ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ จากวัดถึงวัง (ตอนที่3)
ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์…ครั้นขึ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 7 พระชะตาชีวิตของหม่อมเจ้าการวิก ก็เปลี่ยนผันไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้
3.จากวัดถึงวัง
จากชีวิตเด็กบ้านนอกเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัด มีความเป็นอยู่เรียบง่ายสนุกสนาน ซุกซนตามวัย ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เข้ามาอยู่ภายใต้ความยิ่งใหญ่โอฬารในขอบเขตพระราชวังดุสิต กรอบวิถีชีวิตที่มีกฎเกณฑ์ทำให้ผมต้องเรียนรู้ และปรับตัวค่อนข้างมาก แต่ความที่ยังเด็ก และมีพื้นฐานความแก่น จึงมีเรื่องราวต่างๆที่ผมจดจำได้หลายเรื่อง
ผมได้เข้ามาอยู่ในเขตพระราชวังดุสิต ในราวพ.ศ.2469 เนื่องจากมีอยู่ช่วงหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯแปรพระราชฐานไปพระราชวังบางปะอิน และคืนหนึ่งเป็นคืนที่มีแสงจันทร์ทอแสงนวลพอกระจ่างตา ทั้งสองพระองค์ทรงพายเรือเพื่อเก็บกระจับที่ขึ้นอยู่ริมน้ำแถวตำหนักท้ายเกาะ เป็นการพักผ่อนพระอิริยาบถ เสด็จพ่อรับสั่งให้ผมลงเรือ เพื่อเฝ้าฯรับเสด็จด้วย โดยที่ผมเป็นคนนั่งพายที่หัวเรือ
ครั้นพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นผมภายใต้แสงจันทร์ พระองค์ท่านก็มีรับสั่งกับเสด็จพ่อว่า
“เด็กคนนี้น่าเอ็นดูดี เอามาให้ฉันเลี้ยงเถอะ”
นั่นคือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเข้ามาอยู่ในเขตพระราชวังดุสิต
เสด็จพ่อทรงได้ยินก็ปลื้มพระทัยนัก กราบบังคมทูลถวายผมทันที ทรงเกรงว่า หากทอดพระเนตรผมตอนกลางวันเข้า อาจจะเปลี่ยนพระราชหฤทัยก็ได้ แต่ในใจผมตอนนั้น กลับรู้สึกกลัวเกรงบ้าง เพราะความที่ปลูกฝังกันมาว่า พระเจ้าแผ่นดินเปรียบเสมือนเทวดาที่สามารถดลบันดาลหรือลงโทษใครก็ได้ ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่า เหตุใดความคิดเช่นนี้ถึงได้เป็นที่ยอมรับ และเชื่อถือสืบต่อกันมา ทั้งที่พระเจ้าแผ่นดินไทยหลายพระองค์ มิได้ทรงกระทำพระองค์เป็นเจ้ามหาชีวิต กลับทรงเป็น “พ่อเมือง”ที่คอยดูแลทุกข์สุขของราษฎรดังลูกหลานทั้งนั้น เมื่อผมได้เข้าเฝ้าฯอีก ก็ได้เห็นว่าทั้งสองพระองค์นั้นพระทัยดี และมีพระเมตตารักใคร่เด็กๆ ผมจึงคลายใจ
เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จฯ กลับพระนครแล้ว เสด็จพ่อก็ทรงส่งผมเข้ากรุงเทพฯ โดยอยู่ที่วังจักรพันธุ์ก่อน เพื่อเตรียมตัวเข้าไปอยู่ในพระราชวังดุสิต ซึ่งขณะนั้นทั้งสองพระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน
กระบวนการขัดเกล้าผม ซึ่งเป็นเด็กบ้านนอกก่อนเข้าวังนั้น ถ้าจำไม่ผิดคงเป็นพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมเข้ารับการอบรมเรื่องกิริยามารยาทให้เรียบร้อย และศึกษาเบื้องต้นเสียก่อนที่โรงเรียนสตรีจุลนาค อันเป็นโรงเรียนส่วนตัวของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ปลูกอยู่ในรั้วบ้านของท่าน มีครูไฉไล ลูกสาวคนโตของเจ้าคุณเป็นคุณครูใหญ่ โรงเรียนนี้อยู่ใกล้กับวังจักรพันธุ์ เวลาไปเรียน ผมก็เดินข้ามถนนไปกับพี่น้องที่อายุรุ่นใกล้เคียงกันอีก 2 คน คือ พี่ต๊ะ-อัชฌา และน้องจิตรการ

ผมเรียนที่โรงเรียนสตรีจุลนาคนานราว 3 เดือน ก็โปรดเกล้าฯให้เข้าไปอยู่ในพระราชวังดุสิต ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้จัดห้องห้องหนึ่งของพระที่นั่งอภิเศกดุสิต เป็นโรงเรียนราชกุมานขึ้น สำหรับเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของบรรดาเด็กๆ ในวังแห่งนี้มีครูจากโรงเรียนดีๆและมหาวิทยาลัยเข้ามาสอน ซึ่งเพื่อนนักเรียนที่เรียนรุ่นเดียวกับผมนั้นมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต (พระโอรสในสมเด็จเจ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) หม่อมเจ้ายุธิษเสฐียร สวัสดิวัตน์ (พระโอรสในสมเด็จกรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ พระชนกของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) พี่ต๊ะ-หม่อมเจ้าอัชฌา จักรพันธุ์ เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง หม่อมราชวงศ์พงศ์อมร กฤดากร (โอรสในหม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร) หม่อมหลวงพร อิศรเสนา (บุตรเจ้าพระยาวรพวงศ์พิพัฒน์-หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) และคุณพล ศรีวรรธนะ(บุตรพระยาบรมบาทย์บำรุง) ซึ่งสองคนหลังไม่ได้อยู่ในวังด้วย โดยมีน้าชายของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ และนายรองเสนอ (พิณ)เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตาชุบเลี้ยงเด็กๆ ที่เป็นบุตรหลานของเจ้านายและขุนนางที่ทรงรู้จักคุ้นเคยอยู่หลายคน โดยแบ่งเป็นรุ่นๆ ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เมื่อแต่ละคนเติบโตขึ้น ก็ทรงส่งไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ เพื่อกลับมารับราชการสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป
สำหรับเด็กรุ่นเดียวกับผม นับเป็นรุ่นสุดท้ายที่ได้รับพระมหากรุณาเช่นนี้…
(ติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในวันศุกร์ที่ 14 เมษายน)