วันวานที่บอบช้ำของ 'พีเค-ปิยะวัฒน์' ผู้เปลี่ยนคำบูลลี่เป็นแรงผลักดันจนได้ดี

วันวานที่บอบช้ำของ ‘พีเค-ปิยะวัฒน์’ ผู้เปลี่ยนคำบูลลี่เป็นแรงผลักดันจนได้ดี

Alternative Textaccount_circle
วันวานที่บอบช้ำของ 'พีเค-ปิยะวัฒน์' ผู้เปลี่ยนคำบูลลี่เป็นแรงผลักดันจนได้ดี
วันวานที่บอบช้ำของ 'พีเค-ปิยะวัฒน์' ผู้เปลี่ยนคำบูลลี่เป็นแรงผลักดันจนได้ดี

ย้อนวันวานความบอบช้ำจากการถูกบูลลี่ในวัยเด็กของ ‘พีเค-ปิยะวัฒน์ เข็มเพขร’ ผู้เปลี่ยนบาดแผลเป็นแรงผลักดันจนได้ดี

น้อยคนนักที่จะรู้ว่า พิธีกรที่เก่งกล้าทั้งฝีมือและฝีปากอย่าง ‘พีเค-ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร’ ก็เคยโดนรังแกทั้งทางกายและวาจามาก่อน แต่เขานำบาดแผลนั้นมาเป็นแรงผลักดัน กระทั่งประสบความสำเร็จได้อย่างวันนี้

วัยเด็กที่บอบช้ำ

“ผมย้ายไปอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่ตอน 9 ขวบ สาเหตุมาจากผมสอบเข้าชั้น ม.1 ไม่ติด ที่บ้านจึงอยากส่งไปเรียนต่างประเทศ ลูกจะได้เก่งภาษาด้วย โดยพ่อแม่ตัดสินใจขายบ้านไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเลยครับ ท่านทำงานที่ร้านอาหารในเมืองแมนแฮตตัน ส่วนผมไปอยู่กับคุณน้าที่เมืองลองไอแลนด์ เพราะโรงเรียนอยู่ที่นั่น

“ผมเรียนชั้น ป.6 ซ้ำอีกปี ด้วยความที่เป็นคนเอเชีย ผิวดำ ตัวอ้วน บวกกับพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จึงไม่มีเพื่อนเลยสักคน และโดนแกล้งบ่อยมาก เวลาเดินผ่านกลุ่มเฮ้วๆ 4-5 คน ก็จะโดนรุม คนหนึ่งดึงกระเป๋า อีกคนตบหัว อีกคนเตะก้น ต่อยหน้า พอแกล้งเสร็จเขาก็หัวเราะแล้วเดินจากไป โดยผมไม่ได้พยายามต่อสู้ เพราะรู้ว่าสู้ไม่ได้ ได้แค่รีบเก็บของแล้ววิ่งขึ้นรถกลับบ้าน

“ที่หนักคือโดนกระทืบ ผมคิดว่าเกินสิบครั้งด้วย มักจะเกิดช่วงหลังเลิกเรียน โดนแก๊งเด็กฝรั่งลากไปรุม ผมได้แต่ร้องไห้ ทำอะไรไม่ถูก มันไม่ได้เจ็บหรือมีแผลมากมายนะ ไม่ได้ทำให้กลัวถึงขั้นไม่กล้าไปโรงเรียน แต่ทุกครั้งที่เดินออกจากบ้าน ผมจะระแวงตลอด เป็นช่วงชีวิตการเรียนที่ไม่มีความสุขเลย เหมือนผีหลอก จะมีใครเข้ามารุมทำร้ายเราหรือเปล่า ไม่รู้ว่าเหตุการณ์พวกนี้จะเกิดขึ้นอีกตอนไหน

“ทุกครั้งที่เกิดเรื่องผมไม่ได้บอกใคร ทั้งพ่อ แม่ น้า หรือแม้แต่ครู แม้จะโดนรุมขนาดไหน แต่ก็ไม่เคยให้น้าเห็นแผล ส่วนหนึ่งมาจากผมไม่เคยเล่าเรื่องส่วนตัวให้ที่บ้านฟังอยู่แล้ว และไม่อยากให้เขาเป็นห่วงจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เวลาที่โดนทำร้าย จะคิดแค่ว่าสักวันหนึ่งทุกอย่างจะจบลง ซึ่งสุดท้ายมันก็จบลงจริงๆ เพราะพ่อแม่อยากให้ย้ายไปอยู่ด้วยกัน จึงไปเรียนต่อไฮสกูลที่นิวยอร์ก”

พัฒนาการจากเหยื่อเป็นผู้กระทำ

“พอเรียนจบชั้นประถม ผมเรียนรู้ที่จะฝึกตัวเองให้มีเกราะป้องกัน เริ่มจากไปเรียนกังฟู บวกกับเวลาไปโรงเรียนจะพกมีดพับหรือไม่ก็สนับมือไปด้วย แต่สุดท้ายก็เลิกพกนะ เพราะโรงเรียนมีเครื่องตรวจจับโลหะ

“แม้จะเรียนวิชาป้องกันตัวมาบ้าง แต่ประสบการณ์สอนผมว่าต้องหาที่พึ่ง ไม่อย่างนั้นประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย จึงใช้วิธีตีสนิทกับทุกแก๊งในโรงเรียน ตอนนั้นภาษาของผมดีขึ้นแล้ว บวกกับนิสัยจริงๆ เข้าหาคนเก่งและปรับตัวง่าย จึงใช้วิธีหาเพื่อนด้วยการเล่นบาสในช่วงชั่วโมงพละศึกษา ซึ่งใน 1 วันจะต้องเรียน 1 ชั่วโมง ผมไปเล่นกับทุกแก๊ง ทั้งคนจีน เกาหลี สเปน เล่นทุกวันจนรู้จักทุกคน สามารถเลือกได้ว่าจะไปอยู่แก๊งไหน ไม่ต้องเดินคนเดียว เหมือนมีเกราะป้องกันตัวเองตลอดเวลา ขณะเดียวกันผมก็มีความสุขกับการเล่นบาสด้วย

“ข้อดีของการตีซี้ คือเวลาเขายกพวกตีกัน ผมจะได้รับการเตือนก่อนว่าไม่ต้องมาโรงเรียนนะ ต่างจากเพื่อนเอเชียบางคนที่เป็นเด็กใหม่และไม่มีเพื่อน ก็จะโดนทำร้าย มีอยู่วันหนึ่งผมเล่นเกมหยอดเหรียญหน้าโรงเรียน เห็นเพื่อนคนหนึ่งถูกแก๊งในโรงเรียนใช้มีดแทงก้นแล้วเดินหนี ตั้งแต่วันนั้นผมไม่เคยเห็นเพื่อนที่ถูกแทงกลับมาที่โรงเรียนอีกเลย

“แม้จะรอดในโรงเรียน แต่ด้วยความเป็นเอเชีย พอออกไปใช้ชีวิตข้างนอกก็ยังโดนอยู่ เช่น วันหนึ่งขณะเล่นเกมกับเพื่อนเกาหลี ปรากฏว่ามีผู้ชายคนหนึ่งเดินมาแล้วใช้มีดจี้ที่หลังขู่เอาเงินไป ครั้งที่หนักสุดคือกำลังเล่นสเกตบอร์ดกับเพื่อนอยู่หน้าอพาร์ตเมนต์ จู่ๆ มีคนเดินมา 3-4 คน ใช้ท่อเหล็กฟาดเพื่อน แล้วพอผมหันไปก็โดนฟาดเข้าที่หลัง จากนั้นพวกมันก็เดินหัวเราะแล้วจากไป ทุกวันนี้ ผมยังมีแผลเป็นยาวอยู่ที่หลัง ตอนนั้นผมกลับมาบ้านทำแผลเอง มองผ่านกระจกแล้วค่อยๆ ทายา โดยที่ไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้พ่อแม่ฟังเหมือนกัน

“พอมีเพื่อนเยอะ ผมก็กลายเป็นคนป็อปปูลาร์ในโรงเรียน เวลาเดินเป็นแก๊งไม่มีใครกล้าหือ รู้สึกเหมือนตัวเองมีวัคซีนป้องกัน ก็เริ่มแกล้งคนอื่นบ้าง มันเป็นเหตุการณ์ฝังใจอย่างหนึ่งว่าเมื่อเราโดนทำ ต้องทำกลับคืนเหมือนที่เราเจ็บบ้าง รู้สึกเหมือนได้เอาคืน กลายเป็นความหยาบและดิบ แต่ไม่มีใครจับผมได้ เพราะแกล้งใครเสร็จก็วิ่งหนี เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยจึงเลิกพฤติกรรมนี้

“เพราะพอโตขึ้นแล้วมองย้อนกลับไปจึงรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องดีเลย และนี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่อยากมีลูก เพราะสังคมสมัยก่อนยังแย่ขนาดนั้น สมัยนี้จะขนาดไหน กลัวลูกจะโดนบูลลี่ หรือไม่ก็กลายเป็นลูกเราเองที่ไปแกล้งชาวบ้านเขา”

เปลี่ยนคำร้ายๆ เป็นแรงผลักดัน

“แม้จะผ่านเหตุการณ์ช่วงวัยรุ่นมาได้ แต่พอโตขึ้นผมก็ยังเจอการบูลลี่ทางถ้อยคำอยู่ ก่อนที่จะมาเป็นพิธีกรเคยมีคนพูดสบประมาททำนองว่า เคยดูตัวเองบ้างไหม หรืออย่างตอนที่ผมเริ่มอ่านสปอตโฆษณาใหม่ๆ ก็มีคำพูดว่า อ่านอย่างนี้จะหากินได้ยังไง แต่ทุกวันนี้ผมกลายเป็นคนอ่านสปอตโฆษณาที่โอเคคนหนึ่งในเมืองไทย เวลาที่เราโดนคำพูดแบบนี้ อย่างแรกคือต้องพิจารณาตัวเองครับ ว่า ประโยคที่เขาว่าเรา เราเป็นจริงๆ หรือเปล่า เพราะทุกวันนี้สังคมบอบบางขึ้นมาก คำว่าบูลลี่กับล้อเล่นเป็นเพียงเส้นบางๆ ถ้าเขาบูลลี่เราจริง และเราอ่อนตรงจุดนั้นจริง ก็แค่พยายามแก้ไขให้เก่งขึ้น อย่างตัวผมเองมองว่าการถูกบูลลี่บางครั้ง ก็ช่วยฝึกให้เราแกร่ง ผมโดนต่อว่ามาเยอะ จึงทนกับคำพูดเจ็บๆ แสบๆ ได้สบาย และสอนให้รู้จักแก้ปัญหาด้วย พอได้ยินคำพูดถากถางก็จะพัฒนาให้เก่งขึ้น ฝึกอ่านโฆษณาให้ดีขึ้น ฝึกทุกวันๆ หรืออย่างแต่ก่อนเพื่อนล้อผมว่าไอ้อ้วนดำ ผมก็เข้าฟิตเนส ยกเวต ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด จนน้ำหนักลดลง แต่ถ้าคำพูดเหล่านั้นคุณพิจารณาแล้วว่าไม่มีความหมาย ไร้สาระ ก็ปล่อยผ่านไปเถอะ

“แต่ก็มีบางคนที่รู้สึกทนไม่ไหว หาทางออกไม่เจอ จนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย ถ้ารู้สึกขนาดนั้น ผมแนะนำให้ปรึกษาผู้ใหญ่สักคนที่เข้าใจ แต่ถ้าคุณไม่สามารถหันหน้าไปพึ่งใครได้ ผมอยากบอกว่าอดทนกัดฟันต่อไป เพราะไม่มีอะไรที่คงทนเสมอไป วันหนึ่งมันจะจบ เราแค่ใส่ใจตัวเอง พัฒนาศักยภาพของเราให้เก่งขึ้น จนวันหนึ่งเขาจะไม่สามารถใช้จุดนั้นมาบูลลี่เราได้อีกต่อไป และสุดท้ายเมื่อเราประสบความสำเร็จ ก็จะกลายเป็นคนที่ได้หัวเราะเสียงดังทีหลัง เพราะฉะนั้นอย่ายอมแพ้ไปก่อน สู้ครับ”


ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับ 959

ภาพ : djpk

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

จากใจคนดังเหยื่อบูลลี่ ‘อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน’ ดึงสติรับมือสู้คำวิจารณ์

แชมป์-ศุภวัฒน์ เพิ่งคุกเข่าขอแฟนสาวแต่งงาน ก่อนจากไปอย่างกะทันหัน

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก พลับ-จุฑาภัทร เรียนจบปริญาโทจากสหรัฐอเมริกา

Praew Recommend

keyboard_arrow_up