ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เด็กนักเรียนในวัง (ตอนที่ 4)
ใต้ร่มฉัตร ดำเนินมาถึงชีวิตของความเป็นมหาดเล็กเด็
เด็กนักเรียนในวัง (ตอนที่ 4)
กิจวัตรของเด็กนักเรียนโรงเรียนราชกุมาร คือ ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เมื่อตื่นนอนลุกขึ้นออกจากห้องที่โปรดเกล้าฯให้อยู่ห้องละ 2-3 เตียงในองค์พระที่นั่งอัมพรฯ ด้านที่อยู่ใกล้ๆกับศาลาที่ทรงกีฬา แล้วต้องเปลี่ยนเป็นนุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อไปที่โรงเรียนเพื่อออกกำลังกาย โดยมีครูจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก รู้สึกว่าจะเป็นหม่อมหลวงพุด สนิทวงศ์ ซึ่งมีหนวดเฟิ้มเหมือนทหารเยอรมัน เป็นคนนำวิ่งและกระโดดโลดเต้นราวชั่วโมงหนึ่ง แล้วกลับมาอาบน้ำ รับประทานอาหารเช้า เสร็จแล้วไปโรงเรียน
หลักสูตรที่เรียนก็เหมือนโรงเรียนทั่วไป เช่น วิทยาศาสตร์มีหลวงพรตพิทยพยัต จากจุฬาลงกรณ์ฯ มาสอน ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสมีพระยาบรมบาทย์บำรุง อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวชิราวุธฯ เป็นผู้สอน และพระธรรมนิเทศ สอนวิชาพุทธศาสนาและศีลธรรม ซึ่งพวกเรามักจะหลับเสมอ
พอตกบ่ายราว 4 โมง ก็เปลี่ยนเป็นสวมเสื้อโปโล นุ่งกางเกงขาสั้นแบบฝรั่ง ใส่ถุงเท้ารองเท้าตามเสด็จไปทรงเทนนิส หรือกอล์ฟ ซึ่งเครื่องแต่งกายนี้มีผู้ใหญ่คอยจัดให้ตามที่มีรับสั่งมา
ตอนค่ำก็จะไปรอที่หน้าห้องพระบรรทม โดยมีหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง สวัสดิวัตน์ (พระธิดาในสมเด็จกรมพระสวัสดิวัตนฯ) ซึ่งประทับในฝ่ายในมารอเพื่อเข้าเฝ้าฯพระเจ้าอยู่หัวอีกองค์หนึ่งด้วย หลังจากที่สรงน้ำเสร็จ ระหว่างแต่งพระองค์ก็จะทรงเล่านิทานแฝงคุณธรรมที่ทรงอ่านจากหนังสือพระราชทานแก่เด็กๆ ซึ่งทุกคนชอบกันมาก
ระหว่างที่พวกเรานั่งฟังนิทานที่ทรงเล่า จะมีการเลื่อนยศกันด้วย คือ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯทรงนั่งใกล้สุด ถัดไปเป็นท่านหญิงสีดาฯ หากคราวใดทรงพอพระราชหฤทัยเด็กคนไหนก็มีรับสั่งเรียกให้เขยิบขึ้นมานั่งในตำแหน่งของท่านหญิงสีดาฯ ซึ่งท่านหญิงกับเด็กคนนั้น ก็จะทรงแอบหยิกกันด้วยความไม่พอพระทัยแบบเด็กๆ ผมเองก็เคย จึงถูกท่านหญิงหยิก ผมได้แต่นั่งสะดุ้ง…
แล้วยังโปรดเกล้าฯให้หลวงประดิษฐ์ไพเราะ และหลวงไพเราะเสียงซอเข้ามาสอนการเล่นดนตรีไทยด้วย ซึ่งตอนแรกเด็กๆก็เรียนกันอยู่หลายคน แต่ค่อยๆหายกันไป จะเหลือผมที่เล่นตีฆ้องวง กับท่านหญิงสีดาฯเล่นซอด้วง และบางครั้งทั้งพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ก็เสด็จฯลงทรงดนตรีด้วย
การเล่นดนตรีไทยของผมนั้น เสด็จพ่อทรงทำพิธีครอบครูให้ตั้งแต่ตอนที่อยู่บางปะอิน และทรงสอนตีขิมให้เป็นเบื้องต้น เมื่อมาเรียนในวังจึงไปได้เร็ว และพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระราชหฤทัยในฝีมือ จึงโปรดเกล้าฯให้ผมร่วมวงกับพระญาติผู้ใหญ่ และครูดนตรีหลายท่าน เมื่อคราวมีงานพระราชพิธีคฤหาสน์มงคลฉลองขึ้นศาลาเริง ในพระราชวังไกลกังวล หัวหิน เมื่อพ.ศ.2471 ซึ่งเป็นความภูมิใจของผมมาก
ส่วนวันหยุดเรียนเสาร์-อาทิตย์ พวกเด็กๆจะไปคอยเฝ้ากันที่หน้าห้องพระบรรทมในตอนเช้าเพิ่มขึ้นอีกช่วงหนึ่ง หลังจากที่สมเด็จพระบรมราชินีแต่งพระองค์เสร็จและเสด็จออกแล้ว เด็กๆก็กรูกันเข้าไปทูลถามนั่นถามนี่ ซึ่งจะรับสั่งอธิบายให้เป็นความรู้ บางครั้งก็ทรงเล่านิทานพระราชทาน และเวลาหนึ่งทุ่มของวันเสาร์ จะโปรดเกล้าฯให้ฉายหนัง โดยทั้งสองพระองค์ประทับบนโซฟามีเด็กๆนั่งอยู่รายรอบ มีอาหารใส่ถาดเสิร์ฟเป็นชุด ตกดึกมีไอศกรีมโซดา เด็กคนไหนหลับก่อนก็ถูกแย่งกินเสียหมด
เด็กๆอย่างพวกผม มีหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นมหาดเล็กคอยตามเสด็จด้วย โดยมีการผลัดเวรกันในยามที่ไม่ตรงกับเวลาเรียน เช่น ถ้าเป็นการเสด็จฯทรงกีฬา ทรงกอล์ฟ ทรงเทนนิสก็ไปกันทุกคน ถ้าเป็นงานหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือพระราชพิธีอื่นๆ ต้องแต่งเครื่องแบบเวรสองคน คนหนึ่งคอยเชิญพระมาลา เวลาเสด็จฯเข้าแล้วทรงถอด ก็ต้องเชิญพานมารับ บางครั้งมีพระแสง(ดาบ)อีกคนก็เชิญ หากไม่พระแสง ก็ยืนเป็นคนสำรอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะให้ได้ฝึกการอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเป็นเวลานานๆ
ชีวิตมหาดเล็กเด็กชาววังอย่างพวกผมจะได้กลับมาเยี่ยมบ้านบ้าง ก็ตอนที่พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จฯประพาสต่างประเทศ อย่างอินโดจีน อินโดนีเซีย ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จเพียง ๒ องค์คือ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯและท่านหญิงสีดาฯ
ความที่ผมเป็นเด็กบ้านนอก ได้พบเห็นสิ่งต่างๆมามากกว่าเพื่อนๆที่อยู่ในวัง อีกทั้งนิสัยส่วนตัวผมออกจะชอบแสดงและพูดให้คนอื่นหัวร่อ คิดหาอะไรแปลกๆมาเล่าให้ฟัง พวกเพื่อนๆจึงชอบฟังด้วยรู้สึกสนุก ผมเลยค่อยๆกลายเป็นหัวโจกของกลุ่มไปโดยปริยาย
ความเป็นหัวโจกของผมก็ก่อเรื่องขึ้นจนได้ คือ วันหนึ่งพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯต้องเสด็จไปตัดพระเกศาที่ร้านแถวแพร่งนรา ย่านเสาชิงช้า ท่านทรงมีรถของทูลกระหม่อมพ่อ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุฯ) ซึ่งเป็นรถตอนเดียวทรงนั่งไปกับพระพี่เลี้ยง ส่วนพวกเรานั้นนั่งรถยนต์หลวง (ร.ย.ล.) ซึ่งเป็นรถฟอร์ดแบบรถขนหมู ระหว่างนั่งรถยนต์หลวงนั้น พวกเราโหวกเหวกสนุกสนานกันไป มีแต่ท่านที่ต้องทรงนั่งอย่างโก้และเหงาอยู่องค์เดียว ขากลับจึงทรงขอมาด้วย เพื่อจะได้เฮฮากับเพื่อนๆ
บังเอิญวันนั้น มีอันจะต้องเกิดเหตุขึ้น คือ ตามกิจวัตร พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ต้องไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวก่อนพวกเรา หลังจากที่สมเด็จพระบรมราชินีเสด็จฯออกจากห้องพระบรรทมแล้ว เพราะมีพระฐานะเป็นพระราชโอรสบุญธรรม จึงมีสิทธิพิเศษกว่าเด็กคนอื่นๆที่ต้องรอให้มหาดเล็กออกมาเรียก ถึงจะเข้าไปได้ ซึ่งระหว่างนั้น ถ้าทรงมีเวลาก็จะประทัพระเก้าอี้นวมแล้วทรงเล่านิทานพระราชทาน หากมีคนมาคอยเฝ้าก็จะทรงแต่พระองค์ หวีพระเกศา พวกเด็กๆก็นั่งดูกันไป พอเสด็จฯออกที่ห้องติดกับห้องพระบรรทมอีกด้านหนึ่งคนละห้องกับที่พวกเราไปคอยเฝ้า ซึ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ มีพระเก้าอี้ยาวไว้ทรงเอนพระวรกายได้เวลาที่ไม่มีแขกผู้ใหญ่มาเฝ้า พวกเราก็พากันไปนอนพังพาบ นอนคว่ำนอนหงายอ่านหนังสือ พอมีผู้ใหญ่มาก็ลุกนั่งพับเพียบเรียบร้อย
แต่วันเกิดเหตุนั้น รถที่ประทับของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ กลับมาถึงก่อน รถร.ย.ล. ยังมาไม่ถึง กลายเป็นว่าสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จฯออกนานแล้ว ท่านยังไม่ได้เข้าไปเฝ้าพร้อมกับพวกเรา พระเจ้าอยู่หัวก็รับสั่งถามว่า ทำไมถึงมาช้าและมาพร้อมกันหมด ท่านก็กราบบังคมทูลว่า อาศัยรถขนหมูกันมา ได้เฮกันสนุกสนาน พระองค์ท่านทรงฟังแล้วทรงชี้มาที่ผมพร้อมกับรับสั่งว่า
“แกเชียว เป็นหัวโจกใช่ไหม” ผมตกใจมากถึงกับผายลมปรู้าด คล้ายกับว่ามีความผิดอย่างมาก ทั้งที่ทีแรกรู้สึกเป็นเรื่องโก้ที่เป็นหัวโจก กลายเป็นว่าถูกกริ้วในฐานะที่ทำให้เพื่อนๆกลายเป็นฝูงแกะ ผมบอกกับตัวเองว่า เป็นคนดังไม่ค่อยดีเลย ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง แต่ผมเองไม่รู้สึกว่าถูกลงโทษแต่อย่างใด เพราะพระองค์ท่านไม่มีรับสั่งคาดโทษอะไร
หลังจากนั้น ก็โปรดเกล้าฯให้ผมแยกไปเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งผมเข้าใจว่า อาจเป็นวิธีการที่ทรงใช้ควบคุมเด็ก ไม่ให้เหลิงวุ่นวายเกินไป และไม่ให้เด็กตามหัวหน้าคนใดคนหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนขาดความเชื่อมั่นตัวเอง
จึงต้องแยก “หัวหน้า”ออกจากกลุ่มเสีย และเป็นการใช้ “ไม้นวม”ที่จะทรงลงโทษผมก็ได้
(ติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน)