ไม่เคยคิดโทษ เวรกรรม แม้ ‘ซันซัน’ ลูกฉันจะไม่เหมือนใคร (ตอน 1)

ครอบครัวของ “ล้วน-กรวรา อัศวลาภนิรันดร” ที่พร้อมพรั่งทั้งทรัพย์สินเงินทอง ความรัก ความอบอุ่น กลับถูกโชคชะตาเล่นตลก เมื่อลูกน้อยเกิดมาไม่สมบูรณ์ เธอไม่โทษ เวรกรรม แต่ทุ่มเทให้ความรักกับเด็กหญิงมากเท่าที่แม่คนหนึ่งจะให้ลูกได้

“ล้วนใจร้อน ไฟแรง งานทุกอย่างต้องเป๊ะ แต่พอเจอเหตุการณ์เรื่องลูก ทำให้รู้เลยว่าเราไม่สามารถคอนโทรลทุกอย่างในชีวิต เพราะพอมีซันซัน (เด็กหญิงกัณชลิตาฐ์  หล่อวัฒนกิจชัย) ชีวิตล้วนช้าลงทันที” คุณล้วนเปิดใจ สายตาที่มองไปยังเด็กหญิงวัย 7 ขวบที่กำลังเกาะผนังเดินเตาะแตะเปี่ยมไปด้วยความรักยิ่งนัก 

“ก่อนหน้าจะมีซันซัน ล้วนแท้งมา 2 ครั้ง  จากครั้งแรกทิ้งไป ประมาณ 1 ปี  พอท้องอีกได้ประมาณ 5 เดือน  หมอตรวจพบว่าลูก เป็นโรค Anencephaly  คือกะโหลกศีรษะพัฒนาไม่สมบูรณ์  ตอนแรก ตั้งใจเก็บเขาไว้  แต่พอเสิร์ชข้อมูล  พบว่าเมื่อไม่มีกะโหลกศีรษะ  สมองจะโดนกดทับด้วยน้ำคร่ำตลอดเวลา  โอกาสรอดชีวิตมีน้อยมาก  บางคนคลอดมาอยู่ได้แค่ 10 – 20 นาทีก็จากไป  จึงตัดสินใจไม่เก็บไว้ ครั้งนั้นจึงเป็นครั้งที่ 2 ที่เราทำหน้าที่แม่ได้ไม่สมบูรณ์  แค่ให้เขาเกิดยังทำไม่ได้เลย  แม่คนอื่นคลอดแล้วมีลูกให้เลี้ยง  แต่เราคลอดลูกก็ไม่อยู่ทันที  ยังจำภาพที่หมออุ้มมาให้ได้เลยว่าเป็นเด็กผู้ชาย นอนหลับตาพริ้ม  ตัวใส  ตัวเขาเล็กเท่าฝ่ามือล้วน  ที่ศีรษะเห็นเนื้อสมองแดงๆ  บอกลูกว่าหากเราทำบุญมาด้วยกัน  ขอให้มาเกิดเป็นแม่ลูกกันอีกนะ

“ถึงอย่างไรผู้ใหญ่ของครอบครัวล้วนและสามี(จีระ  หล่อวัฒนกิจชัย)ก็อยากมีหลาน  หมอแนะนำให้ฉีดน้ำเชื้อทำกิฟต์  ตอนนั้นจากผู้หญิงทำงานที่แอ๊คทีฟตลอดเวลา  ล้วนยอมนอนอยู่บ้านเฉยๆ ตามหมอสั่ง หลายวันเข้าก็เริ่มอึดอัด  เราไม่ใช่คนป่วย  ต้องอยู่เฉยขนาดนี้เลยหรือ หนำซ้ำพอไปตรวจก็ไม่สำเร็จ  ฉีดซ้ำก็ไม่สำเร็จอีก  บอกสามีว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเถอะ  แล้วขับรถไปเที่ยวเชียงใหม่กัน  กลับมา ประจำเดือนขาด  พอซื้อแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์มาตรวจ  ปรากฏว่าท้อง แต่ความที่มีประวัติการแท้งมา 2 ครั้ง  หมอจึงขออัลตร้าซาวนด์ทุกเดือน ผลเป็นปกติมาตลอด  แต่พอใกล้คลอด  ตรวจอัลตราซาวนด์สี่มิติพบว่าจากปกติรกมี 3 เส้น  ของล้วนมี 2 เส้น  น้ำหนักลูกจึงไม่ขึ้น  พยายามโด๊ปเต็มที่  ทั้งที่ไม่ชอบปลา  พยายามทานปลาตัวย่อมๆ ให้ได้วันละตัว แต่ก็ยังส่งไปไม่ถึงลูก  หมอสันนิษฐานว่ารกเสื่อม  นอกจากอาหาร ออกซิเจนก็อาจส่งไปไม่ถึง  เพราะฉะนั้นล้วนต้องนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นด้วย  ทำให้ยิ่งใกล้คลอดยิ่งวิตกจริต “แล้ววันนั้นก็มาถึง  ลูกไม่ดิ้น  ล้วนเขย่าท้องทั้งคืนแต่ก็เงียบ พอเช้าถึงค่อยดิ้น  ล้วนปรึกษาหมอว่าหากเป็นอย่างนี้ทุกคืนสุขภาพคงแย่ จึงตัดสินใจผ่าคลอดก่อนกำหนดประมาณ 2-3 วัน  ตัวเขาเล็กมาก น้ำหนักแค่ 1,890 กรัม  ต้องอยู่ในตู้อบ  หมอแจ้งว่ากล้ามเนื้อที่หน้า ทำงานไม่สมดุลกัน  และเพดานอ่อนที่อยู่ติดกับลิ้นโหว่  ซึ่งรักษาไม่หาย เพราะลำพังแค่ทำศัลยกรรมให้ยิ้มได้ก็ต้องใช้เส้นประสาทที่นิ้วก้อยเท้ามาเชื่อมต่อ  ใช้เวลาในการผ่าตัด 6 ชั่วโมง  ปลูกถ่ายเส้นประสาทก่อน เราคิดว่าการดมยาสลบคงไม่ดีต่อเด็กอ่อนขนาดนั้น  รอเขาโตก่อนค่อยทำศัลยกรรม  ระหว่างนั้นก็กระวนกระวายใจ  ทำไมเขาไม่พาลูกมาให้เราให้นม ให้สามีไปถ่ายรูปลูก  ภาพแรกที่เห็นก็แปลกใจว่าทำไมต้องมีสายใส่เข้าไปในจมูก  หมอบอกแต่เพียงว่าเขายังดูดกลืนนมเองไม่ได้

“ก่อนกลับบ้านพยาบาลสอนวิธีการนวดลิ้น  นวดกระพุ้งแก้ม นวดหน้า  เพื่อกระตุ้นการกลืน  พอกลับบ้านจึงรู้ความจริง  ความที่หน้าลูกไม่สมดุลจึงไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อหน้าเพื่อดูดนมได้  ความยากอยู่ที่ต้องใช้ซิรินจ์  ช้อน  หรือดร็อปเปอร์ป้อนนมลูก  โดยตั้งคอลูกขึ้น หยดนมใส่ปากทีละหยด  ต้องระวังไม่ให้สำลัก  เพราะเพดานอ่อนโหว่ ไม่เช่นนั้นอาจติดเชื้อที่ปอด  จากเด็กปกติใช้เวลากินนมแค่  10 นาที  แต่ ซันซันใช้เวลาครั้งละ 1 ชั่วโมง  ขณะเดียวกันล้วนต้องปั๊มนมเพื่อเตรียม ป้อนรอบต่อไปในอีก  2 ชั่วโมง  สลับกับสามี  เรียกว่าไม่ได้นอนเลย

“ระหว่างนั้นเราสังเกตพัฒนาการเขาว่าทำไมลูกยังชันคอไม่ได้ ตัวอ่อนปวกเปียก  จึงพาไปฝึกกายภาพที่โรงพยาบาล  ตื่นตั้งแต่ตี 5 จัดเตรียมทุกอย่าง  ตั้งแต่น้ำแข็งแช่นม  เครื่องปั๊มนม  ของใช้ลูก  ออกจากบ้านหกโมง  ไปถึงโรงพยาบาล สามีไปหาที่จอดรถ  ล้วนอุ้มลูกพร้อมสัมภาระลงไปยื่นบัตรคิว  แล้วรอที่ห้องกายภาพ  กว่าจะได้ทำกายภาพก็สายมาก  ลูกง่วงนอน  เราคัดนมต้องไปปั๊มนม  บางทีต้องไปปั๊มนมใน ห้องน้ำ  วันไหนที่พบหลายหมอต้องอุ้มลูกกระเตงสัมภาระขึ้น-ลงลิฟต์ หลายรอบ  พอได้ยินหมอฟันธงว่าเขามีปัญหาทางการได้ยิน  ความเหนื่อยทั้งหมดทำให้จิตตก  ที่เราคุยกับเขามาตลอดตั้งแต่อยู่ในท้องกลายเป็นว่า ลูกไม่ได้ยินเสียงเราเลย  แล้วจะคุยกันอย่างไร  หรือหากเขาอยากได้อะไร จะบอกเราอย่างไร  ล้วนกลับถึงบ้านกอดลูกร้องไห้  เชื่อไหม  เขายกมือ น้อยๆ มาเช็ดน้ำตาให้เรา  ล้วนรู้สึกผิดมาก  ไม่น่าร้องไห้ให้ลูกเห็นเลย ลูกคงเสียใจที่เขาเกิดมาทำให้แม่เหนื่อย  จากนั้นตั้งปณิธานเลยว่าจะไม่ร้องไห้อีก  บอกลูกว่าเราจะสู้ไปด้วยกัน”

‘เราจะสู้ไปด้วยกัน’ คำที่สร้างความรู้สึกฮึกเหิม ทรงพลัง ทว่าในความเป็น ‘แม่’ ที่ต้องเห็นความเจ็บปวดของลูกทุกโมงยาม จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะก้าวข้ามภาวะทุกข์ตรมนี้ไปได้

ติดตามเรื่องของคุณแม่นักสู้ และหนูน้อยซันซัน ได้ในตอนหน้า… ไม่เคยคิดโทษ เวรกรรม แม้ ‘ซันซัน’ ลูกฉันจะไม่เหมือนใคร  (ตอนจบ)

เรื่อง : แดนเจอร์

ภาพ : โยธา  รัตนเจริญโชค

Praew Recommend

keyboard_arrow_up