ใต้ร่มฉัตร (ตอนที่ 1)
ใต้ร่มฉัตร เป็นเรื่องราวชีวประวัติของหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ อดีตราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งเรียบเรียงโดยนรุตม์ และจัดพิมพ์เป็นเล่มโดยแพรวสำนักพิมพ์ เมื่อหลายปีก่อน สร้างความประทับใจแก่ผู้อ่านมาแล้ว
ในช่วงปฐมบทของพระชนม์ชีพ ทรงเป็นเด็กที่มีชีวิตชีวา เมื่อทรงเติบโตเป็นหนุ่ม ได้มีโอกาสถวายการรับใช้ล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์ในยามประทับที่ต่างประเทศอย่างซื่อสัตย์และจงรักภักดี ครั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงสมัครเป็นทหารอาสาเสรีไทย สายประเทศอังกฤษ ทรงเข้ารับการฝึกเยี่ยงทหารทั่วไป เพื่อกระโดดร่มเข้ามาปฏิบัติการกู้ชาติในเมืองไทย ครั้นเสร็จภารกิจแล้วก็ทรงใช้ชีวิตด้วยความสงบ เรียบง่าย และงดงาม ตราบจนสิ้นชีพิตักษัย
ในโอกาสที่ปีนี้ครบวาระ 100 ปีชาตกาลของท่าน จึงได้ขออนุญาตจากคุณหมึกแดง (หม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์) เจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้ เชิญพระประวัติมาเรียบเรียงเป็นตอนๆลงที่ praew.com อีกครั้ง เพื่อหวังจะเผยแพร่พระประวัติและพระเกียรติคุณอันงดงามของท่านให้ปรากฏในแพลตฟอร์มแห่งยุคสมัยนี้…สืบไป
- เรือนไทยที่บางปะอิน
ภาพหมู่เรือนไทยหลังใหญ่เล็ก 3 หลัง ณ บริเวณทางใต้ของเกาะบางปะอิน หรือสมัยก่อนโน้นถูกเรียกขานว่าตำหนักท้ายเกาะ หรือตำหนักในกรมยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของผม เสียงดนตรีที่บรรเลงบนแคร่ริมน้ำหน้าตำหนักในยามฝึกซ้อมเพื่อเตรียมการในพิธีต่างๆ ยังกังวานไพเราะในโสตสำนึก อันเนื่องจากเสด็จพ่อทรงเป็นนายวงดนตรีและองค์อุปถัมภ์ของเหล่านักเลงดนตรีในย่านนี้ทั้งหมด
ผมเกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2460 ที่เรือนไทยหลังใหญ่ เสด็จพ่อผม คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสรษฐวงศ์วราวัตร กรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ (ต้นราชสกุลจักรพันธุ์) ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
ทูลกระหม่อมปู่มีพระบรมเชษฐา พระเชษฐภคินี และพระอนุชา ร่วมพระราชชนกชนนีเดียวกัน 4 พระองค์ คือ
- สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
2. สมเด็จเจ้าหญิงจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตรีย์
3. สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
4. สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (ต้นราชสกุลภาณุพันธุ์)
ต่อมา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างศาลาพระบรมราชานุสรณ์ไว้ในวัดเบญจมบพิตร ใกล้พระที่นั่งทรงธรรม จารึกพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยไว้ที่หน้าบันของจตุรมุข เรียกว่า ศาลาสี่สมเด็จ ศาลานี้มีขนาดเล็ก จึงไม่ใคร่มีคนสนใจรู้เห็นมากนัก
เสด็จพ่อมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมมารดาเดียวกัน คือ คุณย่า-หม่อมราชวงศ์สว่าง ( สกุลเดิม ศิริวงศ์ สืบสายมาจากพระองค์เจ้ามงคลเลิศ) 5 องค์ คือ 1. เสด็จพ่อ 2. พระองค์เจ้าหญิงอรพัทธ์ประไพ 3. พระองค์เจ้าหญิงสุทธวิไลยลักขณา 4. พระองค์เจ้าออสคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ 5. พระองค์เจ้าหญิงประภาวสิทธิ์นฤมล (พระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ต้นราชสกุลฉัตรชัย)
เสด็จพ่อมีโอรสธิดาทั้งหมด 23 องค์ พระนามออกเสียงแล้วคล้องจองกัน คือ ดวงแก้ว(ญ) แววจักร (ช) ลำลักเนตร์ (ญ) เสรษฐพันธุ์ (ช) วรรณวิเชียร (ญ) เวียนขวา (ช) จารุภัคตร์ (ญ) ศักดิ์สิทธิ์ (ช) อิทธิเดช (ช) เจตนาทร (ช) อรอุษา (ญ) วราธิวัตร (ช) ศิริอัจฉรา (ช) อาชวะ (ช) อภิลาศ (ญ) อัชฌา (ช) การวิก (ช) จิตรการ (ช) สมานมิตร (ช) ประดิษฐาน (ช) วัณณาฑิต (ช) จิตต์จง (ญ) ส่งรัศมี (ญ)
ส่วนพี่น้องร่วมแม่เดียวกับผม คือ พี่เปา-วราธิวัต พี่หญิงอภิลาช (นันทมานพ) ผม และน้องเป้ง-ประดิษฐา ตามยศศักดิ์เดิมของพี่น้องและผม ควรเป็นชั้นหม่อมราชวงศ์เท่านั้น แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯสถาปนาเสด็จพ่อและเสด็จอาที่ประสูติแต่คุณย่า ซึ่งเป็นสะใภ้หลวงพระราชทานของทูลกระหม่อมปู่ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทุกองค์เป็นกรณีพิเศษ โอรสธิดาในชั้นต่อมาจึงเป็นหม่อมเจ้าทุกองค์
เสด็จพ่อเป็นผู้ประทานชื่อผม หมายถึงนกชนิดหนึ่ง โปรดประทานเป็นการล้อผม ด้วยทรงเห็นว่าเป็นเด็กช่างพูด ส่วนชื่อลำลอง คนในตำหนักเรียกว่า “หวาน” เพราะพี่เปา (วราธิวัตร) ตอนที่ยังเล็กตัวอ้วนกลมขาวน่าเอ็นดูเหมือนซาลาเปา ซึ่งปกติซาลาเปามีทั้งไส้เค็มและไส้หวาน เขาจึงเรียกสั้นๆว่า ท่านเปา พอผมเกิดมาตัวกลมเหมือนกัน เลยกลายเป็นซาลาเปาไส้หวาน แต่เขาเรียกพี่เปา ไม่มีคำว่าเค็มมาแต่แรก จึงเรียกผมว่า “หวาน”
แม่ของผม คือ หม่อมโป๊ อยู่ในสกุลใด ผมก็ไม่เคยถาม เพราะสมัยนั้นเด็กจะไปถามเรื่องผู้ใหญ่นั้นไม่สมควร ผมรู้เพียงว่า ก๋งมาจากเมืองจีน และตายไปก่อนผมเกิด ส่วนยายชื่อหงส์ เป็นคนไทย อาศัยอยู่ในห้องหนึ่งของตำหนัก แม่มีน้องชายชื่อเง็ก น้องสาวชื่อง้วย พื้นเพของแม่ก็อยู่แถวบางปะอิน อยุธยานี่เอง
ราชสกุลจักรพันธุ์เป็นราชสกุลที่ไม่ร่ำรวย ด้วยทูลกระหม่อมปู่ไม่ทรงมีทรัพย์สินใดเป็นการส่วนพระองค์ พระราชวังเดิมฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นที่ประทับตลอดพระชนม์ชีพ เป็นเพียงพระราชวังที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้เป็นที่ประทับเท่านั้น เล่ากันว่า เมื่อพระราชทานทรัพย์สินใดมา ทูลกระหม่อมปู่ก็ทรงบ่ายเบี่ยงมิทรงรับ สันนิษฐานว่าทรงเกรงมีปัญหาในพระทัย เพราะทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีพระคลังมหาสมบัติ ทรงเคร่งครัดต่อภาระหน้าที่มาก ทรงเกรงจะเป็นที่ติฉินนินทาได้
เมื่อทูลกระหม่อมปู่สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2443 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นห่วงว่าทายาทในราชสกุลจักรพันธุ์จะไม่มีที่ดินจะอยู่อาศัย จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินระหว่างถนนหลานหลวงกับถนนดำรงรักษ์ ช่วงเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ (หลังกรมโยธาธิการ หรือพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในปัจจุบัน) จดสี่แยกถนนจักรพรรดิพงศ์ แก่พระราชนัดดาแห่งราชสกุลจักรพันธุ์ ทุกพระองค์ได้อยู่ร่วมกัน โดยแบ่งเป็นสัดส่วน มีเรือนใหญ่ของคุณย่า (หม่อมราชวงศ์สว่าง) อยู่ตรงกลางเป็นประมุขของบ้าน เสด็จพ่อทรงเลือกตำหนักริมฝั่งถนนดำรงรักษ์ เพราะทรงเห็นว่าอยู่ใกล้คลองมหานาค สะดวกในการสัญจรทางเรือ เสด็จอากรมหมื่นอนุวัตรฯทรงเลือกริมฝั่งถนนหลานหลวง ส่วนเสด็จอาองค์อื่นก็เลือกที่ต่างๆโดยรอบกันไป
เสด็จพ่อทรงรับราชการเป็นผู้กำกับดูแลความเรียบร้อยในเขตพระราชวังบางปะอินทั้งหมด จึงต้องเสด็จไปประทับที่นั่นเป็นส่วนใหญ่ โดยทรงปลูกเรือนไทยเป็นตำหนักริมน้ำไม่ไกลจากพระราชวังนัก และได้พบกับแม่ที่นั่น ส่วนหม่อมห้ามคนอื่นๆในเสด็จพ่อ และเจ้าพี่เจ้าน้ององค์อื่นก็ประทับในวังที่กรุงเทพฯ
เวลาเสด็จพ่อจะเสด็จเข้ากรุงเทพฯ ก็จะทรงเรือยนต์มาตามแม่น้ำลำคลอง และจอดเรือในอู่หน้าตำหนักในคลองมหานาค ซึ่งผมเคยตามเสด็จมาค้างคืนที่วังบ้างในบางครั้ง