ทำให้หลายๆ คน รู้ว่าผู้หญิงก็เป็นนักบินฝนหลวงได้ ซึ่งถ้ามองในด้านทางกายภาพ แน่นอนว่าผู้หญิงแตกต่างกับผู้ชาย แต่เอิงเชื่อว่า ในการทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ถ้าเรามีศักยภาพ มีความตั้งใจ อะไรก็เป็นไปได้ค่ะ”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 955

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ชีวิตจริงยิ่งกว่าซีรีส์ “ผึ้ง-ประภาภรณ์” ธุรกิจโดนโกง สามีนอกใจ ฮึดสู้สู่เจ้าของแฟรนไชส์ดัง

ดราม่า ‘มาดามตวง’ ถูกตัดสิทธิ์ในมรดกตระกูลนับ 1,000 ล้าน เพียงเพราะเป็นผู้หญิง

เส้นทางสู่แชมป์ไม่ง่าย แมมมอธ วัย 18 ปี ลายมือสวยขั้นเทพ มุ่งฝึกฝนจนเป็นที่หนึ่ง

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up